ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ว่า ธปท. ชี้ งบประมาณที่ล่าช้า สร้างความอ่อนแอให้เศรษฐกิจ ท่ามกลางปัญหาภาวะภัยแล้ง -ไวรัสโคโรนา

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ความเสี่ยงของเศรษฐกิจภายในงานสัมนาของบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) โดยชี้ประเด็นความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้นโยบายลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1 ซึ่งถือเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี

ผู้ว่าการ ธปท. อธิบายว่า แม้ช่วงปลายปี 2562 จะเริ่มเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกขึ้นมาบ้าง แต่เมื่อเดินหน้าเข้าสู่ปีใหม่ สถานการณ์ในไทยและสถานการณ์ระดับโลกกับเผชิญหน้ากับปัจจัยลบมากมาย ตั้งแต่ความขัดแย้งของสหรัฐฯ และอิหร่าน มาจนถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา รวมถึงสถานการณ์ภายในประเทศอย่างความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายปี 2563 และภาวะภัยแล้ง

ปัจจัยลบเหล่านี้ ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ได้ศึกษาข้อมูล ความเสี่ยง และความไม่แน่นอน ตัดสินใจใช้เครื่องมือทางนโยบายการเงินเข้ามาช่วยเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มของการปรับโครงสร้างหนี้และการเสริมสภาพคล่อง

ส่วนสาเหตุที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้พวกเขาเหล่านั้นตกไปอยู่ในสภาวะขาดสภาพคล่อง หรือ เผชิญหน้ากับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs เนื่องจากหากสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสามารถควบคุมได้ การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้น ผู้ประกอบการเหล่านี้จะได้มีความสามารถทางการแข่งขันและไม่กลายเป็นปัญหาอุปทานระยะยาว 

อย่างไรก็ตาม นายวิรไท ย้ำว่า ปัญหาที่เผชิญตอนนี้จำเป็นต้องใช้ความร่วมมือจากหลายฝ่าย เนื่องจากไม่สามารถรอพึ่งนโยบายทางการคลังได้ จากการ "สะดุดขาตัวเอง" ในเรื่องงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ที่มีความล่าช้า

นายวิรไท ยอมรับว่า ธปท. เคยมองว่า งบประมาณรายจ่ายปี 2563 จะขึ้นมาเป็นพระเอกชูโรงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้ และถ้าไม่มีความผิดพลาด งบในมือรัฐบาลก็จะสามารถช่วยปกป้องเศรษฐกิจจากสถานการณ์ไม่คาดฝันอย่างการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้ แต่เนื่องจากการความล่าช้า เศรษฐกิจไทยจึงมีเครื่องมือป้องกันน้อยลงไปอีก

ฝั่งภาวะภัยแล้ง แม้ผลกระทบจะไม่ได้คิดเป็นสัดส่วนใหญ่เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) แต่จะส่งผลกระทบกับประชาชนส่วนใหญ่ที่พึ่งการเกษตรอย่างแน่นอน และจะสะท้อนออกมาในกำลังซื้อภาคประชาชน

ขณะที่ สถานการณ์เงินบาทในปัจจุบัน นายวิรไท ชี้ว่าแม้เงินบาทจะเริ่มอ่อนค่าลงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับที่ไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจของประเทศอยู่ดี และ ธปท. ยังคงต้องเดินหน้าสนับสนุนการไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มเติม

ท้ายสุด นายวิรไท ย้ำว่า ธปท. ยังคงมีมาตรการทางนโยบายการเงินเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าเหรียญจะไปออกด้านใด แต่ย้ำว่าการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเดียวก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด และที่สำคัญคือการร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :