ไม่พบผลการค้นหา
ศาลฟิลิปปินส์ตัดสินให้ 'มาเรีย เรสซา' นักข่าวคนดังที่มักวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของประธานาธิบดี 'โรดริโก ดูแตร์เต' มีความผิดฐานหมิ่นประมาททางไซเบอร์ ซึ่งเป็นคำตัดสินที่ทั้งมาเรียและกลุ่มสนับสนุนเสรีภาพสื่อมองว่า เป็นการดำเนินคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมืองโดยรัฐบาลดูแตร์เต

'มาเรีย เรสซา' บรรณาธิการเว็บไซต์ข่าว 'แรปป์เลอร์' (Rappler) รวมถึง 'เรย์นัลโด ซานโตส จูเนียร์' อดีตนักเขียนของเว็บไซต์ดังกล่าว ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาททางไซเบอร์จากบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แรปป์เลอร์เมื่อปี 2555 กล่าวหาว่า 'วิลเฟรโด ดี. เค็ง' นักธุรกิจ พัวพันกับยาเสพติดและการค้ามนุษย์ รวมถึงมีสายสัมพันธ์กับอดีตผู้พิพากษาคนหนึ่ง ซึ่งคดีนี้ถูกยื่นฟ้องครั้งแรกเมื่อปี 2560 แต่สำนักงานสอบสวนแห่งชาติได้ปัดตกไปเพราะอยู่นอกอายุความ แต่เมื่อปี 2561 หน่วยงานยุติธรรมดังกล่าวก็ได้อนุญาตให้เดินหน้าไต่สวนคดีนี้ในความผิดฐานหมิ่นประมาททางไซเบอร์ โดยมีการขยายระยะเวลาการรับผิดชอบสำหรับคดีลักษณะดังกล่าวจาก 1 ปีเป็น 12 ปี

แม้เรสซาและทีมที่ปรึกษากฎหมายของเธอจะบอกว่า ในช่วงเวลาที่มีการเผยแพร่บทความดังกล่าวยังไม่มีกฎหมายหมิ่นประมาททางไซเบอร์ที่เพิ่งบังคับใช้เมื่อเดือน ก.ย. ปี 2555 หลังการเผยแพร่บทความแล้ว 4 เดือน แต่หน่วยงานยุติธรรมก็อนุญาตให้เดินหน้าไต่สวนโดยชี้ว่า มีการอัพเดทบทความออนไลน์ดังกล่าวเมื่อเดือน ก.พ. 2557 เพื่อแก้ไขคำสะกดผิด  

ผู้พิพากษาระบุว่า แรปป์เลอร์ไม่ได้แสดงหลักฐานยืนยันข้อกล่าวหาต่อนักธุรกิจคนดังกล่าว คำตัดสินของศาลตั้งอยู่บนหลักฐานที่ถูกนำเสนอต่อศาล และไม่สามารถใช้เสรีภาพสื่อเป็นเกราะป้องกันได้ โดยคำตัดสินตัดสินดังกล่าวทำให้เรสซาและเพื่อนร่วมงานต้องเผชิญโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 6 ปี แต่ทั้งคู่ได้รับอนุญาตประกันตัวและอยู่ระหว่างการรอยื่นอุทธรณ์ ซึ่งหลังการพิจารณาคดี เรสซาระบุว่าพวกเธอจะยืนหยัดต่อต้านการโจมตีลิดรอนเสรีภาพสื่อทุกรูปแบบ 

ด้านหนึ่งในที่ปรึกษากฎหมายของเรสซาระบุว่า นี่เป็นวันที่มืดมนอย่างยิ่งสำหรับหลักนิติรัฐและเสรีภาพในการแสดงออกในฟิลิปปินส์ จากเหตุการณ์ที่เรสซาถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาที่ไร้เหตุผลสำหรับบทความที่เธอไม่ได้เป็นคนเขียน ภายใต้กฎหมายลงโทษรุนแรงที่ไม่ได้มีอยู่เมื่อตอนที่บทความนี้ถูกเผยแพร่ 

ใครคือ 'มาเรีย เรสซา'

มาเรีย เรสซา วัย 56 ปี เกิดในฟิลิปปินส์แต่เติบโตในสหรัฐอเมริกา โดยเดินทางกลับประเทศในช่วงทศวรรษ 1980 หลังผู้นำเผด็จการ 'เฟอร์ดินาน มาร์กอส' ถูกโค่นอำนาจ โดยเรสซาเป็นอดีตนักข่าวของซีเอ็นเอ็น และก่อตั้งเว็บไซต์แรปป์เลอร์เมื่อปี 2555 โดยแรปป์เลอร์ถือเป็นหนึ่งในองค์กรข่าวท้องถิ่นเพียงไม่กี่แห่งของฟิลิปปินส์ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลดูแตร์เตและนโยบายสงครามต่อต้านยาเสพติดของเขาที่คร่าชีวิตคนไปหลายพันคนอย่างเปิดเผย ซึ่งทั้งแรปป์เลอร์และเรสซายังตกเป็นเป้าฟ้องร้องในอีกหลายคดี ตั้งแต่การหนีภาษีไปจนถึงการละเมิดกฎการครอบครองกิจการโดยต่างชาติ  

เรสซาได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติจากการทำหน้าที่สื่อมวลชนและไม่ยอมจำนนต่อสิ่งที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนเรียกว่าเป็นการคุกคามโดยใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ โดยนิตยสารไทม์ยกให้เธอเป็นหนึ่งในบุคคลแห่งปี 2561 รวมถึงยังได้รับรางวัลเสรีภาพสื่อจากคณะกรรมการคุ้มครองสื่อ (Committee to Protect Journalists) ขณะที่สถาบันสื่อมวลชนนานาชาติ (International Press Institute) ระบุในแถลงการณ์ว่า การฟ้องร้องดำเนินคดีหลายข้อหาต่อเรสซาเป็นความพยายามที่ชัดเจนในการทำให้เธอเงียบและปิดแรปป์เลอร์เพื่อตอบโต้การทำงานวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีดูแตร์เตและรัฐบาลของเขา 

สถานการณ์เสรีภาพสื่อฟิลิปปินส์ที่น่ากังวลภายใต้ 'ดูแตร์เต'

องค์กรฟรีดอม เฮ้าส์ ระบุว่า แม้เสรีภาพสื่อจะได้รับการรับรองภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ฟิลิปปินส์ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่อันตรายที่สุดในโลกสำหรับนักข่าว ขณะเดียวกัน สถานการณ์ริดรอนเสรีภาพสื่อยิ่งเลวร้ายลงภายใต้รัฐบาลดูแตร์เต ผลการจัดอันดับเสรีภาพสื่อขององค์กรนักข่าวไร้พรมแดนชี้ว่าฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับ 136 จาก 180 ประเทศ 

ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ดูแตร์เต ระบุว่า นับตั้งแต่เขาขึ้นสู่อำนาจสื่อได้ตกเป็นเป้าการกดดันและการโต้กลับจากรัฐบาล หากวิจารณ์รัฐรุนแรงเกินไป โดยเมื่อเดือนที่แล้ว สถานีโทรทัศน์เอบีเอส-ซีบีเอ็น หนึ่งในสถานีโทรทัศน์ชั้นนำของประเทศต้องหยุดออกอากาศหลังถูกหน่วยงานกำกับสื่อสั่งระงับการดำเนินกิจการระหว่างรอต่อใบอนุญาต ซึ่งที่ผ่านมาสถานีดังกล่าวได้รายงานวิพากษ์วิจารณ์นโยบายสงครามปราบปรามยาเสพติดของดูแตร์เตอย่างหนักหน่วง  

อ้างอิง The Straits Times / BBC / CNN