ไม่พบผลการค้นหา
ภารกิจไล่ล่าผู้กระทำความผิด 'ค้ามนุษย์-ค้ากาม' ในไทยของ รณสิทธิ์ พฤกษยาชีวะ ยังไม่มีวันอวสานง่ายๆ หากเมืองไทยยังเต็มไปด้วยการฟอกขาวและคอร์รัปชัน

20 ปีในเส้นทางการปราบปรามค้ามนุษย์ของ ‘รณสิทธิ์ พฤกษยาชีวะ’ เดินผ่านซ่องโสเภณี อาบอบนวด คาราโอเกะ สปานวดกระปู๋ มานับครั้งไม่ถ้วน 

อย่างไรก็ตาม ปลายทางของการจับกุมตัวผู้กระทำความผิด กลับไม่ใช่คุก โดยเฉพาะในระดับเจ้าพ่อขาใหญ่ที่มักลอยนวล บ้างหลบหนีออกนอกประเทศ บ้างสาวไม่ถึงตัว เนื่องจากพยานหลักฐานไม่หนักแน่นพอ ท่ามกลางความคลางแคลงใจของสังคมที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมและโดยเฉพาะพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ 

“มีอยู่เคส ผมช่วยเขาออกมาจากสถานบริการ เป็นเด็กสาวชาวลาว เขาบอกว่า อ้าว...หนูคิดว่าขายตัวในไทยถูกกฎหมายซะอีก ก็เห็นทำกันทั่วไป เราอายเขานะครับ ที่เด็กมาพูดอย่างนี้ เหมือนโดนตบหน้า ถีบด้วย ถีบหลัง หลังแอ่นเลย ผมนี่อึ้งและตอบไม่เป็นเลยนะ” รณสิทธิ์ เล่าเรื่องไม่รู้ลืม 


ช่องว่างกฎหมาย - กระบวนการฟอกคน 

การเอาผิดกับพวกขาใหญ่ตัวจริง รณสิทธิ์ มักประสบปัญหาในกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นและกลาง ซึ่งต้องเผชิญกับ 'กระบวนการฟอกขาว' ที่เขาอธิบายว่าเป็นพฤติกรรมเปลี่ยนผู้ต้องหากลายเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยอำนาจเงิน โดยพยายามหาช่องบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อให้มีน้ำหนักไม่เพียงพอจะเอาผิดได้ในท้ายที่สุด 

“เริ่มจากหลบหนีไปตั้งหลัก พยายามหาช่องว่างทางกฎหมาย บิดเบือน ทำให้พยานหลักฐานอ่อน พอไปถึงมืออัยการก็ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะฟ้อง” 

รณสิทธิ์เล่าว่า มีครั้งหนึ่งพบผู้เสียหายอายุเพียงแค่ 15 ปี รูปร่างหน้าตา สามารถตัดสินได้จากภายนอก รวมถึงผลสอบกระดูกยืนยันชัดเจนตามหลักวิทยาศาสตร์ ทว่าต่อมามีเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เข้าไปเปลี่ยนแปลงผลตรวจอายุ ทำให้เด็กอายุ 15 ปีกลายเป็นผู้ต้องหาแทนที่จะเป็นเหยื่อ เพื่อให้ ‘ขาใหญ่’ รอดคดีค้ามนุษย์

“การบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เมื่อไม่สามารถจัดการกับผู้กระทำความผิดได้อย่างแท้จริง เขาก็กลับมาทำธุรกิจเดิมและวนเวียนอยู่กับการใช้ประโยชน์จากช่องวางทางกฎหมายและคอร์รัปชัน” 

https://pailin.voicetv.co.th/assets/aW1hZ2UvMjAxOC0wNS9iOWE0NGY0NzQzZjM5Y2QyMGU0Mjg2YjRkYWE0MzY2Ni5qcGc=

คดีความล่าสุดที่รณสิทธิ์กำลังเป็นกังวลคือ กรณีอาบอบนวด ‘วิคตอเรีย ซีเครท’ ที่อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีค้ามนุษย์กับ 2 ผู้ต้องหา คือ นิภา และ ธนพล ภรรยาและลูกชาย กำพล วิระเทพสุภรณ์ เจ้าของสถานบริการฯ ซึ่งอยู่ระหว่างหลบหนี 

“คุณกำพล เป็นผู้ต้องหาหลักในคดีและยังหลบหนีอยู่ต่างประเทศ ทำให้ยังไม่สามารถสั่งฟ้องคดีได้ แม้ว่าศาลจะออกหมายจับไว้แล้ว แต่หากปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปเกรงว่าจะทำให้อัยการไม่สั่งฟ้องเช่นเดียวกับคดีของ วรยุทธ อยู่วิทยา และเห็นว่าอาจจะมีขบวนการ 'ฟอกคน' เกิดขึ้น คือการทำให้คนไม่ดี กลายเป็นผู้บริสุทธิ์ได้” รณสิทธิ์ กล่าว 

“ผมกลัวว่าวันหนึ่งตื่นมา เราจะเห็นว่าเขาสั่งไม่ฟ้องคุณกำพลอีก”


‘โสเภณีถูก ก.ม.’ ทำไม่ได้เพราะมีคนเสียประโยชน์ 

ข้อเสนอแสนคลาสสิกของสังคม คือ การทำให้ค้าบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมายในไทย เพื่อลดผลประโยชน์มืด คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และผลักดันการคุ้มครองตามกฏหมายแรงงานให้กับกลุ่มผู้ให้บริการ 

รณสิทธิ์เชื่อว่า ค้ามนุษย์เกิดขึ้นได้เพราะมีการคอร์รัปชัน หากไม่มีการ 'เก็บส่วย' การกระทำความผิดจะหายไปมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ 

“ข้อเสนอให้ถูกกฎหมายมักจะถูกแย้ง โดยเฉพาะคนที่เสียประโยชน์มากที่สุด ลองมองดูว่าใครได้ประโยชน์จากการอยู่ใต้ดิน เก็บส่วย ถ้าถูกกฎหมายขึ้นมาแล้วคุณจะเก็บได้อีกไหม ผลประโยชน์ของคดีค้ามนุษย์ไม่ได้อยู่แค่เจ้าหน้าที่รัฐระดับล่างเท่านั้นแต่มีการจ่ายเงินขึ้นไปตามลำดับ” เขาบอก “หัวไม่ส่าย หางไม่กระดิก” 

https://pailin.voicetv.co.th/assets/aW1hZ2UvMjAxOC0wNi82Y2ZhOGViZDU2MGU1ZTdiM2U2MzgzYjA3OGYzZTUwOS5qcGc=

รายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ปี 2563 ของสหรัฐฯ พบว่า ไทยยังอยู่ในกลุ่ม 'เทียร์ 2 ปกติ' ต่อเนื่องนับจากปี 2561 ซึ่งไทยได้รับการปรับขึ้นจากกลุ่มเทียร์ 2 เฝ้าระวัง (Tier 2 Watch List) โดยผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือจากการค้าประเวณีมีจำนวน 868 ราย ทั้งที่เป็นชาวต่างชาติและถูกบังคับค้าประเวณีในไทย และชาวไทยที่ถูกล่อลวงให้ไปค้าประเวณีในต่างประเทศ ส่วนชาวต่างชาติที่ตกเป็นเหยื่อการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ในไทยมีจำนวน 950 ราย

จุดอ่อนที่สำคัญของไทยด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงาน ได้แก่ การติดสินบนเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะคดีค้าประเวณี โดยยังมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องมักเสนอให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อเจรจาไกล่เกลี่ยเรียกค่าชดเชยจากนายจ้างแทนการฟ้องร้องดำเนินคดี

“ถ้ามันไม่มีการคอร์รัปชัน ไม่มีการเก็บส่วย คำถามคือสถานบันเทิงเหล่านั้นจะกล้าเปิดไหม ทุกวันนี้เขากล้าเพราะจ่ายเงิน มีคนคุ้มกะลา”

“คอร์รัปชันเป็นพื้นฐานปัญหาทุกอย่างของไทย นำไปสู่ความเชื่อมั่นต่อระบบยุติธรรมที่ไม่แข็งแรง ซึ่งระบบยุติธรรมเป็นเหมือนกระดูกสันหลังของประเทศนั้นๆ ในเมื่อคุณมีหน้าที่ผดุงความยุติธรรม แต่คุณไม่ทำ ไม่บังคับใช้กฎหมาย ปล่อยปละละเลย ช่วยเหลือผู้กระทำความผิด เท่ากับเจ้าหน้าที่เหล่านั้นคือโจรด้วยนะครับ” 

รณสิทธิ์ บอกเสียงเข้มว่า “ประเทศมันไม่ดีขึ้นกว่านี้ ถ้าไม่ยอมรับความจริงและแก้ไขมัน”


จบนอก - ชอบบู๊ - หยุดไม่ได้

รณสิทธิ์ ที่มีชื่อเล่นว่า บอม เรียนจบชั้นมัธยมจาก รร.สวนกุหลาบวิทยาลัย, ปริญญาตรีจาก Sussex University ด้านรัฐศาสตร์ เอกการทูต และปริญญาโทจาก Brighton University ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ประเทศอังกฤษ

หลังจากเรียนจบด้วยความชอบส่วนตัวและอยากช่วยเหลือสังคม เขาตัดสินใจสมัครเข้ากับงานเป็นเจ้าหน้าที่รักษากฎหมาย สำนักงานปราบปรามยาเสพติดสหรัฐอเมริกา (DEA) ก่อนจะย้ายมาเป็นเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศไทย ทำหน้าที่วางแผนนโยบายป้องกันการค้ามนุษย์ ต่อมาร่วมงานกับองค์กรเอกชนในบทบาทนักสืบ คอยเสาะหาประเด็นการค้ามนุษย์ในไทย กระทั่งออกมาเปิดมูลนิธิเป็นของตัวเอง 

เจาะลึกค้ากาม ค้ามนุษย์

เขาย้อนความว่า แรกเริ่มมีความตั้งใจเพียงแค่อยากช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์เท่านั้น ทว่าหลังจากได้สัมผัสประสบการณ์อันหลากหลาย ความคิดที่จะอยากขุดรากถอนโคนผู้กระทำความผิดได้กลายเป็นแรงผลักดันให้เดินหน้าต่อ 

“เมื่อก่อนช่วยเหลือเด็กสักคนได้ก็สุขใจแล้ว เหมือนได้ให้ชีวิตใหม่ช่วยรักษาแผลใจให้กับเขา แต่พอทำงานมาเรื่อยๆ รู้สึกแม่งเหนื่อยว่ะ ทำไปแม่งก็ไม่หมด อ้าวตรงนั้นก็มี ตรงนี้ก็มี เราเลยกลับมานั่งคิด เราช่วยผู้เสียหายอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เด็กรอดจากร้านก็จริง แต่ผู้ต้องหาหรือเจ้าของร้านก็ไปเอาเด็กมาเพิ่ม เท่ากับเราเป็นตัวสร้างปัญหา ไปกระตุ้นให้เขาหาเด็กมาเพิ่ม”

“ฉะนั้นเราเลยคิดว่าต้องจัดการพวกกระทำความผิดให้ถึงที่สุดด้วย มันจะได้เข็ดหลาบ แต่กลายเป็นว่าตอนจบพวกมีเงินก็วิ่งเต้น ไม่มีเงินก็ติดคุก นี่คือความไม่ยุติธรรมในสังคมไทย และทำให้เราหยุดไม่ได้” รณสิทธิ์ทิ้งท้าย

เจาะลึกค้ากาม ค้ามนุษย์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog