ไม่พบผลการค้นหา
ตัวแทน 4 พรรคหนุนวัฒนธรรมเพื่อคนตัวเล็กตัวน้อย ต่อสู้วัฒนธรรมอำนาจนิยม มุ่งเน้นความหลากหลาย ไม่ปล่อยให้วัฒนธรรมใดถูกกดทับ พร้อมแนะให้ช่วงชิงนิยาม 'คนดี-ความดี' ต้องควบคู่กับการเคารพสิทธิ-เสรีภาพ ยึดมั่นครรลองที่ถูกต้อง ไม่สนับสนุน 'การย้อนศรประชาธิปไตย'

คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ จัดงาน“พลังวัฒนธรรมกับการเมืองไทย” ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันนี้ (3 ก.พ.) โดยมีการเสวนา “มุมมองพรรคการเมืองต่อพลังวัฒนธรรมและการเมืองไทย” และจัดคอนเสิร์ตรวมเพลง พลเมืองโต้กลับ ตอน "กาละเหวย กาละวา" เฉลิมฉลองต้อนรับเลือกตั้ง 62

การเสวนา “มุมมองพรรคการเมืองต่อพลังวัฒนธรรมและการเมืองไทย” มีตัวแทนจาก 4 พรรคการเมืองเข้าร่วม ได้แก่ นายอดิศร เพียงเกษ จากพรรคเพื่อไทย, นายปิยยุตร แสงกนกกุล จากพรรคอนาคตใหม่, นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ จากพรรคพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) และนายสมบัติ บุญงามอนงค์ จากพรรคเกียน

พลเมืองโต้กลับเปิดซิงเกิ้ล กาละเหวยกาละวา

รองศาสตราจารย์ อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงาน ระบุว่า "วัฒนธรรมของผู้คนทุกระดับแยกไม่ออกกับการดำเนินการทางการเมือง ขณะเดียวกันชนชั้นปกครองใช้วัฒนธรรมครอบงำและอธิบายความชอบธรรมการครองอำนาจในสังคมตลอดมา โดยการนำเสนอมุมมองทางการเมืองผ่านวัฒนธรรมของคนธรรมดาหรือการผลักดันวัฒนธรรมของคนตัวเล็กตัวน้อยให้เป็นที่ยอมรับ จำเป็นต้องอาศัยฝ่ายการเมือง ที่มีบทบาทผลักดันนโยบายทางสังคมด้วย" 

พลเมืองโต้กลับเปิดซิงเกิ้ล กาละเหวยกาละวา

นายอดิศร เพียงเกษ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงศิลปะวัฒนธรรมว่า "มีความสำคัญ อยู่ที่เป็นวัฒนธรรมของชนชั้นไหนและรับใช้ใคร เพราะชนชั้นล่างกับชนชั้นสูงมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ชนชั้นสูงใช้วัฒนธรรมรับใช้การปกครองของตัวเอง ขณะที่ชนชั้นล่างก็ใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองด้วย"

"วัฒนธรรมที่ดีงามต้องสนองคนส่วนใหญ่ เป็นวัฒนธรรมประชาธิปไตย ที่ไม่เหยียดหยามความแตกต่าง ซึ่งควรปลูกฝังเยาวชนตั้งแต่เด็ก อาจเริ่มจากการให้ฟังเพลงที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย ไม่ใช่เพลงที่พูดมีอำนาจแต่งขึ้นมอมเมาสังคม"

พร้อมกันนี้ นายอดิศรเปรยว่า หากมีโอกาสเป็นรัฐบาลก็อยากดูแลกระทรวงวัฒนธรรม

พลเมืองโต้กลับเปิดซิงเกิ้ล กาละเหวยกาละวา

นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ประธานรณรงค์หาเสียง พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช) กล่าวว่า "ศิลปวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีสภาพบังคับหรือนิยามตายตัวเหมือนกับข้อกฎหมาย โดยมองว่าศิลปะคือสิ่งที่ธรรมชาติหรือมนุษย์สร้างขึ้นแล้วมีผลกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน โดยเห็นว่าจิตวิญญาณศิลปะนั้นมีความเป็นประชาธิปไตย เพราะเกิดขึ้นโดยชนชั้นใดก็ได้ และในสังคมเผด็จการจะปิดกั้นศิลปะ ขณะที่สังคมประชาธิปไตยศิลปะจะเฟื่องฟู ที่สำคัญคือจะรับใช้ต่อชนชั้นผู้ถูกกดขี่อย่างแหลมคมด้วย"

"พรรคไทยรักษาชาติมีแนวนโยบายที่จะส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความหลากหลาย และพรรคจะสร้างวัฒนธรรมในการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและเป็นปากเสียงให้กับผู้ถูกกดขี่อย่างถึงที่สุด" 

พลเมืองโต้กลับเปิดซิงเกิ้ล กาละเหวยกาละวา

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่กล่าวว่า "วัฒนธรรมไทยถูกกำหนดจากชนชั้นนำจารีตนิยม ต่างจากหลักสากลที่ต้องหลากหลายและเลื่อนไหลตามกระแสนิยม ซึ่งมีอุดมการณ์บางอย่างกำหนดวัฒนธรรม ขณะเดียวกัน วัฒนธรรมก็เป็นตัวเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ในสังคม โดยสร้างวาทกรรมมาช่วงชิงนิยามการอธิบายเรื่องต่างๆ อย่างไทยมีการนิยามความดี, คนดีหรือความเป็นไทย ตลอดจนประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่แตกต่างจากประชาธิปไตยสากล และมีวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ครอบงำอยู่อย่างชัดเจน"

นายปิยบุตรเสนอให้ฝ่ายประชาธิปไตยต้องช่วยกันช่วงชิงนิยาม 'คนดี' กลับมาจากชนชั้นนำ ที่คนดีมีคุณธรรม ต้องเคารพสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

พลเมืองโต้กลับเปิดซิงเกิ้ล กาละเหวยกาละวา

นายสมบัติ บุณงามอนงค์ หัวหน้าพรรคเกียน ระบุว่า "วัฒนธรรมทางการเมืองไทย คือ มีรัฐประหารทุก 4 ปีและยอมรับผู้มีอำนาจแม้ว่าจะชอบธรรมหรือไม่"

นายสมบัติ มองว่า ตัวอย่างที่เห็นในสังคมไทย เช่น การฝ่าฝืนกฎจราจร ไม่ต่างจากการรัฐประหาร เพราะหากคนไทยยอมรับการขี่รถจักรยานยนต์ย้อนศร ก็ไม่แปลกที่จะยอมรับการรัฐประหาร ที่ทหารย้อนศรประชาธิปไตย พร้อมหวังการสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ถูกต้องตามครรลองประชาธิปไตย ให้เป็นที่ยอมรับในสังคม โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายที่ถูกนิยามความเป็นไทยกดทับไว้ อย่างวัฒนธรรมมลายูหรืออิสลามิกชนในพื้นที่ชายแดนใต้

พลเมืองโต้กลับเปิดซิงเกิ้ล กาละเหวยกาละวา

นอกจากนี้ ช่วงท้ายงานยังมีคอนเสิร์ตรวมเพลง พลเมืองโต้กลับ ตอน "กาละเหวย กาละวา" เฉลิมฉลองต้อนรับเลือกตั้ง 62 โดยศิลปินกลุ่มพลเมืองโต้กลับ และเปิดตัวเพลงซิงเกิลใหม่ "กาละเหวย กาละวา" ที่เนื้อหาเชิญชวนประชาชนเดินหน้าเข้าคูหาไปเลือกตั้ง ในวันที่ 24 มี.ค.นี้ โดยมาพร้อมกับ ปากกาแท่งยักษ์ ที่พวกเขาบอกว่า เป็นอาวุธฆ่าเผด็จการ และการแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปินรับเชิญ รวมถึงตลกคณะสกอร์เปี้ยนร่วมสร้างเสียงหัวเราะบนเวทีด้วย