ไม่พบผลการค้นหา
ผู้นำฝ่ายค้านฯ นำฝ่ายค้านลงพื้นที่เปิดเวทีรับฟังปัญหาความเดือดร้อนจาก 4 กลุ่มเปราะบางจากโควิด-19 ที่ จ.เชียงใหม่ คาดภาคการท่องเที่ยวได้รับการฟื้นฟูเป็นสัดส่วนที่ช้าที่สุด เชื่อปลายปี 64 ยังไม่ฟื้นตัว ติงรัฐบาลปลุกคนไทยเที่ยวไทยยังไม่สำเร็จ แนะสร้างตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเพื่อการแพทย์ฟื้นเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว

ฝ่ายค้านจัดเวทีรับฟัง 4 กลุ่มเปราะบางจากวิกฤตโควิดที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเวทีที่ 2 ของฝ่ายค้านที่จัดเสวนาเพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนภาคธุรกิจท่องเที่ยวและการบริการจากวิกฤตโควิด-19

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเปิดงานว่า ฝ่ายค้านฯ ได้ตระหนักความเดือดร้อนโรคโควิด-19 เพราะกระทบต่อประชาชนทุกภาคส่วน ฝ่ายค้านจึงมีดำริที่จะปรึกษาหารือตรวจสอบ ไปถึงประชาชนต่างๆ จะได้นำข้อมูลต่างๆที่กระทบต่อทุกภาคส่วน เพื่อนำข้อมูลเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรได้รับทราบและหาทางแก้ไข

ทั้งนี้ฝ่ายค้านได้ทำงานเรื่องนี้มาเมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา เกี่ยวกับผลกระทบของผู้ใช้แรงงาน ประเทศไทยอยู่ได้ด้วยการท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวได้สร้างแรงงานทุกภาคส่วน เม็ดเงินที่มาจากการท่องเที่ยวนั้น เป็นตัวเลขประมาณ 3 ล้านล้านบาท แต่ขณะนี้อยากให้ประชาชนได้นึกถึงว่าสิ่งเหล่านี้มันขาดหายไปอย่างไร 

สมพงษ์ ระบุว่า ภาคการท่องเที่ยวคงจะเป็นสัดส่วนสุดท้ายที่จะได้รับฟื้นฟูเข้าสู่ระบบเดิม และเป็นระบบที่ช้าที่สุด เพราะต่างชาติยังไม่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ ทำให้การบริการหายไป ทำให้รัฐบาลแนะนำให้คนไทยเที่ยวในประเทศ แต่เม็ดเงินไทยเที่ยวไทยไม่ใช่เม็ดเงินจำนวนมาก ผิดกับนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวในประเทศไทย อีกทั้งประชาชนตกงาน การที่รัฐบาลจะใช้โครงการดังกล่าวนี้จะได้รับผลสำเร็จไม่มากนัก

"ผมว่าปลายปี 2564 ยังไม่เรียบร้อย ถ้าถึงเวลานั้น ท่านคิดหรือว่าพรรคพวกท่านที่มีอาชีพเดียวกันกับท่านจะอยู่รอดสักกี่คน ถ้าไม่อยู่รอดอะไรจะเกิดขึ้น ท่านมีครอบครัวต้องใช้จ่ายจากการที่ท่านประกอบการด้านการท่องเที่ยวโดยเฉพาะแรงงานการบริการ ไม่มีโอกาสฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว" 

สมพงษ์ ระบุว่า จุดเริ่มต้นของการจัดเวทีแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นจากได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 โดยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบหลักๆ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้  

1. ภาคแรงงานในระบบและนอกระบบ ที่กรุงเทพมหานครในวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา

2. ภาคการท่องเที่ยวและบริการ ที่ จ.เชียงใหม่ ในวันนี้ (29 ส.ค.2563)

3. ภาคการเกษตร ที่ จ.หนองคาย ในวันที่ 12 ก.ย. 2563

4. ภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก ที่ จ.ชลบุรี ในวันที่ 26 ก.ย. 2563

สมพงษ์ ระบุว่า ภาคการท่องเที่ยวและบริการเป็นเสมือนหัวหอกในการพาประเทศเดินหน้ามาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศ สร้างงาน สร้างรายได้จำนวนมหาศาล เป็นที่รองรับการจ้างงานขึ้นแซงภาคการเกษตรที่เคยเป็นหัวหอกในอดีต รายได้จากภาคการท่องเที่ยวนั้นสูงถึง 3 ล้านล้านบาท แต่วันนี้กลับกลายเป็นกลุ่มที่ต้องทนทุกข์ทรมานที่สุด ในขณะที่ภาคการผลิตอื่นเริ่มฟื้น ภาคการท่องเที่ยวยังคงน่าเป็นห่วง ในปัจจุบันเมื่อมีการคลายล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศส่วนใหญ่แล้ว จากที่เคยต้องกลั้นหายใจ

พรรคฝ่ายค้าน เชียงใหม่
  • รวมพลคนฝ่ายค้านรับฟังความเห็นกลุ่มเปราะบางจากวิกฤตโควิดที่เชียงใหม่

ดันสร้างท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ-การแพทย์

สมพงษ์ ระบุว่า ตอนนี้หายใจได้บ้างแล้ว บางกลุ่มหายใจได้ทั่วท้อง บางกลุ่มไม่ทั่วท้อง แต่สำหรับกลุ่มท่องเที่ยวและบริการ ส่วนตัวมองว่ายังอยู่ในภาวะที่ต้องกลั้นหายใจอยู่ และมีแนวโน้มต้องกลั้นไปอีกนาน เพราะผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในต่างประเทศนั้นยังอยู่ในอัตราเร่ง การคาดหวังกับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเน้นปริมาณเหมือนในอดีต ยังไม่ใช่คำตอบในระยะเวลาอันใกล้ เราต้องเริ่มคิดถึงการสร้างตลาดท่องเที่ยวคุณภาพสูง ที่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวนักท่องเที่ยวสูง เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเพื่อการแพทย์ เป็นต้น

"รัฐบาลพยายามจะนำเอาการท่องเที่ยวในประเทศมาหล่อเลี้ยงแทนท่องเที่ยวจากต่างประเทศ พยายามสนับสนุนให้คนไทยที่ชอบเที่ยวต่างประเทศในอดีตทั้งหมดจะหันมาเที่ยวไทยแทน แต่นั่นไม่สามารถทดแทนกันได้ เพราะโดยเฉลี่ย คนไทยเที่ยวต่างประเทศใช้จ่ายแค่ประมาณ 1 ใน 5 ของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อมาเที่ยวไทย" นายสมพงษ์ระบุ

สมพงษ์ ระบุว่าสำหรับการท่องเที่ยวในประเทศ การฟื้นตัวยังอยู่ในขอบเขตจำกัด จังหวัดที่การท่องเที่ยวอาจฟื้นตัวเร็วที่สุดคือ กลุ่มที่ไม่ได้พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติมากนักและอยู่ใกล้กรุงเทพ เช่น กาญจนบุรี นครราชสีมา หรือประจวบคีรีขันธ์ที่เดินทางโดยรถยนต์ได้ และจังหวัดที่ฟื้นช้าที่สุด คือกลุ่มที่อยู่ห่างจากกรุงเทพ ต้องพึ่งพาการเดินทางโดยเครื่องบิน รวมถึงจังหวัดที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างประเทศสูง เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ หรือพังงา จังหวัดเหล่านี้ คือกลุ่มที่มี Supply ส่วนเกินสูงที่สุด เพราะปกติจะเป็นหัวหอกของการท่องเที่ยว นั่นแปลว่ามีความเสี่ยงที่ธุรกิจหลายแห่งต้องปิดตัวหรือไล่พนักงานออก เพราะไม่สามารถอยู่ได้ในวันที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเพียงพอ

สับรัฐบาลกระตุ้นท่องเที่ยวเหลว ทำคนตกงาน รายได้หด

หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ย้ำว่า มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาลนั้น มีส่วนช่วยไม่มาก เพราะแกนหลักของปัญหาที่ประชาชนตกงาน ขาดรายได้ ยังไม่ได้รับการแก้ไข มาตรการเราเที่ยวด้วยกันที่ตอนแรกให้สิทธิ์ทั้งหมด 5 ล้านคน แต่มีประชาชนใช้จริงเพียง 5 แสนคน หรือเพียง 10% แสดงให้เห็นว่ามาตรการเหล่านี้ไม่ตอบโจทย์ของประชาชน เพราะปัญหาที่แท้จริงคือพวกเขาขาดแคลนรายได้ ใครจะท่องเที่ยวในขณะที่ตกงาน รายได้หด และยังมองไม่เห็นแสงสว่างว่าจะได้งานกลับคืนมาเมื่อไหร่ ที่แย่กว่านั้นคือ แทนที่รัฐบาลจะแก้ไขให้ตรงจุด กลับไปเพิ่มสิทธิเป็น 10 ล้านคน ทั้งที่สิทธิ์เก่ามีคนใช้เพียงน้อยนิด

สมพงษ์ ระบุว่า มาตรการด้านสินเชื่อก็มีปัญหา ส่วนใหญ่มีแต่กรอบวงเงิน แต่ไม่มีการอนุมัติจริง เพราะส่วนใหญ่ทำผ่านธนาคารพาณิชย์ ซึ่งไม่ปล่อยกู้หากมีความเสี่ยง ประกอบกับเงื่อนไขสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำก็เข้มงวดจนรายย่อย หรือผู้ที่มีสายป่านสั้นเข้าไม่ถึงสินเชื่อ กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่มีการอนุมัติจริงไม่ถึงครึ่งเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนถึงความล้มเหลว มาตรการพักหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาลก็มีแต่กรอบนโยบาย ก็การปฏิบัติจริงกลับไม่สัมฤทธิ์ผล

ชี้ท่องเที่ยวกลุ่มเปราะบางเดือดร้อนสุด

นอกจากนั้น ภาคท่องเที่ยวและบริการยังมีลักษณะพิเศษ ที่แตกต่างจากภาคอุตสาหกรรม คือมีผู้ประกอบการและแรงงานนอกระบบค่อนข้างมาก และรายได้แปรผันตรงต่อยอดขายและการให้บริการ ไม่มีรายได้ที่เป็นฐาน มีแต่รายได้แปรผัน อีกทั้ง ภาคท่องเที่ยวเป็นกลุ่มเปราะบางที่เดือดร้อนที่สุดจากวิกฤตินี้ เพราะการท่องเที่ยวไม่มีแนวโน้มกลับมาในระยะเวลาอันใกล้ ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะกลับมาอย่างเร็วก็ปลายปีหน้า ซึ่งเชื่อว่ากว่า 90% มีลมหายใจไม่ถึงตอนนั้น ต้องล้มตาย เลิกกิจการ เลิกจ้าง และตกงานกันหมด