ไม่พบผลการค้นหา
ธนาคารพาณิชย์ชี้ จีดีพี 2563 ติดลบร้อยละ 7.3 ปัจจัยสำคัญจากนักท่องเที่ยวหดตัวจากล็อกดาวน์-ปิดน่านฟ้า-การรักษาความมั่นคงทางการแพทย์ ย้ำ ตัวเลขโชว์ชัด ภาคแรงงานไทยอ่อนแอมานานแล้ว

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ประเมินอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยประจำปี 2563 ติดลบร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) โดยแบ่งเป็นการติดลบในไตรมาสแรกร้อยละ 1.8 ก่อนจะดิ่งลงไปต่ำสุดที่ติดลบร้อยละ 12.1 ในไตรมาสที่สอง และคาดว่าจะหันหัวขึ้นมาอยู่ที่การติดลบร้อยละ 9.2 ในไตรมาสที่สาม ก่อนขยับขึ้นมาอยู่ที่ตัวเลขติดลบร้อยละ 6.7 ในไตรมาสสุดท้ายของปี

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ ชี้ว่าปัจจัยสำคัญของการอ่อนตัวครั้งนี้มาจากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ 

พาณิชย์ - ยรรยง
  • ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์

ตัวเลขคาดการณ์นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยประจำปีนี้จากฝั่ง EIC มีทั้งสิ้น 9.8 ล้านคน ในกรณีพื้นฐาน ซึ่งเป็นการปรับลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 13.1 ล้านคน และยังเป็นการลดลงร้อยละ 75.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า จากตัวเลขนักท่องเที่ยวราว 40 ล้านคน ในปี 2562 โดยปัจจัยสำคัญมาจากการปิดน่านฟ้าตลอดไตรมาสที่สอง รวมไปถึงการชะลอตัวของอุตสาหกรรมการบินในช่วงไตรมาสที่สามและสี่ที่ยังไม่ฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม ยรรยง กล่าวว่า ความหวังเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขึ้นอยู่กับการเดินทางของคนในประเทศ ซึ่งศูนย์วิจัยฯ มองว่า ตัวเลขการเดินทางของคนไทยตลอดทั้งปีนี้น่าจะอยู่ที่ราว 75.7 ล้านทริป ลดลงจากปีก่อนหน้าที่ 130.3 ล้านทริป หรือคิดเป็นการหดตัวราวร้อยละ 42 โดยความหวังหลักของการเดินทางจะอยู่ในกลุ่มประชากรวัยมิลเลนเนียล


แรงงานไทยอ่อนแอมานานแล้ว
การศึกษา-มหาวิทยาลัย-อุดมศึกษา-นักศึกษา-กยศ.

ตัวเลขแสดงจำนวนผู้มีงานทำของไทย ตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติสะท้อนความจริงว่าภาคแรงงานไทยอ่อนแอมาอยู่ก่อนแล้ว ไทยมีตัวเลขผู้มีงานทำ 38.2 ล้านคนในปี 2557 ก่อนสัดส่วนจะลดลงมาเรื่อยๆ จนมาอยู่ที่ 37.4 ล้านคนในปี 2560

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงปี 2561 ถึง 2562 สัดส่วนการลดลงของประชากรที่มีงานทำลดลงอย่างชัดเจน จาก 37.7 ล้านคน ลดลงมาอยู่ที่ 37.6 ล้านคน เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อเทียบตัวเลขผู้มีงานทำ 3 เดือนแรกของปีนี้ เทียบกับปี 2562 พบว่าลดลงในสัดส่วน ร้อยละ 0.8, 0.4 และ 1.1 ตามลำดับ

ขณะเดียวกัน จำนวนชั่วโมงในการทำงานก็ลดลงมาอยู่ที่ 40.7 ชั่วโมง/สัปดาห์ ตามตัวเลขในปี 2562 จากที่เคยอยู่ที่ 44 ชั่วโมง/สัปดาห์ ในปี 2557 สอดคล้องกับจำนวนคนที่ทำงานเกินเวลา (OT) ที่ลดลงจาก 9.6 มาอยู่ที่ 6.8 ล้านคน แต่ตัวเลขผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมง/สัปดาห์ กลับเพิ่มขึ้นจาก 6.1 เป็น 6.5 ล้านคน ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว 

นอกจากนี้ อัตราการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างก็ทรงตัวในระดับร้อยละ 1 ที่ค่าเฉลี่ย 14,000 บาท/เดือน ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อ และไม่สนับสนุนกำลังซื้อของประชาชน 

ซ้ำร้าย โควิด-19 ยังมากระตุ้นให้สถานการณ์อัตราการว่างงานของประชากรไทยยังเพิ่มขึ้นโดยตัวเลขผู้ว่างงานในกลุ่มลูกจ้างประกันสังคมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาอัตราการว่างงานในกลุ่มประกันสังคม อยู่ที่ร้อยละ 1.81 ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในรอบกว่า 10 ปี นับตั้งแต่เดือน ก.ค.2552 ซึ่งคิดเป็นผู้ว่างงาน 220,000 คน จากผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งสิ้น 11.5 ล้านคน 

ยรรยงชี้ว่า กลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้กระจายตัวอยู่ในกลุ่มลูกจ้างชั่วคราว/ผู้ประกอบอาชีพอิสระ รวมไปถึงลูกจ้างในธุรกิจขนาดกลางและเล็ก และผู้ประกอบการและสมาชิกครัวเรือนที่ทำงานในธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ในสัดส่วน 3.9, 2.7 และ 2 ล้านคนตามลำดับ และอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมขนส่งและก่อสร้างเป็นสำคัญ 

ความเสี่ยงเหล่านี้ ยังสร้างภาระให้กับนักศึกษาจบใหม่และผู้ที่ต้องการหางานทำ เนื่องจากข้อมูลเร็วด้านการประกาศหางานจากเว็บไซต์ Jobsdb.com บ่งชี้ว่าบริษัทประกาศรับสมัครงานลดลงจากวันที่ 21 มี.ค.ที่เริ่มมาตรการล็อกดาวน์ มาจนถึงวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา ในสัดส่วนถึงร้อยละ 25.4 

แรงงาน
  • ที่มา; EIC

สอดคล้องกับความอ่อนแอในภาคแรงงาน สถานการณ์รายได้และสถานะทางการเงินของครัวเรือนเองก็อ่อนแอมาตั้งแต่ก่อนมีวิกฤตโควิด-19 เช่นเดียว รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในปี 2562 ลดมาอยู่ที่ 26,000 บาท/เดือน จากที่เคยอยู่ในช่วง 26,900 บาท/เดือน ในช่วงปี 2560 ทั้งๆ ตัวเลขจีดีพีของปีที่แล้วก็ยังทรงตัวอยู่ในแดนบวกที่ร้อยละ 2.4 ขณะที่ภาระหนี้ภาคครัวเรือนกลับเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 98.5 ต่อรายได้

ด้วยเหตุนี้ ครัวเรือนไทยกว่าร้อยละ 59.8 จึงมีความเปราะบางทางการเงินสูง คือมีสินทรัพย์ทางการเงินครอบคลุมรายจ่ายได้ไม่เกิน 3 เดือน และในจำนวนนี้ร้อยละ 34.8 มีสินทรัพย์ทางการเงินครอบคลุมรายจ่ายไม่ถึง 1 เดือนเท่านั้น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :