ไม่พบผลการค้นหา
สทนช.หารือสมาชิกประเทศลุ่มน้ำโขง จับมือร่วมแก้วิกฤติแล้ง เดินหน้าแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอุทกวิทยา พร้อมสร้างเวทีการมีส่วนร่วมรับฟังข้อกังวลผลกระทบ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) เปิดเผยในโอกาสเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประชุมคณะกรรมการร่วมของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission The Special Session of MRC Joint Committee Meeting ) ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเทศ ได้แก่ ลาว เวียดนาม กัมพูชา และไทย ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยประเด็นสำคัญที่มีการหารือร่วมกัน คือ สถานการณ์ภัยแล้งของแม่น้ำโขง ซึ่งขณะนี้มีระดับน้ำต่ำกว่าระดับที่เคยเกิดในอดีต ขณะเดียวกัน ยังมีระดับน้ำขึ้นลงอย่างผิดปกติ

โดยที่ประชุมทั้ง 4 ประเทศมีเจตนารมณ์ร่วมกันเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งปัจจัยจากภัยธรรมชาติ และปัจจัยการบริหารจัดการเขื่อนในลำน้ำโขง ซึ่งสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) จะเป็นหน่วยงานหลักในการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ผลกระทบจากสองปัจจัยดังกล่าวให้ 4 ประเทศได้รับข้อมูลที่ตรงกัน เพื่อลดความสับสนและความเข้าใจที่อาจจะคลาดเคลื่อน นำไปสู่มาตรการในการเตรียมการป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวโดยเร่งด่วน

"ฝ่ายไทยเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลปริมาณการไหลของแม่น้ำสาขาหลักที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงโดยตรง โดยเฉพาะข้อมูลการระบายน้ำท้ายเขื่อนจาก สปป.ลาว และจีน เพื่อเตรียมการป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำที่ขึ้นลงที่ผิดปกติจากการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยสามารถวางแผนบริหารจัดการน้ำภายในประเทศเชื่อมโยงกับแม่น้ำสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งป้องกันความสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขงได้" นายสมเกียรติ กล่าว

ถกแก้แล้งน้ำโขง_191107_0008.jpg

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ฝ่ายไทยได้เข้าร่วมประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการประชุมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ระดับภูมิภาคครั้งที่ 8 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 6 พ.ย. 2562 ณ กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขงซึ่งจะขยายเป็น 10 ปี (พ. ศ. 2564-2573) จากเดิมที่ดำเนินการระยะ 5 ปี ( พ.ศ.2564-2568) ซึ่งในที่ประชุมได้เน้นย้ำการให้ความสำคัญของการใช้น้ำที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า การเกษตร อุปโภค-บริโภค ให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรฐกิจ รวมถึงการพัฒนาเขื่อนในลำน้ำแม่โขง ซึ่งขณะนี้ MRCS ได้จัดเวทีสร้างการรับรู้การก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบาทระดับภูมิภาค เพื่อให้ข่าวสารแต่ละประเทศที่เหมือนกันตามกลไกข้อตกลงระหว่าง 4 ประเทศ ภาคส่วนเกี่ยวข้องเข้าใจบทบาทหน้าที่ โดยกำหนดให้มีเวทีกลางเจรจา เข้าใจเหตุผลความจำเป็นนำไปสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า และให้ข้อมูลข่าวสารที่ตรงกัน

นายประดับ กลัดเข็มเพชร รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยโดย สทนช.ได้เตรียมพร้อมกำหนดจัดเวทีให้ข้อมูลให้แก่ภาคประชาชนรับรู้กระบวนการ รวมทั้งข้อมูลโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง ตามระเบียบปฏิบัติเรื่อง การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง หรือ PNPCA จำนวน 3 ครั้ง ซึ่งเบื้องต้นกำหนดจัดที่ จ.เลย จ.บึงกาฬ และจ.อุบลราชธานี ในช่วงเดือน ธ.ค. 2562 – ม.ค. 2563 เพื่อให้ข้อมูลโครงการแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ภาครัฐ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ประชาชน ประชาสังคม นักวิชาการ องค์กรด้านการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์กรพัฒนาเอกชน ในพื้นที่จังหวัดที่อยู่ริมลำน้ำโขง 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี เพื่อให้ข้อมูล สร้างความรู้ความเข้าใจตามกระบวนการ PNPCA

รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อรวบรวม ประเมินผล ประโยชน์และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง ซึ่งอาจมีผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขงสายหลัก ข้อห่วงกังวลต่อผลกระทบต่าง ๆ ประกอบเป็นท่าทีของประเทศไทยเสนอต่อ สปป.ลาว ผ่าน MRCS

"นอกจากการดำเนินการจัดเวทีให้ข้อมูลข่าวสารโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบางให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบได้ครอบคลุมรอบด้านมากที่สุดผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งทางเว็บไซต์ สทนช. www.onwr.go.th และ www.tnmc-is.org รวมถึงผ่านการับฟังความคิดเห็นหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายภาคประชาชน รวมถึงนักวิชาการ ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ในประเด็นปัญหา ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการประชุมในเวทีต่าง ๆ สทนช.จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่เกิดขึ้น มาพิจารณาเพื่อดำเนินการในรูปของคณะทำงานเพื่อเผยแพร่ข้อมูล ก่อนประมวลมานำเสนอประเด็นให้ความเห็นในที่ประชุมทั้งระดับชาติซึ่งมีคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย และผ่านกลไกคณะทำงานร่วม หรือ JC working group ในเวทีแม่น้ำโขง เพื่อให้เกิดกระบวนการรับฟังจากประชาชนที่อาจจะกระทบกับประเทศไทยนำไปสู่มาตรการปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อรองรับผลกระทบข้ามพรมแดนประเทศท้ายน้ำ" นายประดับ กล่าว


ถกแก้แล้งน้ำโขง_191107_0009.jpg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: