ไม่พบผลการค้นหา
ตำรวจไซเบอร์แถลงข่าว รวบ 2 แก๊งคอลปอยเปต ตั้งฐานบนคาสิโนในเขมร อ้างเป็นผู้กำกับ โทรขู่เหยื่อโอนเงิน เผย ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไป จำนวน 147 ครั้ง ไปยังบัญชีม้าจำนวน 79 บัญชี สร้างความเสียหายกว่า 300 ล้าน เคยโดนบังคับหลอกเหยื่อได้สูงสุดถึง 12 ล้านบาท

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท., พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ รอง ผบช.สอท. และ พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผบก.สอท.1 พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าว “ตำรวจไซเบอร์รวบ 2 แก๊งคอลปอยเปต ตั้งฐานบนคาสิโนในเขมร อ้างเป็นผู้กำกับ โทรขู่เหยื่อโอนเงิน เผยเคยโดนบังคับหลอกเหยื่อได้สูงสุดถึง 12 ล้านบาท” เมื่อวันเสาร์ที่ 5 ก.ค. 2568 ณ บริเวณชั้น 1 บก.สอท.2 (เมืองทองธานี) นำโดย

สืบเนื่องจาก เมื่อช่วงวันที่ 10 ก.ค.66 ถึง 16 ต.ค.66 ตำรวจไซเบอร์ได้สืบสวนคดี Hybrid Scam ที่รับแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ thaipoliceonline.go.th โดยเริ่มต้นจากมีผู้เสียหายรายหนึ่งถูกติดต่อจากบุคคลใช้ภาพโปรไฟล์หน้าตาดีผ่านโซเชียล จากนั้นได้ชวนผู้เสียหายพูดคุยกันจนเกิดความสนิทสนมและชอบพอกัน ต่อมาจึงหลอกให้โอนเงินโดยอ้างว่านำไปลงทุนคริปโตเคอเรนซี่ ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไป จำนวน 147 ครั้ง ไปยังบัญชีม้าจำนวน 79 บัญชี เกิดความเสียหายรวมเป็นเงินจำนวน 308,204,326.5 บาท ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนสอบสวนจนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับผู้ต้องหาคดีดังกล่าวได้แล้วจำนวน 76 ราย สามารถจับกุมตัวได้แล้ว จำนวน 46 ราย

จากกรณีดังกล่าว มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ เจ้าหน้าที่พบพยานหลักฐานว่า ผู้ต้องหาตามหมายจับกลุ่มดังกล่าว เป็นผู้ร่วมขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีผู้ร่วมขบวนการกว่า 100 คน โดยมีชาวจีนเป็นหัวหน้า มีฐานที่ตั้งอยู่ที่ ภูลิคาสิโน (Pu Li Casino) ตั้งอยู่ในเมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา ซึ่งขบวนการดังกล่าว ทำหน้าที่หลอกลวงคนไทยหลากหลายรูปแบบ อาทิ หลอกลวงเป็นหน่วยงานรัฐแล้วข่มขู่ให้โอนเงินเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ว่าเงินของเหยื่อไม่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา, หลอกให้ผู้สนใจลงทุนโอนเงินลงทุนรูปแบบต่างๆ, หลอกลวงให้รักแล้วชักชวนลงทุน (Hybrid Scam) เป็นต้น

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติต่อศาลออกหมายจับผู้ทำหน้าที่ต่างๆ ในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ กลุ่มดังกล่าวได้แล้ว รวมจำนวน 44 ราย โดยแบ่งเป็น

- ผู้ทำหน้าที่ สาย 1 (ติดต่อผู้เสียหาย หลอกลวงตามบทที่ได้รับ) จำนวน 20 ราย (จับกุมได้แล้ว จำนวน 6 ราย)

- ผู้ทำหน้าที่ สาย 2 (สนทนาตอกย้ำ สร้างความมั่นใจให้ผู้เสียหลงเชื่อแบบสนิทใจต่อจากสาย 1 เช่น เป็นร้อยเวร หรือ เจ้าหน้าที่ต่างๆ) จำนวน 11 ราย (จับกุมได้แล้ว จำนวน 2 ราย)

- ผู้ทำหน้าที่ สาย 3 (ปิดเกม สั่งผู้เสียหายให้โอนเงิน โดยอ้างตัวเป็นหัวหน้าของหน่วยงานที่แอบอ้าง เช่น ผู้กำกับ สถานีตำรวจของร้อยเวรในสาย 2) จำนวน 7 ราย (จับกุมได้แล้ว จำนวน 2 ราย)

- ผู้ที่ทำหน้าที่สนับสนุนด้านอื่นๆ (การทำหนังสือราชการปลอม ทำหมายปลอม จัดหาซิมผี จัดหาบัญชีม้า) จำนวน 6 ราย (จับกุมแล้ว 2 ราย)

โดยล่าสุด พ.ต.ต.ชัยโชติ ศรีวรขาน และ พ.ต.ท.รุ่งเรือง แสนโคตร สว.กก.2 บก.สอท.1 ได้ร่วมนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดเข้าจับกุมผู้ต้องหารายสำคัญกลุ่มดังกล่าว ดังนี้

1. จับกุม นายสมศักดิ์ อายุ 37 ปี (ทำหน้าที่ หัวหน้าสาย 2) ตามหมายจับที่ 4743/2567 ลง 27 ก.ย.67 ควบคุมตัวได้ที่ ซอยเชิงทะเล 14 ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 3 ก.ค.68

2. จับกุม นายวราเมธ อายุ 20 ปี (ทำหน้าที่หัวหน้าสาย 3 อ้างตัวเป็นผู้กำกับสถานีตำรวจ) ตามหมายจับ

ที่ 3677/2567 ลง 7 ส.ค.67 ควบคุมตัวได้ในพื้นที่ ต.ต้นเปา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เมื่อช่วงสายของวันที่ 3 ก.ค.68

เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีในข้อหา “ร่วมกันอั้งยี่ , ร่วมกันเป็นซ่องโจร, ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น, โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน สมคบกันโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และร่วมกันฟอกเงิน”

จากการสอบถามนายวราเมธ ผู้ต้องหาทำหน้าที่สาย 3 เบื้องต้นยอมเปิดเผยข้อมูลว่า ตนเองได้ค่าตอบแทนประมาณ 25,000 บาท ต่อเดือน และค่าคอมมิชชั่น 3.5 เปอร์เซ็นต์ แต่หากไม่เอาเงินเดือน จะได้ค่าคอมมิชชั่น 6.5 เปอร์เซ็นต์ ช่วงหลังตนเองจึงรับแค่ค่าคอมมิชชั่น

โดยตนเองเริ่มต้นจากเคยข้ามแดนอย่างถูกกฎหมายไปทำงานเป็นแอดมินของแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ชื่อดังในประเทศกัมพูชามาก่อน หนึ่งปีต่อมาได้ถูกชักชวนผ่านเฟซบุ๊กให้ไปทำงานเป็นแอดมินขายของอีกครั้ง โดยถูกนัดหมายให้ไปพบที่ ภูลิคาสิโน เมื่อไปถึงกลับโดนยึดอุปกรณ์สื่อสาร และเอกสารประจำตัว แล้วโดนบังคับให้ทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์สายหนึ่ง แต่ตนเองพูดไม่ได้ จึงได้ทำงานเป็นสายสอง โดยแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อรับแจ้งความ ภายหลังจึงได้ทำงานเป็นสายสาม คอยแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงเพื่อพูดจาข่มขู่หลอกลวงให้เหยื่อโอนเงิน โดยตนเคยหลอกลวงเหยื่อให้โอนเงินได้มากสุดถึง 12 ล้านบาท ซึ่งขณะนั้นได้ค่าคอมตอบแทน 3.5 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ นายวราเมธฯ ยังอ้างว่า ตนเองถูกหลอกลวงมาและโดนบังคับให้ทำงาน หากไม่ทำงาน จะโดนข่มขู่และทำร้ายร่างกาย โดยตนเองเคยเห็นคนที่ขัดคำสั่งถูกทำร้ายร่างกายในออฟฟิศของภูลิคาสิโนมาแล้ว ทำให้ตนเองจำใจต้องยอมทำงานหลอกลวงผู้อื่น

ส่วนนายสมศักดิ์ ผู้ต้องหาทำหน้าที่สาย 2 ยอมรับว่าตนเองถูกหลอกลวงให้ไปทำงานแล้วโดนบังคับเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์เช่นเดียวกัน ซึ่งเคยอ้างตัวเป็น “ร้อยตำรวจโทพีระ” ต่อมาได้หลบหนีออกจาก ภูลิคาสิโน แล้วโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจของประเทศกัมพูชาจับกุมตัวได้ ติดคุกอยู่ที่ประเทศกัมพูชา 14 วัน จึงถูกส่งกลับประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างการเร่งสืบสวนขยายผล รวมทั้งติดตามจับกุมผู้ต้องหาในขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าวที่ยังหลบหนี มาดำเนินคดีตามกฎหมายเพิ่มเติมต่อไป