ไม่พบผลการค้นหา
โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ส่งเสริมการยกระดับ SMEs ไทย และสินค้า OTOP ในรูปแบบ E-commerce เชื่อมั่นช่วยเพิ่มช่องทางการขาย ประชาสัมพันธ์สินค้าให้ไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น

28 ม.ค.2567 ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ รับลูกตามนโยบายของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขับเคลื่อน Soft Power ด้วยสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) ตั้งเป้าพัฒนาการดำเนินธุรกิจ SMEs และสินค้า OTOP ยกระดับการค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยเพิ่มช่องทางค้าขายและประชาสัมพันธ์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ โปรโมทสินค้าให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ยกระดับธุรกิจรายย่อย และส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการและสินค้าไทยสู่เวทีสากล 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอ 4 แผนงาน เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาธุรกิจ SMEs และสินค้า OTOP ได้แก่ 

1.การพัฒนาผู้ประกอบการและช่องทางการค้าออนไลน์ในประเทศและข้ามพรมแดน อาทิ การฝึกอบรมการทำตลาดออนไลน์ การทำคลิปสั้น การไลฟ์สด และการเจรจาจับคู่ธุรกิจ ทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น ตั้งเป้าผู้ประกอบการสามารถขายสินค้าและบริการออนไลน์ได้มากกว่า 5,000 รายต่อปี รวมถึงมีการส่งเสริมด้านการค้าออนไลน์ระหว่างประเทศมากกว่า 25,000 รายต่อปี  

2.การสร้างและส่งเสริมผู้นำทางความคิด (influencer) เพื่อการค้าเชิงสร้างสรรค์ในตลาดต่างประเทศ เชื่อมโยงฐานข้อมูลพาณิชย์จังหวัดกับทูตพาณิชย์ กำหนดเป้าหมายต้องมีการรับรู้สินค้าและบริการไทยผ่านผู้นำทางความคิดเพื่อการค้าอย่างชัดเจน 

3. การยกระดับความเชื่อมั่นต่อการทำธุรกรรมในอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยการออกเครื่องหมายรับรองผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) ไม่ต่ำกว่าปีละ 13,000 ราย โดยผู้ประกอบการต้องจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อเก็บข้อมูล สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ 

4. การเชื่อมโยงฐานข้อมูลพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และพัฒนาจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของกระทรวงพาณิชย์เป็นแพลตฟอร์ม One Single Platform เพื่อให้เกิดความสะดวกมากขึ้น รวมทั้งพัฒนา Dashboard ด้าน E-Commerce โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อนำเสนอข้อมูลสำคัญ 

“นายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพของการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ E-commerce ในประเทศไทย ส่งเสริมการค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยนำเครื่องมือที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การใช้ผู้นำทางความคิด การเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์และปัญญาประดิษฐ์เพื่อนำมาช่วยประชาสัมพันธ์เพิ่มช่องทางการค้า ธุรกิจ SMEs ซึ่งนายกรัฐมนตรีใช้ทุกช่องทางเพื่อส่งเสริมศักยภาพ รวมทั้งจับคู่ธุรกิจสนับสนุนสินค้า OTOP ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยคุณภาพ ศักยภาพ และมนต์เสน่ห์ของสินค้าไทย รัฐบาลเชื่อมั่นว่านโยบายการส่งเสริมการค้าด้าน E-commerce นี้จะเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าและธุรกิจจากประเทศไทยให้เป็นที่รู้จัก มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น” ชัย กล่าว