ไม่พบผลการค้นหา
โฆษกรัฐบาลเผยนายกฯ ปลื้มโมเดล PPP ใน 4 โครงสร้างพื้นฐานหลักใน EEC มีมูลค่าลงทุนรวม 654,921 ล้านบาท รัฐได้ผลตอบแทนสุทธิ 210,352 ล้านบาท เน้นพลิกโฉมการลงทุน ลดกู้เงินต่างประเทศ สนับสนุนภาคเอกชนไทยเข้มแข็ง

28 พ.ย.2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามความคืบหน้า โครงการร่วมลงทุน รัฐ - เอกชน หรือ PPP (Public Private Partnership) ที่ได้ร่วมลงทุนกับเอกชนแล้ว 4 โครงการ มูลค่ารวมสูงถึง 654,921 ล้านบาท ภาคเอกชนลงทุน 416,080 ล้านบาท (ร้อยละ 64) ภาครัฐลงทุน 238,841 ล้านบาท (ร้อยละ 36) รัฐได้ผลตอบแทนสุทธิ 210,352 ล้านบาท

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้เปิดเผย 4 โครงการใหญ่ ประกอบด้วย

1) โครงการ High-Speed Railway เงินลงทุนรวม 276,561 ล้านบาท ภาครัฐลงทุน 159,938 ล้านบาท เอกชนลงทุน 116,623 ล้านบาท ผลตอบแทนภาครัฐ 37,603 ล้านบาท

2) โครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภา เงินลงทุนรวม 204,240 ล้านบาท ภาครัฐลงทุน 17,674 ล้านบาท เอกชนลงทุน 186,566 ล้านบาท ผลตอบแทนภาครัฐ 305,555 ล้านบาท

3) ท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 เงินลงทุนรวม 64,905 ล้านบาท ภาครัฐลงทุน 12,900 ล้านบาท เอกชนลงทุน ช่วงที่ 1 จำนวน 44,505 ล้านบาท และช่วงที่ 2 จำนวน 7,500 ล้านบาท บาท ผลตอบแทนภาครัฐ 14,765 ล้านบาท

4) ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เงินลงทุนรวม 109,215 ล้านบาท ภาครัฐลงทุน 48,329 ล้านบาท เอกชนลงทุน จำนวน 60,886 ล้านบาท ผลตอบแทนภาครัฐ 82,270 ล้านบาท

ทั้งนี้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยบริหารร่วมกับเอกชนในพื้นที่ EEC ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพย์สินที่มีอยู่ ที่มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 650,000 ล้านบาท ทั้งยังประหยัดงบประมาณของประเทศและยังสร้างรายได้สุทธิให้กับภาครัฐเป็นมูลค่าปัจจุบันมากกว่า 200,000 ล้านบาท อีกด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงหลักการสำคัญของโมเดลการลงทุนแบบ PPP ว่า เน้นการพึ่งพาตนเอง ลดการกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อการลงทุน ลดภาระงบประมาณภาครัฐ พร้อมๆ กับสนับสนุนเอกชนไทย ธุรกิจไทยให้แข็งแรง ให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศได้ เกิดการสร้างงาน และสร้างรายได้ให้กับบริษัทไทย ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายเล็ก รวมทั้งระดับชุมชน รวมทั้งยังช่วยสร้างรายได้จากภาษีทางตรงและทางอ้อมให้กับภาครัฐจำนวนมาก ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่ผ่านมา ที่มีการลงทุนต้องกู้เงินต่างประเทศมาทำโครงการ ต้องทยอยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้เกิดภาระทางการคลังในระยะสั้นและระยะยาว


"เป้าหมายสำคัญของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในการส่งเสริมรูปแบบการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชนหรือ PPP เพื่อให้ภาครัฐและเอกชนร่วมกันเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนโครงการสำคัญต่าง ๆ ในพื้นที่ EEC และทั่วประเทศ ภายใต้แผนการลงทุนที่รอบด้าน ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่และทันสมัยดึงดูดการลงทุนจากชาวต่างชาติ ที่สำคัญ คือ ส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยและผู้ประกอบการไทย สามารถเติบโตควบคู่ไปกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการกระจายความเจริญออกไปสู่ทั่วทุกภูมิภาค ลดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งในปีหน้าหลายสถาบัน เช่น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย ยังออกมาคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2565 มีแนวโน้มการขยายตัวสูงขึ้น แม้สถานการณ์โควิด – 19 จะยังคงอยู่" นายธนกรฯ กล่าว