ไม่พบผลการค้นหา
เหนือกว่าการทลาย ‘Beauty Standard’ ที่ว่าการแต่งหน้าถูกจำกัดไว้ให้เพียง ‘คนสวย-บุคลิกดี’ แต่คือการที่โรงเรียนต้องเป็น Safe Zone ให้เด็กในการลองผิดลองถูก โดยที่ผู้ใหญ่ไม่ชี้นำ

‘สุภกิจ กำลังคลี่’ หรือ ‘ครูเอก’ ที่ปรึกษาชุมนุมสอนแต่งหน้า โรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก เล่าให้ ‘วอยซ์’ ฟังถึงที่มาที่ไปของการตัดสินใจเปิดชุมนุมดังกล่าว โดยบอกว่า เคยมีประสบการณ์แต่งหน้ากับการจัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ตั้งแต่เรียนอยู่ที่ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อยู่เป็นทุนเดิม และเมื่อได้มาเป็นครูเต็มตัว ‘ครูเอก’ เห็นว่าในโรงเรียนมีหลายกิจกรรมที่ต้องใช้การแต่งหน้า จึงอยากถ่ายทอดทักษะนี้ให้กับนักเรียน

‘ครูเอก’ บอกว่า การแต่ง 1 หน้า อยู่ที่ 800-1,500 บาท ต่อคน ถ้าเป็นเชียร์ลีดเดอร์หนึ่งทีม 10 คน 15,000 บาท ซึ่งเงินก้อนนี้สามารถเอาไปทำอย่างอื่นได้อีกมาก และน่าจะฝึกฝนให้เด็กนักเรียนแต่งหน้าได้ ทุกวันนี้ เด็กในโรงเรียนบางคนเริ่มรู้จักการแต่งหน้าอยู่แล้ว หากไปบอกว่า "หยุดนะ! ล้าง! ลบ!" พวกเขาจะหยุดพัฒนาการและความสนใจในด้านนั้น ไม่ก็กลายเป็นต่อต้าน แอบแต่งหน้า แต่หากสนับสนุนเด็กกลุ่มนี้ ด้วยการฝึกให้เขาแต่งหน้าให้ถูกต้องเชื่อว่าพลังของพวกเขาสามารถออกมาได้เรื่อยๆ 

เด็กวัยนี้คือวัยช่างคิด ช่างสร้างสรรค์ ถ้าเราเรียกมาปรับเสริมอาวุธลับให้เขา เขาจะสามารถผลิตผลงานสร้างสรรค์ออกมาได้เยอะมาก

และทันทีที่มีข่าวว่า ทางโรงเรียนจะเปิดชุมนุมสอนแต่งหน้าในปีการศึกษานี้ เหล่าเด็กๆ ที่มีความมั่นใจได้ให้การตอบรับอย่างดี

"อาจารย์ หนูมาแน่นอน หนูอยากแต่งหน้า"

krueak2.jpgkrueak4.jpg

ทว่าหลังไมค์ ยังมีเด็กที่ค่อนข้างเก็บตัว เดินเข้ามาพูดกับ ‘ครูเอก’ ว่า ‘อาจารย์คะ หนูขออยู่ด้วยได้ไหมคะ คือหนูไม่มั่นใจ เพราะว่าหนูไม่สวย’ ซึ่ง ‘ครูเอก’ ย้ำด้วยเสียงหนักแน่นว่า การแต่งหน้าไม่ใช่ว่าจะเหมาะกับคนที่สวยหรือบุคลิกดีเท่านั้น การแต่งหน้าคือการปรับบุคลิกของทุกคนให้มีความมั่นใจ มาตรฐานความงามของแต่ละคนควรจะต้องถูกทลายออกไป เพราะทุกคนสวยได้ในแบบของตัวเอง


ความเป็น ‘ครู’

ที่จริงแล้ว ‘ครูเอก’ สอนวิชาประวัติศาสตร์เป็นหลัก และไม่ได้คาดคิดว่าจะมาเป็นครูด้วยซ้ำ

‘ครูเอก’ มาจากครอบครัวฐานะปานกลางค่อนข้างล่าง สู้ชีวิตตั้งแต่เด็ก จึงมีโจทย์ในใจว่าทำยังไงก็ได้ให้ครอบครัวสุขสบาย ซึ่งในสังคมไทยนั้น หนทางเดียวคือการเป็นข้าราชการ เพราะข้าราชการมีสวัสดิการหลายๆ ส่วนที่สามารถนำมาดูแลพ่อแม่ได้ และเนื่องจากว่าเป็นคนสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ครอบครัวจึงอยากให้เป็นทหารเรือ ซึ่ง ‘ครูเอก’ มองว่า “มันไม่น่าใช่เรานะ” 

เขาพยายามต่อรองขอไปเรียนครู เพราะเป็นข้าราชการเหมือนกัน และเมื่อสอบตรงติดคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิชาเอกสังคมศึกษา ‘ครูเอก’ บอกว่า ที่นี่คือเบ้าหลอมการเป็นครูที่บ้าพลัง เด็กๆ จะมีอารมณ์ร่วมเยอะมาก เพราะการเรียนการสอนควรจะต้องเต็มไปด้วยพลังและความตั้งใจ ถ้าครูมาถึง "เอ้า นักเรียน เปิดหนังสือหน้านั้น หน้านี้" ตัว ‘ครูเอก’ ยังไม่สนุกเลย แล้วเด็กจะสนุกได้ยังไง จึงเป็นเหตุของความพยายามในการหาคอนเทนต์ต่างๆ มาเพื่อสอนเด็ก

krueak3.jpgkrueak6.jpg

‘ความหลากหลาย’ จุดประกาย 'ต่อยอดความรู้'

‘ครูเอก’ กล่าวด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้มว่า ตัวเองเป็นเด็กอีกคนที่ใช้ชีวิตเป็น ‘ตุ๊ดหัวโปก’ ชอบเล่นกับเพื่อนผู้หญิง อยากเป็นเชียร์ลีดเดอร์มาตั้งแต่สมัยเรียนประถม และเคยโดนคุณพ่อตีเพราะเรื่องนี้ โดนถามว่า "จะเป็นลีดเหรอ จะเป็นตุ๊ดเหรอ" จึงเกิดเป็นความรู้สึกฝังใจว่าจะไม่สามารถเป็น LGBT ได้ และตัดสินใจใช้ชีวิตแบบเก็บงำตัวตนของตนเองมาเรื่อยๆ

‘ครูเอก’ คิดว่า เด็กทุกคนมีช่วงเวลาที่หาตัวตนของตัวเองไม่เจอ ถ้าเป็น ก็โดนเพื่อนล้อ แต่ลึกๆ ก็รู้ตัวว่าเป็นอะไร จนกระทั่งเข้าสู่มหาวิทยาลัย ‘ครูเอก’ ก็เปิดตัวเองมากขึ้น เพราะในสังคมมหาวิทยาลัยมีที่ยืน มีความหลากหลายเกิดขึ้นเยอะมาก ที่บ้านจึงค่อยๆ รับรู้สภาพของตัวเอง

krueak5.jpg

ลึกๆ แล้ว ‘ครูเอก’ เชื่อว่า ไม่ว่าพ่อแม่คนใดก็ตาม ต่างเป็นห่วงลูก อยากให้อยู่ในทางที่ปกติในชุดความคิดของเขา เพราะกลัวว่ามันจะเกิดปัญหา เป็นความทุกข์กับลูกของตัวเอง

สิ่งที่ LGBT ทุกคนต้องทำคือแสดงให้เห็นว่า เราอยู่ได้ในทางของเรา ทำทุกอย่างให้เขาเข้าใจว่าการเป็นแบบนี้ไม่ใช่สิ่งผิดปกติ แต่คือสิ่งที่สวยงามที่อยู่ระหว่างความเป็นชายและหญิง

‘ครูเอก’ ได้พิสูจน์ตัวเองด้วยการเรียน ทำตัวเองให้มีคุณค่า สร้างประโยชน์ให้กับสังคม เพราะเชื่อว่าสังคมปัจจุบันพร้อมเปิดสปอตไลท์ใส่ทุกความหลากหลาย เพื่อให้ทุกคนได้เฉิดฉายในแบบที่ตัวเองเป็น

หลังจากชุมนุมแต่งหน้าได้รับความสนใจจากสื่อต่างๆ ครอบครัวก็ชื่นชม ยิ่งคุณแม่ที่ตอนนี้ป่วยเป็นมะเร็งอยู่ ก็เหมือนเป็นการเยียวยาจิตใจให้ดีขึ้น เมื่อได้เห็น ‘ครูเอก’ เป็นบุคคลที่เด็กๆ ต่างให้ความเคารพ 

krueak7.jpg

โรงเรียน ต้องเป็น Safe Zone

ท้ายที่สุดแล้ว ‘ครูเอก’ อยากให้ผู้ใหญ่รับรู้ว่า เด็กในยุคนี้ไม่ใช่เด็กในยุคอดีตอีกต่อไป เพราะพวกเขามีกรอบความคิดแบบใหม่ที่สามารถหลอมขึ้นเองได้

สำหรับกิจกรรมแต่งหน้า หลายภาคส่วนยังคงตั้งคำถามว่า "ทำไมเสริมสร้างเด็กแบบนี้ ไม่แก่แดดเหรอ เด็กแต่งหน้าเป็น"

krueak8.jpg

ขณะที่ ‘ครูเอก’ มองว่า ใครๆ ก็อยากดูดี หากว่าเด็กๆ แต่งหน้ากันอยู่แล้ว ถ้าส่งเสริมให้แต่งหน้าได้อย่างถูกต้อง จะไม่ดีกว่าเหรอ? เพราะโรงเรียนคือพื้นที่ปลอดภัยที่สุดที่เด็กควรได้ลองผิดลองถูก

ครูมีหน้าที่เสมือน ‘โค้ช’ ในการเปิดพื้นที่ดังกล่าว พูดคุยปรับตัวเข้าหาซึ่งกันและกันโดยไม่ชี้นำเด็ก

การแต่งหน้าอาจจะไม่ใช่ประเด็นหลักในการปลุกสังคมให้ตื่นขึ้น แต่อยากให้รู้ว่าเด็กทุกคนมีชุดความคิดของเขาที่เปิดกว้างและพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ
krueak9.jpg


ฉายฉาน คำคม
นักข่าวการเมืองภาคสนามสองภาษา เขียนข่าวต่างประเทศบ้างบางเวลา เป็นทาสแมว ชอบกินช็อกมิ้นท์
23Article
0Video
0Blog