ไม่พบผลการค้นหา
ครม.มีมติปรับโครงสร้างจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดปัญหาก๊าซเรือนกระจก กระทบราคามอเตอร์ไซค์ใหม่ขยับขึ้น 200-1,500 บาทต่อคัน พร้อมออกประกาศพาณิชย์ ห้ามนำเข้ารถยนต์ใช้แล้วที่ไม่ได้รับอนุญาต

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (7 พ.ค.) มีมติปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ จากเดิมจัดเก็บภาษีตามความจุของกระบอกสูบ เป็นการเก็บภาษีตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 

ทั้งนี้ การจัดเก็บดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์การจัดเก็บ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20-25 ภายในปี 2572 โดยภาษีใหม่จะเริ่มจัดเก็บตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 

โดยโครงสร้างภาษีจักรยานยนต์ใหม่ จะทำให้รถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก หรือ รถครอบครัว มีภาระภาษีเพิ่มขึ้นประมาณคันละ 200 บาท ส่วนรถจักรยานยนต์ขนาดกลาง หรือ รถครอบครัวกึ่งสปอร์ต และรถจักรยานยนต์ประเภทออฟโรด มีภาระภาษีเพิ่มขึ้นคันละ 1,500 บาท และรถจักรยานยนต์ประเภทอื่นๆ มีภาระภาษีเพิ่มขึ้นตามปริมาณการปล่อยก๊าซฯ ซึ่งทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณปีละ 709 ล้านบาท 

อัตราภาษีใหม่ ประกอบด้วย 

1) รถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้า จะคิดอัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 1

2) รถจักรยานยนต์ทั้งแบบที่ใช้น้ำมันและแบบไฮบริด แยกเป็น

  • ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 10 กรัมต่อกิโลเมตร อัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 1 
  • ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 10 กรัมต่อกิโลเมตรแต่ไม่เกิน 50 กรัมต่อกิโลเมตร อัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 3 
  • ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 50 กรัมต่อกิโลเมตร แต่ไม่เกิน 90 กรัมต่อกิโลเมตร อัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 5
  • ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 90 กรัมต่อกิโลเมตร แต่ไม่เกิน 130 กรัมต่อกิโลเมตร อัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 9 
  • ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 130 กรัมต่อกิโลเมตร อัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 18

3) รถจักรยานยนต์ต้นแบบที่ผลิต หรือ นำเข้ามาเพื่อนำไปวิจัย พัฒนา หรือ ทดสอบสมรรถนะ ที่ไม่เคยขายในท้องตลาดเป็นการทั่วไปในประเทศ และไม่เคยได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตมาก่อน หรือเคยได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิตมาแล้ว แต่ไม่เลิกการวิจัย พัฒนา หรือ ทดสอบสมรรถนะ จะไม่เสียภาษี 

4) รถจักรยานยนต์อื่นๆ นอกเหนือจากนี้ คิดอัตราภาษีร้อยละ 20 

ออกกฎห้ามนำเข้ารถยนต์ใช้แล้วที่ไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนทำลาย-ส่งกลับ

นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติอนุมัติหลักการตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอเรื่อง กำหนดให้รถยนต์ที่ใช้แล้วเป็นสินค้าที่ต้องห้ามหรือต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. .... และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของกระทรวงการคลังไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

โดยสาระสำคัญของร่างประกาศดังกล่าวคือ นิยามของคำว่า "รถยนต์ที่ใช้แล้ว" หมายความว่า รถยนต์ที่ได้มีการใช้งานแล้วหรือมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้ 

(1) รถยนต์ที่ได้ผ่านการใช้งานตามปกติวิสัยแล้ว เว้นแต่สภาพการใช้งานเกิดขึ้นเนื่องจากการทดสอบคุณภาพเพื่อจำหน่ายหรือการจัดส่งไปยังแหล่งจำหน่าย โดยมีหนังสือรับรองจากเจ้าของตราสินค้า

(2) รถยนต์รุ่นเก่าให้สันนิษฐานเบื้องต้นว่าเป็นรถยนต์ที่ใช้แล้ว เว้นแต่โดยสภาพแสดงให้เห็นชัดว่ายังไม่ได้ผ่านการใช้งานหรือไม่มีลักษณะตาม (1) 

(3) รถยนต์ที่ได้จดทะเบียนใช้งานในต่างประเทศแล้ว ให้ถือว่าเป็นรถยนต์ที่ใช้แล้ว แต่ไม่รวมถึงรถยนต์ที่ได้จดทะเบียนใช้งานครั้งแรกในต่างประเทศก่อนบรรทุกในยานพาหนะจากเมืองต้นทางไม่เกิน 60 วัน โดยได้ชำระภาษีอากรต่อกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ตามที่กำหนดสำหรับรถยนต์ใหม่

กำหนดประเภทของรถยนต์ที่ต้องห้ามนำเข้ารถยนต์ที่ใช้แล้วตามพิกัดอัตราศุลกากร ดังนี้ 

(1) พิกัดอัตราศุลกากรประเภท 87.01 เช่น รถแทรกเตอร์เพลาเดี่ยว รถแทรกเตอร์ทางการเกษตร รถโดยสารประจำทางขนาดเล็ก เป็นต้น (ยกเว้น รถหัวลาก) 

(2) พิกัดอัตราศุลกากรประเภท 87.02 ทุกชนิด เช่น รถโดยสาร รถโดยสารประจำทาง รถโดยทางประจำทางขนาดเล็ก เป็นต้น 

(3) พิกัดอัตราศุลกากรประเภท 87.03 เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถแข่ง เป็นต้น (ยกเว้นรถพยาบาล) 

(4) พิกัดอัตราศุลกากรประเภท 87.04 ทุกชนิด เช่น รถดั้มพ์ รถกระบะ รถบรรทุก เป็นต้น 

กำหนดประเภทของรถยนต์ที่ต้องขออนุญาตนำเข้า คือรถยนต์ที่ใช้แล้วตามพิกัดอัตราศุลกากร ดังนี้ 

(1) พิกัดอัตราศุลกากรประเภท 87.01 เฉพาะรถหัวลาก

(2) พิกัดอัตราศุลกากรประเภท 87.03 เฉพาะรถพยาบาล 

(3) พิกัดอัตราศุลกากรประเภท 87.05 ทุกชนิด เช่น รถเครน รถดับเพลิง เป็นต้น 

กำหนดประเภทของรถยนต์ที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลการนำเข้า โดยหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการนำเข้ารถยนต์ ดังนี้ 

(1) กรมการค้าต่างประเทศ มีหน้าที่ออกใบอนุญาตนำเข้า สำหรับรถลักษณะพิเศษที่ใช้แล้วเพื่อใช้ในกิจการตนเอง และรถยนต์ที่ใช้แล้วทุกชนิดที่นำเข้าโดยส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การสาธารณกุศล 

(2) กรมการต่างประเทศ มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองประกอบพิธีการศุลกากร สำหรับรถยนต์ที่ใช้แล้วทุกชนิดที่นำเข้าโดยผู้มีเอกสิทธิทางการทูต สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุล หรือองค์การระหว่างประเทศ รถยนต์ที่ใช้แล้วทุกชนิดที่รับการยกเว้นภาษีหรือชดเชยภาษี และรถบริจาคที่นำเข้าตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ 

(3) กรมสรรพสามิต มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองประกอบพิธีการศุลกากรสำหรับรถยนต์ที่ใช้แล้วทุกชนิดที่นำเข้าเพื่อเป็นต้นแบบในการผลิตหรือการศึกษาวิจัย

(4) กรมศิลปากร มีหน้าที่ออกรับรองประกอบพิธีการศุลกากร สำหรับรถยนต์ที่ใช้แล้วทุกชนิดที่นำเข้าเพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ เพื่อการวิจัย การแข่งขัน ตัวอย่าง หรือจัดแสดง

(5) กรมศุลกากร มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายศุลกากรสำหรับรถยนต์ที่ใช้แล้วทุกชนิดที่นำเข้าเป็นการชั่วคราว รถยนต์ที่นำเข้าเพื่อปรับสภาพแล้วส่งออก และรถยนต์ที่ไม่สามารถจดทะเบียนหรือนำเข้าไปในต่างประเทศได้ 

(6) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายการนิคมอุตสาหกรรมฯ สำหรับรถยนต์ที่ใช้แล้วทุกชนิดที่นำเข้าเพื่อปรับสภาพแล้วส่งออก (เขตอุตสาหกรรมส่งออก) 

(7) กระทรวงกลาโหม มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายของกระทรวงกลาโหม สำหรับรถยนต์ที่ใช้แล้วทุกชนิดที่เป็นยุทธภัณฑ์ 

ทั้งนี้ หากมีการนำรถยนต์ที่ใช้แล้วเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนฯ ให้กรมศุลกากรทำลาย หรือส่งรถยนต์ดังกล่าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร

"ประเมินว่า การห้ามนำเข้ารถยนต์เก่า รถยนต์มือสอง น่าจะกระทบกับผู้นำเข้าอิสระ หรือ เกรย์ มาร์เก็ต ซึ่งนำเข้ารถหรูประมาณ 100 คันต่อปี" นายณัฐพร กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :