ไม่พบผลการค้นหา
ความพร่องศักยภาพในการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิดกระทบอนาคตของเด็กไทยอย่างไร

1. ภาพเด็กหญิงวัยอนุบาลกำลังถูกเจ้าหน้าที่พยาบาลในชุด PPE อุ้มขึ้นรถฉุกเฉิน สะเทือนใจผู้เป็นแม่ที่ลูกของตนได้ถูกแยกจากอ้อมอก เหตุเพราะเด็กติดโควิดจากผู้เป็นพ่อที่ถูกพาไปรักษาตัวก่อนหน้านี้ เมื่อเสริมกับการตกงานจากพิษเศรษฐกิจ ยิ่งทำให้ผู้เป็นแม่กำลังเผชิญภาวะโรคซึมเศร้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

2. เด็กชายวัยประถมต้นลืมตาตื่นที่โรงพยาบาลขึ้นมาถามหาพ่อของเขา โดยหารู้ไม่ว่าพ่อซึ่งเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวได้เสียชีวิตไปแล้วจากอาการปอดติดเชื้อรุนแรง ทั้งคู่ติดโควิดพร้อมกัน แต่ถูกพาไปแยกห้องรักษาตัว ขณะที่เด็กได้รับคำตอบจากญาติที่มารับกลับไปหลังปลอดเชื้อแล้วว่าพ่อของเขาไปทำงานต่างจังหวัด

3. สองตัวอย่างข้างต้นคือรายละเอียดที่ไม่เป็นข่าวในบรรดาข่าวการติดเชื้อโควิด ซึ่งถูกเน้นไปที่ยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตรายวันเท่านั้น แต่กระนั้น ยอดผู้ติดเชื้อที่ไม่ลดลง-นานเป็นเดือนๆ (เม.ย. - มิ.ย. 2564) ก็ส่งอิทธิพลให้สังคมวิตกได้อย่างมีพลัง นับเฉพาะวันที่ 22 มิ.ย. ข้อมูลจาก ศบค. ระบุถึง “นิวไฮ” ว่ามีผู้ป่วยใหม่ถึง 4,059 คน ผู้เสียชีวิตถึง 35 คน และยอดผู้ป่วยสะสมเฉพาะระลอกเดือนเม.ย. มีถึง 196,502 คน

4. ไม่เพียงแต่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้นที่ปรากฎข่าวการติดเชื้อโควิดในเด็ก เพราะพื้นที่ชุมชนแออัดมีมากมายหลายเขต แต่ในต่างจังหวัดหลายพื้นที่ก็พบเด็กติดโควิดถี่ขึ้นเช่นเดียวกัน ท่ามกลางนโยบายเรื่องวัคซีนที่ไม่ชัดเจน ทำให้สมมติฐานที่ว่าเด็กมักไม่ติดเชื้อง่ายๆ กำลังถูกท้าทายอย่างมาก 

5. ที่ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช พบครูโรงเรียนชื่อดังติดโควิด 2 คน เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. แม้จะบุคลากรครูจะฉีดวัคซีนไปแล้ว 1 เข็มก็ตาม ทำให้โรงเรียนต้องปิด 14 วัน เพื่อตรวจคัดกรองอย่างละเอียด 

6. ที่ ต.บัวค้อ อ.เมือง จ.มหาสารคาม พบเด็กในโรงเรียนเขตเทศบาลติดเชื้อโควิด 9 คน เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.โรงเรียนต้องประกาศปิด 14 วัน สาธารณสุขจังหวัดฯ ระบุว่า ผู้ติดเชื้อเป็นเด็กอายุระหว่าง 6-10 ปี ที่ติดจากคลัสเตอร์งานบวช ซึ่งมีคนติดเชื้อกว่า 18 คน

7. ส่วนวันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา พบเด็ก ครู และผู้ปกครอง ติดโควิดวันเดียวกันอย่างน้อยใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ที่โรงเรียนเอกชนชื่อดังในเทศบาลนครพิษณุโลก เป็นผู้ปกครอง 1 คน ที่ติดเชื้อ โดยมีไทม์ไลน์ว่ามาส่งลูกที่โรงเรียนทุกวัน ทำให้โรงเรียนดังกล่าวต้องปิดการเรียนการสอน ตั้งแต่วันที่ 21-25 มิ.ย.

ที่สกลนคร พบเด็กหญิงวัย 4 ขวบ นักเรียนอนุบาล 2 โรงเรียนอนุบาลสกลนคร ติดเชื้อโควิด 1 คน โดยติดมาจากย่าของเธอ ซึ่งเด็กหญิงคนดังกล่าวได้เดินทางมาเรียนที่โรงเรียนตั้งแต่เปิดเทอมวันที่ 14 มิ.ย. ทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเป็นจำนวนมาก และมีบุคลากรในโรงเรียนถึง 394 คน ต้องเข้ารับการตรวจคัดกรอง และเด็ก 29 คน พร้อมครูและพี่เลี้ยงอีก 2 คน ต้องทำการกักตัว 14 วัน

ขณะที่ ต.ทุ่งคลอง อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ พบผู้ติดเชื้อเป็นครูชาย อายุ 56 ปี ซึ่งจากการสอบสวนโรคเชิงรุกพบความเสี่ยง ทำให้มีโรงเรียนทั้งระดับศูนย์เด็กเล็ก อนุบาล และมัธยม ต้องปิดแล้วอย่างน้อย 11 แห่ง กระจายใน 4 ตำบล ได้แก่ ต.ทุ่งคลอง ต.นาทัน ต.เนินยาง ต.นาบอน โดยแต่ละที่ได้ปรับให้เรียนแบบออนไลน์ชั่วคราวไปก่อน

8. ไม่เพียงเด็กวัยอนุบาล-มัธยมเท่านั้นที่กำลังน่าวิตก แต่ในระดับนิสิตนักศึกษาก็แทบไม่ต่างกัน เมื่อที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ขอรับวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 9 แสนโดส เพื่อฉีดให้กับนิสิตนักศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศในสังกัด แต่ได้รับคำตอบจากกรมควบคุมโรคว่า จะได้วัคซีนเดือนละ 2.5 แสนโดส รวม 2 เดือนเป็น 5 แสนโดสเท่านั้น ส่วนที่เหลือ สธ. ไม่รับปาก เพราะวัคซีนมีไม่เพียงพอ

9. เวลาไล่เลี่ยกัน แทนที่รัฐบาลจะระดมจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและทั่วถึง เพื่อให้กลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะเด็กได้เข้าถึง แต่กลับผลักดันร่าง พรบ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่แทน ซึ่งทั้งที่จะตอบโจทย์ความเป็นพลเมือง แต่มาตราต่างๆ ใน พรบ.ฉบับนี้กลับโฟกัสไปที่ “การซึมซับวัฒนธรรมไทยและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” แทน

10. ความกังวลต่ออนาคตเด็กไทยในสถานการณ์โควิดถูกถ่ายทอดผ่านงานวิจัยจาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีการคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปีการศึกษา 2564 จะมีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาถึง 65,000 คน เนื่องจากครอบครัวขาดรายได้ในช่วงพิษเศรษฐกิจจากโควิด

11. ขณะที่มีการคำนวณจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดว่า หากไทยแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาได้จะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากกว่า 228,000 ล้านบาทต่อปี ยังไม่นับงบประมาณแผ่นดินปี 65 ที่งบกลาโหมเพิ่มขึ้น แต่งบการศึกษาลดลง

12. คำถามคืออะไรคือสิ่งที่น่าวิตกของเด็ก ท่ามกลางวิกฤตโควิดที่โรงเรียนส่วนใหญ่ถูกปิดและผู้ปกครองขาดรายได้ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. บอกว่ามี 4 ประเด็นที่เรากำลังเผชิญภาวะการเรียนรู้ของเด็กถดถอย

หนึ่ง - ภาวะ ‘เครียดเงียบ’ อันเป็นผลจากห่วงโซ่ความรุนแรงของโควิด ทำให้เด็กและเยาวชนต้องซึมซับปัญหาเข้าไปในจิตใจของเขา การกักตัวที่ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติได้ ทั้งที่ธรรมชาติในวัยของเขาจำเป็นต้องได้วิ่งเล่นสนุกสนาน

สอง - การปิดโรงเรียนทำให้ภาวะการเรียนรู้ของเด็กถดถอยกว่าปกติราว 2-5 เดือน ยิ่งทำให้คุณภาพการเรียนรู้ในภาพรวมตกต่ำลงไปกว่าเดิมอีกมาก 

สาม - ภาวะทุพโภชนาการ จากการกินไม่ครบมื้อ บางมื้อไม่ได้กินอิ่มเต็มที่หรือได้สารอาหารไม่ครบ 

สี่ - วิกฤตเศรษฐกิจทำให้เด็กมีความเสี่ยงสูงในการหลุดออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากหลายครอบครัวขาดรายได้ ไม่มีกำลังส่งเสียบุตรหลานให้เรียนต่อ

13. วิกฤตของชีวิตปัจเจกในสถานการณ์โควิดส่งผลให้กลายเป็นความเครียดสะสมของสังคม ซึ่ง นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก ชี้ให้เห็นในบทความจาก the101.world ว่า "สถานการณ์วิกฤตใดๆ มักทำให้คนเราสูญเสียการควบคุมชีวิตไปบางส่วนหรือทั้งหมด เมื่อชีวิตมิได้อยู่ในมือเราแต่ไปอยู่ในมือของคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปอยู่ในมือของคนที่ไว้วางใจมิได้ ความเครียดจะสูงขึ้นมาก"

"เรากำลังขาดความไว้วางใจต่อผู้บริหารหรือผู้กำหนดนโยบายอย่างมากมาย ใครออกมาพูดอะไรก็ไม่มีใครเชื่อหรือพร้อมจะทำตาม ผลที่เห็นคือคนจำนวนมากตัดสินใจที่จะเอาตัวรอดแบบที่เรียกว่าตัวใครตัวมันและมือใครยาวสาวได้สาวเอา"

14. สรุปทิ้งท้าย ความท้าทายของสังคมไทย จึงไม่ใช่แค่การลุ้นว่าภายใน 120 วัน ไทยจะเปิดประเทศได้ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศไว้หรือไม่ แต่อยู่ที่อนาคตของเด็กไทยถูกจัดการวันนี้อย่างไร

15. สุดท้าย จะจัดการด้วยการจับกุมคุมขังเพียงเพราะมีเยาวชนคนหนุ่มสาวออกมาคิดต่างจากรัฐและเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์รากปัญหาได้หรือ

ธิติ มีแต้ม
สื่อมวลชน
27Article
0Video
0Blog