ไม่พบผลการค้นหา
'วิษณุ' ชี้ ครม. ออกพ.ร.ก.กู้เงินได้ตามกฎหมาย หลัง อดีต รมว.คลัง ร้องศาลปกครอสูงสุดเพิกถอน ครม. สวนกลับต้องทำเกินมติ ครม.ไปแล้ว ช่องทางต้องร้องศาล รธน.

วันที่ 26 พ.ค. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง พร้อมด้วยคณะแกนนำกลุ่มสามัคคีประชนเพื่อประเทศไทย ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ให้พิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2564 ที่เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. ... วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท และมติ ครม.เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2563 ที่มีมติเห็นชอบ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา พ.ศ.2563 หรือ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท

โดยวิษณุ ระบุว่า เรื่องดังกล่าวคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ชี้แจงแล้วว่าเรื่องนี้ได้ตรวจสอบตั้งแต่ต้นแล้ว และยังคิดไม่ออกว่าเกี่ยวข้องอะไรกับศาลปกครอง เพราะในรัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างชัดเจนว่าถ้าจะดำเนินการร้อง ต้องไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้ พอรู้เหตุผลที่ผู้ร้องไปร้องต่อศาลปกครอง เพราะเขาไม่รู้ว่าจะมีการประกาศออกมาเมื่อไหร่ จึงได้ร้องให้มีการเพิกถอนมติของ ครม. แต่เรื่องมันเกินมติ ครม. ไปแล้ว

วิษณุกล่าวอีกว่า การยื่นเรื่องต่อศาลปกครองนั้นไม่ได้ถือว่าผิด เพียงแต่เขาต้องการให้มีการเพิกถอน แต่เมื่อเป็น พ.ร.ก.แล้วศาลปกครองเพิกถอนไม่ได้ แต่ถ้าเป็นมติของ ครม. ศาลปกครองถึงจะมีอำนาจเพิกถอนได้ แต่ผู้ร้องคิดว่าเป็นมติ ครม. จึงไปร้องต่อศาลปกครอง 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในทางกฎหมายถือว่าเป็นการร้องผิดศาลหรือไม่ วิษณุตอบว่า ไม่ผิดถ้าเขาต้องการให้เพิกถอน แต่เมื่อเป็น พ.ร.ก.แล้ว ศาลปกครองเพิกถอนไม่ได้ แต่ถ้าหากเป็นมติ ครม. ศาลปกครองสามารถเพิกถอนได้ เขาคงนึกว่าเป็นมติ ครม. ซึ่งไม่ใช่ เพราะในความเป็นจริงเป็น พ.ร.ก.ไปแล้ว 

“ทั้งนี้ เลขาคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ชี้แจงว่ากระบวนการและขั้นตอนถูกต้องทุกอย่าง และที่สำคัญที่มีการร้องว่าไม่มีอำนาจนั้น มีอำนาจตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งมีมาตราที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้อยู่ ซึ่งเรื่องนี้มีการเช็คและตรวจสอบตั้งแต่ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทแล้วที่มีการบอกไว้ชัดเจนว่า มาตรา 53 สามารถกู้เงินได้โดยวิธีการนี้ ทุกอย่างจึงเข้าตามหลักเกณฑ์ทั้งหมด และทำตามขั้นตอนเช่นเดียวกับกรณีพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาททุกอย่าง” วิษณุกล่าว

เมื่อถามว่า จำเป็นต้องพิจารณาก่อนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 หรือไม่ วิษณุกล่าวว่า ไม่จำเป็น เรื่องนี้สภาฯ จะพิจารณาหลังร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เพราะการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯนั้นต้องพิจารณาให้เสร็จภายในเวลา 105 วัน นับตั้งแต่วันที่ส่งร่างให้กับสภา ซึ่งรัฐบาลได้ส่งร่างให้กับสภาฯตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. แม้ขณะนั้นสภาฯยังไม่ได้เปิดสมัยประชุมแต่จำนวนวันได้เริ่มนับแล้ว ดังนั้น ถ้ามีการประชุมในวันที่ 31 พ.ค.เท่ากับเราเสียเวลาไปแล้ว 15 วัน จาก 105 วัน ดังนั้น สภาฯ จะเหลือวันพิจารณาน้อยลง

เพราะฉะนั้นถ้ามีอะไรไปตัดหน้าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯอีก หรืออย่างที่ ส.ส. บางคนกลัวการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนขอให้เลื่อนการพิจารณาออกไปนั้น เวลาก็จะหายไป ซึ่งอาจทำให้พิจารณาได้ไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด 105 วัน โดยรัฐธรรมนูญในมาตรา 143 บัญญัติไว้ว่า ถ้าสภาพิจารณาไม่เสร็จภายใน 105 วันให้ถือว่าให้ความเห็นชอบและอนุมัติตามร่างทุกประการ แก้ไม่ได้แม้แต่ตัวเดียว เพราะฉะนั้น จึงต้องพิจารณาให้เสร็จ

วิษณุ กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ในสภา จะส่งผลต่อการตัดสินใจในการเลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯหรือไม่ ว่า อย่าพึ่งพูด เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีการแพร่ระบาดในสภา เท่าที่ทราบมีการแพร่ระบาดที่แคมป์คนงานต่างๆ โดยเฉพาะแคมป์คนงานที่ก่อสร้างรถไฟฟ้า ส่วนเมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่มีข่าวว่าแม่บ้านสภาติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น ตนไม่ทราบ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงต้องให้ทางสภาเป็นผู้ประเมินสถานการณ์ แต่ทั้งนี้อย่าลืมว่าเรามีกฎหมายในเรื่องข้อกำหนด 105 วันบังคับอยู่ ทางที่ดีควรพิจารณาให้เสร็จโดยเร็ว โดยใช้วิธีลดความแออัดลง ใครที่ไม่พูดก็ไม่ต้องไปนั่งในห้องประชุม เข้าไปเฉพาะเวลาที่มีการนับองค์ประชุมอย่างนี้น่าจะสบายหน่อย 

“ถึงแม้เวลาพูดหรืออภิปราย ข้อกำหนดของสภาอาจจะมีการให้ผ่อนผันให้สามารถถอดหน้ากากได้หากประธานในที่ประชุมอนุญาต แต่ไม่ควรที่จะถอด ขนาดผมนั่งประชุมยังเกือบเป็นลมคาไมโครโฟน เพราะหายใจไม่ออก ดังนั้น เหลืออยู่คำเดียวคืออย่าพูดมาก อย่างไรก็ตาม เท่าที่ทราบทางวุฒิสภาเตรียมเสนอให้ตั้งไมโครโฟนไว้ต่างหาก อย่าใช้ไมโครโฟนตรงที่นั่งประจำ ใครที่ต้องการพูดก็ให้ออกมาพูดที่ไมโครโฟน จะได้ไม่มีการแย่งกันพูด และหลังจากคนหนึ่งพูดเสร็จให้มีการฉีดแอลกอฮอล์และเปลี่ยนผ้าคลุมเป็นระยะ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ถือว่าใช้ได้ ผมเห็นด้วย แต่ถ้ายืนพูดอยู่ตรงที่นั่งนั้นถือว่าอันตราย เพราะมีบางคนแม้นั่งอยู่ที่อื่น แต่พอมีคนลุกขึ้นพูดก็ชอบมานั่งใกล้ ๆ เพื่อจะได้ออกทีวี อย่างนั้นรับน้ำลายไปเต็มๆ” วิษณุกล่าว