ไม่พบผลการค้นหา
ภาคประชาสังคมไทยเรียกร้องรัฐบาลและทุนไทย ระงับการลงทุนและให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทกองทัพเมียนมา เสี่ยงส่งเสริมการละเมิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนเมียนมา

วันที่ 27 มี.ค. คณะทำงานติดตามการความรับผิดชอบการลงทุนข้ามพรมแดน ส่งจดหมายเรียกร้องให้รัฐบาลไทย รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระงับการลงทุนและการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ต่อธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมาเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวเมียนมา เพื่อสร้างมาตรฐานและจุดยืนด้านการส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชนในการดำเนินธุรกิจของไทยและเป็นการแสดงออกอย่างจริงใจของรัฐบาลไทยและหน่วยงานที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศเมียนมา

จดหมายดังกล่าวได้ส่งถึง นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย , คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ,ผู้อำนวยการ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน), อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ธีรชัย ศาลเจริญกิจถาวร ผู้ประสานงานคณะทำงานติดตามความรับผิดชอบการลงทุนข้ามพรมแดน(ETOs Watch Coalition) กล่าวว่า เราในฐานะภาคประชาสังคมติดตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในการลงทุนของทั้งบริษัทเอกชนของไทย รัฐวิสาหกิจและความช่วยเหลือระหว่างรัฐบาลของไทยมาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้เรามีความกังวลใจอย่างมากต่อการเหตุการณ์รัฐประหารของกองทัพเมียนมา คณะรัฐประหารเมื่อ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 การยึดอำนาจครั้งนี้ได้นำมาสู่การจับกุม คุมขังนักการเมือง นักกิจกรรมทางการเมือง สื่อมวลชน องค์กรภาคประชาสังคม นักศึกษา ประชาชนชน ที่ออกมาแสดงอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement: CDM) ทั่วประเทศ และมีผู้เสียชีวิตทั้งเด็ก เยาวชนและประชาชนจำนวนมาก ดังที่ปรากฏรายงานตามสำนักข่าวต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนสากลอย่างร้ายแรง ตามรายงาน ณ วันที่ 25 มีนาคม 2564 ขององค์กรให้ความช่วยเหลือนักโทษการเมืองในเมียนมา (Assistance Association for Political Prisoners: AAPP) ระบุว่า ขณะนี้มีผู้ที่ถูกจับกุมสะสม นับแต่มีการรัฐประหารรวมแล้วกว่า 2,981 ราย มีจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 320 ราย และมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงมากขึ้น

ธีรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา ทำให้หลายประเทศทั่วโลก ได้ออกแถลงการณ์ประณามและร่วมกันคว่ำบาตรทางการค้า การลงทุน และห้ามนักธุรกิจของประเทศตนทำการค้าที่เกี่ยวเนื่องกับกองทัพเมียนมา ประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าสำคัญของเมียนมายาวนาน

ขณะนี้ข้อมูลรายงานสถิติด้านการลงทุนของหน่วยงานที่ดูแลการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนของเมียนมา (Directorate of Investment and Company Administration: DICA) ระบุ ณ เดือนมกราคม 2564 ว่าไทยอยู่ในอันดับ 6 ของการลงทุนจากต่างประเทศในเมียนมาตามกฎหมายการลงทุนของเมียนมา (Myanmar Investment Law) และอยู่ในอันดับ 3 จากการลงทุนตามกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone Law) ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจของเมียนมาอย่างมีนัยสำคัญ และแม้จะเกิดเหตุการณ์รัฐประหารกลับมีข่าวว่ารัฐบาลไทยและบริษัทของไทยบางกลุ่ม มีความพยายามผลักดันโครงการบางโครงการต่อไป อย่างไม่คำนึงสถานการณ์การเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ ซึ่งเป็นท่าทีที่ไม่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของประชาชนชาวเมียนมาที่ต้องการให้ธุรกิจต่างชาติหลีกเลี่ยงการลงทุนร่วมกับกองทัพในเวลาเช่นนี้

อีกทั้งอาจขัดต่อหลักการชี้แห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principle on Business and Human Rights: UNGP) ที่ทางประเทศไทยได้ประกาศและมีมติคณะรัฐมนตรีรับรอง จนนำหลักการมาปรับใช้และนำไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ซึ่งประกาศใช้เมื่อปลายปี พ.ศ.2562

ธีรชัย ระบุว่า คณะทำงานติดตามความรับผิดชอบของการลงทุนข้ามพรมแดน (ETOs Watch Coalition) จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐ องค์กรภายใต้รัฐ และรัฐวิสาหกิจ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการปฏิบัติดังนี้

(1) ขอเรียกร้องให้ทางรัฐบาลไทย ในฐานะตัวแทนประชาชนไทยประกาศระงับการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน และการลงทุนระหว่างรัฐในประเทศเมียนมา จนกว่าเหตุการณ์จะสงบและมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและถูกต้องชอบธรรมตามครรลองประชาธิปไตย

(2) ขอเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (กลต.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกลไกกำกับดูแลด้านการธนาคารและการลงทุน กำกับการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินและกลุ่มบริษัทต่าง ๆที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงบริษัทที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ปฏิบัติตามนโยบายการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ดังที่สองหน่วยงานได้ประกาศนำหลักการธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UNGP on BHR) เป็นแนวทางปฏิบัติขององค์กร โดยเฉพาะกรณีสถาบันการเงินของไทยที่ได้มีการลงนามร่วมในการนำ “แนวทางด้านการให้สินเชื่อเพื่อความยั่งยืน” (Responsible Lending Guideline)โดยสมาคมธนาคารไทยและธนาคารพานิชย์ 15 แห่ง เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2562 เพื่อป้องกันไม่ให้มีการปล่อยเงินกู้และการลงทุนของกลุ่มบริษัทไทยเข้าไปมีส่วนร่วมกับกองทัพในการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนเมียนมาในขณะนี้

(3) ขอเรียกร้องให้สำนักงานความร่วมมือเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) และกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ พิจารณาระงับการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและวิชาการในโครงการต่าง ๆ ออกไป โดยเฉพาะโครงการเงินกู้เพื่อความช่วยเหลือในการสร้างถนนเชื่อมต่อ 2 ช่องทางจากชายแดนไทย – เมียนมา ที่ด่านพุน้ำร้อน จ. กาญจนบุรีถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย จำนวน 4500 ล้านบาทที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ

(4) ขอเรียกร้องให้หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนในไทย ได้แก่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม มีประกาศอย่างเป็นทางการ เพื่อกำกับบริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจให้ปฏิบัติตามหลักการของสหประชาชาติและข้อเสนอในแผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 - 2565) รวมถึงบทบาทการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ของไทยที่อาจส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง

(5) ขอให้รัฐบาลไทยประกาศจุดยืนเคียงข้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ตลอดจนไม่ให้การรับรองคณะรัฐประหารกองทัพเมียนมาเป็นรัฐบาล

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้นำการรัฐประหารของกองทัพเมียนมา เป็นประธานในพิธีสวนสนามเนื่องในวันกองทัพพม่า โดยแสดงถึงความแข็งแกร่งของทหารและกองทัพ และมีตัวแทนของกองทัพรัสเซียมาร่วมในพิธีดังกล่าวเพียงประเทศเดียว ท่ามกลางการปราบปรามผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารทั่วประเทศ ทำให้ยอดผู้เสียสูงถึง 331 ศพแล้ว ขณะที่สื่อทีวีช่อง MRT ของรัฐออกอากาศกล่าวเตือนประชาชนว่า เสี่ยงที่อาจจะถูกยิงหัว และควรเรียนรู้โศกนาฏกรรมก่อนหน้านี้