ไม่พบผลการค้นหา
นักวิทยาศาสตร์ทดลองเครื่องประดับคุมกำเนิดในสัตว์ หวังใช้เป็นทางเลือกใหม่ในการคุมกำเนิดในอนาคต

นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย (Georgia Institute of Technology) กำลังพัฒนาเทคนิคการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนผ่านการใช้แผ่นแปะที่ติดอยู่กับเครื่องประดับต่างๆ อย่างนาฬิกา แหวน และต่างหู โดยแผ่นแปะซึ่งมีฮอร์โมนคุมกำเนิดอยู่นั้น จะติดอยู่บริเวณที่เครื่องประดับมักสัมผัสกับผิวของผู้สวม เช่น ด้านหลังของต่างหู หรือด้านในของนาฬิกาข้อมือ

รายงานซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์คอนโทรลด์รีลีส (Journal of Controlled Release) เผยว่า จากผลการทดสอบขั้นต้น เครื่องประดับคุมกำเนิดอาจสามารถให้ฮอร์โมนคุมกำเนิดแก่ผู้สวมใส่ได้ในปริมาณที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่มีการทดลองเครื่องประดับคุมกำเนิดในมนุษย์

ศาสตราจารย์ มาร์ก เพราสนิตซ์ (Mark Prausnitz) หนึ่งในผู้วิจัย กล่าวว่า ทางเลือกในคุมกำเนิดที่มากขึ้นจะตอบรับความต้องการที่จำเป็นของผู้หญิง อีกทั้งยังอาจช่วยสร้างพลังให้กับผู้หญิง โดยช่วยลดการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ได้

1-s2.0-S0168365919301609-ga1_lrg.jpg
  • ตัวอย่างแผ่นแปะด้านในของเครื่องประดับที่ใช้ทดลอง

ในขั้นต้นนี้ ศาสตราจารย์โมฮัมหมัด โมฟิดฟาร์ (Mohammad Mofidfar) และ ลอร่า โอฟาร์เรลล์ (Laura O'Farrell) ผู้ร่วมวิจัย ได้ทำการศึกษาการใช้เครื่องประดับคุมกำเนิดกับสัตว์ก่อน โดยทดสอบครั้งแรกด้วยการติดเครื่องประดับไว้ที่หูของหมู ก่อนจะทดสอบต่อด้วยการติดบนผิวหนังของหนูไร้ขน

ทีมนักวิจัยปล่อยให้สัตว์สวมเครื่องประดับเหล่านั้นไว้เป็นเวลา 16 ชั่วโมง ก่อนจะถอดออกเป็นเวลา 8 ชั่วโมง เพื่อจำลองพฤติกรรมการถอดเครื่องประดับออกขณะนอนของมนุษย์เพศหญิง

จากการศึกษาพบว่าแม้ฮอร์โมนลีโวนอร์เจสเตรล (levonorgestrel) ซึ่งเป็นฮอร์โมนคุมกำเนิดจะลดลงในช่วงเวลาที่ถอดเครื่องประดับ แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่เพียงพอจะใช้เป็นวิธีคุมกำเนิดได้

แนวคิดการทำเครื่องประดับคุมกำเนิด มาจากการประยุกต์ยาแบบแผ่นแปะผิวหนัง ซึ่งตัวยาจะดูดซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดด้วยระบบส่งยานำวิถี เช่นที่ใช้ในแผ่นแปะนิโคตินสำหรับเลิกบุหรี่

อย่างไรก็ตาม แผ่นแปะคุมกำเนิดนั้นมีอยู่เดิมแล้ว ทว่านั้นมีความยุ่งยากในการคงประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด อย่างการต้องเปลี่ยนแผ่นแปะทุกสัปดาห์ ใช้ติดต่อกันสามสัปดาห์แล้วเว้นหนึ่งสัปดาห์ให้ประจำเดือนมา หรือการห้ามแปะทับจุดเดิมติดต่อกัน ก็อาจทำให้เกิดการลืมหรือสับสนได้ โดยประสิทธิภาพของแผ่นแปะคุมกำเนิดโดยทั่วไปนั้น เมื่อใช้อย่างถูกต้องจะมีโอกาสพลาดท้องเพียง 0.3 เปอร์เซ็นต์ แต่โดยการใช้แบบทั่วไปซึ่งมักเกิดการใช้อย่างไม่ถูกต้องกันบ้างนั้น อัตราการผิดพลาดที่ทำให้ท้องกลับสูงถึง 9 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากยาในรุูปแบบแผ่นแปะมักต้องอาศัยความสม่ำเสมอของการให้ยาเป็นสำคัญ

ผู้วิจัยได้นำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาให้มีขนาดเล็กลงและประยุกต์เข้ากับเครื่องประดับเพื่อช่วยให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น โดยแผ่นแปะที่ใช้กับเครื่องประดับคุมกำเนิดนั้นมีขนาดเพียง 1 ตารางเซนติเมตร เมื่อเทียบกับแผ่นแปะคุมกำเนิดทั่วไปที่มีขนาด 5 ตารางเซนติเมตร

"เพราะการสวมเครื่องประดับอาจเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้หญิงไปแล้ว เทคนิคนี้จึงน่าจะช่วยให้ผู้สวมใส่ได้รับฮอร์โมนคุมกำเนิดครบปริมาณง่ายขึ้น" เพราสนิตซ์ กล่าว

ที่มา :

CONTRACEPTIVE JEWELLERY COULD BE THE NEXT METHOD OF BIRTH CONTROL

On Being
198Article
0Video
0Blog