ไม่พบผลการค้นหา
‘ณัฐชา’ ยกกลุ่มแพทย์ชนบทเป็นฮีโร่ หลังประสานขอความร่วมมือ เข้ามาช่วยเหลือ ตรวจเชิงรุกเขตบางขุนเทียน วิกฤตหนัก พบแรงงานข้ามชาติและปชช.ติดโควิดจำนวนมาก แต่รัฐบาลกลับเพิกเฉยไร้ประสิทธิภาพ พร้อมร่อนหนังสือถึง IOM จี้ รัฐบาลไทยดูแล ‘แรงงานข้ามชาติ’

ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส. เขตบางขุนเทียนและโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่เทียนทะเล 26 เขตบางขุนเทียนว่า ขณะนี้มีแรงงานข้ามชาติติดเชื้อโควิดจำนวนมาก แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถานการณ์นี้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่จำนวนมากหวาดระแวงและเป็นปัจจัยหนึ่งในการติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น ช่วงสองวันที่ผ่านมาตนจึงได้ประสานไปยังกลุ่มแพทย์ชนบทเพื่อเข้ามาช่วยเหลือตรวจโรคให้แก่พี่น้องแรงงานข้ามชาติและพี่น้องคนไทยในพื้นที่เป็นการเบื้องต้นแล้ว

“ต้องขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเป็นอย่างยิ่ง เพราะในเวลาเพียง 2 วัน สามารถดำเนินการตรวจเชื้อได้ถึงจำนวน 4,000 คน พบว่ามีผู้ติดเชื้อมากถึง 1,000 คน ซึ่งการเข้ามาช่วยเหลือของกลุ่มแพทย์ชนบทสามารถช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งตนในฐานนะตัวแทนของประชาชนที่เป็นด่านหน้าในการรับแจ้งปัญหาอยากขอบคุณกลุ่มแพทย์อาสาที่เข้ามาช่วยเหหลือในครั้งนี้ หากไม่มีกลุ่มแพย์ชยบทเข้ามาช่วยเหลือในช่วงสองวันที่ผ่านมา คาดว่าจะเกิดการลุกลามในพื้นที่มากกว่านี้ เพราะอย่างน้อยๆเมื่อพี่น้องประชาชนได้ตรวจเชื้อและพบว่ามีเชื้อก็จะระมัดระวังในการใช้ชีวิต" ณัฐชากล่าว 

ณัฐชากล่าวอีกว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดลุกลามอย่างรวดเร็วมาก ทำให้เพียงการช่วยเหลือจากกลุ่มแพทย์อาสาคงไม่เพียงพอ ขณะที่หน่วยงานของรัฐกลับเมินเฉยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งผมและทีมงานได้ประสานไปแล้วรวมถึงเรียกร้องผ่านสื่อมวลชนหลายครั้ง กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และนายกรัฐมนตรี ควรรีบแก้ปัญหาและดูแลพวกเขาเหล่านี้ทันที ไม่ว่าด้วยเหตุผล ด้านมนุษยธรรม ด้านสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจ ซึ่งในอนาคตไม่อาจปฏิเสธความจำเป็นของแรงงานข้ามชาติได้

"แต่เมื่อรัฐบาลไทยไม่เคยเหลียวแล ผมจึงมีหนังสือไปถึงหน่วยงาน International Organization for Migration ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานและมีประสบการณ์ด้านสุขภาพในการตรวจปอดเพื่อหาเชื้อวัณโรค เพื่อขอให้เข้ามาช่วยเหลือด้านสาธารณสุขในสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงเพื่อเป็นหนึ่งในการช่วยกันเรียกร้องกดดันต่อรัฐบาลไทยให้สนใจในการดูแลปัญหาแรงงานข้ามชาติมากกว่านี้” ณัฐชากล่าว

ทั้งนี้ ณัฐชา กล่าวว่า นอกจากการขอความช่วยเหลือไปยัง IOM แล้ว ตนยังหวังว่ารัฐบาลไทยจะยังมีสำนึกเหลืออยู่ จึงมีข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลไทยอีกครั้ง จงตื่นขึ้นมาเผชิญหน้ากับความจริงและจงปฏิบัติตาม ดังต่อไปนี้

1.รัฐบาลไทยต้องปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติโดยไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ไม่ละเลยต่อผู้ติดเชื้อไม่ว่าจะเชื้อชาติใด

2.ยกเว้นกฎเกณฑ์ที่ตรวจเฉพาะคนไทยทันที เพราะสถานการณ์เช่นนี้ กฏระเบียบ ข้อจำกัดต่างๆทางราชการควรยกเว้น แต่ต้องให้ความสำคัญกับชีวิตของเพื่อนมนุษย์เป็นอันดับแรก ทุกคนที่อาศัยในประเทศไทยต้องได้รับการตรวจและดูแลเพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

3.กระทรวงสาธารณสุข จะต้องจัดให้มีการตรวจเชิงรุกและรักษาแรงงานข้ามชาติอย่างเร่งด่วนทันที 

4.แรงงานข้ามชาติทั้งหมดควรได้รับการจัดสรรวัคซีนและการรักษาโดยไม่แบ่งแยก 

“วันนี้สถานการณ์ในประเทศไทยไม่สามารถหวังพึ่งความช่วยเหลือจากรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐได้ แต่โรคระบาดที่เกิดขึ้นไม่สามารถรอขั้นตอนของราชการของไทยได้เช่นกัน เพื่อฝ่าฟันวิกฤตของมนุษยชาติและของประเทศไทยในเวลานี้ การขอความร่วมมือจากองค์กรนานาชาติจึงเป็นทางเลือกที่ตนมองเห็นและหวังว่าจะได้รับการตอบรับ” ณัฐชากล่าว

ณัฐชา ยังฝากถึงสังคมไทยให้มีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แรงงานข้ามชาติจำเป็นต้องได้รับการดูแลในการตรวจหาเชื้อเพื่อเปิดโอกาสเข้าถึงการรักษาและต้องการโอกาสในการมีชีวิตไม่แตกต่างจากคนไทยหรือแรงงานไทย แต่นอกจากเพื่อเหตุผลทางมนุษยธรรมแล้ว เรื่องนี้ยังเป็นเหตุผลทางสาธารณสุขด้วย เนื่องจากเชื้อโรคไม่มีพรมแดน ไม่แยกเชื้อชาติ ไม่ใช่ว่าถ้าติดคนประเทศนี้แล้วจะไม่มาติดคนอีกประเทศหนี่ง จึงเป็นเรื่องที่โง่มากที่มีคำสั่งจากกระทรวงแรงงานในลักษณะเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ โดยให้ตรวจเชื้อเฉพาะคนไทยเท่านั้น ทั้งที่ทุกวันเขายังอยู่อาศัยและทำงานยังปะปนกันไปทั้งในสถานที่ทำงานและชุมชน การตรวจแบบยกเว้นและไม่มีมาตรการรองรับทุกคนที่เจอเชื้อจึงหมายถึงการปล่อยให้โควิดกระจายตัวไปอย่างอิสระ หมายความว่าการเลือกปฏิบัติระหว่างเชื้อชาติจึงไม่แนวนโยบายที่เป็นผลดีอย่างแน่นอนสำหรับการควบคุมการระบาด และหากยังคงทำแบบนี้ต่อให้ล็อกดาวน์ยกระดับอีกกี่ครั้งไปจนถึงการประกาศกฎอัยการศึก ก็คงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการควบคุมการระบาดได้ 

“แต่ไม่ใช่เพียงแค่ความเสี่ยงภายในกลุ่มแรงงานด้วยกันเท่านั้น เราทราบว่าแม้บางโรงงานหรือบริษัทเอกชนที่เจ้าของใจดีหน่อยจึงตรวจเชื้อให้ทั้งหมด แต่ปัญหาคือแม้บางคนพบว่าติดเชื้อ ควรจะกักตัวภายในที่พัก เขาไม่มีทั้งอาหารและยาเข้ามาเพราะไม่สามารถเข้าถึงระบบการรักษาได้ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องออกมาซื้อในชุมชน กลายเป็นเรื่องที่สร้างความระแวงให้เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งก็ไม่ใช่ความระแวงที่เกินกว่าเหตุเลย เพราะอาหารและยาคือปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต แต่เมื่อไม่มีเขาก็ต้องออกไปหา จึงสามารถกระจายเชื้อต่อไปได้ตลอดเวลา นี่จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ยังไม่มีการจัดการอย่างเหมาะสม” ณัฐชากล่าว