ไม่พบผลการค้นหา
The Toppick - มาตรการแบนขวดพลาสติกในสนามบินได้ผลหรือไม่? - Short Clip
Aug 26, 2019 01:03

มาตรการห้ามขายน้ำบรรจุขวดพลาสติกในสนามบินนครซานฟรานซิสโก เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากที่สนามบินตั้งเป้าเป็นพื้นที่ปลอดขยะให้ได้ภายในปี 2021 แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่า วิธีนี้จะช่วยลดขยะได้จริงหรือไม่

ท่าอากาศยานนานาชาติในนครซานฟรานซิสโกของสหรัฐอเมริกา เป็นสนามบินแรกของประเทศที่บังคับใช้คำสั่งห้ามร้านต่างๆ ในอาคารผู้โดยสารจำหน่ายน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติก ซึ่งรวมถึงน้ำดื่มธรรมดา น้ำแร่ และน้ำดื่มแบบมีฟอง เพราะสนามบินแห่งนี้ประกาศเป้าหมายว่าจะเป็น 'พื้นที่ปลอดขยะ' หรือ Zero Waste Airport ให้ได้ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า

เว็บไซต์ Ruptly รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินรายหนึ่ง ซึ่งเห็นด้วยกับมาตรการห้ามใช้ขวดน้ำพลาสติกในอาคารสนามบิน โดยระบุว่า ที่ผ่านมา ขวดน้ำพลาสติกกลายเป็นขยะจำนวนมาก และเป็นภาระให้สนามบินต้องกำจัด เพราะขวดพลาสติกเกือบทั้งหมดเป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้

นับตั้งแต่มาตรการมีผลบังคับใช้ พนักงานร้านอาหารและร้านขายเครื่องดื่มในอาคารต่างๆ ของสนามบินซานฟรานซิสโกก็เริ่มใช้ภาชนะที่ทำจากแก้วหรืออะลูมิเนียมเพื่อเสิร์ฟเครื่องดื่มให้กับลูกค้า แม้แต่ตู้กดน้ำอัตโนมัติในอาคารต่างๆ ก็งดจำหน่ายผลิตภัณฑ์บรรจุขวดพลาสติก และก็มีการติดป้ายรณรงค์ให้ผู้โดยสารในสนามบินใช้ขวดน้ำที่ทำจากวัสดุอื่นๆ ในการเติมน้ำดื่มจากเครื่องให้บริการอัตโนมัติแทนขวดพลาสติกอีกด้วย

ด้านเว็บไซต์วอกซ์ VOX รายงานเพิ่มเติมว่า คำสั่งห้ามใช้ขวดน้ำพลาสติกมีผลเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดบรรจุน้อยกว่า 1 ลิตร ทำให้ยังสามารถจำหน่ายน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกที่มีปริมาณมากกว่า 1 ลิตรได้ตามเดิม

เช่นเดียวกับเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลม เครื่องดื่มเกลือแร่ หรือน้ำผลไม้ ที่บรรจุในขวดพลาสติก ก็ยังได้รับอนุญาตให้จำหน่ายได้ตามเดิมเช่นกัน จึงมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า มาตรการเหล่านี้จะได้ผลจริงหรือไม่ แต่ผู้สนับสนุนมาตรการนี้ก็มองว่าการจะผลักดันให้คนเลิกใช้ขวดพลาสติกอย่างได้ผล จะต้องเริ่มจากการลดปริมาณการใช้งานลงก่อน และค่อยๆ ยกระดับไปสู่การปฏิบัติที่เข้มงวดขึ้นจนกระทั่งเลิกใช้

อย่างไรก็ตาม VOX ระบุว่า การหันมาใช้วัสดุอื่นๆ แทนขวดพลาสติกอาจจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาขยะอย่างตรงจุดมากนัก เพราะผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้พลาสติกบางอย่างก็ไม่อาจนำไปรีไซเคิลได้ และอาจกลายเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ยากเช่นกัน พร้อมยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากอะลูมิเนียม ซึ่งสุดท้ายแล้วก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ต่างจากพลาสติก 

นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมถึงสายการบินพาณิชย์ต่างๆ ที่เดินทางเข้า-ออกสนามบินซานฟรานซิสโก เที่ยวบินเหล่านี้ยังใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกในการเสิร์ฟอาหารให้ผู้โดยสารบนเครื่องบินได้ตามปกติ ขณะที่สนามบินต้องรับผิดชอบในการกำจัดขยะจากเครื่องบินของสายการบินต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 20 ของปริมาณขยะทั้งหมดที่ต้องกำจัดในแต่ละวัน

ส่วนขยะพลาสติกที่สายการบินทั่วโลกผลิตขึ้นในแต่ละปีมีจำนวนประมาณ 9,000 ตัน 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog