ไม่พบผลการค้นหา
72 ชั่วโมงก่อนการจัดแสดง ‘โฮเทล อาร์ต แฟร์’ (Hotel Art Fair) เดินทางมาถึง บนออฟฟิศชั้น 5 ในซอยสุขุมวิท 39 ทุกคนล้วนวุ่นอยู่กับงานของตนเอง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายหลักคือ การสร้างศูนย์รวมของคนรักศิลปะ ศิลปิน นักออกแบบ และแกลเลอรีจากนานาประเทศ

‘โฮเทล อาร์ต แฟร์’ คืออีเว้นท์รวบรวมผลงานศิลปะ และการออกแบบมานำเสนอในโรงแรม ซึ่งจัดเป็นประจำแทบทุกปี (เคยต้องหยุดครั้งหนึ่ง ตอนประเทศเกิดรัฐประหาร) โดยมี วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ ผู้บริหารบริษัทฟาร์ม กรุ๊ป (Farmgroup) อยู่เบื้องหลังความสุนทรีย์มาตลอดระยะเวลา 6 ปีเต็ม

ปัจจุบัน นอกจากแกลเลอรีระดับท็อปๆ ในประเทศจะเข้าร่วมจัดแสดงผลงานเป็นจำนวนมากแล้ว แกลเลอรีชื่อดังจากต่างประเทศ โดยเฉพาะแถบเอเชีย ตั้งแต่ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลี จีน ฯลฯ ยังให้การตอบรับด้วยดีเช่นเดียวกัน

haf.jpg
  • บรรยากาศของงาน โฮเทล อาร์ต แฟร์ เมื่อปี 2018 จัดขึ้นที่ 137 พิลลาร์ส สวีทส แอนด์ เรซิเดนเซส กรุงเทพฯ 

“ครั้งแรกๆ บรรยากาศเหมือนศิลปินเอาผลงานเก่าๆ มาขายล้างสต็อก แต่พอถัดมาเรื่อยๆ บรรยากาศเปลี่ยนเป็นศิลปินตั้งใจผลิตงานออกมาแสดง แต่ละคนจะตั้งโจทย์ให้ตัวเอง โดยทางฟาร์ม กรุ๊ป ไม่ได้ไปให้โจทย์ใคร เพราะแกลเลอรี หรือศิลปินผู้มาร่วมงานค่อนข้างคัดกรองมาระดับหนึ่งแล้ว อย่างน้อยๆ ทุกคนต้องพูดเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัย

“เส้นขอบเขตของศิลปะมันไม่ได้อยู่ตรงใครมาจากประเทศอะไร ศิลปะมันเป็นภาษาที่สามารถข้ามพรมแดนได้ การเปิดตัวกับต่างประเทศเป็นการต่อยอดมาจากปีก่อนๆ ทำให้ปีนี้แกลเลอรีจากต่างประเทศเข้าร่วมมากสุด เพราะพวกเขาเริ่มมั่นใจว่า โฮเทล อาร์ต แฟร์ ไม่ได้ทำเล่นๆ พวกเราตั้งใจทำเรื่อยๆ ทุกปี ตราบเท่าที่ยังพอมีกำลัง” วรทิตย์บอกเล่าพัฒนาการของงาน และสิ่งที่ทำให้เขายังคงเดินหน้าทำมันอย่างต่อเนื่อง 


สำรวจ ค้นพบ ในโลกศิลปะไร้พรมแดน

ในวันเสาร์นี้ (22 มิถุนายน 2562) โฮเทล อาร์ต แฟร์ เตรียมเปิดตัวกับสาธารณชนเต็มรูปแบบอีกครั้ง แม้จะเป็นการกลับมาด้วยชื่อเดิม และฟอร์แมตคล้ายๆ เดิม แต่ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ทางผู้จัดก็มักเซอร์ไพรส์เหล่าคนหลงใหลในศิลปะด้วยคอนเซปต์พีคๆ อยู่เสมอ

สำหรับการจัดงานประจำปี 2019 คำว่า ‘Breaking Boundaries’ หรือ ‘การก้าวผ่านข้อจำกัดทางความคิด’ ถูกหยิบมาใช้เป็นธีมหลัก เพื่อสะท้อนถึงการทลายขอบเขตทางวัฒนธรรมของมนุษย์ และยังสื่อถึงแนวคิดทางศิลปะ ซึ่งไม่ควรเกิดข้อจำกัดในการแสดงออก

haf2.jpg
  • วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ ผู้บริหารบริษัทฟาร์ม กรุ๊ป และอยู่เบื้องหลังความสุนทรีย์ของโฮเทล อาร์ต แฟร์ มาตลอดระยะเวลา 6 ปีเต็ม

“แม้คำว่า ‘Boundaries’ หรือ ‘ขอบเขต’ จะไม่ใช่สิ่งใหม่ น่าตื่นเต้น แต่ช่วงหลังๆ สปิริตของโลก หรือผู้นำประเทศต่างๆ ค่อนข้างให้ความสำคัญกับคำว่า ‘Boundaries’ แบบผิดๆ เสมอ เช่น เอาไว้ปิดกั้นผู้คน

“จริงๆ ศิลปะเป็นตัวสะท้อนการเมือง ความรู้สึก หรือความเป็นไปในโลกได้ดี ฉะนั้นการหยิบคำว่า ‘Boundaries’ มาเป็นธีม เพื่อต้องการเปิดโอกาสให้หลายๆ คนลองพูดคุยกันเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการทลาย หรือการก้าวข้ามขอบเขต”

“ส่วน ‘Breaking Boundaries’ แปลได้หลายความหมาย ทั้งการทลายขอบเขต หรืออาจจะเป็นการก้าวข้ามคอมฟอร์ตโซนเดิมๆ สำรวจสิ่งใหม่ๆ ในชีวิต ได้ก้าวข้ามเส้นอะไรบางอย่างที่ไม่คุ้นเคย นั่นน่าจะเป็นความหมายหลวมๆ” วรทิตย์กล่าว

haf1.jpg
  • บรรยากาศของงาน โฮเทล อาร์ต แฟร์ เมื่อปี 2018 จัดขึ้นที่ 137 พิลลาร์ส สวีทส แอนด์ เรซิเดนเซส กรุงเทพฯ 

จากความตั้งใจในการเปลี่ยนสถานที่จัดงานทุกปีๆ ทำให้การกลับมาครั้ง 6 จะเกิดขึ้น ณ ดับเบิ้ลยู โฮเทล แบ็งคอก (W Hotel Bangkok) สาธร ครอบคลุมพื้นที่ 2 ชั้น รวมทั้งสิ้น 36 ห้องพัก เพื่อให้ผู้ชมดื่มด่ำกับผลงานศิลปะด้วยตัวเองอย่างเต็มที่ โดยบางห้องเป็นกลุ่มศิลปิน บางห้องเป็นแกลเลอรี และอีก 3 ห้องเป็นศิลปินรับเชิญพิเศษ

“โรมแรมไม่ใช่แค่สถานที่ แต่ต้องเป็นเหมือนพาร์เนอร์ชิพ จึงอยากทำงานกับคนที่เห็นความสำคัญของศิลปะ และความคิดสร้างสรรค์เหมือนกัน จริงๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงแรมระดับโลก เพราะหลายๆ ปีที่ผ่านมาก็จัดตามโรงแรมเล็กๆ (ลากเสียง) แค่ 4-5 ชั้น”

จุดมุ่งหมายหลักอันชัดเจนของฟาร์ม กรุ๊ป อาจทำให้หลายๆ โรงแรมถูกฟิวเตอร์ออกอย่างอัตโนมัติ แต่สำหรับดับเบิ้ลยู โฮเทล แกนสำคัญของแบรนด์อยู่ตรงการทำให้ผู้เข้าพักรื่นรมย์กับศิลปะ ดนตรี แฟชั่น และความคิดสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้น โฮเทล อาร์ต แฟร์ จึงตอบโจทย์เรื่องกิจกรรม และกลุ่มลูกค้าที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องการเข้าถึง 

สำหรับไฮไลท์ประจำปี 2019 คือ ‘Spectrum’ โปรเจกต์พิเศษที่เกิดจากความร่วมมือของมูลนิธิออทิสติกไทย และมูลนิธิ ณ กิตติคุณ ซึ่งจะนําเสนอผลงานศิลปะที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการจากเด็กพิเศษ

มากไปกว่านั้น อีกหนึ่งความพิเศษคือการชวน ภูริน พานิชพันธ์ ศิลปินผู้มีชื่อเสียงในเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ให้กลับมาแสดงผลงานในประเทศไทยครั้งแรก โดยผลงานของเขาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คืองานอินเตอร์แอกทีฟจ๋าๆ เกิดการนำเทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ และโค้ดต่างๆ มาผสมรวมกัน ซึ่งเป็นแนวทางที่ศิลปินถนัด และทำต่อเนื่องมานานกว่า 10 ปี อีกส่วนหนึ่งเป็นงานกึ่งอินเตอร์แอกทีฟสีขาว-ดำ ชื่อซีรีย์ว่า ‘Black, White, And Everything Else In Between’ ที่เปิดกว้างกับการปะทะทางความคิด และมุมมองอันแตกต่างของแต่ละคน

haf5.jpg
  • ภูริน พานิชพันธ์ ศิลปินไทยผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา กับผลงาน ‘Black, White, And Everything Else In Between’

“เนื่องจากบริบทของประเทศไทยเกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก ทั้งฝั่งการเมือง หรือชนชั้นทางสังคม ดังนั้น การนำศิลปะมาเชื่อมคนเข้าหากันเป็นสิ่งสำคัญ เพราะศิลปะเหมือนภาษาที่ทำให้เกิดการรับรู้ร่วม ผลงานของผมจึงเลือกใช้สีดำ–ขาว ซึ่งแตกต่างกันมากจนเหมือนเป็นคนละขั้ว แต่การนำสีดำ–สีขาว มาอยู่ร่วมกันสามารถสร้างมุมมองหลากหลาย และถึงแม้จะแตกต่างกันมากเพียงใด แต่สุดท้ายการต้องอยู่ร่วมกันมันก็มีความหมาย”

ในโลกธุรกิจการค้าขายศิลปะ ผลงานอินเตอร์แอกทีฟมักจะเจอตั้งคำถามอยู่เสมอว่า “ขายใคร?” เพราะการซื้อ–ขายผลงานอินเตอร์แอกทีฟฟังเป็นเรื่องยาก ไม่เหมือนกับภาพวาด หรือประติมากรรม

“เวลาผมจัดนิทรรศการ หรือเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ คนส่วนใหญ่ต่างสนใจ ชื่นชอบผลงาน แต่การจะให้พวกเขาซื้อกลับบ้านมันคนละเรื่องกัน ดังนั้น งานอินเตอร์แอกทีฟจึงเป็นเหมือนการสร้างประสบการณ์อย่างหนึ่ง

“เรื่องการขายไม่ใช่เป้าหมายหลักๆ ของผม เป้าหมายของผมอยู่ตรงการแสดงวิสัยทัศน์ของตัวเองออกมาให้ได้มากสุด เพื่อสร้างแรงบันดาล หรือต่อยอดแก่ผู้ชม แต่ถ้าคนเห็นผลงานดีๆ แล้วต้องการสนับสนุน ให้เงินมาพัฒนาผลงานชิ้นต่อๆ ไป ผมก็เห็นด้วย ควรจะมีเม็ดเงินมาช่วยสนับสนุนศิลปิน เพื่อให้พวกเขาสามารถสร้างสรรค์ผลงานต่อไปเรื่อยๆ

“อย่างประเทศญี่ปุ่น หรือหลายๆ ประเทศฝั่งยุโรป เขาค่อนข้างเข้าใจว่า ศิลปะเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาสังคม ซึ่งส่วนตัวอยากเห็นเมืองไทยเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน (ยิ้ม) เพราะจริงๆ แล้วความคิดของศิลปินไทยบางคนเจ๋งระดับต้นๆ ของโลกเลยด้วยซ้ำ” ภูรินกล่าว

ทว่าการทำให้ผู้คนหันมาสนใจในศิลปะอาจขึ้นอยู่กับเวลา แต่เมื่อคนไทยส่วนมากยังต้องกังวลอยู่กับการเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง หรือปัญหาการจราจรติดขัด ทำให้คนไม่มีเวลาดื่มด่ำกับศิลปะ

haf4.jpg
  • บรรยากาศของงาน โฮเทล อาร์ต แฟร์ เมื่อปี 2018 จัดขึ้นที่ 137 พิลลาร์ส สวีทส แอนด์ เรซิเดนเซส กรุงเทพฯ 

โฮเทล อาร์ต แฟร์ ไม่ใช่งานจัดเล่นๆ ค่อนข้างซีเรียส คุณภาพงานสูง แกลเลอรีต่างๆ และศิลปินค่อนข้างมีชื่อเสียงจากนานาประเทศร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก ซึ่งไฮไลท์น่าจับตามองอีกห้องหนึ่งคือ การแสดงผลงานของ ‘เคลียร์ แกลเลอรี โตเกียว’ (Clear Gallery Tokyo) จากประเทศญี่ปุ่น ที่เลือกเอาเลนส์แบบคนญี่ปุ่นมามองศิลปินไทย แล้วหยิบศิลปินไทยน่าสนใจในมุมมองของคนญี่ปุ่นมาจัดแสดง

“งานศิลปะเป็นมากกว่าสิ่งตกแต่งสวยงาม ศิลปะยังเป็นสื่อสะท้อนถึงความคิด ความรู้สึกของศิลปิน และเปิด โอกาสให้ผู้ชมตีความหมายของงานชิ้นนั้น การซื้อผลงานศิลปะคือ การยกย่อง และให้เกียรติศิลปินผู้สร้างสรรค์ชิ้นงานให้โลกได้รับชม” โยอิชิ นาคามูตะ เจ้าของเคลียร์ แกลเลอรี โตเกียว กล่าว

ทางด้าน ‘ศุภโชค ดิ อาร์ท เซ็นเตอร์’ (S.A.C. Subhashok The Arts Centre) ในซอยสุขุมวิท 33 เป็นอีกแกลเลอรีหนึ่งที่ประกาศตัวเข้าร่วมกับ โฮเทล อาร์ต แฟร์ เป็นครั้งที่ 2 โดยทาง จงสุวัฒน์ อังคสุวรรณศิริ ผู้บริหาร เตรียมขนผลงานมาแสดงมากกว่า 100 ชิ้น

ฟังผิวเผินอาจเหมือนเป็นแกลเลอรีอายุน้อย ทว่าความจริงศุภโชค ดิ อาร์ท เซ็นเตอร์ เปิดบริการมาครบรอบ 7 ปี และกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 ด้วยความสดใส โดยคาแรคเตอร์อันเด่นชัดคือ การเปิดพื้นที่แก่บรรดาศิลปินหน้าใหม่ และพยายามทำความรู้จักกับศิลปินจากจุดเริ่มต้น เพื่อช่วยพัฒนาผลงานก่อนจัดนิทรรศการจริงครั้งแรก

haf6.jpg
  • จงสุวัฒน์ อังคสุวรรณศิริ ผู้บริหารแอดเลอร์ ศุภโชค แกลเลอรี ซอยสุขุมวิท 33
haf9.jpg
  • หนึ่งในผลงานตัดกระดาษชุด ‘The Remembrance’ โดยศิลปิน ณรัชต์ บริบูรณ์หิรัญธนา ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ศุภโชค ดิ อาร์ท เซ็นเตอร์และกำลังจะเป็นส่วนหนึ่งของโฮเทล อาร์ต แฟร์ ครั้งที่ 6

“ศุภโชค ดิ อาร์ท เซ็นเตอร์เพิ่งเคยร่วมงาน โฮเทล อาร์ต แฟร์ ครั้งแรกเมื่อปีก่อน แต่มันประสบความสำเร็จมากๆ เพราะนอกจากจะมีผู้ชมเข้ามาเยอะมากๆ ได้โอกาสพบปะกับลูกค้าใหม่ๆ ยังเกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับแกลเลอรีอื่นๆ ด้วย สำหรับผู้ชมส่วนมากเป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดีของวงการศิลปะบ้านเรา ที่มีผู้เล่น หรือนักสะสม เข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญมากขึ้น”

นอกจากผู้ชมจะเห็นผลงานศิลปะที่สะสมง่ายขึ้น ทั้งเรื่องขนาด และราคา ทางศุภโชค ดิ อาร์ท เซ็นเตอร์ ยังตื่นตัวเรื่องของความเท่าเทียม จึงเปี่ยมด้วยผลงานของศิลปินหลากเพศ เพื่อแสดงออกถึงความหลากหลาย

“ทางผู้จัดค่อนข้างเปิดกว้างกับการคัดเลือกผลงานมาแสดง แต่เนื่องจากความต้องการจะเปิดโอกาสให้กับศิลปินหลายคน ทำให้ทางศุภโชค ดิ อาร์ท เซ็นเตอร์ มีผลงานจัดแสดงจำนวนมาก จึงต้องหมุนเวียนกัน ดังนั้น หากมาชมคนละช่วงเวลาอาจจะเห็นผลงานแตกต่างกัน”

ต้อมยอมรับว่า การจัดอาร์ต แฟร์ เป็นปัจจัยสำคัญของการทำแกลเลอรี เพราะตามปกติหากเปิดนิทรรศการตามปกติทั่วๆ ไป เดือนหนึ่งอาจจะพบปะผู้คนประมาณ 400 คน ทว่างานอาร์ต แฟร์ เพียงระยะเวลาสั้นๆ ทำให้ผลงานศิลปะออกสู่สายตาผู้ชมหลายพันคน

“เป็นช่วงเวลาที่ดีของการทำความรู้จักกับนักสะสมใหม่ๆ และเป็นโอกาสให้ศิลปินเปิดเผยผลงานของตัวเองมากขึ้น” จงสุวัฒน์กล่าว

haf8.jpg
  • สุคนธ์ทิพย์ ประหารภาพ ผู้ก่อตั้งละลานตา ไฟน์อาร์ต ในซอยนราธิวาส 22 เตรียมนำผลงานประติมากรรมทำมือของศิลปินฝรั่งเศส โอลิวิเยร์ เดอเมล ไปจัดแสดง

เช่นเดียวกันกับ ‘ละลานตา ไฟน์อาร์ต’ (La Lanta Fine Art ) แกลเลอรีรุ่นใหญ่ในซอยนราธิวาส 22 ซึ่งเปิดมานานกว่า 13 ปี และจะเข้าร่วมสนุกกับ โฮเทล อาร์ต แฟร์ เป็นครั้งที่ 2 เนื่องด้วยวิสัยทัศน์ของ สุคนธ์ทิพย์ ประหารภาพ ผู้ก่อตั้งละลานตา ไฟน์อาร์ต เล็งเห็นความสำคัญของการทำให้วงการศิลปะตื่นตัว และเกิดการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

 “นับเป็นไอเดียดีๆ และเป็นแฟร์หนึ่งที่ทำให้คนตื่นตัวเรื่องศิลปะ ช่วยให้คนเห็นผลงานต่างๆ จาก 40-50 แกลเลอรี โดยไม่ต้องใช้วลาเดินทางนาน ปีที่แล้วประสบการณ์ของเราดีมากกก (ลากเสียง) ได้พบกับคนหลากหลายกลุ่ม ตั้งแต่เด็กๆ วัยรุ่น ซึ่งสนใจในศิลปะ และเริ่มซื้อผลงาน ไปจนนักสะสมที่ซื้อผลงานเป็นประจำอยู่แล้ว”

ตลอดระยะเวลา 13 ปี ละลานตา ไฟน์อาร์ต โฟกัสกับผลงานของศิลปินไทยเนื้อหาเข้มข้น และผลงานของศิลปินต่างชาติชื่อดัง สำหรับผลงานน่าจับตามองของละลานตา ไฟน์อาร์ตเป็นประติมากรรมของศิลปินฝรั่งเศสนามว่า โอลิวิเยร์ เดอเมล (Olivier Duhamel) ซึ่งเขาเลือกตัดไม้ออกเป็นแบนบางๆ จำนวน 200 ชิ้น ก่อนนำมาประกอบเข้ากันด้วยมือ จนกลายเป็นร่างกายมนุษย์ผู้หญิง และด้วยความประณีตทุกรายละเอียด ทำให้โครงสร้างออกมางดงามเหมือนจริงยิ่งนัก

haf7.jpg
  • อตินุช ตันติวิท ผู้ก่อตั้งอัตตา แกลเลอรี ย่านเจริญกรุง และผลงานเครื่องประดับของ มาแนะนำ

ขณะเดียวกันทางด้าน อตินุช ตันติวิท ผู้ก่อตั้ง ‘อัตตา แกลเลอรี’ (Atta Gallery) ย่านเจริญกรุง ก็กำลังเตรียมแพ็กผลงานศิลปะสวมใส่ได้ เพื่อร่วมจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของโฮเทล อาร์ต แฟร์ และหากย้อนกลับมาตรงธีมหลัก ‘Breaking Boundaries’ ที่นี่เหมือนจะก้าวข้ามข้อจำกัดทางความคิดไปแล้ว เพราะเป็นการนำผลงานศิลปะ หรือประติมากรรมชิ้นเล็กๆ มาประดับอยู่บนร่างกาย ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่คนคุ้นชินกันนัก

ผลงานน่าจับจองจากอัตตา แกลเลอรี เป็นงานของนักออกแบบเครื่องประดับชื่อดัง ดาวิด บิลันเดอร์ (David Bielander) ซึ่งดูเผินๆ คล้ายการนำลังกระดาษมาตัดเป็นมงกุฎ แต่แท้จริงแล้วมันเป็นกำไลข้อมือ ซึ่งผลิตจากทองคำ 18K

“กระดาษธรรมดาๆ ที่หลายคนนำมาพับๆ ทำเป็นเครื่องประดับเล่นๆ ความจริงแล้วสามารถแปลงรูปภาพออกมาเป็นงานศิลปะมากคุณค่า และสร้างมูลค่าได้” อตินุชกล่าว

โฮเทล อาร์ท แฟร์ ครั้งที่ 6 จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมในวันที่ 22–23 มิถุนายน 2562 ตั้งแต่เวลา 10.00–20.00 น. ที่ดับเบิ้ลยู โฮเทล แบ็งคอก โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย