ไม่พบผลการค้นหา
'ธัญวัจน์' เผยความคืบหน้า 'คู่ชีวิต-สมรสเท่าเทียม' หวังผ่านสภาฯ วาระ 2-3 คาดถูกประกาศใช้กลางปีหน้า แฉ กมธ.บางคนกลัว LGBT จ้องขวางทุกมาตรา ด้าน 'ชานันท์' ชี้สมรสเท่าเทียมช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ไม่ควรเป็นเงื่อนไข ขณะที่ ภาคประชาสังคมเล็งยื่นจดหมายเปิดผนึก กดดัน ส.ส. โหวตรับสมรสเท่าเทียม

เมื่อช่วงค่ำของ วันที่ 1 ก.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพ.ร.บ.คู่ชีวิต ร่วมกันพูดคุยผ่านพื้นที่สนทนาใช้เสียง หรือ Twitter Space ถึงความเคลื่อนไหว และความน่ากังวลของการพิจารณา พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และพ.ร.บ.คู่ชีวิต

โดย ธัญวัจน์ กล่าวว่า ในประวัติศาสตร์ของการพิจารณากฎหมายที่ผ่านมา เมื่อกฎหมายผ่านวาระ 1 ในสภาผู้แทนฯ แล้วจะไปตกในวาระ 3 แต่เนื่องจากในประเทศเรามีอำนาจมืดที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) คงไม่คาดคิดว่าสมรสเท่าเทียมจะผ่าน ในเมื่อมันควบคุมไม่ได้แล้ว เราก็คงต้องคิดว่าเขาจะมีการหมายมั่นปั้นมือที่จะปัดสมรสเท่าเทียมตกหรือเปล่า

เพราะมี กมธ. ท่านหนึ่งที่ทั้งตน และชานันท์ นั่งขนาบข้างอยู่สงวนความเห็นว่าจะปัดตกทุกมาตรา ซึ่งตนไม่อยากเปิดเผยชื่อ เพราะไม่อยากโจมตีตัวบุคคล หรือโจมตีพรรคการเมือง ดังนั้นต้องมาลุ้นว่า ส.ส.จะโหวตตาม กมธ.เสียงข้างมาก หรือ กมธ.เสียงข้างน้อย ที่จะสงวนความเห็นทุกมาตราดังที่กล่าวไป

ธัญวัจน์ กล่าวอีกว่า ทางฝ่ายรัฐบาลก็ทีความพยายามจะช่วยเหลือ และติติงบางส่วนของสมรสเท่าเทียมให้เป็นไปได้ด้วยดี แต่ก็มีบางคนที่ไม่เข้าใจ และจัดว่าเป็น ‘LGBTphobia’ พูดว่า รักเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิดธรรมชาติ ซึ่งตนต้องใช้ความอดทนในการพิจารณารายมาตรา ในแต่ละมาตราก็มีรายละเอียดของถ้อยคำ ซึ่งถือว่าเสร็จเรียบร้อยในรอบแรกแล้ว แต่สัปดาห์หน้าจะมีการทบทวนอีกครั้ง

ธัญวัจน์ ก้าวไกล -EAF0-487F-A110-8E8B27F8E60A.jpeg

คาด ‘สมรสเท่าเทียม’ ประกาศใช้กลางปี 66

ธัญวัจน์ กล่าวว่า การเลือกตั้ง ส.ส. อาจจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2566 แต่ประเด็นคือ หากพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้เสร็จสิ้น แต่สมัยสภาสิ้นสุดลงเนื่องจากการยุบสภา แต่วุฒิสภา (ส.ว.) มีอายุอีก 1 ปี กฎหมายก็จะผ่านไปยังชั้น ส.ว. โดยไม่ติดขัดอะไร แต่ทั้งนี้ถ้าไม่ทันจริงๆ กฎหมายที่ถูกบรรจุในระบบแล้ว รัฐบาลในสมัยหน้าก็มีอำนาจที่จะหยิบกฎหมายมาพิจารณาต่อ ถ้ารัฐบาลสมัยหน้าไม่ให้ความสำคัญก็ยากที่จะหยิบมา อีกทั้งตนตั้งเป้าปลายปีให้กลับเข้าไปสู่สภาฯ การพิจารณวาระ 2 และ 3 จะติดกัน และจะสามารถออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้เร็วที่สุดคือกลางปี 2566

ธัญวัจน์ กล่าวต่อว่า เราต้องมีการตั้งรับเมื่อกลับเข้าสู่สภา ถ้ามีท่านใดยกเรื่องศาสนามาอ้างก็จะให้เหตุผลตามตรรกะทั่วไป และทั้งนี้คนนั้นจะถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์เอง เป็นจุดเสียของตัวเขาเอง และจะกระทบกับเขาเอง

“หากสมรสเท่าเทียมตก คนที่ได้แต้มคือพรรคก้าวไกล และประชาชนต่างหากที่แพ้ ดังนั้นถ้ากมธ.อยากให้ประชาชนมีชัยชนะ ผู้บริหารประเทศต้องมีวิสัยทัศน์ แต่ถ้ามันถูกคว่ำต้องบอกว่า ผู้มีอำนาจมืดบอดมาก คุณไม่มีวิสัยทัศน์ และไม่ได้มองประชาชนเป็นใหญ่” ธัญวัจน์ กล่าว

สมรสเท่าเทียม ภาคีสีรุ้ง.jpg

พบ กมธ. ขวาง ‘สมรสเท่าเทียม’ หวั่นเป็นเกมการเมือง

ชานันท์ กล่าวว่า จากที่ตนได้แถลงข่าวว่ามีกมธ.บางคน ให้ความเห็นในที่ประชุมว่า ไม่ควรแก้กฎหมายเพื่อคน 10% เป็นคนเดียวกับคนที่พูดว่า ‘คนรักเพศเดียวกันผิดธรรมชาติ’ จึงไม่ควรใช้คู่สมรส เพราะจะ ‘ทำลายสถาบันครอบครัว’ หรือมีการเสนอว่า ถ้าเราใช้คำว่า ‘คู่สมรส’ แทน ‘สามีภรรยา’ จะเป็นการละเมิดสิทธิของสามีภรรยาหรือไม่

อีกทั้งคนยังมีความพยายามสนับสนุน พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เข้มข้น แต่กมธ.ที่กล้าจะออกมาพูดว่าเกลียดกลัว LGBT ก็มีแค่ 2 ท่านเท่านั้น นี่คือสิ่งที่ปรากฏในกมธ. แต่นอกเหนือจากวงประชุมก็ได้ยินมาอีกว่า มีความต้องการให้เลือกที่ปรึกษากมธ. ที่เป็นกลางๆ ไม่ใช่เพศทางเลือก เพื่อให้กฎหมายเป็นกลางที่สุด ซึ่งมันสะท้อนทัศนคติของคนบางคนที่ไม่ได้มองว่า LGBT เป็นส่วนหนึ่งของประชาชน ไม่ได้มองว่า เพศสภาพ หรือเพศวิถี มันสามารถลื่นไหลได้

“แล้วยิ่งบอกให้เลือกที่ปรึกษา กมธ.ที่เป็นกลางๆ มันฟังดูราวกับว่า คนรักต่างเพศ กับ LGBT เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน จนต้องหาจุดกึ่งกลาง ซึ่งก็เป็นที่น่ากังวลใจเหมือนกัน แต่ด้วยความที่การประชุมกมธ. ก็เหมือนครอบครัวใหญ่จึงต้องพยายามหาข้อตกลงร่วมกันให้ได้” ชานันท์ กล่าว

ชานันท์ กล่าวถึงความพยายามขัดขวาง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม อีกว่า การพยายามขวัดขวางเพิ่งมาเข้มข้นช่วงหลังที่มีการตั้งธงต้องการให้เสร็จภายในวันที่ 18 ก.ย. มีความพยายามทำให้ดูล่าช้า ถ่วงเวลาราวกับเป็นเกมการเมือง ซึ่งเป็นการพูดเรื่อยๆ พูดวนๆ โดยที่เราไม่สามารถได้สาระอะไรจากการที่เขาอภิปรายในที่ประชุมได้เลย

จุลพันธ์ ธีรรัตน์ ชานันท์ ฟ้า พรหมศร สมรสเท่าเทียมชานันท์ เพื่อไทย เพศสภาพ lgbt  -E5E1-49E9-9D95-08303A27F218.jpeg

การใช้ถ้อยคำในกฎหมาย ปัญหาหลักใหญ่ในการร่างพ.ร.บ.

ในประเด็นนี้ ชานันท์ ให้ความเห็นว่า โดยพื้นฐานของกฎหมายไทยมันก็มีปัญหาในตัวของมันเองอยู่แล้ว เพราะการเขียนกฎหมายยังคงใช้กรอบคิดเพียงชาย และหญิงเท่านั้น เมื่อมันเป็นกฎหมายที่ต้องทำให้มาตรฐาน การเลือกใช้คำก็ต้องมีมาตรฐานที่สุดเพื่อให้เข้ากับทุกคน ทันทีที่โลกเรามีวิวัฒนาการ การคำนึงเรื่องของภาษาในกฎหมาย มันจึงละเอียดอ่อนมากขึ้น

ยกตัวอย่างคำว่า ‘ร่วมประเวณี’ ตามราชบัณฑิตยสถาน หมายความว่า ชายมีเพศสัมพันธ์กับหญิง สำหรับ LGBT ไม่สามารถใช้ในกฎหมายได้เพราะไม่ได้มีกำหนดไว้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาคำที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งคำที่เลือกใช้แทนคือคำว่า ‘การกระทำใดเพื่อสนองความใคร่’

ด้าน ธัญวัจน์ กล่าวว่า อย่างในร่างที่ตนเสนอไปมีการใช้คำว่า ‘ประพฤติชู้’ แต่เขายังคงมองว่า คำว่า ‘ชู้’ ใช้สำหรับชาย (เป็นชู้) และหญิง (มีชู้) เท่านั้น  ซึ่งคำว่า ‘ประพฤติชู้’ เป็นคำใหม่ที่ต้องมีการพิจารณา ซึ่งตนก็พยายามจะทำให้ทุกฝ่ายสบายใจทั้งสองฝ่าย

แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะอยู่มานาน แต่กฎหมายไม่ใช่ฟอสซิลมันก็ต้องแก้ได้ ซึ่งเราไม่ควรกังวลเรื่องภาษามากกว่าความเป็นมนุษย์ คู่สมรสไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคำว่า สามีภรรยา แต่มันสามารถอธิบายได้ทุกเพศ เราไม่ได้ต้องการจะไปทำลายอย่างที่กมธ.บางท่านกล่าว ซึ่งมันสะท้อนว่าเขาเกลียดกลัว LGBT


มอง ‘คู่ชีวิต-สมรสเท่าเทียม’ ในต่างประเทศ สะท้อนสังคมไทย

ชานันท์ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ตั้งใจให้คนเพศเดียวกันเป็นเหมือนกฎหมาย Same-sex Marriage แต่เมื่อเข้าไปอยู่ในกมธ. ก็พยายามทำให้มันสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ กลายเป็นว่า ชายหญิง มีโอกาสมากกว่า LGBT ขณะที่มีหลายๆ ท่าน ที่เป็นที่ปรึกษาในกมธ. ให้ความเห็นว่าก็มีกฎหมาย Civil Partnership เหมือนกับต่างประเทศ แต่ในหลายประเทศนั้นๆ ก็มีเงื่อนไข และบริบทที่แตกต่างกัน

ชานันท์ กล่าวอีกว่า อย่างประเทศฝรั่งเศส ซึ่งแต่เดิมประชาชนชาวฝรั่งเศสต่อต้านรักเพศเดียวกันมาก และเคร่งศาสนาอย่างรุนแรง ดังนั้นเพื่อลดแรงเสียดทานจึงมีกฎหมาย Civil Partnership ออกมาในปี 2542 แต่เมื่อสังคมมีการวิวัฒนาการ ผ่านมาในปี 2556 ก็มีการตระหนักเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ให้ทุกเพศสามารถจดทะเบียนสมรสได้ แต่ก็ยังคงมีความแตกต่างในเรื่องข้อกำหนดทางทรัพย์สิน ขณะที่ประเทศอังกฤษประชาชนสามารถจดทะเบียนได้ทั้งสองร่าง แต่ถ้าคนที่ไม่อยากผ่านกระบวนการทางศาสนา หรือเข้าโบสถ์ ก็ไปจดคู่ชีวิต โดยไม่ต้องทะเบียนจดทะเบียนสมรส เราจะสังเกตได้ว่า ประเทศที่ยอมรับความหลากหลาย และให้ความสำคัญกับเสรีภาพ ก็จะออกมาในรูปแบบนี้

ขณะที่ในบริบทประเทศไทย กฎหมายคู่ชีวิตเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2556 จากการขับเคลื่อนของภาคประชาชน แต่เมื่อมีการรัฐประหารปี 2557 กลุ่มภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนก็ไม่อยากร่วมสังฆกรรมกับรัฐบาลเผด็จการ แต่ตอนนี้ประชาชนตระหนักในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น สามารถมีสมรสเท่าเทียมได้เลยโดยที่ไม่ต้องมีกฎหมายคู่ชีวิต แล้วรอให้สังคมมีวิวัฒนาการแล้วค่อยมีสมรสเท่าเทียม

ธัญวัจน์ กล่าวว่า เมื่อสภารับหลักการในวาระ 1 มาแล้ว กมธ.ไม่มีสิทธิบิดเบือน หรือเปลี่ยนหลักการที่สภารับ เพราะเมื่อกลับสู่สภา เราจะตอบสภาไม่ได้ หากมี ส.ส.ลุกโต้แย้งว่า ผมรับหลักการไปแบบนี้ ทำไมถึงออกมาเป็นแบบนี้ ตรงนี้มันจะถูกตีเป็นประเด็นแรก แม้ว่าจะมีความพยายามปรับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ให้ใกล้เคียงกับ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม แต่มันไม่มีทางเป็นไปได้ พูดกันตรงๆ เรามีกฎหมายอีก 177 ฉบับ หาก พ.ร.บ.คู่ชีวิตผ่าน ต้องทำงานเพื่อแก้กฎหมายอีก 177 ฉบับ แต่หาก พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมผ่าน LGBT จะได้สิทธิในกฎหมายอื่นๆ ทันที

เพศสภาพ พาเหรดไพรด์ สมรสเท่าเทียม -7F06-4767-B385-F4F39B1A3E51.jpeg

ยันไม่ยก ‘ศาสนา’ มาพิจารณากฎหมายสมรสเท่าเทียม

ธัญวัจน์ กล่าวว่า ตอนประชุมในกมธ. ตนพูดอย่างชัดเจนว่า อย่าเอาศาสนามายุ่ง เพราะมันจะเกิดการตั้งคำถามต่อประเด็นอื่นๆ ประเทศเราจะกินเนื้อหมูไหม หรือขายเครื่องคุมกำหนดได้ไหม เพราะทุกอย่างมันผิดหลักศาสนาทั้งหมด อีกทั้งการร่วมเพศด้วยการใช้ปาก และอวัยวะเพศมันก็ผิดหลักศาสนาเหมือนกัน ซึ่งมันจะเป็นเรื่องที่ไม่จบง่ายๆ

ชานันท์ เสริมว่า ศาสนาไม่ได้เป็นศาสนา แต่เป็นอารยธรรมจึงมีการวิวัฒนาการ และประเทศไทยไม่สามารถเอาศาสนาใดมาเป็นหลักในการร่างกฎหมายเพื่อคนที่หลากหลายได้ และถ้าจะเอาเรื่องศาสนามาเป็นเงื่อนไขในการออกกฎหมาย ไม่ควรดัดจริตเอาเรื่องการสร้างครอบครัวมาอ้าง หรือถ้าจะเอาศาสนามาอ้าง อย่างนั้นก็ห้ามมีกองทัพ ห้ามมีอุตสาหกรรมฆ่าสัตว์ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของข้อห้ามทางศาสนา

นอกจากนี้ มีการแย้งในที่ประชุมว่า เมื่อชาวต่างชาติมาจดทะเบียนในไทย แล้วกลับไปประเทศตนเอง จะเกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตนก็ขออธิบายว่า ประเทศเราไม่ได้เป็นอาณานิคมแล้ว ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายเพื่อเกรงกลัวประเทศเขา และข้อกฎหมายก็ไม่ได้บับงคับใช้ประเทศเขาอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องที่สงสัยว่าทำไมต้องยกข้อนี้มาขัดง้างกับสมรสเท่าเทียม

ชานันท์ ยอดหงษ์.JPG

สร้างเงิน เพิ่มรายได้ให้ ‘เศรษฐกิจ’ จากความเท่าเทียมทางเพศ

ธัญวัจน์ กล่าวว่า สมรสเท่าเทียมในสหรัฐอเมริกาทำให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนการท่องเที่ยว ซึ่งมันส่งผลบวกต่อภาคเศรษฐกิจทุกๆ ด้าน รวมถึงการลงทุน เพราะโดยปกติคนเราจะลงทุนกับสิ่งที่ตัวเองรัก และผูกพันอยู่แล้ว

ด้าน ชานันท์ กล่าวว่า หลังจากอัตราการแต่งงานของคนเพศเดียวกันในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 10.2% หลังศาลสูงสุดสหรัฐฯ ออกกฎหมายให้เพศเดียวกันแต่งงานกันได้ ทำให้มีเศรษฐกิจหมุนเวียนเพิ่มขึ้น แต่หลักใหญ่ของการยอมรับ LGBT เพื่อเป็นการเพิ่ม GDP ทางเศรษฐกิจ ทำให้เหมือนเป็นการยอมรับแบบมีเงื่อนไข เบื้องต้นต้องยอมรับในฐานะมนุษย์เหมือนกัน ไม่ต้องเอาเศรษฐกิจมาเงื่อนไข ซึ่งเรื่องเงินหมุนเวียนนั้นจะเป็นผลพลอยได้ที่ตามมาจากการยอมรับความหลากหลายของประชาชน และยอมรับเรื่องการเข้าถึงสวัสดิการอย่างถ้วนหน้า ซึ่งมันสามารถพัฒนาเศรษฐกิจไปได้ ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของประเทศจริงๆ


สมรสเท่าเทียม สภา -939A-49B0-8206-F2AC38058A88.jpeg

ภาคประชาสังคมเล็งยื่นจม.กดดันสภาฯผ่าน ‘สมรสเท่าเทียม’

ชานันท์ กล่าวว่า การสร้าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ไม่ใช่แค่เพื่อ LGBT เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของชายหญิงด้วย ตนคิดว่าเป็นเรื่องของทุกคน อยากให้ทุกคนช่วยกันขับเคลื่อนประเด็นนี้ จึงอยากให้ร่วมกันจับตา และเอาใจช่วยกมธ. ด้วย

ธัญวัจน์ กล่าวว่า สิ่งที่ประชานทุกท่านทำมา เป็นสิ่งที่ตนพึงสังวรอยู่เสมอว่า มันมีพลังมาก แต่ช่วงวาระ 2 และ 3 ที่กำลังจะถึง ประชาชนต้องร่วมกันส่งพลังพร้อมๆ กัน และจับตาดูในวิธีการต่างๆ ส่วนของกมธ. ก็จะทำให้ดีที่สุด

ขณะที่ มาพร แต่งเกลี้ยง หรือวาดดาว แกนนำกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก กล่าวว่า วันที่ 8 ก.ย.นี้ ภาคประชาชนจะไปยื่นจดหมายเปิดผนึกแก่ กมธ.ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ไม่ว่าอย่างไรก็ตามก็ต้องให้สมรสเท่าเทียมไปให้ไกลถึงวาระ 2 และ 3  และไปถึงวุฒิสภาให้ได้ เป็นพันธกิจที่ต้องร่วมกัน หากสุดท้าย ส.ว. ไม่รับ หรือรัฐบาลไม่เอา เราพร้อมจะยื่นในนามภาคประชาชนอีกครั้ง และเราคิดว่าประชาชนต้องการสมรสเท่าเทียม ไม่ตัดทอนในสิ่งที่ประชาชนพึงจะได้ และจะพร้อมจับตา พรรคการเมืองที่จะโหวต จะมีการทำบัญชีหนังมาขึ้นรายคน ซึ่งอีกไม่ถึงปีจะมีการเลือกตั้ง และพวก ส.ส. ต้องฟังประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง