ไม่พบผลการค้นหา
อดีตผู้ร่วมผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โพสต์รำลึก 24 ธ.ค. 2542 คือ 20 ปีที่ 'ทักษิณ' ประกาศ ตัดสินใจรับแนวคิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นนโยบายของพรรคไทยรักไทย สานต่อ 'นพ.สงวน' หลังผลักดันในทุกเวทีหาเสียงจนชนะเลือกตั้งถล่มทลายเมื่อปี 2544

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.คลัง โพสต์เฟซบุ๊กระบุความเป็นมาในโอกาสที่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครบรอบ 20 ปี โดยระบุว่า เสียงเพลง We Wish You a Merry Christmas ลอยมาตามลมอีกแล้ว 20 ปีแล้ว ที่ตนฟังเพลงคริสต์มาสด้วยความสดชื่นเมื่อรำลึกถึงอดีตอันแสนสุขใจ นึกถึงภาพของการพบกันครั้งแรกของคน 2 คน ซึ่งจะเป็นที่จดจำไปอีกแสนนาน คนหนึ่งคือ ดร.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทยอีกคนคือ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงษ์ อดีตเลขาธิการ สปสช.มันสมองสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข

นพ.สุรพงษ์ ระบุว่า วันที่ 24 ธ.ค. 2542 คือวันที่ ดร.ทักษิณร ตัดสินใจรับแนวคิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นนโยบายของพรรคไทยรักไทย เป็นแนวคิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งในวันนั้นยังเป็นเพียงความใฝ่ฝันที่จับต้องไม่ได้ จินตนาการไม่ออก หลังจากรับเป็นนโยบายแล้ว ดร.ทักษิณมักเล่าเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้บุคคลต่างๆทั้งในพรรคและนอกพรรคฟัง แต่ไม่มีใคร "อิน" ไปด้วย อย่างมากก็เออออคล้อยตามไปแบบเสียไม่ได้ เวลาวางแผนเตรียมจัดทำนโยบายของพรรค เรื่องนี้ถูกจัดวางไว้ท้ายๆ เป็นเพียงไม้ประดับ

นพ.สุรพงษ์ ระบุว่า เมื่อพรรคไทยรักไทยทำโพลสอบถามความคิดเห็นของประชาชนทุกครั้ง เรื่องนโยบายที่ต้องการให้พรรคการเมืองประกาศระหว่างการหาเสียง เรื่องสุขภาพเป็นปัญหาท้ายๆ ที่ประชาชนนึกถึง ตนแอบสังเกตเห็นสีหน้าผิดคาดระคนผิดหวังของหัวหน้าพรรคเมื่อเห็นผลโพลเกี่ยวกับสาธารณสุขที่ออกมา กลางปี 2543 การจัดทำแคมเปญเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทยเป็นไปอย่างคึกคัก นโยบายด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ SME OTOP และยาเสพติด ได้รับการจัดวางให้เป็นนโยบายหลัก เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งได้ชื่อนโยบายที่เตรียมใช้รณรงค์ให้เข้าใจง่ายๆว่า "30 บาทรักษาทุกโรค" แทบไม่มีใครพูดถึง

"ผมรู้ว่า หากปล่อยให้สถานการณ์เลื่อนไหลไปเช่นนี้ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคจะไม่ถูกหยิบขึ้นมาเป็นนโยบายในการหาเสียงอีกเลย ผมจึงตัดสินใจทำ 2 เรื่อง เรื่องแรก ขออนุญาตหัวหน้าพรรค ดร.ทักษิณ จัดอภิปรายเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค ขึ้นภายในพรรค แล้วเชิญผู้บริหารพรรคและแกนนำพรรคมารับฟัง ซึ่งหัวหน้าพรรคเห็นชอบ อีกเรื่อง ผมไม่บอกใคร ไม่ได้ขออนุมัติหัวหน้าพรรค แต่คิดเอาเองว่า ดร.ทักษิณคงไม่ว่าอะไร ขณะนั้น มีการติดป้ายนโยบายพรรคไทยรักไทยในหมู่บ้านต่างๆทั่วประเทศ และนโยบาย 30 บาทก็ปรากฎอยู่ในป้ายเหล่านั้นด้วย แต่ในกรุงเทพมหานครไม่เคยมีป้ายนโยบาย 30 บาทเลย ผมจึงเช่าป้ายบิลบอร์ดริมทางด่วนดินแดงด้วยเงินส่วนตัว เขียนข้อความสั้นๆว่า "30 บาทรักษาทุกโรค นโยบายสาธารณสุขของพรรคไทยรักไทย" นพ.สุรพงษ์ ระบุ

นพ.สุรพงษ์ ระบุว่า หลังขึ้นป้ายดังกล่าว ก็เกิดการสอบถามถึงที่มาของป้ายกันภายในพรรคว่า "ใครทำ" ตนจึงเรียนผู้บริหารของพรรคว่าเป็นผู้จัดทำเอง ไม่ของบประมาณพรรค และไม่ใช่งบหาเสียงเพราะยังไม่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง วันต่อๆมา มีประชาชนจำนวนมากสอบถามเข้ามาที่พรรคเกี่ยวกับนโยบาย 30 บาท และเป็นเหตุให้เกิดความตื่นตัวในหมู่แกนนำพรรคเพื่อหารายละเอียดของนโยบายนี้ไปอธิบายประชาชน

ส่วนการอภิปรายเรื่องนโยบาย 30 บาท ภายในพรรค ตนเชิญ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงษ์ และนายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีต ส.ว. กทม. มาร่วมอภิปราย และตนเป็นผู้ดำเนินการอภิปรายโดยกล่าวนำเกี่ยวกับตัวอย่างความทุกข์ของผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล 3 ราย

ตัวอย่างหนึ่งซึ่งตนได้รับการบอกเล่าจากเพื่อนแพทย์ เป็นเรื่องราวของยายหลานสองคนซึ่งถูกสุนัขบ้ากัดจึงไปหาหมอที่คลินิก หมอแจ้งว่า ต้องฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าทั้งสองคน ยายอึ้งไปสักครู่แล้วบอกกับหมอว่า "ยายมีเงินพอฉีดได้แค่คนเดียว คุณหมอฉีดให้หลานเถอะ ยายไม่ห่วงตัวเองหรอก ยายแก่แล้ว" ตนเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงเรียบๆ จากนั้นผู้อภิปรายทั้งสองท่านก็ช่วยกันขยายความเรื่องแนวคิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

"ช่วงท้ายการอภิปราย ดร.ทักษิณกล่าวขอบคุณ นพ.สงวน และนายจอน และบอกนายจอนว่า ตนได้อ่านเรื่อง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และอยากช่วยกันสร้างสังคมที่ดีเช่นนั้น เย็นวันนั้น ผมเดินสวนกับ ดร.ทักษิณหน้าห้องประชุมภายในพรรค ดร.ทักษิณบอกผมว่า "หมอ การอภิปรายวันนี้ดีนะ" เขาหยุดพูดสักครู่ เม้มปากแล้วพูดต่อว่า "เรื่องที่หมอเล่าวันนี้ ผมฟังแล้วน้ำตาซึมเลย"

นพ.สุรพงษ์ ระบุว่า ตนมองด้านหลังของ ดร.ทักษิณที่ค่อยๆ เดินห่างออกไปจนลับสายตา และรู้สึกได้ว่า แรงบันดาลใจเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้เบ่งบานขึ้นแล้วในใจของหัวหน้าพรรคไทยรักไทย หลังจากวันนั้น ดร.ทักษิณผลักดันเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรคในพรรคอย่างเอาจริงเอาจัง แม้ว่า ผลโพลยังออกมาเหมือนเดิมคือ ประชาชนไม่คิดว่า สุขภาพเป็นปัญหาใหญ่และสำคัญของชีวิต

เมื่อมีการคัดเลือกนโยบายหลัก 3 เรื่องเพื่อชูในการหาเสียง ดร.ทักษิณสรุปในที่ประชุมของคณะรณรงค์เลือกตั้งให้ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็น 1 ใน 3 นโยบายหลักของพรรคควบไปกับ "พักหนี้เกษตรกร 3 ปี และกองทุนหมู่บ้านๆละ 1 ล้านบาท" ท่ามกลางเสียงไม่เห็นด้วยและงุนงงของแกนนำพรรค การเดินสายปราศรัยหาเสียงระหว่างรณรงค์เลือกตั้ง ดร.ทักษิณประกาศนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคในทุกเวทีด้วยความหลงใหลและมั่นใจ ในเวทีปราศรัยแห่งหนึ่ง นักการเมืองอาวุโสบอก ดร.ทักษิณว่า "อย่าพูดเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรคเลย มันเป็นไปไม่ได้ ทำไม่ได้หรอก" 

แต่ ดร.ทักษิณยังคงกล่าวปราศรัยเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรคอย่างออกรส มีคนเล่าให้ผมฟังว่า นักการเมืองท่านนั้นต้องคอยสะกิดเตือนด้านหลังตลอดเวลาให้หยุดปราศรัยเรื่องนี้ ยิ่งปราศรัยไปนานวัน เสียงประชาชนที่ตอบรับนโยบาย "30 บาทรักษาทุกโรค" ยิ่งดังกระหึ่มขึ้นทุกที และแล้ววันเลือกตั้งก็มาถึง วันที่ 6 มกราคม 2544 พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายด้วยจำนวน ส.ส.248 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

นักวิเคราะห์ทางการเมืองในขณะนั้นงุนงง บางคนบอกว่า ซื้อเสียง บางคนบอกว่า ประชานิยม บางคนบอกว่า นี่คือปาฏิหารย์ทางการเมือง ต่างคนยลตามช่อง จะมองเห็นเปลือกตม หรือ มองเห็นดาวอยู่พราวพราย ก็แล้วแต่ภูมิหลังของแต่ละคน แต่เป็นปาฏิหารย์ทางการเมืองในวันนั้นเองที่นำมาสู่ปาฏิหารย์ในชีวิตของประชาชนในวันนี้ เป็นปาฏิหารย์ที่นำมาสู่ความทะเยอทะยานที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษย์ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญและยกย่องจากนานาชาติ และเป็นปาฎิหารย์แห่งความรักเพื่อนมนุษย์ซึ่งเริ่มต้นในวันนี้...เมื่อ 20 ปีที่แล้ว สุขสันต์วันคริสต์มาสครับ