ไม่พบผลการค้นหา
มองโลก มองไทย - ภาษาอังกฤษกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา - FULL EP.
Dec 8, 2019 05:33

รายการ มองโลก มองไทย ประจำวันที่ 8 ธันวาคม 2562

การใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยอยู่ในระดับ “ต่ำมาก”

การจัดอันดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ของประชาชนในประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ โดยองค์กร EF Education First ในสวิตเซอร์แลนด์ พบว่า ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีที่สุดจากการจัดอันดับนี้ คือ เนเธอร์แลนด์ ตามมาด้วยสวีเดน และนอร์เวย์

ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ

อันดับ 1 ประเทศเนเธอร์แลนด์

อันดับ 2 ประเทศสวีเดน

อันดับ 3 ประเทศนอร์เวย์

อันดับ 4 ประเทศเดนมาร์ค

อันดับ 5 ประเทศสิงคโปร์

อันดับ 6 ประเทศแอฟริกาใต้

อันดับ 7 ประเทศฟินแลนด์

อันดับ 8 ประเทศออสเตรีย

อันดับ 9 ประเทศลักเซมเบิร์ก

อันดับ 10 ประเทศเยอรมัน

ที่มา : EF English Proficiency Index


ขณะที่ชาวญี่ปุ่นมีทักษะภาษาอังกฤษลดลงอย่างต่อเนื่อง ถูกจัดเกณฑ์อยู่ในระดับ “ต่ำ” อันดับ 53 จาก 100 ประเทศ ลดลงจากปีที่แล้ว ที่อยู่ในอันดับ 49 เมื่อเทียบกับชาติในเอเชียแล้ว ชาวญี่ปุ่นใช้ภาษาอังกฤษด้อยกว่าชาวสิงคโปร์ ที่อยู่ในอันดับที่ 5, ชาวฟิลิปปินส์ อันดับที่ 20, เกาหลีใต้ อันดับที่ 37, ไต้หวัน อันดับที่ 38, จีน อันดับที่ 40 ส่วนเวียดนามอยู่อันดับที่ 52 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในระดับ “ต่ำมาก” อันดับที่ 74 ในอาเซียนมีเพียงพม่าและกัมพูชา ที่ด้อยกว่า


ความสามารถด้านภาษาอังกฤษมีความจำเป็นอย่างยิ่งในเศรษฐกิจทุกวันนี้ แต่ความสามารถด้านภาษาอังกฤษของคนไทย ลดลงต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2011 องค์กร EF Education First จัดให้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษของคนไทย อยู่ในอันดับ 42 ปี 2014(2557) อยู่ในอันดับ 48 จากนั้นอันดับลดลงต่อเนื่อง โดยในปี 2018 อยู่ในอันดับ 64 และ 2019 อันดับ 74 ได้ EF EPI score 47.61คะแนน

โดยผู้ชายไทยใช้ภาษาอังกฤษได้ดีกว่าผู้หญิงเล็กน้อย ประชาชนในภาคกลางได้คะแนนมากที่สุดคือ 50.10 คะแนน รองลงมาคือ ภาคเหนือ 48.92 คะแนน ภาคอีสาน 45.02 คะแนน ภาคใต้ 43.32 คะแนน

ทั้งนี้ คนกรุงเทพฯ มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษดีที่สุด 50.70 คะแนน นนทบุรี 50.22 เชียงใหม่ 49.95 ชลบุรี 47.29 และ ขอนแก่น 45.98 คะแนน


โรงเรียนนานาชาติในไทยเติบโตมากสุดในเอเชีย

อาจเป็นเพราะความสามารถด้านภาษาอังกฤษของคนไทยอยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้ประเทศไทยเป็นตลาดโรงเรียนนานาชาติที่มีการเติบโตมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปี 2560 เติบโตเฉลี่ย 18-20% แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มผู้ปกครองชาวไทยส่งลูกหลานเข้าเรียนในระบบอินเตอร์มากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติเติบโต มีการขยายตัวเป็นจำนวนมาก 

ข้อมูลจากสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงเรียนนานาชาติกว่า 175 โรงเรียน สัดส่วน 2 ใน 3 เป็นโรงเรียนนานาชาติในเขตกรุงเทพมหานคร มีครูชาวต่างชาติถึง 7,200 คน /มีมูลค่าทางธุรกิจสูงถึง 60,500 ล้านบาทต่อปี

ผู้ปกครองชาวไทยส่งลูกหลานเข้าเรียนในระบบการศึกษานานาชาติมากขึ้น เพื่อเป็นการปูทางการทำงานในอนาคต โรงเรียนเหล่านี้เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงชั้นปีที่ 12 สำหรับนักเรียนชาวไทยและนักเรียนต่างชาติ และหลังจากจบการศึกษา นักเรียนสามารถศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยได้ทั่วโลก และมีนักเรียนจำนวนมากที่สามารถเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำได้

โดยแบ่งเป็น 4 หลักสูตรหลัก คือ

- หลักสูตรอเมริกัน (US)

- หลักสูตรสหราชอาณาจักร (UK)

- หลักสูตร International Baccalau-reate (IB)

- หลักสูตรนานาชาติอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น แคนาดา เป็นต้น

จากข้อมูล ISC Research Ltd ณ เดือนธันวาคม 2561 สำรวจหลักสูตรต่างชาติที่นิยมมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หลักสูตรการศึกษาหลักของอังกฤษ (UK) 88 แห่ง สมัครเข้าเรียน 35,220 คน หลักสูตรการศึกษาของอเมริกา (US) 99 แห่ง สมัครเข้าเรียน 22,488 คน และ หลักสูตรอื่นที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการเรียนการสอน (OEM) 38 แห่ง สมัครเข้าเรียน 12,968 คน

สำหรับเหตุผลที่โรงเรียนนานา ชาติยังเป็นที่ต้องการของตลาดนั้น คุณอุษา สมบูรณ์ นายกสมาคมโรงเรียนนานาชาติ ให้ข้อมูลว่า เพราะขณะนี้มีอัตราค่าเทอมหลายระดับ โดยเฉพาะตลาดล่างที่เริ่มจะขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม โรงเรียนที่มีค่าเทอมค่อนข้างแพง แต่มีคุณภาพก็ยังเป็นที่ต้องการในตลาดสูง

“ปัจจุบันมีการขยายตัวของโรงเรียนนานาชาติทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้แม้แต่โรงเรียนไทยยังต้องการเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติ หรือ English Program มองว่าเป็นโอกาสของเด็กไทย ที่จะมีทางเลือกเพิ่มขึ้น และอาจจะส่งผลให้ค่าเทอมถูกปรับลดลงมา เพราะการแข่งขัน แต่ขณะเดียวกัน อาจส่งผลด้านต้นทุนคือเงินเดือนครูต่างชาติ ที่ถือเป็นต้นทุนหลักปรับเพิ่มขึ้นได้ จากการที่ครูต่างชาติเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก"

อย่างไรก็ตามค่าเทอมของโรงเรียนนานาชาตินั้นสูงมาก มีหลายระดับตั้งแต่ 500,000 บาทต่อไป ไปจนถึง 1 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นกว่าจะเรียนจบตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาล จนถึงมัธยมปลาย 15-17 ปี ต้องใช้เงิน 7.5 ล้านบาท ถึง 17 ล้านบาท

 

โรงเรียนรัฐแห่เปิด Eng-program เพิ่มรายได้

ทางเลือกของพ่อ-แม่ ที่อยากให้ลูกเก่งภาษาอังกฤษ แต่ไม่มีเงินมากขนาดจะให้ไปเรียนโรงเรียนนานาชาติ ก็ต้องขวนขวายให้ลูกไปเรียน English Program ของโรงเรียนรัฐบาล เพราะค่าเทอมถูกลงมาหลายเท่า ซึ่งขณะนี้มีแทบทุกโรงเรียน โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะควบคุมค่าเทอมไม่ให้เกิน 40,000 บาท หรือปีละประมาณ 80,000 บาท แต่อาจจะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆอีก เช่นค่าแรกเข้า 50,000-100,000 บาท ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละโรงเรียน

นอกจากนี้โรงเรียนรัฐบาลจำนวนมากยังเปิดหลักสูตร Mini English Program ที่ค่าเรียนถูกลงมาอีก เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ปกครองและนักเรียน แต่ก็ยอมรับกับจำนวนนักเรียนที่จะมากพอๆกับห้องปกติ คือ 40-50 คนต่อห้องเรียน

แต่ไม่ว่าจะเป็น English Program หรือ Mini English Program ก็มีค่าเทอมสูงกว่าหลักสูตรปกติมาก โดยค่าเทอมระดับมัธยมในห้องปกติของโรงเรียนรัฐบาล จะอยู่ที่ 2,500-3,500 บาทต่อเทอม


เมื่อภาษาอังกฤษสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า ขณะนี้ความเหลื่อมล้ำได้บุกเข้ามาในโรงเรียนของรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ โรงเรียนกลายเป็นผู้ผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำและความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมให้เด็กเห็น

ประเด็นแรก การศึกษาเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้ เป็นงบประมาณสมทบเบื้องต้นเสมอภาคกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งในโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนรัฐ คือ พวกโปรแกรมพิเศษต่างๆ ที่พ่อแม่ต้องจ่ายเพิ่ม อาทิ ห้องเรียน EP ห้องเรียนเน้นวิทยาศาสตร์ ห้องเรียนเน้นเฉพาะความถนัด เป็นต้น

คำถามก็คือ โปรแกรมเหล่านี้เป็นการผลักภาระให้พ่อแม่ต้องจ่ายเพิ่มใช่หรือไม่ และถ้าจ่ายเพิ่มแล้วมั่นใจได้หรือเปล่าว่า ลูกของคุณจะมีคุณภาพการเรียนที่ดีขึ้น ทำไมการได้มีโอกาสเรียนภาษาอังกฤษกับครูที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสอน จึงกลายเป็นเรื่องที่ต้องจ่ายเพิ่ม คนที่มาจากครอบครัวที่ไม่พร้อมจ่ายต้องกลายเป็นผู้ที่ขาดโอกาสเข้าถึงห้องเรียนที่ครูมีความสามารถพอที่จะใช้ภาษาอังกฤษในการสอนใช่หรือไม่

ประเด็นที่สอง โปรแกรมพิเศษเหล่านี้กำลังทำให้เด็กถูกเลือกปฏิบัติอยู่หรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่น ห้องเรียนทั้งหมดมี 10 ห้อง แบ่งเป็นห้องเรียนโปรแกรมพิเศษที่พ่อแม่จ่ายเพิ่ม 5 ห้อง ถ้าเป็นหลักสูตร EP เป็นห้องเรียนติดแอร์ มีเด็กไม่เกิน 30 คน ส่วนอีก 5 ห้องเป็นห้องเรียนพัดลม มีเด็ก 40-50 คน ถามว่าเด็กที่เรียนห้องเรียนธรรมดา เพราะพ่อแม่ไม่พร้อมจ่ายจะรู้สึกอย่างไร

โปรแกรมพิเศษเหล่านี้ทำให้ความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ต้องทำใจยอมรับให้ได้ตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน และขณะนี้ความเหลื่อมล้ำได้บุกเข้ามาในโรงเรียนของรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ โรงเรียนกลายเป็นผู้ผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำและความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมให้เด็กเห็น ทั้งที่การศึกษาเป็นเรื่องสวัสดิการขั้นพื้นฐาน แต่ช่องว่างของคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนกำลังถ่างกว้างมากขึ้น

คุณแยกเด็กจำนวนหนึ่งออกมา กลายเป็น Education for Some ในขณะที่การศึกษาควรจะต้องเป็น Education for All แล้วในมุมกลับกัน เมื่อก่อนนี้เวลาโรงเรียนต้องการระดมทุนพ่อแม่เพื่อปรับปรุงห้องคอมฯ เพื่อเด็กทั้งโรงเรียน ก็อาจจัดงานทอดกฐินคอมฯ ผ้าป่าคอมฯ บ้าง นี่คือ All for Education แต่ตอนนี้พ่อแม่จ่ายด้วยเงินพิเศษเป็น “ท่อตรง” เพื่อลูกตนเองได้อยู่ในห้องเรียนที่มีความพร้อมมากกว่าเด็กทั่วไป ซึ่งจริงๆ แล้วมันควรเป็นระบบ เพื่อคนทุกคนในโรงเรียนมากกว่าเพื่อเด็กเฉพาะบางคน

ปัจจุบันเป็นเรื่องของค่านิยมมากกว่า เพราะโลกยุคปัจจุบัน การเรียนภาษาอังกฤษไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องเรียนอย่างเดียว ถ้าเด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีการใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น มีครอบครัวสนับสนุน หรือเด็กขวนขวายเรียนรู้ด้วยตนเอง ดูหนังสือฟังเพลงภาษาอังกฤษผ่านยูทูปก็ได้เหมือนกัน ถ้าเราทำให้สิ่งแวดล้อมในโรงเรียนมีการใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น พัฒนาคุณภาพครูไปทั้งหมดพร้อมกัน เด็กคนอี่นก็จะได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วย

แต่พอโรงเรียนเปิด “ช่องทางพิเศษ” เพื่อคัดเลือกครูเฉพาะกิจขึ้นมา ครูชาวต่างชาติก็ถูกคัดเลือกเข้ามาแทนครูไทย ซึ่งปัญหาก็คือ เรายังไม่มีเกณฑ์คัดครูต่างชาติที่มาสอนภาษาอังกฤษว่า เคยมีประสบการณ์สอนเด็กมาก่อนไหม เพราะครูสอนภาษาอังกฤษไม่ใช่ว่า แค่พูดภาษาอังกฤษเป็นก็สอนเด็กได้ มาตรฐานความรู้ด้านภาษาอังกฤษและจิตวิทยาการสอนเด็กก็เป็นเรื่องสำคัญ

จริงๆ แล้ว ปัจจุบันครูไทยที่จบครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ วิชาเอกภาษาอังกฤษ และมีความสามารถสอนภาษาอังกฤษมีจำนวนมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีห้องเรียนต่างหาก โรงเรียนควรหันมาให้ความสำคัญกับครูบรรจุใหม่ให้มีคุณภาพ ได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง มากกว่าการจ้างครูชาวต่างชาติเข้ามาสอนแทนครูชาวไทย เพราะถ้าโรงเรียนไม่ได้พัฒนาครูจบใหม่ในช่วงปีแรกๆ ของการสอน เขาก็จะกลายเป็นครูที่มีความรู้เพียงเท่าที่เรียนจบมาไปจนเกษียณอายุราชการ

เพราะฉะนั้น ถ้าโรงเรียนจะลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพภาษาอังกฤษของเด็กทั้งโรงเรียน ก็ต้องสร้างกลไกเพื่อเด็กทั้งโรงเรียน มากกว่าการแบ่งห้องเรียนพิเศษ เพื่อรับการสนับสนุนจากผู้ปกครองที่พร้อมจ่ายเงินพิเศษ เพื่อมาเจอครูพิเศษ แล้วอยู่ในห้องเรียนที่มีความพร้อมเป็นพิเศษ

ปัญหาอีกส่วนหนึ่ง เพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่เมื่อส่งลูกเข้าโรงเรียนก็คิดว่าตนเองหมดบทบาทแล้ว เวลาระดมทรัพยากรก็เอาเงินใส่ซองให้โรงเรียนก็จบ สิ่งสำคัญคือ เราต้องพยายามสนับสนุน ให้พ่อแม่เข้ามาเป็นเจ้าของการศึกษามากกว่าเป็นผู้จ่ายเพื่อการศึกษา


ตอนนี้หลักสูตร EP คือ ตัวอย่างที่ชัดเจนมาก เพราะพ่อแม่ไม่เคยเข้าไปดูว่า ครูฝรั่งที่มาสอน สอนดีหรือเปล่า หลักสูตรโอเคไหม พ่อแม่มองแค่ว่า ฉันจ่ายแล้วเป็นหน้าที่โรงเรียนจัดการไป ฉันจะรอผลที่ปลายทาง ไม่สนใจว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างทางบ้าง พ่อแม่ต้องดิ้นรนหาเงินมาจ่ายค่าเทอมราคาแพง ซึ่งไม่ได้รับประกันว่าลูกของคุณจะได้รับคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้นหรือเปล่า

จริงๆ แล้ว การเรียนภาษาอังกฤษต้องเริ่มจากต้นทาง คือ เริ่มต้นในวัยที่เหมาะสม ด้วยวิธีการที่เหมาะสม โตมาในสภาพแวดล้อมการเรียนที่เหมาะสม เจอครูที่ใช้ภาษาอังกฤษแบบเป็นธรรมชาติ มองว่าเป็นภาษาที่สอง แนวทางนี้ใช้ได้กับทุกวิชา ไม่ใช่เรียนเพื่อท่องจำ เพื่อใช้ทำโจทย์ข้อสอบอย่างเดียว ไม่ได้เรียนมาเพื่อใช้ในชีวิตจริง


นายกมหาเธร์แนะ ควรสอนวิชาวิทย์-คณิตเป็นภาษาอังกฤษ ลดความชาตินิยมลงบ้าง ประเทศจะได้ก้าวหน้าและแข่งกับนานาชาติได้

เดอะสตาร์ออนไลน์รายงานว่า นายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด วัย 94 ปี ของมาเลเซียได้กล่าวในระหว่างการประชุมรัฐสภาในวันนี้ โดยได้ระบุถึงบางกลุ่มที่เป็นหัวอนุรักษ์นิยมระบุว่า ควรละทิ้งความคลั่งชาติด้วยการเปิดรับการเรียนรู้ภาษาต่างชาติบ้าง เพื่อให้เตรียมความพร้อมให้เยาวชนมาเลย์สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ในอนาคต

"มันยากนะที่จะหาผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญใหม่ๆแปลเป็นภาษาประจำชาติของเรา หากเรายังมัวแต่ไม่เปิดกว้างเรียนรู้ภาษาอื่นๆบ้าง .. ในมุมมองของผม แนวคิดชาตินิยมเท่าให้เรามีแนวโน้มอนุรักษ์ภาษาถิ่นมากขึ้น ประเทศที่ประชาชนเอาแต่ยืนกรานอนุรักษ์ภาษาถิ่นของพวกเขา .. หากพวกเขาไม่เรียนรู้สิ่งใหม่ๆบ้างประเทศจะไม่ก้าวหน้า"

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog