ไม่พบผลการค้นหา
4 วันหลังคำวินิจฉัยเต็มคดีล้มล้างการปกครองฯ ความยาว 29 หน้าเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา  ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ จากคณะก้าวหน้า อดีตเลขาธิการพรรคที่ถูกยุบ อดีตอาจารย์สอนกฎหมายมหาชน ได้แถลงข่าวแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยนี้

“ในฐานะที่เป็นนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ เคยบรรยายวิชาว่าด้วยกฎหมายมหาชน ศาลรัฐธรรมนูญ วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง จึงขอใช้เสรีภาพในการวิจารณ์โดยสุจริต เพื่อประโยชน์ในทางวิชาการและตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ” ปิยบุตรกล่าว

เนื้อหาที่ปิยบุตรนำเสนอแบ่งออกเป็น 6 ข้อวิจารณ์คำวินิจฉัย - 3 ข้อสังเกตผลสืบเนื่องจากคำวินิจฉัย – 3 ข้อเสนอต่อฝ่ายต่างๆ  ดังนี้

ข้อวิจารณ์

1. การดำเนินกระบวนการพิจารณาที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องได้ชี้แจงแสดงพยานหลักฐานอย่างเพียงพอ

ศาลรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในศาลของระบบกฎหมายมหาชน ใช้วิธีไต่สวนเป็นหลัก โดยระบบนี้ศาลมีอำนาจและบทบาทในการดำเนินกระบวนพิจารณา ศาลเป็นผู้เล่นหลัก ออกมาตรการ แสวงหาข้อเท็จจริงได้ด้วยตนเอง สั่งปิดกระบวนพิจารณาได้หากเห็นว่าพยานต่างๆ เพียงพอแล้ว แต่ระบบไต่สวนไม่ได้อยู่เพียงลำพัง จำเป็นต้องเคารพหลักการพื้นฐานของวิธีพิจารณาความด้วย หลักสำคัญที่สุดคือ รับฟังการต่อสู้โต้แย้งของคู่ความ เปิดโอกาสให้แสดงพยานหลักฐานได้เต็มที่ คดีนี้ได้นำข้อเท็จจริงหลากหลายประเด็นมาวินิจฉัยในลักษณะไม่เป็นคุณต่อผู้ถูกร้อง แต่ผู้ถูกร้องทั้งสามไม่มีโอกาสเพียงพอที่จะชี้แจงเจตนาและความหมายของการกระทำของพวกเขา

2. ศาลรัฐธรรมนูญนำการกระทำอื่นที่ไม่ใช่วัตถุแห่งคดีมาวินิจฉัย

ตามมาตรา 49 ต้องพิจารณาก่อนว่าการกระทำใดเป็นการกระทำที่ถูกร้อง วัตถุแห่งคดีที่จะพิจารณาว่า เป็นการล้มล้างหรือไม่ ศาลได้ยืนยันไว้ในคำวินิจฉัยหน้า 8 ว่ามีคำสั่งรับคำร้องเฉพาะการกระทำในการชุมนุมปราศรัยของผู้ถูกร้อง 1,2,3 เมื่อ 10 ส.ค.2563 ดังนั้น ย่อมไม่สามารถนำการกระทำอื่นในวันอื่นหรือของบุคคลอื่นมาเป็นข้อเท็จจริงในการพิจารณา แต่เรากลับพบหลายท่อนหลายตอนที่นอกเหนือจากส่วนนี้ เช่น

-หน้า 26 ศาลระบุว่า แม้การปราศรัย 10 ส.ค.63 จะผ่านพ้นไปแล้ว ภายหลังจากที่มีการยื่นคำร้องยังปรากฏว่าผู้ถูกร้องทั้งสามยังคงชุมนุมกับกลุ่มต่างๆ โดยใช้ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชุมนุม

-หน้า 27 ศาลระบุถึงการชุมนุมที่มีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ ลบแถบสีน้ำเงินบนธงไตรรงค์

- หน้า 26 ศาลระบุว่า มีการออกมาเรียกร้องโจมตีในที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ละเมิดประชาชนที่เห็นต่าง โดยศาลไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงประกอบ

-หน้า 21 ศาลระบุถึงการไม่รับฟังความเห็นคนอื่น ละเมิดสิทธิส่วนตัว ยุยงปลุกปั่น บิดเบือน ปลุกเร้าให้ใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง

“ท่อนนี้ทั้งหมดเป็นเพียงการพรรณนาความยาวเหยียด ไม่ได้นำข้อเท็จจริงมาปรับ การกระทำใดของผู้ถูกร้องที่มีลักษณะแบบนี้ และไม่ได้เกี่ยวกับการปราศรัยในวันที่ 10 ส.ค.63”

ปิยบุตร แสงกนกกุล

3.เขียนคำวินิจฉัยที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญ

-หน้า 25 อธิบายการเปลี่ยนแปลงการปกครอง2475 แล้วสรุปว่า คณะราษฎรเรียกรูปแบบการปกครองนี้ว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และราชอาณาจักรไทยใช้ปกครองนี้มาตลอด ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

คณะราษฎร ไม่เคยเรียกรูปแบบการปกครองนี้ว่า ‘ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ รัฐธรรมนูญไทย 4 ฉบับแรกไม่เคยมีถ้อยคำดังกล่าว ถ้อยคำนี้เพิ่งปรากฏครั้งแรกในรัฐธรมนูญ 2492 มาตรา 2 ระบุว่า ‘ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ แล้วหลังจากนั้นก็ใช้เรื่อยมาในรัฐธรรมนูญ 2511 2517 2519 2521 จนรัฐธรรมนูญ 2534 มีการใส่คำว่า "อัน" เพื่อเชื่อมสองประโยค

“นอกจากนั้นประเทศไทยมีรัฐประหารเกิดขึ้นหลายครั้ง ห้วงเวลาที่ปกครองโดยคณะรัฐประหารรวมกันแล้วยาวนานหลายสิบปี คงไม่มีใครพูดว่าการปกครองใต้คณะรัฐประหารเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ข้อเท็จจริงที่ศาลบรรยายความจึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงทางประวัตศาสตร์ เสมือนกับว่า ศาลรัฐธรรมนูญเขียนประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างเสียใหม่”

4.ศาลอ้างหลักเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพอย่างไม่ถูกต้อง

หลักการนี้ถือกำเนิดในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส มีการผลักดันเป็นคำขวัญของฝรั่งเศส ในปี 1848 ในยุคสาธารณรัฐที่สอง มีการนำมาบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ยุคสาธารณรัฐที่ 3 นำวลีนี้มาเป็นคำขวัญประเทศอย่างเป็นทางการ และสาธารณรัฐที่ 4 และที่ 5 ก็รับรองว่าเป็นคำขวัญของฝรั่งเศส นี่เป็นหลักการที่เกิดในสาธารณรัฐ จึงเป็นส่วนที่ย้อนแย้งที่สุดในคำวินิจฉัยหน้า 27 ที่ศาลอ้างถึง เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ กลายเป็นว่าศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินในพระปรมาภิไธยบรรยายความเกี่ยวกับสถาบันมากมายและบอกว่าการกระทำผู้ถูกร้องเป็นการล้มล้างฯ แต่กลับเอาหลักการพื้นฐานและคำขวัญของพวกสาธารณรัฐมาใช้ อย่างไรก็ตาม นั่นอาจเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ ปัจจุบัน หลากหลายประเทศก็สามารถหยิบยืมหลักการ 3 อย่างไปใช้ก็ได้ แต่การนำมาใช้ก็ควรใช้อย่างถูกต้อง 'ภราดรภาพ' ไม่ได้หมายความว่า สามัคคี แต่หมายถึงการเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ การร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ในฝรั่งเศสคือเห็นอกเห็นใจพวกต่อสู้เพื่อสาธารณรัฐด้วยกัน และเมื่อสังคมเปลี่ยนก็ขยายความหมายกว้างขึ้น 

5. ข้อเสนอบางข้อถูกวินิจฉัยว่าจะนำไปสู่การล้มล้างฯ อย่างไกลเกินไป

เช่น การแก้ไขมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ การยกเลิกมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา โดยศาลระบุว่าจะทำให้พระราชสถานะไม่เป็นที่เคารพสักการะ ส่วนการยกเลิกการบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล หรือการยกเลิกพระราชดำรัสในทางสาธารณะทำให้ไม่เป็นไปตามประเพณีการปกครอง มีข้อโต้แย้งดังนี้

(1)   การอ้างว่ามาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีที่ยึดถือมาตลอดนั้น โดยประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไม่ได้ปรากฏมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับแรก และใน 3 ฉบับแรกก็มีเพียงการบัญญัติให้สถาบันกษัตริย์อยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้เท่านั้น ข้อความว่า ผู้ใดจะฟ้องร้องมิได้ ปรากฏครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2490 ดังนั้นจึงไม่ใช่การยึดถือตลอดมา

(2)   การบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับประเพณีการปกครองของชาติไทย

(3)   การยกเลิกการมีพระราชดำรัสในทางสาธารณะนั้น ตำราของ ศ.หยุด แสงอุทัย ผู้เขียนตำรารัฐธรรมนูญหลายเล่ม ยกร่างรัฐธรรมนูญหลายฉบับ และเป็นอาจารย์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหลายคน  ได้กล่าวถึงหลักการไว้ว่า การมีพระราชดำรัสต่างๆ ในทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ จำเป็นต้องให้รัฐมนตรีรับรู้รับทราบ พระมหากษัตริย์ไม่ควรแสดงพระราชดำรัสในที่สาธารณะเพราะจะกระทบสถานะความเป็นกลางทางการเมือง และกระทบกระเทือนสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ

(4)   การแก้ไขมาตรา 6 และยกเลิก 112 ไม่ได้ทำให้สถานะความเป็นที่เคารพสักการะของสถาบันกษัตริย์หายไป ตรงกันข้ามจะทำให้พระราชสถานะนั้นเป็นจริงมากขึ้นไปอีก หากเขียนมาตรา 6 ให้รัดกุมมากขึ้น โดยกำหนดให้ชัดว่าทรงมีพระราชอำนาจเรื่องใดบ้าง และรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนอง ดังนั้น รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบทุกกระบวนการ พระองค์ทรงไม่ต้องรับผิด ส่วนมาตรา 112 การแก้ไขหรือยกเลิกก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีกฎหมายคุ้มครองพระเกียรติยศ เพียงมีมาตรา 112 ที่โทษเบาลงและมีเหตุยกเว้นโทษ หรือแม้ยกเลิกก็มีกฎหมายหมิ่นประมาทอยู่

“หลายท่อนที่ศาลอ้าง แล้วเชื่อมโยงว่านำมาสู่การบ่อนทำลายสถาบัน ล้มล้างการปกครองฯ ผมเห็นว่าการเชื่อมโยงมันไกลเกินกว่าเหตุ โดยทั่วไปแล้ว เวลาพิจารณาว่าการกระทำอะไรเป็นเหตุนำไปสู่ผล ต้องมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันระหว่างเหตุและผลลัพธ์ ไม่ใช่ไกลราวกับเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ศาลเอาข้อเรียกร้องบางข้อใน 10 ข้อมาแล้วบอกว่าข้อเรียกร้องแบบนี้ทำให้สถาบันถูกบ่อนทำลาย เป็นการล้มล้างฯ มันเป็นเพียงข้อเสนอที่ผู้ถูกร้องพูดในเวทีการชุมนุม เป็นแค่ข้อเสนอเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นจริงเสมอไป เรามีข้อเสนอร้อยแปดพันประการในประเทศไทยที่ไม่ได้รับการตอบสองจากรัฐสภา สถาบันการเมือง และมันไม่ได้ความว่าพวกที่นำเสนอจะบุกก่อการยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลง”

6. การสั่งให้เลิกการกระทำ ตามมาตรา 49 วรรคสอง ปรากฏในคำวินิจฉัยหน้า 28 ว่า สั่งให้ผู้ถูกร้องรวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดต่อไปในอนาคต กรณีนี้เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญออกคำบังคับเกินกว่าอำนาจของศาล ในการสั่งการไปถึงกลุ่มองค์กรเครือข่าย เป็นการสั่งการไปยังบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ถูกร้อง และการเลิกกระทำการในอนาคตก็เกินขอบเขต ศาลอาจอ้างว่าในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนุญ มาตรา 74 ให้อำนาจกำหนดถึงการกระทำในอนาคต แต่เราจะเห็นว่าในคำวินิจฉัยไม่ได้อ้างมาตรานี้ และมันก็คนละเรื่อง ไม่ใช่คดีมาตรา 49 ด้วย

หากถือตามคำบังคับนี้จะเกิดความอลหม่านตามมา เพราะไม่ได้กำหนดชัดเจนว่า เครือข่ายคือใครบ้าง การกระทำในอนาคตได้แก่การกระทำอะไร แบบไหน "ต่อไปในอนาคต" นั้นจนถึงเมื่อไร หรือชั่วกัลปวสาน จะมีปัญหาสับสนอลหม่านในการบังคับใช้กฎหมาย

“คำวินิจฉัยฉบับนี้น่าจะมีปัญหาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เวลาเราพูดว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรค 4 คำวินิจฉัยถือเป็นเด็ดขาดผูกพันทุกองค์กร ก็ต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะแปลว่าศาลวินิจฉัยเกินรัฐธรรมนูญก็ได้ หากเป็นแบบนี้ศาลก็จะขยายขอบเขตอำนาจมากขึ้นจนกลายเป็นรัฐธรรมนูญเสียเอง และนานวันเข้าจะอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ และผูกขาดการใช้ การตีความรัฐธรรมนูญแต่เพียงผู้เดียว”

ปิยบุตร แสงกนกกุล

ข้อสังเกตผลสืบเนื่องจากคำวินิจฉัย

1.     การใช้คำวินิจฉัยนี้ไม่ไปถึงคดีอาญาหรือยุบพรรค คดีอาญาก็ต้องพิจารณาตามหลักคดีอาญา เช่นเดียวกันกับคดียุบพรรคคำวินิจฉัยมีผลผูกพัน เพราะมันผูกพันเฉพาะผล คำบังคับ และเหตุผลหลักของคำวินิจฉัยเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าการพรรณนาความต่างๆ จะผูกพันด้วย นอกจากนั้นการพิจารณาความอาญาก็เป็นคนละเรื่องกับคดีรัฐธรรมนูญ คดีอาญาต้องเริ่มต้นจากองค์ประกอบความผิด จะต้องมีเจตนา การกระทำ ผลเสียหาย ต้องพิสูจน์มากมาย ถ้าศาลอาญาต้องว่าตามคำวินิจฉัยนี้ ประเทศนี้ก็มีศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียวก็ได้ ดังนั้น ผลสืบเนื่องไม่ไปถึงคดีอาญาหรือยุบพรรค คดีอาญาก็ต้องพิจารณาตามหลักคดีอาญา เช่นเดียวกันกับคดียุบพรรค

2.     การใช้เสรีภาพในการรณรงค์เรื่องการปฏิรูป ส่วนนี้คลุมเครือมาก ประชาชนไม่แน่ใจว่าจะเรีกยร้องให้แก้ไขหรือยกเลิก 112 ได้ไหม การทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับรวมทั้งแก้หมวด 2 ทำได้หรือไม่ หากไปดูคำวินิจฉัยในรายละเอียดจะพบว่า ศาลมุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมของการปราศรัย การชุมนุม ไม่ได้เจาะจงในข้อเสนอทั้ง 10 ข้อ และศาลไม่ได้พูดแม้แต่ประโยคเดียวกว่า "ปฏิรูปสถาบันทำไม่ได้" เราจึงใช้เสรีภาพรณรงค์เรื่องนี้ได้ต่อไป หากใครเห็นว่าล้มล้างหรือไม่ก็ไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่ง

หากเราขยายความไปถึงขนาดว่า คำวินิจฉัยนี้ส่งผลให้ห้ามแก้หรือเลิก 112 หรือห้ามแตะต้องมาตรา 6 นี่จะเป็นตีความขยายความเกินขอบเขต จนเหมือนศาลรัฐธรรมนูญเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ เพราะตัวรัฐธรรมนูญเองไม่ได้เขียนห้ามแก้หมวดสถาบัน ตรงกันข้าม รัฐธรรมนูญเขียนด้วยซ้ำในมาตรา 256 วงเล็บ 8 ว่ากรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 2 หากผ่านได้ต้องทำประชามติอีกครั้ง แปลว่าอนุญาตให้แก้หมวดสองได้ เช่นกันกับมาตรา 112 รัฐธรรมนูญรับรองการเสนอร่างกฎหมายโดยประชาชนในหมวดสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของรัฐ ไม่มีตรงไหนบอกว่าห้ามเสนอแก้หรือยกเลิก 112 มาตรานี้เป็นเพียงกฎหมายมาตราหนึ่งในกฎหมายอาญาเหมือนมาตราอื่นๆ 

3.     การใช้เสรีภาพของสื่อมวลชนในกานำเสนอประเด็นปฏิรูป สืบเนื่องจาก 26 พ.ย. พล.ท.พีรพงษ์ มานะกิจ กสทช.ได้เชิญสื่อไปพบแล้วขอความร่วมมือให้ระมัดระวังในการเสนอ 10 ข้อเสนอซึ่งขยายความคำวินิจฉัยไปไกลมาก หลายเรื่องไม่ได้อยู่ในคำวินิจฉัยด้วยซ้ำ วิธีการแบบนี้เป็นวิธีการที่ กสทช.ใช้เป็นประจำนับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 เชิญสื่อไปคุย ไปเตือน ไปหารือ ไปขอความร่วมมือ โดยไม่ได้ออกคำสั่งทางปกครองหรือระเบียบใดๆ ปล่อยให้สื่อไปคิดกันเอง หากสื่อใดกลัวก็เลือกเซ็นเซอร์ตัวเอง นี่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนอย่างแยบยลที่สุด

ปิยบุตร แสงกนกกุล

ข้อเสนอเพื่อการประนีประนอมทุกฝ่าย

1.ฝ่ายผู้สนับสนุนให้ปฏิรูปสถาบัน เยาวชนคนนหนุ่มสาว จำเป็นต้องปรับวิธีการรณรงค์เรียกร้องเสียใหม่ ตรงนี้ไม่ใช่ห้าม จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกหรือถอย แต่ปรับให้เข้ากบสถานการณ์ที่ตอนนี้กลไกรัฐเดินหน้าบดขยี้เต็มที่ ข้อเรียกร้องไม่ได้รับการตอบสนอง หากต้องการบรรลุข้อเรียกร้องไม่สามารถใช้พลังท้องถนนเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของสถาบันทางการเมืองต่างๆ และองคาพยพรายล้อมสถาบัน จึงจำเป็นต้องพิจารณาว่าข้อเสนอต่างๆ นั้นทำอย่างไรให้ royalist ยอมฟังและถกเถียงด้วยเหตุผล ท่าทีแบบเดิมไม่มีทางทำให้มันเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนท่าที และวิธีการรณรงค์เพื่อทำให้ข้อเรียกร้องของราษฎรมีพัฒนาการความคืบหน้า

2. ส.ส.และพรรคการเมือง มีความสำคัญในฐานะเป็นผู้นำวาระสำคัญให้สังคม บางช่วง ส.ส.และพรรคการเมืองอาจเป็นผู้ตาม แต่ช่วงแหลมคมเกิดวิกฤต จำเป็นต้องมี ส.ส.และพรรคการเมืองเป็นผู้นำในการแก้ปัญหา มันจะผ่อนหนักเป็นเบาได้ หากส.ส.นำข้อเสนอเหล่านี้ไปผลักดัน แม้เพียงเล็กน้อย บางส่วนก็ยังดี เป็นการแสดงให้เห็นว่า สถาบันการเมืองในระบบได้เปิดพื้นที่เหล่านี้บ้าง

3.ฝ่ายอนุรักษนิยม จำเป็นต้องเปิดใจและเปิดพื้นที่ให้กว้างกว่านี้ เข้าใจดีว่า ชั่วชีวิตของท่านไม่เคยเห็นคนรุ่นหนึ่งแสดงออกขนาดนี้ อาจตกใจและกังวลจนนำสู่ความเกลียดชัง ลองใช้หลักเมตตาธรรมในฐานะเพื่อนร่วมชาติ เปิดพื้นที่ให้กับเขา ในเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏแล้วว่าเป็นยาวชนคนรุ่นหนึ่งที่มองสถาบันไม่เหมือนคนรุ่นก่อน หลายท่านไม่สบายใจ ไม่พอใจต่อท่าทีการแสดงออก แต่น่าจะให้อภัยต่อกัน ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะหากเลือกใช้อำนาจกด ใช้กลไกรัฐบดขยี้ จะไม่นำไปสู่สถานการณ์ดีที่ขึ้นแน่ นอกจากจะไม่สามารถเปลี่ยนความคิดคนหนุ่มสาวได้แล้ว ยังทำให้เตลิดไปไกลกว่าเดิม แล้วจะนำไปสู่การปะทะกันระหว่างรุ่น ซึ่งล้วนเป็นคนในครอบครัวท่าน ลูกศิษย์ ลูกน้องท่าน อยู่ในชีวิตประจำวันท่านแน่ๆ และเราไม่สามารถไล่ใครออกจากประเทศได้