ไม่พบผลการค้นหา
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยตัวเลขส่งออกเดือน ธ.ค. 2562 ติดลบร้อยละ 1.28 นำเข้าขยายตัวร้อยละ 2.54 ภาพรวมทั้งปี ส่งออกติดลบร้อยละ 2.65 นำเข้าติดลบร้อยละ 4.66 ประเมินปี 2563 ส่งออกพลิกบวก

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนธันวาคม มีมูลค่า 19,154 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบร้อยละ 1.28 การนำเข้ามีมูลค่า 18,558 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 2.54 และได้ดุลการค้า 595 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ส่วนการส่งออกของไทยทั้งปี 2562 มีมูลค่า 246,244 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบร้อยละ 2.65 ต่ำสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2558 ที่ติดลบร้อยละ 5.78 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 236,639 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบร้อยละ 4.66 ได้ดุลการค้า 9,604 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับแรงกดดันการส่งออกไทยปี 2562 นี้ เช่น สงครามการค้า เศรษฐกิจโลก เงินบาทเข็งค่า และ การปิดซ่อมโรงกลั่นในประเทศในช่วงปลายปี ทำให้การส่งออกที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น น้ำมัน เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ยังคงติดลบและส่งผลให้ภาพรวมสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 2.4

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวได้ดีในสินค้า เช่น รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ขณะที่สินค้าที่หดตัว ได้แก่ ทองคำ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ส่งผลให้ภาพรวมสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 1.8

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการส่งออกปี 2562 หดตัวที่ร้อยละ 2.65 มีปัจจัยสำคัญที่กดดันการส่งออกไทย ได้แก่ 

1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การค้า โดยมีประเด็นสงครามการค้าเป็นตัวแปรหลักทำให้กิจกรรมการผลิตชะลอตัวในหลายประเทศคู่ค้าของไทย ปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองในยุโรป รวมถึงความไม่แน่นอนของการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร

2) ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำกดดันการส่งออกน้ำมันและสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันตลอดปี 2562

3) สินค้าอุตสาหกรรมหลัก อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ ชะลอตัวจากการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดหลักความท้าทายในการปรับตัวช่วงเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีและการควบคุมมาตรฐานผลิต/การส่งออก

4) สินค้าเกษตรสำคัญได้รับผลกระทบจากราคาในตลาดโลก และอุปทานขาดแคลนในบางสินค้า

เมื่อพิจารณาในรายตลาด พบว่าการส่งออกไทยยังขยายตัวได้ดีในหลายตลาด ได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา เบลเยียม และบราซิล ที่ขยายตัวต่อเนื่องมากกว่า 3 ปี อีกทั้งตลาดไต้หวัน และเม็กซิโก ที่การส่งออกกลับมาเป็นบวกในรอบ 3 ปี

สำหรับแนวโน้มการส่งออกปี 2563 คาดการณ์ว่ายังมีทิศทางเป็นบวกจากปัจจัยสหรัฐฯ และจีนที่ได้ลงนามยุติทางการค้า การส่งออกสินค้าไลฟ์สไตล์และสินค้าเกษตรแปรรูปที่ยังขยายตัวได้ดี รวมถึงการดูแลการเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศเพื่อให้รองรับและสอดคล้องกับการส่งออกของไทยปี 2563 ทั้งประเมินว่าการส่งออกไทยปี 2563 มีโอกาสขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 1.5-3

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :