ไม่พบผลการค้นหา
'วิษณุ' เผยกฎหมายระบุชัด คะแนน อบต. เท่ากันสามารถจับฉลากตัดสินได้ ชี้แข่งขันดุเดือดเพราะว่างเว้นไปหลายปี มองซื้อเสียงเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ขัดสภาฯ เตรียมแก้ กม.ยุค คสช. ชี้บางฉบับ ต้องแก้เพื่อให้ทันสมัย

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลที่ในบางเขตมีผู้สมัครได้คะแนนเท่ากันทำให้ต้องมีการจับฉลากว่า สามารถทำได้เนื่องจากมีกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าให้จับฉลาก และเคยจับมาหลายครั้งแล้ว เนื่องจากการเลือกอบต.ไม่เหมือนกับการเลือกตั้งระดับชาติ เป็นเขตเลือกตั้งขนาดเล็ก มีประชากรเข้าไปเกี่ยวข้องไม่มาก จึงมีโอกาสที่คะแนนจะเท่ากันได้

ส่วนกรณีในหลายพื้นที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือด มีการร้องเรียนเรื่องการซื้อเสียง นายวิษณุบอกว่าส่วนตัวไม่รู้สึกว่าดุเดือด แต่อาจดุเดือดจริงก็ได้เพราะว่างเว้นไป 7-8 ปี อาจมีความตื่นเต้นกัน ถือเป็นการดี ส่วนเรื่องการซื้อเสียงก็มองเป็นเรื่องธรรมดา

ส่วนกรณีที่ภาคประชาชนนัดรวมตัวกัน ในวันที่ 30 พ.ย. เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎร รับหลักการร่างกฎหมายฉบับประชาชน เพื่อให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. รวม 35 ฉบับ ที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ว่า ไม่ทราบ แต่ให้ทำไปตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งการเสนอแก้ไขกฎหมายสามารถทำได้ ด้วยการรวบรวมรายชื่อยื่นเสนอกฎหมายเข้ามา แต่ส่วนตัวไม่ทราบว่า หมายความถึงกฎหมายฉบับใด และจะต้องทบทวนอะไร พร้อมมองเป็นเรื่องนานาจิตตัง กฎหมายบางฉบับก็มีความจำเป็น บางฉบับก็แก้บางมาตรา ไม่สามารถดึงออกมาได้ เพราะจะกระทบทั้งฉบับ

วิษณุ กล่าวว่าในช่วงรัฐบาล คสช​. ตั้งแต่ปี 57-62 มีการออกกฎหมายหลายฉบับ และหลายฉบับก็เป็นกฎหมายก็ใช้ได้ดี แต่บางฉบับก็ไม่เหมาะสม ก็ต้องแก้ไข และกฎหมายที่เสนอโดยสภาฯในยุคระบอบประชาธิปไตยอีก 1-2 ปี ก็อาจจะต้องแก้ หรือกฎหมายที่ออกในยุค คสช. ก็มีการเสนอแก้ เช่น กฎหมาย ปปง. ที่เพิ่งเสนอแก้ไขไป จึงเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งการแก้ไขไม่ได้เพราะกฎหมายไม่ดี แต่เพื่อให้ทันสมัย เข้ากับสถานการณ์ เช่น ยุคโควิด ยุค new normal จึงเป็นเรื่องปกติที่จะเสนอแก้กฎหมายได้ แต่จะแก้ได้หรือไม่ ถือเป็นอีกเรื่อง

ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ตรวจสอบดูข้อกฎหมายว่าการทำงานของกลุ่มแอมเนสตี้ฯแทรกแซงประเทศหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบเรื่อง และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงกรณีพระมหาไพรวัลย์ ว่า จะะต้องมีการให้นโยบายสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวพระพุทธศาสนาหรือไม่ วิษณุระบุว่า ยังไม่คิดจะทำอะไร แต่เชื่อว่าผู้รับผิดชอบรู้ว่า จะต้องทำอย่างไร ซึ่งเรื่องศาสนาก็ไม่เหมือนเรื่องราชการ หรืองานการเมืองอื่นๆ ที่เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล 100%

ในส่วนของศาสนานั้น สำนักงานพระพุทธศาสนา ก็มีบทบาทหน้าที่ แต่มีข้อก็จำกัดอยู่ บางส่วนเป็นเรื่องของพระ บางส่วนเป็นเรื่องของประชาชน ซึ่งทุกฝ่ายก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เชื่อว่าเรื่องจะไม่ใหญ่โตบานปลาย เพราะเกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย ทั้งนี้ทางสำนักพุทธอาจจะเคลียร์ได้ไม่หมด บางอย่างเกี่ยวกับใคร คนนั้นก็ต้องเป็นคนเคลียร์