ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ ผุดตั้ง รพ.สนามที่ 'อิมแพค เมืองทองธานี' สั่ง สธ.นำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ 5-20 ล้านโดส เร่งกระจายฉีดวัคซีน เกาะติดคลัสเตอร์คลองเตย ใช้โมเดลสมุทรสาคร ร่ายอ่านเอกสารออกมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจ แจก 2,000 บ.ผ่าน 'เราชนะ-ม.33' เคาะ 'คนละครึ่ง'เฟส3

วันที่ 5 พ.ค. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี จากการได้รับทราบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างในหลายจังหวัด ในฐานะนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศบค.ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด โดยได้สั่งการเพิ่มเติมสำหรับการจัดหาเตียงผู้ป่วย และโรงพยาบาลสนาม พร้อมแบ่งกลุ่มอาการระดับ ตั้งแต่ระดับสีเขียว สีเหลืองและสีแดง พร้อมให้คัดกรองผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสนามเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล และรักษาเตียงว่างไว้ให้กับผู้ป่วยที่จำเป็น และเพิ่มจำนวนผู้รับโทรศัพท์​สายด่วน 1668 1669 และ 1330 ให้เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์แรกรับและส่งตัวผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อช่วยแยกตัวผู้ป่วยออกจากชุมชนเพื่อรอส่งตัวรักษาตัวต่อไป ได้ถึง 96% พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงกลาโหม และกทม.เร่งดำเนินการ ให้เพิ่มจำนวนเตียงในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามให้มากที่สุด ซึ่งขณะนี้ สามารถติดต่อผู้ป่วยที่รอเตียงตกค้าง ทั้งหมดเข้าสู่ระบบการรักษา ตามที่ได้แบ่งไว้ 3 กลุ่ม ที่ปัจจุบันไม่มีผู้ป่วยรอเตรียมเกิน 48 ชั่วโมงแล้ว ซึ่งจากความพยายามในการเพิ่มเตียงให้พร้อมรองรับผู้ป่วยที่มากขึ้นทั้ง Hospitel และโรงพยาบาลสนามทำให้มีเตียงเพิ่มขึ้นจากช่วงสงกรานต์เกือบ 10,000 เตียง และมีเตียงว่างรวมทั่วประเทศมากกว่า 30,000 เตียง

พร้อมกันนี้ ยังจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม ที่กรุงเทพฯโดยใช้พื้นที่ อิมแพคอารีน่าเมืองทองธานี เพื่อรองรับผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขนาดพูดได้ว่าสามารถแก้ไขปัญหาสายด่วนเพื่อรับส่งผู้ป่วยการส่งต่อผู้ป่วย ให้ได้รับการรักษาอย่างทันการ การเตรียมผู้ป่วย ขอบคุณทุกคนทุกหน่วยงานทุกองค์กรจิตอาสาที่ได้ให้การร่วมมือจนสามารถแก้ไขปัญหาในระยะนี้ได้ในระดับหนึ่ง และในระดับที่ดี

ประยุทธ์ 505160320000000.jpg

นายกฯ สั่ง สธ.นำเข้าไฟเซอร์ 5-20 ล้านโดส ตั้งเป้าฉีดเดือนละ 15 ล้านโดส

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการจัดหาและการฉีดวัคซีน ว่า ได้กำหนดเป็นมาตรการเร่งด่วน โดยมีเป้าหมายในสิ้นปีนี้ประชากรในประเทศไทยต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อยร้อยละ 70 หรือประชากร 50 ล้านคน หรือใช้วัคซีนทั้งสิ้น 100 ล้านโดส ประเทศไทยมีวัคซีนตามแผนแล้ว 63 ล้านโดส โดยจะเริ่มฉีดให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มผู้มีโรคประจำตัวในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ กว่า 16 ล้านคน ส่วนในเดือน พ.ค.นี้จะได้รับวัคซีนซิโนแวค แผนอีก 3.5 ล้านโดส เพื่อระดมทุนให้เป็นรางวัลด้านหน้า และผู้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงให้ได้มากที่สุด 

ขณะเดียวกัน ยังให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม คือ วัคซีนไฟเซอร์จำนวน 5 ถึง 20 ล้านโดส และ สปุตนิกวี จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และ ซิโนแวคบริษัทละ 5-10 ล้านโดส พร้อมยืนยันว่ามีการวางแผนการกระจายวัคซีนอย่างเป็นระบบ ผ่านระบบหมอพร้อมที่มีประชาชนมาจองคิวแล้วมากกว่า 1 ล้านคน พร้อมกับผ่านเครือข่ายโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนรวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและเครือข่าย อสม. ทั่วประเทศ โดยใช้แผนการบริการวัคซีนตามกระทรวงสาธารณสุขและการสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจและสังคม จัดลำดับกลุ่มเสี่ยง เดี๋ยวเร่งด่วนพื้นที่เศรษฐกิจโดยได้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการเพิ่มจุดบริการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าจะต้องฉีดวัคซีนให้ได้เดือนละ 15 ล้านโดส และชนะสงครามโควิด -19 ครั้งนี้ให้ได้

เกาะติดคลัสเตอร์คลองเตย ยึดโมเดล 'สมุทรสาคร'

พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่าได้ติดตามอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ กรณีคลัสเตอร์คลองเคย โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานระดมสรรพกำลังในการควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยได้ใช้ประสบการณ์จากการจัดการในจังหวัดสมุทรสาครได้สำเร็จมาปรับใช้ โดยใช้โมเดล “ตรวจเชื้อ ติดต่อ คัดกรอง แยกตัว ส่งต่อ และรักษา” โดยเน้นไปที่การตรวจเชิงรุก Active Case Finding ที่ระดมตรวจกลุ่มเสี่ยงในชุมชนที่มีการติดเชื้อให้ได้อย่างน้อย 1,000 คนต่อวัน โดยหน่วยเคลื่อนที่ และรถเก็บตัวอย่างชีวะนิรภัยพระราชทาน โดยจะตรวจเชิงรุกให้ได้อย่างน้อยทั้งหมด 20,000 คน จากนั้นก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปทันที นั่นคือการแยกผู้ป่วยตามระดับอาการ แล้วส่งตัวเข้าสถานพยาบาลแรกรับ เพื่อส่งไปรักษาตัวต่อ ก็จะเป็นการจำกัดวงการแพร่ระบาดให้วงเล็กที่สุด และในเวลาเดียวกัน ก็จะระดมการฉีดวัคซีนโควิด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งแนวทางนี้พิสูจน์ว่าประสบความสำเร็จมาแล้วจากกรณีสมุทรสาคร

ซึ่งล่าสุดได้รับรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงคมนาคม และการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้จัดพื้นที่ตรวจเชิงรุกให้กับพี่น้องชาวชุมชนคลองเตยได้อีกถึง 700 คนต่อวัน

ขณะเดียวกัน ได้มีการสำรองเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งขณะนี้ยังมีเพียงพอ แตต้องมีการขยายเพิ่มเพื่อรองรับผู้ป่วยอาการหนักในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งเมื่อวานนี้ ได้มีการเปิดโรงพยาบาลสนามที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ เพื่อเพิ่มจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นอีก 432 เตียง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังจะมีแผนการบริหารจัดการการดูแลผู้ป่วยอาการหนักที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเพื่อลดการสูญเสีย

ประยุทธ์ 0323000000.jpg

ส่วนการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยนายกรัฐมนตรี ระบุว่า มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยหาเช้ากินค่ำ ผู้ประกอบการ อื่นๆที่เป็นห่วงโซ่สำคัญในระบบเศรษฐกิจไทย คนในตั้งคณะกรรมการ ศบศ. ศูนย์บริหารสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ เพื่อพิจารณาการช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยได้มีมาตรการออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้งโครงการเราชนะโครงการ ม.33 เรารักกัน และมาตรการทางการเงิน 

อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของโควิด-19ในรอบนี้ จำเป็นต้องออกมาตรการปิดสถานที่ต่างๆ ที่เกิดผลกระทบกับประชาชนจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตอนนี้มีคำสั่งให้กระทรวงการคลังและสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วน 

คลอด 3 มาตรการหลักเยียวยาประชาชน

โดยสรุปมาตรการได้ดังต่อไปนี้ มาตรการในระยะที่ 1 มี 3 มาตรการหลักที่สามารถดำเนินการได้ทันทีได้แก่ 1 มาตรการด้านการเงิน มีจำนวน 2 มาตรการ คือ 1)มาตรการสินเชื่อ สู้ภัยโควิด-19 วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับประชาชนผู้ประกอบการและเกษตรกร โดยธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้สินเชื่อแก่ประชาชนรายละ 10,000 บาท ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติ ดอกเบี้ย 0.35 เปอร์เซ็นต์ ต่อเดือนระยะเวลา 3 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก

2.) มาตรการพักชำระหนี้ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยให้ขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้เงินต้น ให้แก่ลูกหนี้ออกไปถึงสิ้นปีนี้เพื่อลดภาระ นำเงินส่วนนี้ไปเสริมสภาพคล่อง

2. มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าและประปาของประชาชนให้กับกิจการขนาดเล็กทั่วประเทศในช่วงเดือน พ.ค.ถึงเดือน มิ.ย. 2564 เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนและกิจการที่ถูกปิด

3.มาตรการต่อเนื่อง ด้านการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ประกอบ 2 โครงการวงเงิน 88,500 ล้านบาท แบ่งเป็น การเพิ่มวงเงินเราชนะอีกสัปดาห์ละ 1000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยให้สิ้นสุดการใช้จ่ายในเดือน มิ.ย. 2564 วงเงินรวมประมาณ 67,000 ล้านบาท

เคาะจ่าย 2,000 บ. 'เรารักกัน - ม.33' ใช้จ่าย มิ.ย.นี้

ส่วนการช่วยเหลือเพิ่มวงเงิน ในโครงการผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เรารักกัน อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท ระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยให้สิ้นสุดระยะการใช้จ่ายในเดือน มิ.ย. 2564 วงเงินประมาณ 18,500 บาท 

ส่วนมาตรการในระยะที่ 1 นั้นคณะรัฐมนตรี ให้มติเห็นชอบให้ดำเนินการในส่วนของมาตรการด้านการเงินทั้ง 2 เรื่อง ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เห็นชอบให้ดำเนินการตามมาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปาและค่าไฟฟ้า ในช่วงเดือน พ.ค. และ มิ.ย.นี้ ส่วนการเพิ่มวงเงินในโครงการเราชนะและ ม.33 เรารักกัน หน่วยงานที่รับผิดชอบจะเร่งดำเนินการเสนอโครงการตามที่รับผิดชอบ ซึ่งตนได้กำหนดให้นำเข้าสู่การพิจารณา ของคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า

นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลืออื่นๆอีกอย่างเช่นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ตัวขยายระยะเวลาช่วยเหลือออกไปถึงสิ้นปีนี้ ลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ซึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์มีประมาณ 3 ล้านคน รวมทั้งการชดเชยผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ต้องกักตัวหรือหยุดงาน 

นอกจากโครงการระยะสั้นแล้ว รัฐบาลได้วางแผนช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อยถึงสิ้นปีนี้ โดยมาตรการในระยะที่ 2 ในเดือน ก.ค. - ธ.ค. 2564 เชื่อว่าหากร่วมมือกันจำกัดการแพร่ระบาดได้อย่างเต็มที่ สถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลายลงจนอยู่ในระดับที่สามารถดำเนินการในระยะที่ 2 ได้

โดยมาตรการในระยะที่ 2 ประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก กรอบวงเงิน 140,000 ล้านบาท ได้แก่ มาตรการลดภาระค่าครองชีพ ประกอบด้วย 2 โครงการ คือโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในระยะที่ 3 โดยให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติม 200 บาท 6 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม 2564 ครอบคลุมประชาชน 13 ล้าน 6 แสนคน และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการรับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท เหลือเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ธ.ค. 2564 ครอบคลุมประชาชน 2.5 ล้านคน

กระตุ้นกำลังซื้อคลอด 'คนละครึ่ง' เฟส3

และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการกระตุ้นกำลังซื้อให้กับประชาชน กลุ่มที่มีรายได้ปานกลางและมีรายได้สูง ประกอบด้วย 2 โครงการได้แก่ โครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 ซึ่งโครงการนี้ เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจและช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากโดยตรง และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งถือเป็นโครงการใหม่หรือภาครัฐจะสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ E - Voucher ให้กับผู้ที่ได้รับสิทธิ์ โดยใช้การชำระเงินผ่าน G- wallet ของแอพพลิเคชันเป๋าตังค์ ของร้านค้าที่จดทะเบียน ซึ่งติดตั้งแอปพลิเคชันถุงเงิน ยิ่งใช้ยิ่งดี ซึ่งเป็นการกระตุ้น ผ่านผู้ที่มีกำลังซื้อสูง ทั้งหมดที่ออกมาจะครอบคลุมเป้าหมาย 51 ล้านคน มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 473,000 ล้านบาท

ลั่นไม่ท้อถอย ย้ำช่วยให้ประชาชนปลอดภัย

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ทั้งหมดนี้คือการทำงานและดำเนินการอย่างเต็มที่ของรัฐบาลและศบค. ในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาวิกฤต โควิด -19 ทั้งทางด้านการควบคุมการแพร่ระบาดและการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ

"ผมในฐานะนายกรัฐมนตรีและผอ.ศบค. พร้อมด้วยทุกภาคส่วน จะไม่มีวันท้อถอยหรือท้อแท้ ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาใดๆ และจะต้องไม่หยุดในการคิดและหยุดทำ ช่วยเหลือประชาชนให้ปลอดภัย และให้ประเทศไทยที่รักของทุกคนก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงแข็งแรงยังยืน" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

อย่างไรก็ตามใน การแถลงข่าวของ นายกรัฐมนตรีในวันเดียวกันนี้ ไม่ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนในประเด็นการเมืองทั้งในประเด็นที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีออกมาพูดผ่านคลับเฮ้าส์ และกระแสเรื่องการย้ายประเทศแต่อย่างใด โดยนายกฯ ได้เน้นการอ่านเอกสารเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจและเดินออกจากการแถลงข่าวทันที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง