ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมมลพิษเผยผลตรวจสอบตัวอย่างดินและน้ำที่เก็บจากในโรงงานและชุมชนโดยรอบ

กรมควบคุมมลพิษเข้าร่วมการตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกับจังหวัดสมุทรสาครตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. กรณีการขนย้ายกากแคดเมียมและสังกะสี จากบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนต์ (มหาชน) (ชื่อเดิม บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด) มายัง บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ซึ่งประกอบกิจการหล่อและหลอมอะลูมิเนียมแท่ง อะลูมิเนียมเม็ดจากเศษอะลูมิเนียมและตะกรันอะลูมิเนียม (Scrap and Dross) โดยเก็บตัวอย่างกากแร่แคดเมียมและสังกะสีและตัวอย่างคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1) กากที่ไม่ได้ผ่านการหลอม 2) ดินในบริเวณโรงหลอม 3) ดินริมรั้วนอกโรงหลอม 4) ดินฝุ่นจากการดักจับจากการหลอม 5) ดินบริเวณนอกโรงงาน และ 6) ไอระเหยสารเคมีในบรรยากาศ 

ผลการตรวจ มีดังนี้

  • กากอุตสาหกรรมที่ยังไม่ได้ผ่านการหลอมมีปริมาณแคดเมียม 24,884 พีพีเอ็ม
  • ดินนอกโรงหลอมมีปริมาณแคดเมียม 31,584 พีพีเอ็ม
  • ดินในโรงหลอม มีปริมาณแคดเมียม 7,159 พีพีเอ็ม
  • ดินหน้ารั้วโรงงานมีปริมาณแคดเมียม 2,838 พีพีเอ็ม
  • ดินบริเวณชุมชนเหนือลมและท้ายลมในระยะ 10 50 และ 100 เมตร รอบโรงงาน ตรวจไม่พบปริมาณแคดเมียม
  • ตรวจไม่พบไอระเหยสารเคมีในบรรยากาศทั้งในและนอกบริเวณโรงงาน

ส่วนการการเก็บตัวอย่างน้ำ ได้มีการเก็บตัวอย่างน้ำ จำนวน 3 จุด ได้แก่ 1) รางระบายน้ำหน้าโรงหลอม 2) รางระบายน้ำหน้าอาคารสำนักงาน และ 3) คลองหลวงเดิมบาง (หน้าซอยกวงพนันพอ) ซึ่งจะมีการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนมลพิษที่เกี่ยวข้องและรายงานผลภายใน ๒ สัปดาห์ หรือเร็วกว่านั้น

กรมควบคุมมลพิษยังได้เข้าร่วมการประชุมกับจังหวัด และให้คำแนะนำเบื้องต้นในการขนย้ายกลับไปฝังกลบแบบปลอดภัย (Secure Landfill) ณ ที่ตั้ง บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนต์ จำกัด (มหาชน) จังหวัดตาก ดังนี้

1. การขนส่งกลับกากแร่แคดเมียมและสังกะสี จะต้องใช้รถขนส่งวัตถุอันตรายที่ต้องใช้ระบบกำกับการขนส่งวัตถุอันตราย เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตรายและกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก และผู้ขับรถต้องได้รับใบอนุญาตขับขี่ประเภทที่ 4 

2. การฝังกลบแบบปลอดภัย (Secure Landfill) ให้เป็นไปตามระเบียบกรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการฝังกลบอย่างปลอดภัย เมื่อทำการปรับเสถียรหรือทำให้เป็นก้อนแข็งแล้ว

กรมควบคุมมลพิษ ได้ประชุมหารือร่วมกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 3 (พิษณุโลก) สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 5 (นครปฐม) สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดตาก เพื่อซักซ้อมเตรียมการให้การสนับสนุนทางเทคนิคในการวางแผนขนย้ายกากของเสียจากจังหวัดสมุทรสาครกลับมาฝังกลบแบบปลอดภัย ณ จังหวัดตาก ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. จากการตรวจพบแคดเมียมในดินหน้ารั้วโรงงาน ซึ่งอาจจะติดไปกับล้อรถขนส่งได้ จึงมีข้อเสนอให้มีการดูดฝุ่นและจัดเก็บดินปนเปื้อนเพื่อไปกำจัดอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ได้หยุดประกอบกิจการชั่วคราวตามคำสั่งของอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร

2. จากข้อเสนอให้มีการขนย้ายกากแคดเมียมและสังกะสีกลับมาฝังกลบแบบปลอดภัย ณ หลุมฝังกลบเดิม จังหวัดตาก นั้น มีข้อห่วงกังวลด้านโครงสร้างทางวิศวกรรมของหลุมฝังกลบ เนื่องจากมีการเปิดหลุมและใช้เครื่องมือหนักในการขุดกากแคดเมียมและสังกะสีออกไป จึงเสนอให้มีการตรวจสอบโครงสร้างทางวิศวกรรมดังกล่าวว่ามีความพร้อมในการดำเนินการฝังกลบแบบปลอดภัยอีกครั้งได้หรือไม่ อีกทั้ง หากยังไม่มีความพร้อมควรดำเนินการจัดเตรียมอาคารจัดเก็บชั่วคราวอย่างไร หรือควรจัดเก็บไว้ในโกดัง บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ไปพลางก่อน

3. กรณีกากที่จะนำไปฝังกลบต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติของกากของเสีย (TTLC/STLC) และอื่น ๆ ในห้องปฏิบัติการเพื่อประกอบการพิจารณาว่าต้องมีการดำเนินการบำบัดกากก่อนฝังกลบตามหลักเกณฑ์การฝังกลบแบบปลอดภัยอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ในเรื่องระยะเวลาในการเตรียมการข้อ 2 และการตรวจคุณสมบัติกากอาจต้องใช้เวลา ไม่สามารถดำเนินการรองรับการขนขนย้ายกากให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครกำหนดได้

4. ดังนั้นในกรณีที่หลุมฝังกลบเดิมไม่มีความพร้อมอาจพิจารณาทางเลือกในการฝังกลบที่สถานกำจัดกากของเสียอื่นในจังหวัดสมุทรสาครหรือบริเวณใกล้เคียง เพื่อลดความเสี่ยงจากการขนย้ายกากแคดเมียมและสังกะสีซึ่งมีปริมาณมาก