ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เกินมาตรฐาน ฉุดเศรษฐกิจ กระทบท่องเที่ยว เพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนท คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบมากถึง 6 พันล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน (PM2.5) ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ ในมิติของค่าเสียโอกาสจากประเด็นด้านสุขภาพและการท่องเที่ยว รวมถึงค่าเสียโอกาสของภาคธุรกิจอื่นๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการที่ประชาชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

โดยมองว่า ผลทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯและปริมณฑล ในมิติต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้นแล้วอาจคิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 3,200–6,000 ล้านบาท (ภายในกรอบเวลา 1 เดือน ระหว่างวันที่ 5 ม.ค.- 5 ก.พ. 2563) ซึ่งใกล้เคียงกับกรอบระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา 

แต่มีค่าใช้จ่ายบางประเภทอาจมีการปรับลดลง อีกทั้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการที่เป็นรูปธรรมในเชิงปฏิบัติและชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากมีประสบการณ์จากปี 2562 ที่ผ่านมา กอปรกับจากสถิติในปี 2562 สถานการณ์ PM2.5 จะรุนแรงในเดือน ม.ค. และจะเริ่มผ่อนคลายลงในเดือน ก.พ. และค่าของฝุ่นละอองในแต่ละวันไม่เท่ากัน

สำหรับผลทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ ได้แก่

pm2.5-ฝุ่นละออง-หน้ากาก

ผลกระทบด้านสุขภาพ: ประชาชนบางกลุ่มยังมีภาระในการใช้จ่ายด้านสุขภาพ 

ปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐานที่รุนแรงขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปัญหาด้านสุขภาพของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ หรือระบบทางเดินหายใจ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่เริ่มได้รับผลกระทบทางด้านสุขภาพจากปัญหาดังกล่าว เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตาและผิวหนัง 

ทั้งนี้ ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (1-22 ม.ค. 2562) พบจำนวนผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจเฉพาะในโรงพยาบาลสังกัดกทม. เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนธ.ค. 2561 ราวร้อยละ 50 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ดังนั้น สถานการณ์ที่ดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นในช่วงเวลานี้ ก็คงจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และก่อให้เกิดค่าเสียโอกาสทางด้านสุขภาพ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบจากค่าเสียโอกาสด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลจากปัญหาฝุ่นฯ ในช่วงระหว่างวันที่ 5 ม.ค. - 5 ก.พ. 2563 อาจคิดเป็นเม็ดเงินราว 2,000-3,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายในการซื้อหน้ากากอนามัย เครื่องฟอกอากาศและอื่นๆ โดยค่าใช้จ่ายกว่าร้อยละ 75 เป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของการรักษาพยาบาล

สำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้อหน้ากากอนามัยลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาหน้ากากเฉลี่ยต่ำกว่าปีที่ผ่านมา และประชาชนส่วนใหญ่ยังมีหน้ากากอนามัยเหลืออยู่จากที่มีการสั่งซื้อเก็บไว้เป็นจำนวนมากในปีที่ผ่านมา 

ผลต่อภาคการท่องเที่ยว: นักท่องเที่ยวต่างชาติเลือกปรับกิจกรรมการท่องเที่ยว โดยอาจมีบางส่วนที่หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล 

เนื่องจากปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน น่าจะส่งผลกระทบต่อค่าเสียโอกาสในภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล คิดเป็นประมาณ 1,000-2,400 หรือคิดเป็นร้อยละ 1.0-2.5 ของรายได้ท่องเที่ยวในกรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงระหว่างวันที่ 5 ม.ค. - 5 ก.พ. 2563 โดยผลกระทบที่เกิดขึ้น หลักๆ จะมาจากการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติและไทยมีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาฝุ่นละออง แต่ในภาพรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้มีการยกเลิกการเดินทาง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการท่องเที่ยวที่มีการวางแผนล่วงหน้า เช่น นักท่องเที่ยวจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่จะถึงนี้ 

ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงการที่นักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจมีการปรับแผนหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลบางส่วน รวมถึงคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่จะหลีกเลี่ยงการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงนี้

ประชาชนรับมือฝุ่นพิษ-หน้ากาก-ผู้โดยสาร-รถเมล์-คนพิการ-ป้ายรถเมล์

ผลต่อเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ จากการที่ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน 

สำหรับในส่วนของค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่อาจสูญเสียไปจากการปรับพฤติกรรมของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อหลีกเลี่ยงหรือป้องกันการเผชิญฝุ่นละออง เช่น การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบ คือ ร้านอาหารข้างทาง สวนอาหาร หรือร้านอาหารที่อยู่ในที่โล่งแจ้ง รวมไปถึงกลุ่มร้านค้าที่ขายของริมทางและตลาดนัดต่างๆ ด้วย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินค่าเสียโอกาสในส่วนนี้เป็นมูลค่าประมาณ 200-600 ล้านบาท โดยได้คำนึงถึงผลบวกที่อาจจะเกิดขึ้นต่อร้านค้าหรือร้านอาหารที่มีบริการจัดส่งถึงที่พักแล้ว 

อย่างไรก็ดี นับเป็นเรื่องที่ดีที่ภาครัฐได้ให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นคงจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชนและประชาชน เพื่อให้ปัญหาทุเลาลงในส่วนที่จะสามารถทำได้ อาทิ ส่วนของภาคเอกชน ทั้งการตรวจสอบสภาพรถยนต์ การบริหารจัดการงานก่อสร้าง และกิจการโรงงานอุตสาหกรรม ขณะที่ในส่วนของภาคประชาชนและเกษตรกร อาทิ การไม่เผาขยะ หญ้าแห้ง หรือพืชผลทางการเกษตรต่างๆ  

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2563 สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน (PM2.5) กลับมามีความรุนแรงอีกครั้งในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยจากข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศ ของ AQICN.ORG พบว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน ที่ปกคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเฉลี่ยแตะระดับเกิน 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เป็นระยะเวลาติดต่อกันมาตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. 2563 และค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานเฉลี่ยแตะระดับสูงถึง 180 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ในวันที่ 11 ม.ค. 2563 

จากสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานที่มีความรุนแรง ทำให้เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤติ ได้แก่ 

1. ขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ จากวงแหวนรัชดาภิเษก เป็นวงแหวนกาญจนาภิเษก 

2. ห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯในวันคี่ ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.พ. 2563 สำหรับวันคู่ให้เข้าได้ตามช่วงเวลาที่กำหนด 

3. ตรวจวัดควันดำรถโดยสาร (ไม่ประจำทาง) รถโดยสารและรถบรรทุก 

4. ตรวจสอบโรงงานที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองหากไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 

5. กำกับให้กิจกรรมการก่อสร้างรถไฟฟ้าและก่อสร้างอื่นๆ เป็นไปตามข้อกำหนดไม่ทำให้เกิดฝุ่นและปัญหาการจราจร 

6. ไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล 

7. จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาศัยอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคุมการเผาในที่โล่งในช่วงสถานการณ์วิกฤติฝุ่นละอองและเข้มงวดการควบคุมยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง 

8. ลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 10 PPM ซึ่งเป็นน้ำมันที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองน้อย 

9. ขอความร่วมมือลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงานและรถยนต์ของส่วนราชการต้องผ่านมาตรฐานควันดำทุกคัน 

10. ให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานศึกษาสนับสนุนการจัดโครงการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสำหรับรถยนต์ดีเซลที่มีอายุเกิน 5 ปี เพื่อช่วยลดฝุ่นละออง

11. สร้างการรับรู้และเข้าใจแก่ประชาชน เกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 

นอกจากนี้ หน่วยงานจังหวัดกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาตรการเร่งด่วน 4 มาตรการ ได้แก่ 1. หน่วยงานใน กทม. จัดให้มีการเหลื่อมเวลาการเข้าและเลิกงานเพื่อลดจำนวนรถบนท้องถนน โดยให้เริ่มเข้างานเวลา 10.00 น. และเลิกงานเวลา 18.00 น. 2. ในวันที่ 22 ม.ค. 2563 โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 437 โรงเรียน ประกาศหยุดการเรียนการสอน 3. ทางกรุงเทพมหานครจัดให้มีการแจกหน้ากากอนามัย 4 แสนชิ้น ที่ศูนย์อนามัยทั้ง 68 แห่ง และ 4. ขอความร่วมมือให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัยในช่วงนี้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :