ไม่พบผลการค้นหา
‘สุชาติ’ บ่นเซ็งไม่อยากเป็นประธานฯ ต่อจาก ‘ศุภชัย’ ขึ้นมาทีไร สภาฯ ล่มทุกที จนได้ฉายามือปิดประชุม ท้ายสุดองค์ประชุมไม่ครบจริง รักษาสถิติล่มอีกรอบเป็นรอบที่ 3 ในเดือนเดียว และทำสถิติล่มรอบที่ 30 ตลอด 4 ปี

วันที่ 26 ม.ค. 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 24 (สมัยสามัญประจำปีครั้งทีสอง) ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง เป็นประธานการประชุม ได้แจ้งต่อที่ประชุมถึงการลาออกจาก ส.ส.และการสังกัดพรรคการเมืองของ ส.ส.ก่อนเข้าสู่วาระรับทราบรายงานการพัฒนาระบบราชการประจำปี 2564

ทันใดนั้น อุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขอให้นับองค์ประชุมก่อน เนื่องจากห้องประชุมเนื่องจากห้องประชุมมี ส.ส. จำนวนน้อย แต่ เนื่องจากเป็นเพียงการรับทราบรายงาน

กระทั่ง พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า ประธานฯ จำเป็นต้องดำเนินการตามที่ร้องขอ พร้อมยกตัวอย่างการประชุมรัฐสภาเมื่อวานนี้ (25 ม.ค. 2566) ว่า เป็นเรื่องสำคัญที่พรรคเพื่อไทยเสนอเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม แต่กลับไม่ได้รับความร่วมมือจากทั้ง ส.ว. และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล เช่นเดียวกับวันนี้ที่ไม่ได้รับความร่วมมือจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ไม่มาตอบกระทู้สด ทั้ง 3 กระทู้และหน้าที่การเป็นองค์ประชุมก็คือ ส.ส.รัฐบาล 

ประธานฯ จึงสั่งให้นับองค์ประชุม ซึ่งระหว่างรอองค์ประชุม ได้มีการสับเปลี่ยน สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ขึ้นบัลลังก์ทำหน้าที่ประธานการประชุมแทน ในช่วงหนึ่ง สุชาติ ระบุว่า “ผมไม่อยากขึ้นมาทำหน้าที่ประธานต่อจากประธานฯ แก้ว (ศุภชัย) เลย เพราะขึ้นมา ทีไรก็ต้องปิดประชุมทุกที จนได้ฉายามือปิดประชุมไปแล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่าจะประชุมต่อได้อย่างไร เพราะตอนนี้เมื่อปิดการแสดงตน มีสมาชิกที่กดบัตรแสดงตนเพียง 121 คนเท่านั้น และแสดงตนผ่านไมโครโฟนอีกแค่ 29 คนเท่านั้น ขาดไปแค่อีก 60 คนเอง” 

ทั้งนี้ สุชาติ ขึ้นมาทำหน้าที่ประธานฯ ได้เพียงแค่ 6 นาที ก็สั่งปิดประชุม เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบกึ่งหนึ่งขอสภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิกแสดงตนเพียง 153 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งคือจำนวน 215 คน


ม.ค. เดือนเดียว สภาฯล่ม 3 ครั้ง ทะลุถึง 30 รอบใน 4 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ เข้าสู่ปี 2566 การประชุมสภาผู้แทนราษฎรล่มไปแล้ว 3 ครั้ง ภายในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา และการประชุมร่วมรัฐสภาล่มไปแล้ว 2 ครั้ง

โดยองค์ประชุมสภาฯ ล่มในวันเดียวกันนี้(26 ม.ค. 2566) ถือเป็นครั้งที่ 30 ตลอด 4 ปีของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน และสื่อมวลชนประจำรัฐสภา ได้ตั้งฉายาสภาฯ ชุดนี้เมื่อสิ้นปี 2565 ว่า "3 วันหนี 4 วันล่ม" 

โดยก่อนหน้านี้สภาฯ องค์ประชุมต้องล่มลงรอบล่าสุดและเป็นครั้งแรกของปี 2566 เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2566 ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 19 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญ พิจารณาเสร็จสิ้นในวาระที่ 2 ซึ่งพิจารณาไปถึงมาตรา 11 แต่องค์ประชุมไม่ครบ 

และองค์ประชุมสภาฯ ล่มครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2566 ขณะประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 22 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2)วาระพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง ต่อจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งค้างการพิจารณาอยู่ที่ มาตรา 11 โดยล่าสุดล่มครั้้งที่ 3 วันที่ 26 ม.ค. 2566


หายจ้อยทั้ง ‘นายกฯ’ ทั้ง ‘รมต.’ ไม่มีใครมาตอบ

ก่อนหน้านี้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมี ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาคนที่ 2 เป็นประธานการที่ประชุม ในวาระกระทู้ถามสดด้วยวาจา ซึ่งโดยภาพรวมทั้ง 3 กระทู้ ไม่มีรัฐมนตรีมาตอบ ประธานฯ จึงเปิดโอกาสให้แต่ละคนได้อภิปรายสั้นๆ ถึงกระทู้ที่เตรียมมา

คนแรกคือ รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่มีการตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี ที่ได้มอบหมายให้ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล มาตอบแทน แต่ พล.อ.ชัยชาญ ติดภารกิจ จึงไม่สามารถมาตอบกระทู้ได้ รังสิมันต์ จึงกล่าวว่า เป็นวันที่น่าเสียดาย ตนตั้งใจตั้งกระทู้ถามถึงนายกรัฐมนตรีในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติ และการโยกย้ายตำรวจที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งตนจะสอบถามไปถึงความเกี่ยวข้องของหลานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายการฟอกเงินจีนเทา ที่เป็นที่สนใจของประชาชน 

รังสิมันต์ ชี้ว่า เครือข่ายเหล่านี้จะดำรงอยู่ได้ต้องอาศัยผู้มีอำนาจ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถตั้งมั่นอยู่ในประเทศของเราได้นานขนาดนี้ อีกทั้งยังมีหลักฐาน พยานต่างๆ ที่อาจเข้าไปพัวพันหรือเกี่ยวข้องกับหลานพล.อ.ประยุทธ์ แต่ปรากฏว่าหลานของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้มีการถูกเรียกสอบเข้าไปสอบถามจึงเป็นเหตุผลที่ตนต้องตั้งคำถามถึงพลเอกประยุทธ์ หากคำตอบไม่พึ่งพอใจ ก็อาจจะเป็นไปได้ที่ นายกรัฐมนตรีอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายจีนเทาด้วยหรือไม่

นอกจากนี้ ตนยังตั้งใจถาม การโยกย้ายตำรวจอย่างไม่เป็นธรรม และเป็นขวัญและกำลังใจของตำรวจ ที่พบว่าทำชั่วได้ดี ทำดีซวยต้องเก็บของไปอยู่ที่อื่น ตนจึงอยากสอบถามนายกรัฐมนตรีว่าเอาส่วนไหนของร่างกายคิด และยืนยันว่านายกรัฐมนตรีควรมาตอบคำถามด้วยตัวเองเพราะอยู่ในอำนาจและเกี่ยวพันกับตัวของท่านเอง 

"ท้ายที่สุดไม่ว่าจะหนีสภาอย่างไรก็แล้วแต่ ก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงความจริงได้ และการที่ไม่ตอบคำถามในสภาก็ยิ่งทำให้คนในสังคมเชื่อว่าท่านเกี่ยวข้องกับกระบวนการสีเทาซึ่งอาจจะเกี่ยวพันกับกระบวนการยาเสพติด หวังว่าการตั้งกระทู้ถามรอบหน้า พล.อ.ประยุทธ์ควรมาเผชิญหน้ากับความจริงตอบคำถามจากตัวแทนประชาชน" รังสิมันต์กล่าว

จากนั้น ศุภชัย ชี้แจงว่า การตั้งกระทู้ถามสดเป็นเพียงการแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องว่า จะมีกระทู้ถามถึง แต่จะไม่ทราบว่าจะถูกถามเรื่องอะไรดังนั้น หากอยากได้คำตอบแบบชัดเจนควรจะตั้งเป็นกระทู้ถามทั่วไป หรือ กระทู้แยกเฉพาะ เพื่อจะได้แจ้งหัวข้อเรื่องที่จะถามให้ผู้เกี่ยวข้องได้ทราบล่วงหน้าและเตรียมมาตอบได้ 

ด้าน จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา ถึง พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงนายกรัฐมนตรี โดย จิรายุ ขอใช้สิทธิในการตั้งคำถามทิพย์ เพื่อให้ตอบคำถาม หากปล่อยให้ตั้งกระทู้ถามใหม่เกรงว่าจะไม่ทันการ ประเทศจะล่มสลายเศรษฐกิจจะย่ำแย่ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอาจจะด่างพร้อยในการบริหารราชการแผ่นดินได้ 

ซึ่งในระหว่างที่นายจิรายุอภิปรายนั้น ได้นำรูป พล.อ.ประยุทธ์มาวางไว้ด้านหน้า พร้อมเปิดคลิปวิดิโอ นักท่องเที่ยวจีนรีวิวจ่ายเงินตำรวจ เพื่อความให้มาอำนวยสะดวกตั้งแต่เข้าไปรับในสนามบิน มีรถนำ จนถึงส่งที่โรงแรม พร้อมอธิบายค่าใช้จ่ายในกระบวนการดังกล่าวอย่างละเอียด จึงถามนายกรัฐมนตรีว่ามีแนวทางในการจัดการเรื่องดังกล่าวอย่างไร 

และขอถามถึงการซื้อตั๋ว Thailand elite Card พบว่าคนที่ไปซิ้อตั๋วดังกล่าว เป็นอั้งยี่ มาเฟีย สีเทาจำนวนมาก จึงอยากทราบว่าelite Card ทำอะไรได้บ้าง ปล่อยให้บริษัทเอกชนที่รับสัมปทานelite Card จากกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาไปขาย ใช้อำนาจในส่วนใด บริษัทเอกชนมีการปั่นราคาจึงเกิดมีการนำเข้าบุคลากรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเข้ามา 

ขณะที่ สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีษะเกษ พรรคภูมิใจไทย ได้ตั้งกระทู้ถามสดถึงรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในประเด็นนักท่องเที่ยวจีน เช่นเดียวกัน ว่า ขณะนี้กรณีนี้เป็นที่พูดถึงในสังคม เป็นผลที่ไม่ค่อยดีต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของไทยจึงอยากถามว่ามีแนวทางในการจัดการอย่างไร มีการดำเนินการไปแล้วอย่างไรบ้าง และมีการว่างมาตรการในการป้องกันปัญหานี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกอย่างไร แม้มีข่าวว่าตำรวจท่องเที่ยวได้วางแนวทางป้องกันแล้วจึงขอให้รัฐมนตรีกำชับเรื่องนี้ด้วย