ไม่พบผลการค้นหา
สำนักข่าวนิกเคอิรายงานว่า เศรษฐกิจไทยอาจเสี่ยงตายจากปัญหาที่รุมเร้า ตั้งแต่หนี้ครัวเรือนสูง ภัยแล้ง จนถึงโรคระบาดโควิด-19

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่า ไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ 14.4 คนต่อประชากร 100,000 คน โดยความหวังของผู้เชี่ยวชาญว่าสถานการณ์จะดีขึ้นค่อนข้างริบหรี่ โดยเฉพาะกรณีการฆ่าตัวตายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจที่ย่ำแย่

คนชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานในไทยจะยังต้องเผชิญปัญหาหลายด้านต่อ ไม่ว่าจะเป็นหนี้สินที่เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคไม่ค่อยใช้จ่าย ปิดโรงงาน ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคต่ำลง รวมถึงภัยแล้งหนัก แต่ไทยก็ยังเจอการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อีก

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า ในปี 2562 เศรษฐกิจไทยเติบโตเพียงร้อยละ 2.4 เป็นหนึ่งในประเทศที่อัตราการเติบโตต่ำที่สุดในในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันก็คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตปีนี้จะแย่ลงอีกอยู่ที่ร้อยละ 1.5

และสำนักข่าวนิกเคอิรายงานว่า วงในในสถาบันการเงินแห่งหนึ่งของไทยมองว่า อัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยอาจเหลือเพียงร้อยละ 0.5 ต่ำที่สุดในทศวรรษ

ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังและที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า สิ่งที่เห็นอยู่ตอนนี้คือการถดถอยอย่างช้าๆ เป็นการขุดหลุมทางเศรษฐกิจสำหรับคนตัวเล็กตัวน้อย เป็นความตายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากปัญหาที่รุมเร้า

รายงานของธนาคารโลก 2 ฉบับระบุว่า ในช่วงที่รัฐบาลทหารบริหารประเทศเศรษฐกิจไทยย่ำแย่ลง โดยปี 2557 ที่มีการรัฐประหาร การเติบโตทางเศรษฐกิจตกลงไปอยู่ที่ร้อยละ 1 เนื่องจากมีความวุ่นวายทางการเมือง และอัตราความยากจนในไทยช่วงปี 2558 - 2561 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.21 มาเป็นร้อยละ 9.85 และจำนวนประชากรที่ยากจนเพิ่มจาก 4.85 ล้านคนมาเป็น 6.7 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 69.04 ล้านคน 

ความยากจนเกิดขึ้นทั่วทั้ง 77 จังหวัด ซึ่ง “เป็นสัญญาณว่าถึงเวลาที่แนวโน้มความยากจนจะสูงขึ้นอีกครั้ง” ในปี 2550 - 2556 ค่าจ้างและรายได้จากเกษตรกรรม ทำให้ความยากจนลดลง แต่ช่วงปี 2558 - 2560 ค่าจ้างและรายได้จากเกษตรกรรมกลับเป็นต้นตอของความยากจนที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังระบุว่า แนวคิดเรื่องคุณภาพชีวิตในไทยก็อยู่ในระดับต่ำ มีคนไทยเพียงร้อยละ 39 ที่รู้สึกว่ามาตรฐานคุณภาพชีวิตของตัวเองดีขึ้น ซึ่งต่ำที่สุดในบรรดาประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

นิกเคอิรายงานว่า ภาพสวยงามที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีวาดไว้ว่า “จะไม่มีคนจนในประเทศไทยภายในปี 2561” ทำให้รัฐบาลทหารแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจและเงินอุดหนุนมูลค่ามหาศาล โดยปี 2560 มีการแจกเงินคนจน 11 ล้านคนเป็นเงิน 40,000 ล้านบาท และในปี 2561 ก็แจกให้คนจน 14 ล้านคน ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในเดือนมี.ค. 2562

หลายโรงงานปิด แรงงานจำนวนมากต้องตกงาน เพราะการส่งออกลดลงจากค่าเงินบาทแข็ง และตลาดโลกที่เปลี่ยนไปใช้สินค้าที่ผลิตจากประเทศอื่นๆ การตกงานอาจทำให้หลายคนต้องอยู่โดยไม่มีไฟฟ้าใช้ ส่วนอีกหลายคนต้องหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ 

ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น ปี 2562 หนี้ครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 552,500 ล้าน สูงขึ้นจากปี 2552 ที่หนี้ครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 377,100 บาท และหนี้ครัวเรือนคิดเป็นเกือยร้อยละ 80 ของจีดีพีประเทศแล้ว ถือว่าเป็นอัตราส่วนที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย ตามหลังเกาหลีใต้

เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ส่งผลให้ห้างขนาดเล็กและขนาดกลางลำบากขึ้น ร้านค้า 1 ใน 3 ต้องปิดตัวลง แม่ค้าขายเสื้อผ้าแห่งหนึ่งในภาคเหนือของไทยเคยได้เงินถึง 200,000 บาทต่อเดือนก็เหลือเพียง 75,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ค่าเช่าที่ก็ยังคงที่ที่ 30,000 กว่าบาท

รศ.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีมีความเสี่ยงมากกว่า เพราะขอกู้เงินจากสถาบันการเงินหลักๆ ได้ยากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ความตระหนกที่เกิดจากการแพร่ะรบาดของโควิด-19 ก็ทำให้อุปสงค์ลดลงไปด้วย เศรษฐกิจไทยจึงน่าเป็นห่วงมาก 

แต่ก่อนที่จะมีโรคระบาด เศรษฐกิจไทยก็ไม่ค่อยดี หลังจากการรายได้จากภาคเกษตรกรรมลดลงจากภัยแล้งหนักที่แล้งมาตั้งแต่กลางปี 2562 และไม่มีทีท่าจะดีขึ้น ธนาคารกรุงศรีอยุธยาออกรายงาน หากปัญหาภัยแล้งยืดเยื้อไปจนถึง ก.ค.นี้ มีการคาดการณ์ว่าจะสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมข้าวประมาณ 37,800 ล้านบาท และกระทบมันสำปะหลัง 3,300 ล้านบาท ส่วนยางและน้ำตาลก็จะราคาตกเช่นกัน