ไม่พบผลการค้นหา
กมธ.กิจการสภาฯ ยึดความเห็น 'มีชัย' ปรับแก้ร่าง พ.ร.ฎ.เงินเดือน จ่ายเงินย้อนหลัง 120 ล้าน นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะ กมธ.กิจการสภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาฯ ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ส.ส. ส.ว. และ กมธ.ฉบับใหม่ ตามที่ ครม.อนุมัติในหลักการว่า ถือเป็นการแก้ไขเนื้อหาตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาฯ เป็นผู้เสนอให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่กำหนดวันเริ่มสมาชิกภาพของ ส.ส.ให้นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง ขณะที่ค่าตอบแทนรัฐธรรมนูญ มาตรา 183 ว่าด้วยเงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกรัฐสภาให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าว พบการโต้แย้งจากกระทรวงการคลัง ที่เห็นว่า ส.ส. และ ส.ว. ควรได้รับเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนนับตั้งแต่วันปฏิบัติหน้าที่ คือวันปฏิญาณตน เมื่อเดือน พ.ค. โดยเทียบเคียงกับกฎหมายของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องที่กำหนดให้รับเงินเดือนเมื่อวันปฏิบัติหน้าที่ คือ วันที่ได้รับแต่งตั้ง

“เรื่องเสนอร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าวเป็นเรื่องที่สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ดำเนินการให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องที่ ส.ส. หรือ ส.ว. เสนอให้ขึ้นหรือเพิ่มเงินเดือนให้กับตนเอง อย่างไรก็ตาม กมธ. เห็นด้วยที่จะแก้ไขเนื้อหา พ.ร.ฎ.ให้สอดล้องกับรัฐธรรมนูญ แต่การแก้ไขปรับปรุงของกฤษฎีกาก่อนที่ร่าง พ.ร.ฎ.จะประกาศใช้ที่ต้องรับความเห็นของทุกส่วนไปพิจารณา ซึ่งอาจจะมีข้อสรุปเป็นอื่นก็ได้” นพ.ชลน่าน กล่าว และว่า สำหรับการใช้งบประมาณ หากร่าง พ.ร.ฎ. จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะทำให้ ได้รับเงินเดือนย้อนหลังไปจนถึงวันเลือกตั้ง หรือ ประมาณ 2 เดือน ทางสำนักงบประมาณ ของสภาฯ ชี้แจงว่า หากจะใช้งบประมาณเพื่อจ่ายส่วนดังกล่าว ต้องจัดสรรในงบประมาณกลางปี ขณะที่จำนวนจะเป็นเท่าใดนั้น ขอให้คำนวณจากตัวเลขที่ ส.ส. 500 คน ได้รับค่าตอบแทน ประมาณ 1.2แสนบาท รวม 2เดือน ส่วน ส.ว.นั้นจะได้รับค่าตอบแทนย้อนหลัง 10 วัน 

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อกรณีที่มีความเห็นของอดีตที่ปรึกษาของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุว่า ส.ส.ไม่ควรได้รับเงินเดือนย้อนหลังเพราะไม่ได้ทำงานว่า เป็นความเห็นทางวิชาการที่สามารถแสดงออกได้ แต่มีบันทึกการประชุมของกรธ.ครั้่งที่ 70 และเป็นความเห็นของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีต ประธาน กรธ.ระบุว่า เหตุผลที่ไม่บัญญัติช่วงเวลาที่ส.ส. และส.ว. จะได้รับค่าตอบแทนเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับอื่น เพราะกรณีดังกล่าวถือเป็นสิทธิที่ควรได้ตั้งแต่เข้าสู่ตำแหน่ง ซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ระบุสถานะของ ส.ส. เริ่มตั้งแต่วันที่เลือกตั้ง

ทั้งนี้ ในการประชุม กมธ.รอบหน้าจะเชิญหน่วยงานของกระทรวงการคลังมาชี้แจงถึงกฎและกติกาที่เกี่ยวข้องกับการให้ค่าตอบแทนและผลประโยชน์อื่นของข้าราชการ พนักงาน ว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับตัวเลขงบประมาณที่จะนำมาจ่ายเป็นเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนของ ส.ส. ตามตัวเลขที่ นพ.ชลน่าน ระบุนั้น พบว่าจะมีตัวเลขงบประมาณที่ใช้ประมาณ 120 ล้านบาท