ไม่พบผลการค้นหา
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.แบบแบ่งเขต จะเกิดขึ้นอีกครั้งใน จ.ขอนแก่น เขตเลือกตั้งที่ 7 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2562 ให้ 'นวัธ เตาะเจริญสุข' พ้นจากสมาชิกภาพ ส.ส.

ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายนวัธ เตาะเจริญสุข สิ้นสุดลงตามรัฐะรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6) หรือไม่

โดยก่อนหน้านั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายนวัธ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ทำให้นายนวัธไม่สามารถไปปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ได้ 

เพราะนายนวัธ ถูกศาลจังหวัดขอนแก่น พิพากษา ลงโทษประหารชีวิตในคดีจ้างวานฆ่า เมื่อวันที่ 24 ก.ย.62 และนายนวัธ ถูกคุมขังไว้ระหว่างอุทธรณ์ฎีกา ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์

เป็นผลให้ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า นายนวัธ ถูกคุมขังอยู่ตามมาตรา 98(6) จึงต้องหมายความว่า สิ้นสุดลงเมื่อต้องคำพิพากษาจำคุก โดยไม่ต้องรอให้คดีถึงที่สิ้นสุด จึงอยู่ในมาตรา 98(6) ทำให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลง ตาม 101(6) โดยไม่ต้องรอให้คดีถึงที่สุด

ซึ่งหมายความว่า ไม่จำเป็นต้องรอให้คดีถึงที่สุด หากต้องคำพิพากษาให้จำคุก ก็มีผลให้ขาดความเป็นสมาชิกภาพ ส.ส.

ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญ ยังชี้ว่า เมื่อสมาชิกภาพของ ส.ส. ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงทำให้มีตำแหน่ง ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งว่างลง และต้องดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 102 จึงให้ถือว่าวันที่ตำแหน่ง ส.ส. ว่างลง คือ วันที่ศาลรัฐธรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟังโดยชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลมีผลในวันอ่าน คือ วันที่ 13 พ.ย. 2562

ดังนั้น การเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต จ.ขอนแก่น เขตเลือกตั้งที่ 7 จะต้องเกิดขึ้นภายใน 45 วันนับแต่วันที่ศาลอ่านคำวินิจฉัย ซึ่งจะต้องมีการเลือกตั้งซ่อมเกิดขึ้นก่อนวันที่ 28 ธ.ค. 2562

เลือกตั้ง นครปฐม

ทำให้มีการคาดการณ์ว่าวันอาทิตย์สุดท้ายของปฏิทินเลือกตั้งซ่อมอาจเกิดในวันอาทิตย์ที่ 22 ธ.ค. 2562 ถ้า กกต.มีมติเห็นชอบ

เมื่อมีเหตุให้ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ใน จ.ขอนแก่น เขต 7 แชมป์เก่าอย่าง 'พรรคเพื่อไทย' จึงต้องออกแรงขยับเป็นพิเศษ เพื่อรักษาฐานที่มั่นในเขตดังกล่าว

ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. และคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยจะต้องเร่งรีบวางตัวผู้ลงชิงเก้าอี้ ส.ส.

ล่าสุดแคนดิเดต ผู้สมัคร ส.ส.ขอนแก่น ในพรรคเพื่อไทยขณะนี้ ถูกวางตัวไว้ถึง 3 ตัวเลือก

คนแรก คือ 'ธนิก มาสีพิทักษ์' ซึ่งเป็นอดีต ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย และอดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งพรรคเพื่อไทยเคยวางตัวจะส่ง 'ธนิก' ลงเลือกตั้งในเขตดังกล่าว แต่ต้องหลีกทางให้ 'นวัธ' ในท้ายที่สุด

โดยพรรคเพื่อไทยมองว่า 'ธนิก' มีฐานเสียงใน อ.มัญจาคีรี อย่างแน่นหนา อีกทั้งยังเคยชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2554

ธนิก มาสีพิทักษ์ 8330402967785011347_n.jpgธนิก สุดารัตน์ 256_4183161527689281536_n.jpg

(ธนิก มาสีพิทักษ์ ลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น กับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2562)

คนที่สอง คือ 'อดิศร เพียงเกษ' อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นโฆษกผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีจุดแข็งอยู่ที่การปราศรัยอย่างดุเดือดและเรียกแฟนคลับได้

ประชุมสภา อดิศร เพียงเกษ เพื่อไทย

(อดิศร เพียงเกษ โฆษกผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร)

คนที่สาม เป็นตัวตายตัวแทนของ 'นวัธ เตาะเจริญสุข' คือ 'สุรพจน์ เตาะเจริญสุข' สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น น้องชาย 'นวัธ' 

หากย้อนไปดูผลการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 

เขตเลือกตั้งที่ 7 จ.ขอนแก่น ครอบคลุม อ.หนองเรือ และ อ.มัญจาคีรี ถือเป็นเขตที่สู้กันอย่างสูสี เขตหนึ่งใน จ.ขอนแก่น

อันดับ 1 นายนวัธ เตาะเจริญสุข พรรคเพื่อไทย ได้รับเลือกตั้ง 29,710 คะแนน

อันดับ 2 นายสมศักดิ์ คุณเงิน พรรคพลังประชารัฐ 26,553 คะแนน

อันดับ 3 นายสมควร ไกรพน พรรคอนาคตใหม่ 12,414 คะแนน

อันดับ 4 นายนาวิน คำเวียง พรรคประชาชาติ 9,350 คะแนน

ถึงแม้ 'นวัธ' จะเฉือนชนะ 'สมศักดิ์' เพียง 3,157 คะแนน 

แต่การเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคอนาคตใหม่ก็ถือเป็นตัวแปรไม่น้อย 

เพราะพรรคสีส้มสามารถกวาดคะแนนเสียงไปถึง 12,414 คะแนน

สมศักดิ์ คุณเงิน พลังประชารัฐ 600948244_622749650666913792_n.jpg

(สมศักดิ์ คุณเงิน อดีตผู้สมัคร ส.ส.ขอนแก่น เขต 7 พรรคพลังประชารัฐ)

แน่นอนว่า พรรคพลังประชารัฐ จะต้องส่งผู้ท้าชิงคนเดิมที่แพ้การเลือกตั้งครั้งล่าสุดลงล้างตาอีกครั้ง

ด้วยการส่ง 'สมศักดิ์ คุณเงิน' ลงทวงคืนเก้าอี้ ส.ส.ขอนแก่น โดยหวังเจาะเมืองหลวงอีสาน 'เพื่อไทย' ให้ได้อีก 1 เขต จากที่เคยปักธงทะลวงคว้าเก้าอี้ ส.ส.ไปได้แล้ว 1 เขต ในเขตเลือกตั้งที่ 2 จาก 'วัฒนา ช่างเหลา' ที่เอาชนะในเขตดังกล่าวถึง 46,276 คะแนนเหนือ 'อรอนงค์ สาระผล' จากพรรคเพื่อไทยที่ได้ไป 34,115 คะแนน

เมืองหลวง 'เพื่อไทย' ในภาคอีสานอย่าง จ.ขอนแก่น ซึ่งการเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีทั้งหมด 10 เขต

แต่พรรคเพื่อไทยไม่สามารถคว้า ส.ส.ได้ยกจังหวัด เพราะเสียที่นั่งให้กับ พรรคอนาคตใหม่ในเขตเลือกตั้งที่ 1 และ พรรคพลังประชารัฐในเขตเลือกตั้งที่ 2

สุดารัตน์ลงพื้นที่ อุดรฯ หนองบัวฯ ขอนแก่นสภา รัฐสภา

ทำให้ศึกเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ขอนแก่น เขต 7 ส่งท้ายก่อนสิ้นศักราชปี 2562 จึงมีความหมายต่อรัฐบาล 

และยังมีความหมายที่นั่งในสภาฯ ของพรรคฝ่ายค้านด้วยเพื่ออาศัยเสียงโหวตในสภาฯ คว่ำรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

การวางกลยุทธ์ เลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ พรรคอนาคตใหม่ จึงหลีกทางให้กับพรรคเพื่อไทยใน จ.ขอนแก่น เขต 7

หลังพรรคเพื่อไทยเคยหลีกทางให้พรรคอนาคตใหม่ในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.นครปฐม เขต 5

ศึกเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ขอนแก่น เขต 7 การช่วงชิงคะแนนเสียง 12,414 เสียงจากพรรคอนาคตใหม่ จึงมีความหมายไม่น้อยกับพรรคเพื่อไทย รวมทั้งพรรคพลังประชารัฐ

เพราะต้องไม่ลืมว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 จ.ขอนแก่น เขต 7 ผู้แพ้และผู้ชนะเฉือนกันด้วยคะแนนหลักพันคะแนน และถือว่าอาจพลิกผันได้

ยิ่งเสียงในสภาผู้แทนราษฎร ปัจจุบันมีจำนวนเท่าที่มีอยู่ 498 คน 

รัฐบาลมีเสียงอยู่ในมือ 253 เสียง ซึ่งยังอยู่ในภาวะเสียงปริ่มน้ำ แม้พรรคชาติไทยพัฒนาจะเพิ่งได้ที่นั่ง ส.ส.เพิ่มจาก นครปฐม เขต 5 

ขณะที่ 7 พรรคฝ่ายค้าน มีเสียงลดลงเหลือเพียง 243 เสียง 

และยังไม่นับรวมพรรคที่ประกาศเป็นฝ่ายค้านอิสระอย่าง พรรคไทยศรีวิไลย์ และพรรคประชาธรรมไทย รวม 2 เสียง

ทำให้ฝ่ายค้านอย่าง 'พรรคเพื่อไทย' ต้องออกแรงขยับไม่ให้บทเรียนซ้ำรอยเหมือน จ.นครปฐม เขต 5 ที่พรรคอนาคตใหม่พลาดท่าพ่ายแพ้ให้กับพรรคชาติไทยพัฒนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หมายเหตุ ปัจจุบัน สภาผู้แทนราษฎร มี ส.ส.เท่าที่มีอยู่ 498 เสียง

เสียงของรัฐบาล 253 เสียง 16 พรรค ประกอบด้วย

  • พรรคพลังประชารัฐ 117 เสียง
  • พรรคประชาธิปัตย์ 53 เสียง
  • พรรคภูมิใจไทย 51 เสียง
  • พรรคชาติไทยพัฒนา 11 เสียง
  • พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง
  • พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 เสียง
  • พรรคชาติพัฒนา 3 เสียง
  • พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง
  • พรรคพลังชาติไทย 1 เสียง
  • พรรคประชาภิวัฒน์ 1 เสียง
  • พรรคพลังไทยรักไทย 1 เสียง
  • พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง
  • พรรคประชานิยม 1 เสียง
  • พรรคพลเมืองไทย 1 เสียง
  • พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง
  • พรรคพลังธรรมใหม่ 1 เสียง

ฝ่ายค้านอิสระ 2 เสียง 

  • พรรคไทยศรีวิไลย์ 1 เสียง 
  • พรรคประชาธรรมไทย 1 เสียง

ฝ่ายค้าน 243 เสียง 7 พรรค

  • พรรคเพื่อไทย 135 เสียง
  • พรรคอนาคตใหม่ 80 เสียง (ปัจจุบัน มี 79 เสียง ขาด ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.) 
  • พรรคเสรีรวมไทย 10 เสียง
  • พรรคประชาชาติ 7 เสียง
  • พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง
  • พรรคเพื่อชาติ 5 เสียง
  • พรรคพลังปวงชนไทย 1 เสียง