ไม่พบผลการค้นหา
ผู้เกี่ยวข้องธุรกิจ 3 ประเภท ในเขตพระนคร ไม่โทษการชุมนุม ย้ำรายได้ลดเพราะไม่มีนักท่องเที่ยว ขณะงานวิจัยชี้ปัจจัยการเมืองที่กระทบเศรษฐกิจมีหลากหลาย มากกว่าจะโทษ 'ชุมนุมประท้วง' อย่างเดียว

'พระนคร' ไม่ได้เป็นแค่พื้นที่ยุทธศาสตร์แห่งการชุมนุมตลอด 88 ปีที่ผ่านมา ถนนหลายสายยังสวมบทบาทผู้ดึงดูดเม็ดเงินมหาศาลเข้าประเทศผ่านการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโต

ทุกครั้งที่มีการชุมนุมยึดพื้น ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) (ท่าพระจันทร์) ท้องสนามหลวง หรืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วาทกรรม 'ม็อบทำเศรษฐกิจพัง' มักถูกหยิบขึ้นมาโจมตีผู้ประท้วงเสมอทั้งในระดับย่อยหรือภาพใหญ่ของประเทศ

'สมาน มหามาตย์' ผู้จัดการร้านดอกหญ้าซึ่งก่อตั้งมาแล้วเกือบ 40 ปี เผยว่า ตั้งแต่เข้ามาทำงาน เขาพบเจอกับการชุมนุมประท้วงมาแล้วหลากหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดที่ติดอยู่ในความทรงจำคือช่วงปี 2553 ที่มีการใช้กำลังเข้าปราบปรามกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการร้านหนังสือเก่าแก่บนถนนมหาราชชี้ว่า โดยมากการชุมนุมมักไม่ได้กินพื้นที่มาจนถึงหน้าร้านของตนเอง ความยากลำบากจะมาในรูปของการปิดถนนมากกว่า

ซึ่ง 'สมาน' ชี้ว่า เป็นเรื่องปกติที่คนในชุมนุมต้องเผชิญ เพราะนอกจากจะเป็นพื้นที่แห่งการแสดงออกซึ่งสิทธิและเสรีภาพอันชอบธรรม ย่านกรุงเก่ามักถูกใช้จัดงานพระราชพิธีต่างๆ 

ขอเสียงหน่อย  แม่ค่้ารอบเกาะรัตนโกสินทร์
  • 'สมาน มหามาตย์' ผู้จัดการร้านดอกหญ้า

สำหรับม็อบที่เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 ลากยาวไปจนถึงช่วงเช้าของวันถัดมา ตัวผู้จัดการร้านหนังสือ ตอบอย่างสบายๆ ว่าไม่ได้กระทบกับการทำมาหากินมากอย่างมีนัยสำคัญเพราะกินระยะเวลาแค่เพียง 1 วันเท่านั้น อีกทั้ง ประชาชนทั่วไปรับรู้ข่าวสารการจัดกิจกรรมดังกล่าวอยู่แล้วจึงมีการเตรียมตัวเข้ามาซื้อของที่จำเป็นตั้งแต่วันก่อนหน้า หรือรอให้งานจบแล้วค่อยมาในวันถัดไปก็ยังได้

"สมมติจะมาซื้อหนังสือ เขาไม่ได้มาวันที่ปิดถนน เขาก็มาวันต่อไปอยู่ดี" สมาน กล่าว

สอดคล้องกับความเห็นของ 'ณฤชล สิทธิสงค์' เจ้าของร้านกาแฟเล็กๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง ที่เสริมว่า ตัวเธอเข้าใจจุดประสงค์ของการชุมนุม แม้จะมีผลในระยะสั้นต่อยอดขายในร้านเธอ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยหรือกินเวลายาวนานจนเกินไป 

ฝั่งผู้ดูแลโรงแรมในย่านถนนข้าวสารอย่าง 'วริศรา โนนยะโส' ออกมาเปิดใจว่า ม็อบครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นผลดีกับตัวโรงแรมและร้านอาหารในบริเวณนั้นเนื่องจากมีลูกค้าจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นผู้มาร่วมชุมนุมเข้ามาใช้บริการ 



คนร้ายที่แท้จริง 

สิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากธุรกิจทั้ง 3 ประเภท กล่าวเป็นเสียงเดียวกันคือ 'ม็อบไม่ได้ทำร้ายธุรกิจ' โดยตัวการที่แท้จริงของกำไรที่หดหาย รายได้ที่ลดลง มาจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่ตัดขาดการเข้ามาของนักท่องเที่ยวเป็นหลัก 

ขอเสียงหน่อย  แม่ค่้ารอบเกาะรัตนโกสินทร์
  • 'ณฤชล สิทธิสงค์' เจ้าของร้านกาแฟ

'ณฤชล' ย้ำว่า แม้ลูกค้าหลักของร้านกาแฟเธอจะเป็นข้าราชการ พนักงานในวัง รวมถึงเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย แต่รายได้ราว 30%-40% ของร้านช่วงก่อนยังได้มาจากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามาในพื้นที่แถวนั้นจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับผลบกระทบที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ เธอจึงยอมรับว่า ผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 มีน้ำหนักมากกว่าการชุมนุมมากแบบเทียบกันไม่ได้ 

ในทำนองเดียวกัน 'วริศรา' ไม่ได้ลังเลที่จะตอบว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวที่หายไปในขณะนี้ส่งผลกระทบกับสถานะการเงินของบริษัทอย่างมาก ที่ผ่านมา โรงแรมที่เธอทำงานให้กลับมาเปิดตั้งแต่ช่วงคลายล็อกดาวน์ในเดือน มิ.ย.แต่ก็มีแขกเข้าพักแค่เพียง 1-2 ห้องโดยเฉลี่ยเท่านั้น ม็อบที่เกิดขึ้นเลยกลายมาเป็นปัจจัยบวกด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ เธอยอมรับแบบตรงไปตรงมาว่า หากมีการเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้ การชุมนุมประท้วงอาจทำให้แขกที่พักมีความกังวลใจได้เช่นกัน โดยเธออ้างอิงจากเหตุการความรุนแรงเมื่อครั้งสลายการชุมนุม นปช.ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้แขกในขณะนั้น เหนือสิ่งอื่นใด 

ขอเสียงหน่อย  แม่ค่้ารอบเกาะรัตนโกสินทร์
  • 'วริศรา โนนยะโส' ผู้ดูแลโรงแรม
"เสื้อแดงที่เกิดการยิงกัน ถามว่าผลกระทบไหมก็มีบ้าง" วริศรา กล่าว

ขณะที่ ผู้จัดการร้านหนังสือด้วยอายุที่เลยวัยกลางคนไปแล้ว ชี้ว่า ธุรกิจร้านหนังสืออาจไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่หายไปเนื่องจากลูกค้าส่วนมากเป็นคนไทย แต่ร้านค้าโดยรอบและสินค้าเพิ่มเติมที่ร้านค้านำมาขายอย่างสมุนไพรได้รับผลกระทบอย่างหนักเนื่องจากลูกค้าหลักในช่วงที่ผ่านมาคือชาวจีน เมื่อไม่มีทัวร์จีน ลูกค้าแทบทั้งหมดจึงหายไปด้วย ทุกวันนี้ร้านค้าแถบนี้จึงต้องประคับประคองสถานการณ์เพื่อรอวันที่ประเทศจะกลับมาเปิดน่านฟ้าอย่างเสรีอีกครั้ง


'คิด' ก่อนสร้าง 'วาทกรรม'

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ประเมินว่าชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศในปี 2563 จะมีเพียง 6.7 ล้านคน เป็นการหดตัวลงมากกว่า 83.1% เมื่อเทียบกับตัวเลขนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี 2562 ทั้งยังประเมินว่ารัฐบาลอาจไม่เปิดให้มีการเข้าประเทศไปจนถึงต้นปีหน้า 

EIC

ผลกระทบจากตัวเลขข้างต้น ไม่เพียงทำให้ความหวังของชาวร้านค้าในย่านพระนครต้องหลุดลอยออกไป ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศถอยหลังลงไปอีก ก่อนหน้านี้ EIC ประเมินว่าจีดีพีไทยทั้งปีจะอยู่ที่ติดลบ 7.3% ขณะที่ความเห็นล่าสุดปรับลงมาอยู่ที่ติดลบถึง 7.8%

นอกจากนี้ รายงานประเมินเศรษฐกิจดังกล่าวชี้ว่า เม็ดเงินเยียวยาจากภาครัฐภายใต้พระราชกำหนดอำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หรือ พรก.เงินกู้ วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท ยังมีแนวโน้มลดลงในสองไตรมาสสุดท้ายของปี ทั้งๆ ที่รายได้ของประเทศยังคงเป็นลบอยู่ 

กระทรวงคลัง-โควิด-อยู่บ้าน หยุดเชื้อ

แนวโน้มพฤติกรรมดังกล่าวของรัฐบาลอาจทำให้ภาคประชาชน ไปจนถึงบริษัทเอกชนขนาดกลางและเล็กต้องเผชิญหน้ากับการล้มละลาย ในตอนท้ายเมื่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPL) หรือหนี้เสีย เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ฝั่งสถาบันการเงินผู้ปล่อยกู้อาจมีรายได้ลดลงโดยอัตโนมัติ 

ในสถานการณ์ที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เช่นเดียวกับสถาบันการเงิน ไปจนถึงบริษัทเอกชนมีรายได้ลดลง ความสามารถในการจัดเก็บภาษีซึ่งเป็นรายได้หลักของรัฐบาลย่อมน้อยลงตามไปด้วย วังวนดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลมีเสี่ยงภาวะ 'หน้าผาทางการคลัง' เช่นเดียวกัน

งานวิจัยอีกฉบับ จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ตีพิมพ์เมื่อ 27 ส.ค. 2561 ภายใต้ประเด็นความเชื่อมโยงจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีต่อเศรษฐกิจประเทศ พบว่า เมื่อแบ่งความไม่แน่นอนทางการเมืองออกเป็น 5 ด้าน คือ การชุมนุม, การประกาศกฏอัยการศึกหรือประกาศภาวะฉุกเฉิน, การรัฐประหาร, การเลืกตั้ง และการปฏิรูปต่างๆ ทั้งปฏิรูปทางการเมืองหรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปัจจัยทั้งหมดมีผลต่อเศรษฐกิจทั้งสิ้น 

ทั้งนี้ เมื่อมองในมิติของผลกระทบที่เกิดกับเศรษฐกิจมหภาคและตลาดการเงินเทียบกับ 5 ดัชนีข้างต้น ผู้ศึกษายังไม่พบความเกี่ยวข้องระหว่างการเติบโตของเศรษฐกิจกับความไม่แน่นอนด้านชุมนุมขัดแย้ง และความไม่แน่นอนด้านปฎิรูปการเมือง อย่างมีนัยทางสถิติ

ความไม่แน่นอนด้านการชุมนุมขัดแย้ง ยังไม่มีนัยสำคัญทางสถิติกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนในการชุมนุมสร้างผลลบต่อการลงทุนภาคเอกชนในระดับที่ค่อนข้างสูงแต่ไม่ได้กระทบกับการบริโภคภาคเอกชนมากนัก 

รายงานดังกล่าวสรุปว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองทั้ง 5 มิติ มีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับมิติของความไม่แน่นอนและสถานการณ์ทื่เกี่ยวข้องกับแต่ละสาขาอุตสาหกรรม

ด้วยเหตุนั้น แม้การชุมนุมประท้วงอันเป็นสิทธิและเสรีภาพที่ประชาชนพึงกระทำได้ภายใต้กฎหมายอาจสร้างผลกระทบกับธุรกิจจริงทางใดทางหนึ่งเช่นกัน แต่การโทษว่า 'ม็อบทำเศรษฐกิจพัง' เป็นเพียงวาทกรรมที่ปราศจากการคิดวิเคราะห์องค์ประกอบทางเศรษฐกิจอย่างครบถ้วน