ไม่พบผลการค้นหา
โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นักบริหารมืออาชีพ และหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย เดินทางมาเยี่ยมเยือน ‘วอยซ์ ออนไลน์’ เพื่อพูดคุยประเด็นการพัฒนาเมืองให้ผู้อยู่อาศัยทุกคนเลิกจน อ้วน โสด

หลังจากรอคอยการเลือกตั้งครั้งใหม่มานานกว่า 7 ปี มาวันนี้, ทุกพรรคการเมืองต่างเดินหน้าหาเสียง และพร้อมชูนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง ทั้งประเด็นการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย การแก้ปัญหาจราจร และการสร้างเมืองปลอดภัย 24 ชั่วโมง เพื่อแข่งกันยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ บุรุษผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ก็เปิดแนวคิดพัฒนาเมืองด้วยเช่นกัน โดยโชว์วิสัยทัศน์สร้างรากฐานเมืองน่าอยู่ เมืองเดินได้ เมืองแบ่งปัน และการทำงานใกล้บ้าน ซึ่งสามารถช่วยทุกคนประหยัดเวลา และลดภาระค่าใช้จ่ายจากการเดินทาง

ส่วนตัวชัชชาติเป็นคนกรุงเทพฯ ชีวิตวัยเด็กเติบโตแถวย่านทองหล่อ ความสัมพันธ์ของเขากับกรุงเทพฯ จึงดำเนินไปในหลายแง่มุม ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และการใช้ชีวิตประจำวัน

ชัชชาติฉายภาพทองหล่อสมัย 40 ปีก่อนว่า “เป็นทุ่งหญ้าเลย มีวัวเดินเข้ามากินต้นไม้ในบ้านด้วย สบายๆ ธรรมชาติๆ แต่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเยอะมาก จนไม่มีภาพเดิมๆ อีกแล้ว ปัจจุบันรถติดกันถึงเที่ยงคืน บรรยากาศก็ล้อมรอบด้วยคอนโด สวนสาธารณะใกล้สุดอยู่ข้างเอ็มโพเรียม จะเข้าบ้านจากปากซอยก็เดินไปไม่ได้ ต้องนั่งมอเตอร์ไซค์เป็นหลัก”

หลังจากสัมผัสวิถีชีวิตเมืองมายาวนาน บวกกับประสบการณ์ครั้งเป็นวิศวกร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อีกทั้งยังเคยนั่งบริหารบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ก่อนตัดสินใจลงเล่นการเมืองเต็มตัว ในสายตาของเขา ‘เมืองน่าอยู่’ ต้องสร้างคุณภาพที่ดี อากาศหายใจได้สบาย เดินทางคล่องตัว มีสวนสาธารณะให้พักผ่อนหย่อนใจ ทุกคนมีความสุขกับชีวิต แต่ขณะเดียวกันภาพของ ‘เมืองที่เป็นอยู่’ ดูเหมือนจะตรงกันข้าม เพราะปัจจุบันเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ยังมีหลายอย่างต้องปรับปรุง

“จริงๆ แถวทองหล่อเดินไม่ง่ายเลยนะ ผิวฟุตพาทขรุขระ ปราศจากร่มเงา และหายนะจะเกิดทันทีเมื่อฝนตก ตอนเย็นจะเห็นภาพคนยืนรอมอเตอร์ไซค์ 20-30 คน ซึ่งมันเป็นปัญหาเรื่องฟีดเดอร์ (Feeder) ปัจจุบันย่านทองหล่อมีทั้งรถแดง มอเตอร์ไซค์ สามล้อ และฟีดเดอร์ของคอนโดจอดกันเต็มไปหมด”

ทั้งนี้ หลายปีที่ผ่านมา กายภาพของเมืองส่งผลต่อผู้อยู่อาศัยอย่างมาก จนเกิดเป็นวลีฮิตว่า ‘จน อ้วน โสด’ ที่สะท้อนปัญหาแสนทรมานของคนเมือง

อย่างไรก็ตาม ชัชชาติเสนอว่า การผลักดันให้เกิดการพัฒนา ‘เมืองเดินได้’ เป็นโจทย์ท้าทาย และสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตหลายมิติ ตั้งแต่การทำมาหากิน การเดินทาง ที่อยู่อาศัย โรงเรียน รวมทั้งเรื่อง ‘จน อ้วน โสด’ ด้วย


ชัชชาติ 1.jpg
  • ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ บุรุษผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี และแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย

'เมืองเดินได้' กับการแก้ปัญหาความจน

ปัญหาด้านการเดินทาง เป็นปัญหาหลักของคนกรุงเทพฯ เนื่องจากค่าใช้จ่ายจากการเดินทางด้วยรถไฟฟ้ามีราคาแพง เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ และบริการขนส่งสาธารณะประเภทอื่นๆ ก็ขาดประสิทธิภาพ บวกกับการจราจรบนถนนก็ติดเรื้อรัง ทำให้ประชาชนกำลังรู้สึกเหมือนตัวเองไม่มีทางเลือกอื่นๆ คุณจะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร

แน่นอนว่า เมื่อรายได้ลบค่าใช้จ่ายเหลือน้อยคือ ‘จน’ และค่าใช้จ่ายจากการเดินทางส่งผลกระทบต่อชีวิตเยอะมาก อยากแรกเลยประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ หลายคนต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงกับการเดินทาง ปกติทั่วไปไม่ควรจะเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของกรุงเทพฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ คือเงิน 100 บาท ต้องเสียค่าเดินทาง 20 บาท ซึ่งเป็นสิ่งบั่นทอนชีวิตมาก

เหตุผลหนึ่งมาจากการปราศจากระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสม ราคาถูก และหลายคนยังจำเป็นต้องเดินทางไกล เพราะบ้านอยู่นอกเมือง แต่งานอยู่กลางเมือง ออฟฟิศเกือบ 10 ล้านตารางเมตรอัดอยู่ย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจจึงต้องเดินทางไกล และต้องใช้จ่ายกับการเดินทางเยอะ

นอกเหนือจากเรื่องเงินแล้ว เรื่องเวลาเป็นสิ่งสำคัญด้วย อาจารย์คณะสถาปัตฯ เคยแสดงผลวิจัยว่า คนกรุงเทพฯ ต้องเสียเวลาอยู่บนท้องถนนนานกว่า 800 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งเท่ากับ 33 วัน คือถ้าตีเป็นมูลค่ามันมหาศาลเลยนะ นอกเหนือจากค่าใช้จ่าย

ถ้าออกแบบผังเมืองดี ออฟฟิศใกล้บ้าน เดินทางสะดวก จะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่าย และทุกคนยังเหลือเวลาทำอย่างอื่น เช่น อาจจะทำงานพิเศษเพิ่มขึ้น ดูแลสุขภาพ หรือหาความสุขในชีวิต ดังนั้น สำหรับผมต้นทุนทางด้านเวลากับการออกแบบผังเมืองเป็นสิ่งสำคัญมาก

แนวคิด ‘บ้านใกล้งาน’ หรือ ‘งานใกล้บ้าน’ ของคุณจะเกิดขึ้นจริงอย่างไร

โมเดลการทำงานใกล้บ้านมี 2 รูปแบบคือ ถ้าบริษัทเทคโนโลยีอาจใช้วิธีรีโมทเข้ามาทำงานได้ ใช้สไกป์ ใช้ออนไลน์ ไม่ต้องเดินทางมาก และปัจจุบันถ้าเป็นงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์สามารถทำให้ทุกอย่างอยู่บนคลาวด์ เพราะฉะนั้น ส่วนหนึ่งจะเป็นงานที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจ

ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือ ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีสำนักงานอยู่ตรงกลาง ไม่มีเมืองย่อยๆ หรือชานเมือง ดังนั้น การกระจุกตัวของงานจึงอยู่ตรงศูนย์กลาง มันบังคับให้ทุกคนต้องเดินทาง อนาคตถ้าสามารถกระจายงานให้อยู่ใกล้บ้านมากยิ่งขึ้น เช่น มีนบุรีมีสำนักงานมีความสมบูรณ์ในตัวมันเอง จากนั้นการเดินทางจะใกล้กับโหนดในแต่ละย่านมากขึ้น

อย่างในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ก็มีย่านดาวน์ทาวย่อยๆ คนก็อยู่รอบๆ พื้นที่นั้น สามารถเดินทางได้สะดวกขึ้น ประหยัดเวลา คืองานเข้ามาอยู่ใกล้บ้านมากขึ้น อาจจะเป็นวิธีการวางผังเมือง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนไปสร้างสำนักงานในพื้นที่ที่อยู่

แล้วอนาคตเทรนด์การทำงานอิสระ หรือ ‘Gig Economy’ จะแข็งแรงขึ้น โอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจจะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนของคนเมืองอย่างไร

สำหรับมนุษย์เงินเดือนอาจจะทำงานประจำอยู่ แล้วทำงานเสริมด้วยการขายของบนอินเทอร์เน็ต หรือขายของตามตลาดนัด ดังนั้น Gig Economy อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ทุกคนมีอิสระ หรือไม่ต้องเดินทางเข้าออฟฟิศช่วงชั่วโมงเร่งด่วน อาจจะมาเดินทางช่วง 10 โมง การจราจรไม่ค่อยติดเท่าไหร่ ใช้เวลาการเดินให้น้อยลง ซึ่งเป็นทางหนึ่งที่ทำให้คนมีความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น และเหมาะกับไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่มากขึ้น


ชัชชาติ 4.jpg
  • ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ขณะกำลังสวมหน้ากากป้องกันมลพิษทางอากาศ

'เมืองเดินได้' ช่วยแก้ปัญหาความอ้วน

อีกปัญหาหนึ่งคือ คนกรุงเทพฯ อ้วนลงพุง ผลมาจากการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย การออกแบบผังเมืองที่ดีจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร

กรุงเทพฯ ลักษณะจะเป็นเหมือนระบบเส้นเลือดฝอยจำนวนมาก คือทุกซอยเกือบตันหมด ไม่ใช่ซอยวนลูป มันเป็นโครงสร้างทางกายภาพที่ต้องยอมรับ ซึ่งนั่นทำให้เกิดมอเตอร์ไซค์รับจ้างจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม เราต้องปรับปรุงระบบฟีดเดอร์ (Feeder) ของเส้นเลือดฝอยให้มีมาตรฐานมากขึ้น และสิ่งหนึ่งที่ช่วยได้คือ ‘การเดิน’

ถ้าระยะเดินได้สัก 800 เมตร ถึง 1 กิโลฯ หากมีเส้นทางน่าเดิน ต้นได้ร่มรื่น ทุกคนสามารถเดินจากโหนด หรือป้ายรถเมล์เข้าสู่พื้นที่อื่นๆ ได้โดยไม่ต้องนั่งมอเตอร์ไซค์ตลอด และถ้าสามารถปรับบางส่วนให้พอเดินได้จะสร้างบรรยากาศของฟีดเดอร์ที่เป็นการเดินได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทางเท้าหลายแห่งยังด้อยคุณภาพ ซึ่งตัวคุณเองก็น่าจะเคยเจอประสบการณ์เลวร้ายเกี่ยวกับทางเท้ามาบ้างใช่ไหม แล้วลักษณะของทางเท้าที่ดีควรเป็นอย่างไร ที่สามารถใช้งาน และเอื้อประโยชน์กับคนทุกกลุ่ม

โอ๊ยยย เยอะแยะ มีทั้งป้าย มีของขาย ทางเท้าทรุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนเห็น และมองเป็นสิ่งปกติไปแล้ว ทั้งๆ ที่จริงแล้วมันเป็นสิ่งที่ทำให้ดีขึ้นได้ ถ้าเกิดเราตั้งใจทำให้มันดีจริงๆ

ที่ผ่านมา ผมเห็นทางเท้าบางที่เริ่มมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งการจัดระเบียบต่างๆ อย่างพวกหาบเร่แผงลอย คือไม่ได้หมายความว่า ต้องไล่ไปให้หมดนะ แต่ต้องจำกัดโซน เหลือทางคนเดินอยู่ร่วมกันได้ ปรับฟุตพาทให้ดี มีทางให้คนพิการ

รูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจคือ กรณีบันไดลงรถไฟฟ้าสายสีเขียว จากเดิมลงมาตรงฟุตปาธเลย ทำให้เหลือพื้นที่นิดเดียว ไม่ถึง 1 เมตร วีลแชร์ผ่านไม่ได้ แต่ถ้าดูรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ อย่างสายสีม่วง เลือกใช้วิธีการเวนคืนตึกแถว บันไดลงในตึกแถว ไม่ต้องมาเบียดทางเดินเท้า แนวคิดอย่างนี้ดี คืออย่าเอารถไฟฟ้ามาเบียดทางเดินเท้า มายด์เซ็ตคือ การให้ความสำคัญกับการเดินเท้า 

การจัดการแผงลอยกับเมือง ควรบริหารจัดการอย่างไรให้ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

หาบเร่แผงลอยต้องจัดระเบียบให้ดี ผมเคยเดินแถวเขตดุสิตเขาจัดการพื้นที่ดี หรือเขตมีนบุรีจะเห็นเอกชนขยับให้หาบเร่ไปอยู่บนพื้นที่ มันมีพื้นที่ที่สามารถแบ่งปันกันได้ มันมีพื้นที่ราชการที่ไม่ได้ใช้ พวกนี้ถ้าจัดให้ดี คุยกันให้ดี เอาพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาแบ่งปันมันจะมีที่อยู่ร่วมกันได้ ก็อาจจะต้องลองทำเป็นโปรโตไทป์ เป็นแบบจำลองสักอันหนึ่งแล้วมาขยายผลต่อ

หาบเร่แผงลอยเป็นเรื่องสำคัญ ขณะเดียวกันต้องจัดระเบียบ จดทะเบียบ ทำให้พวกเขาดูสวย สะอาด ไม่รุงรัง และออกกฎเกณฑ์ชัดเจน ไม่ใช่ไล่พวกเขาจนไม่รู้จะไปทำมาหากินกันตรงไหน เพราะจริงๆ แล้วในกรุงเทพฯ หาบเร่แผงลอยก็เป็นแหล่งอาหารราคาไม่แพงของคนออฟฟิศเหมือนกัน

ดูแถวสีลม ทุกคนลงมากินหาบเร่แผงลอย เพราะกินอาหารในตึกไม่ได้ มันแพง ฉะนั้นมันเป็นเครื่องจักรที่หล่อเลี้ยงคนทำงานในกรุงเทพฯ เหมือนกัน ก็ต้องหาจุดที่อยู่ร่วมกันได้ มันมีสเปซเยอะแยะเลย ที่สามารถจะแชร์กันได้

การสนับสนุนโยบายเกี่ยวกับการปั่นจักรยาน หรือใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า อย่างในเมืองอัมสเตอร์ดัม บรัสเซลส์ หรือปารีส สามารถแก้ปัญหาการเดินทางในกรุงเทพฯ หรือขับเคลื่อนเมืองได้หรือไม่ อย่างไร

การใช้จักรยานยังไม่ใช่เรื่องปลอดภัยนัก เพราะคนยังไม่เห็นความสำคัญของการใช้พื้นที่บนถนนร่วมกัน ตัวผมเองใช้จักรยานพับอยู่เป็นระยะๆ และพบว่า 'มันไม่ง่าย' เช่น ฝาปิดท่อระบายน้ำของกทม. ที่เป็นซี่ๆ แค่วางผิดทางจักรยานก็หัวทิ่มแล้ว ดังนั้น คงต้องพยายามพัฒนาการเรียนรู้การอยู่ร่วมกันมากขึ้น

จักรยานเองบ้างทีก็ไม่สะดวกในการขึ้นรถต่อ อาจจะต้องมีที่จอดจักรยาน เพื่อล็อกไว้แล้วขึ้นรถไฟไปต่อ และยังไม่มีจุดนั้น ที่เตรียมพวกอุปกรณ์อำนวยความสะดวกไว้


ชันชาติ 5.jpgชันชาติ 6.jpg
  • ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กับจักรยานพับคู่ใจ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (13 มีนาคม 2562)

ส่วนสกู๊ตเตอร์เป็นเทรนด์ใหม่ในหลายๆ โลก แต่ประเทศไทยยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย (หัวเราะ) ใช้ได้เฉพาะพื้นที่ส่วนบุคคล บางทีกฎหมายอาจต้องปรับให้ทันสมัยขึ้นด้วย เพราะอนาคตสกู๊ตเตอร์คิวอาร์โค้ดน่าจะเป็นแนวโน้มของฟีดเดอร์ และอาจช่วยเรื่องการท่องเที่ยวด้วย เพราะเทคโนโลยีทำให้เมืองเป็นสมาร์ทโมบิลลิตี้ (Smart Mobility) เคลื่อนไหวได้คล่องตัวขึ้น

แต่สุดท้ายฟีดเดอร์ที่นิยมกันมากสุดในประเทศไทยดูเหมือนจะเป็นวินมอเตอร์ไซค์

เมืองไทยมีมอเตอร์ไซต์รับจ้างประมาณ 1 แสนคัน วินมอเตอร์ไซต์ในกรุงเทพฯ มีประมาณ 5,000 วิน ถือเป็นหัวใจหลักของการเดินทาง มันตอบสนองความต้องการของคนกรุงเทพฯ แต่ยังเป็นระบบที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ อนาคตต้องใช้พวกแพลตฟอร์ม หรือแอปพลิเคชันมาบริหารจัดการ ซึ่งภาครัฐอาจต้องช่วยดูแล

สังเกตไหมพวกมอเตอร์ไซต์รับจ้างขากลับต้องกลับเที่ยวเปล่า เพราะเขาไม่สามารถรับผู้โดยสารข้ามเขตได้ อนาคตคงต้องมีรูปแบบที่มันมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจจะใช้พวกแพลตฟอร์ม หรือแอพพลิเคชั่นมาบริหารจัดการให้ดีขึ้น สุดท้ายก็ต้องวิ่งเที่ยวเปล่ากลับ เปลืองน้ำมัน อนาคตอาจจะต้องมีวิธีบริหารจัดการ ซึ่งทางภาครัฐอาจจะต้องช่วยดูแลเพิ่มขึ้น

หัวใจคือ ยังไม่มีระบบฟีดแบ็กที่เข้มแข็ง ผู้ใช้บริการไม่สามารถก่นด่า หรือให้คอนเมนต์ได้ ก็เป็นเหตุผลหนึ่งว่า ทำไมพวกแพลตฟอร์มของไรด์-แชริ่ง (Ride-Sharing) ไม่ว่าจะเป็นแกร็บ (Grab) ทั้งมอเตอร์ไซต์ หรือแท็กซี่ มีพลังมากขึ้น เพราะแพลตฟอร์มพวกนี้ฟีดแบ็กได้ ถ้าคนไหนโกงเรา เราฟีดแบ็กได้ มันคือพลังของตัวแพลตฟอร์ม ถ้าจะทำให้มอเตอร์ไซต์รับจ้างดีขึ้นก็ต้องเอาแพลตฟอร์มมาช่วยกำกับด้วย มันจะได้สร้างความสมดุลเรื่องข้อมูลมากยิ่งขึ้น

การพัฒนา ‘เมืองเดินได้’ จะช่วยแก้ปัญาด้านสุขภาพของคนกรุงเทพฯ อย่างไร และควรเริ่มต้นพัฒนาจากจุดใด

การเดินช่วยให้คนใช้พลังงานได้ดีมาก ถ้าเดินมากขึ้น ไม่กดดันเกินไป เดินเป็นกิจลักษณะ มีหลายๆ ประเทศที่คนเดินแล้วไม่อ้วน เช่น จีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น คนเดินกันเยอะมากเลย ส่วนตัวผมรู้สึกว่า ประเทศญี่ปุ่นไม่มีคนอ้วนมาก เพราะเขาเดินเยอะ มันเป็นชีวิตประจำวันของพวกเขาเลย คาดิโอมากๆ เดินทุกวัน

เมืองเดินได้จะมีการเผาผลาญพลังงานได้ดี และมันอาจจะเชื่อมโยงกับเรื่องพื้นที่สาธารณะด้วย เช่น มีสวนสาธารณะ มีการเดินไปออกกำลังกาย แต่ถ้าเมืองรถติดมากๆ การเดินเท้าก็ลำบาก กลายเป็นว่าคนไม่ยอมออกจากบ้าน นั่งอยู่ในคอนโด โทร. สั่งของมากิน แล้วก็ยิ่งอ้วน ยิ่งซ้ำร้ายอีก

ดังนั้น การพัฒนาเมืองให้เดินได้ เดินให้เป็นนิสัย น่าจะช่วยเรื่องการดูแลสุขภาพ และพื้นที่ที่เป็นสาธารณะมากขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าทำได้ อย่างเรื่องเมืองแบ่งปัน มันมีพื้นที่สาธารณะของภาครัฐเยอะเยอะเลย ที่น่าจะให้คนเข้าไปใช้ได้ สถานที่ราชการที่สวยงาม แต่ล้อมรั้วกั้น ต้องทลายรั้วพวกนี้ออก ให้คนเข้าไปใช้ประโยชน์

หลายคนมักคิดกันว่า ประเทศไทยเป็น ‘เมืองเดินไม่ได้’ เพราะอากาศร้อน ส่วนตัวคุณคิดอย่างไร

ผมขอเถียงเรื่องที่บอกกันว่า เมืองไทยอากาศร้อนทำให้คนไม่ออกมาเดิน เพราะสิงคโปร์ติดอับดับ 3 เมืองเดินได้โลก ซึ่งอากาศบ้านไม่ได้เย็นกว่าประเทศไทยนะ แต่เขามีต้นไม้เยอะ และอากาศไม่มีมลพิษมาก

หากตั้งโจทย์ว่า อนาคตอยากเป็นเมืองเดินได้ เราจะเกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างให้ดีขึ้น เช่น ต้นไม้ต้องเยอะขึ้น คุณภาพอากาศต้องดีขึ้น คือโจทย์เรื่องเมืองเดินได้มันทำให้เราต้องพัฒนาหลายๆ ด้านไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทาย แต่สุดท้ายจะพัฒนาเมืองในหลายมิติมากกว่าที่หลายคนคิดด้วยซ้ำ

จินตนาการภาพเมืองเดินได้ในสไตล์ชัชชาติ

คงเหมือนกับเวลาไปญี่ปุ่น หรือสิงคโปร์ ต้องเดินเยอะ ในโลกมีตัวอย่างดีๆ อยู่มากมาย ถ้าดูจากการจัดอันดับ เมืองเดินได้ไม่จำเป็นต้องเป็นเมืองพัฒนาแล้ว อย่างในโคลัมโบ หรือแถบอเมริกากลางหลายๆ เมืองก็สามารถเป็นเมืองเดินได้ ขึ้นอยู่กับมายด์เซต และนโยบายมากกว่า

เมืองเดินได้นอกจากช่วยแก้เรื่องอ้วนแล้ว ยังเป็นกรอบความคิดที่จะนำสิ่งดีๆ ตามมาด้วย เพราะเมืองเดินได้ต้องตามมาด้วยอากาศที่บริสุทธิ์ มีต้นไม้สร้างร่มเงาเยอะขึ้น ไม่ร้อน ซึ่งมันส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ฝุ่น PM 2.5 จะไม่เกิดขึ้นในเมืองเดินได้ 

คำว่า เมืองเดินได้ อาจจะฟังเป็นโจทย์ง่ายๆ แต่สุดท้ายจะพาสิ่งดีๆ หลายๆ อย่างตามมา เช่น ฟุตพาทที่ดีขึ้น การแบ่งปันทางเท้า และสุดท้ายเศรษฐกิจจะดีขึ้นด้วย เกิดการจับจ่ายใช้สอย ห้องแถวที่กำลังตายหมดในปัจจุบันจะกลับมาช่วยหมุนเวียนเศรษฐกิจให้ดีขึ้น


ชันชาติ 3.jpg
  • ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สวมแว่นกันแดดที่ยืมมาจากลูกชาย

'เมืองเดินได้' ช่วยสละโสด

เทคโนโลยีใหม่ๆ การขาดพื้นที่สาธารณะ และวัฒนธรรมรถยนต์ ทำให้ผู้คนผูกพันกันทางสังคมลดลง ซึ่งการวางผังเมืองจะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร

มิติอาจจะยิ่งกว่าเรื่องความเป็นโสดอีกนะ คือผมสนใจคำว่า ความคิดสร้างสรรค์ หรือการครีเอตสิ่งใหม่ๆ ซึ่งการมีแฟนถือเป็นการครีเอตสิ่งใหม่ๆ เหมือนกันนะ เพราะการเกิดความสร้างสรรค์มันต้องมาจากการคอลลิชั่น (Collision) กัน คือเกิดการมาปะทะกันของคนหลายๆ กลุ่ม

ถ้าเมืองเดินได้ คนเดินมาเจอกัน มีพื้นที่สาธารณะให้มาใช้ร่วมกัน มีโค-เวิร์กกิ้งสเปซมาง่ายๆ มาถึงแล้วเดินเข้ามาหากันได้ พอมันเกิดคอลลิชั่นกัน แล้วมันจะเกิดปฏิกิริยาตามมาหลายอย่าง

อันหนึ่งอาจเป็นเรื่องแฟน เจอคนถูกใจ ส่วนอีกอันหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้น หัวใจคือ การคอลลิชั่น หรือการมาชนกัน มาเจอกัน ซึ่งถ้าเมืองปราศจากสภาวะโมบิลิตี้ ไม่มีการเคลื่อนไหวสะดวกๆ ทุกคนขังตัวเองในห้อง โอกาสจะมาชนกันก็ยาก

นอกจากนั้น หัวใจสำคัญของเมืองเดินได้ยังช่วยให้โค-เวิร์กกิ้งสเปซ หรือพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นสถานที่ที่คนต่างความคิด คนไม่เคยรู้จักกันได้มาเจอกัน เกิดการปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งอาจจะส่งมาถึงเรื่องแฟน เรื่องความคิดสร้างสรรค์ เรื่องธุรกิจใหม่ๆ

เมืองหลังเลือกตั้งจะหน้าตาเป็นอย่างไร

(หัวเราะ) ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้ถูกเลือก อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งก็เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่กำหนดอนาคตของเมือง ซึ่งยังต้องการการปรับปรุงให้ดีขึ้น ต้องอาศัยความร่วมใจในหลายฝ่าย

สุดท้าย การพัฒนาเมืองคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในพริบตา ควรเริ่มเล็กๆ จำเป็นต้องมีโปรโตไทป์ อาจจะต้องเลือกโซน เช่น รางน้ำ หรืออารีย์ ทำเป็นเคสการพัฒนา แล้วหากเกิดความสำเร็จในการอยู่ร่วมกันได้ค่อยเอาเป็นฐานขยายต่อ แพร่กระจายความสำเร็จออกไป