ไม่พบผลการค้นหา
พรรคร่วมฝ่ายค้าน ออกแถลงการณ์ซัดความล้มเหลว 9 ด้านของรัฐบาลรอบปี 64 ย้ำเดินหน้าทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้นในช่วงสุดท้ายของ 'ประยุทธ์' ก่อนนับถอยหลังเลือกตั้งใหญ่ ด้าน 'ชลน่าน' คาดเลือกตั้งไวสุดห้วง มี.ค.- ก.ค. 65 เล็งยื่นศาล รธน.วินิจฉัยคุณสมบัติ รมต. กรณี 'ประยุทธ์' นั่งนายกฯ เกิน 8 ปีติดต่อกันไม่ได้ จองอภิปรายทั่วไปต้น ก.พ.ปีหน้า

เวลา 16.00 น. วันที่ 7 ธ.ค. 2564 ที่โรงแรมเอสซี ปาร์ค นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ และ นิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย ร่วมประชุมพร้อมกับแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านภายใต้ชื่อ “ฝ่ายค้านรวมใจ สรรค์สร้างชีวิตใหม่เพื่อประชาชน”

จากนั้น เวลา 18.23 น. นพ.ชลน่าน อ่านแถลงการณ์พรรคร่วมฝ่ายค้าน เรื่อง การทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน และความล้มเหลวของรัฐบาลในรอบปี 2564 ว่าพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ร่วมกันทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลตลอดระยะเวลาร่วม 3 ปีที่ผ่านมา โดยอาศัยกลไกในระบบรัฐสภาทั้งการตั้งกระทู้ การยื่นญัตติ ร่วมกันอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั้งสิ้น 3 ครั้ง ได้ยื่นคำร้องต่อองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญหลายเรื่อง เรื่องสำคัญๆหลายเรื่องถูกตีตกโดยองค์กรเหล่านั้นอย่างน่าเสียดาย อาทิ เรื่องการถวายสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ การขัดกันแห่งผลประโยชน์ใช้บ้านพักอาศัยเป็นสวัสดิการของทางราชการในกรมทหารแม้ว่าจะเกษียณอายุราชการมาแล้ว การมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เป็นต้น นอกจากนี้แต่ละพรรคยังได้ทำหน้าที่ตนในการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับรัฐบาลมาโดยตลอด

​จากการประมวลสรุปผลการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในรอบปี 2564 พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นร่วมกันว่า การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลมีความผิดพลาดล้มเหลวในหลายด้าน ได้แก่

​1. ภาวะความเป็นผู้นำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มีความบกพร่องติดกับดักการใช้อำนาจจนเคยชิน ทำให้การตัดสินใจในหลายเรื่องขาดการพิจารณาอย่างรอบคอบ ดังเช่น การพยายามใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลด้วยการให้อำนาจเจ้าของค่ายมือถือระงับการใช้อินเทอร์เน็ตของบุคคลจนถูกประชาชนฟ้องคดีต่อศาล สุดท้ายก็มากลับลำยกเลิกคำสั่งดังกล่าว อีกกรณีหนึ่งเป็นเรื่องสืบเนื่องจากเมื่อครั้งที่ตนเองเป็นหัวหน้า คสช. ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งปิดเหมืองทองอัคราจนถูกฟ้องคดีต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เมื่อสถานการณ์เพียงพล้ำจนอาจต้องจ่ายเงินให้บริษัทนับหมื่นล้านสุดท้ายก็ยอมอนุญาตให้เปิดเหมืองและเพิ่มพื้นที่อีกจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ใช้งบประมาณแผ่นดินไปต่อสู้คดีนี้อีกหลายร้อยล้านบาท สิ่งนี้คือความบกพร่องในภาวะผู้นำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เห็นได้ชัดเจน

​2. ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน จะเห็นได้ว่าผลการวิจัยของหลายองค์กรพบว่าในสมัยรัฐบาลนี้มีการทุจริตคอรัปชั่นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่กลับพบว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบทั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกลับไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบการทุจริตให้เห็นเป็นรูปธรรมได้แม้แต่เรื่องเดียว โดยที่เป็นข่าวครึกโครมคือ กรณีการจัดซื้อถุงมือยางขององค์การคลังสินค้า (กระทรวงพาณิชย์)ซึ่งรัฐเสียหายนับแสนล้านบาท และมีข้อกล่าวหาว่ามีนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย แต่เรื่องกลับเงียบหาย

รวมถึงการยื่นตรวจสอบรัฐมนตรีจากกรณีการผลักดันการซื้อขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรมอำเภอจะนะ ส่อเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และการยื่นตรวจสอบข้อพิพาทสัมปทานดาวเทียมไทยคม นอกจากนี้ยังมีเรื่อง การทุจริตจัดซื้อชุดตรวจโควิด-19 ATK การทุจริตจัดซื้อวัคซีน การทุจริตการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพซึ่งมีหลายเรื่องการทุจริตในการประมูลก่อสร้างเตาเผาขยะมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร เป็นต้น เรื่องการทุจริตเหล่านี้พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบแล้ว อาทิ การบุกรุกที่ดินการรถไฟเขากระโดง เนื้อที่ 5,000 ไร่เศษ หรือการประมูลขายยางโล๊ะสต๊อก 1.04 แสนตัน เป็นต้น บางเรื่องก็เสนอข้อมูลผ่านสื่อมวลชนและการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ไม่เคยทราบถึงความคืบหน้าในการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลย 

D5E77B36-7267-4603-AD89-820ADB60B7F8.jpeg72D7033D-C05B-42AD-B13D-B7134F7844B8.jpeg


​3. ความล้มเหลวในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลประเมินการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่ำกว่าความเป็นจริงและขาดองค์ความรู้ จึงขาดมาตรการเตรียมความพร้อมทำให้ตัดสินใจผิดพลาดจนทำให้การระบาดขยายวงกว้างจนระบบสาธารณสุขมีไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยได้ ถึงขนาดต้องให้ผู้ป่วยรักษาตัวเองที่บ้าน บางคนทนไม่ไหวถึงกับนอนตายนอกบ้านหลายรายขณะที่การจัดการเรื่องวัคซีนก็มีความผิดพลาดไม่ทันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดจนมีผู้ติดเชื้อเกินกว่า 20,000 คนต่อวัน จนปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อสะสมนับแต่เมษายน 2564 กว่า 2 ล้านคน และผู้เสียชีวิตกว่า 20,000 คน ขณะที่มาตรการในการป้องกันและควบคุมโรคก็ไม่แน่นอน กลับไปกลับมา ส่งผลให้ประชาชนต้องตกงานจำนวนมาก ธุรกิจต้องปิดกิจการ ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศที่ตกต่ำอยู่แล้วต้องทรุดตัวลงต่ำสุดในรอบกว่า 20ปี

​4. การใช้และบริหารงบประมาณที่ผิดพลาด ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะที่รัฐบาลต้องกู้เงินจำนวนมากแต่เงินที่ได้มากลับไม่สามารถจัดสรรให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีการใช้งบประมาณไปเพื่อการหาเสียงจำนวนมาก แทนที่จะใช้งบประมาณเพื่อรองรับระบบสาธารณสุขประเทศ กลับใช้เพื่อการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทั้งที่ไม่มีสถานการณ์ของการสู้รบใดๆ รัฐบาลนี้ถือเป็นรัฐบาลที่กู้เงินสูงสุดกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา แต่กลับไม่สามารถนำเม็ดเงินมาบริหารจัดการให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้ และไม่สามารถทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้นได้ ขณะเดียวกันกลับพบว่ามีข่าวทุจริตคอรัปชั่นไปทั่ว มีการกู้เงินจนสุดเพดาน ถึงขนาดที่ต้องมีการปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะของประเทศ 

พิธา สมพงษ์ 2885.jpegชลน่าน พิธา A4-8C333BAB7E3D.jpegธีรรัตน์  เผ่าภูมิ ฝ่ายค้าน 58CAFBE7-D70F-4409-A72D-E8C954F50C8C.jpeg


​5. ความล้มเหลวในการปฏิรูปการเมือง ทำลายระบบนิติรัฐนิติธรรม การปฏิรูปการเมืองที่พลเอกประยุทธ์กล่าวอ้าง เป็นเพียงลมปาก ปราศจากความคืบหน้าให้เห็นเป็นรูปธรรม ในทางกลับกัน พฤติกรรมของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์กลับทำในทิศทางตรงกันข้าม ทำให้การเมืองถอยหลัง ทั้งความพยายามทุกทางในการสืบทอดอำนาจของตนเอง ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการทำลายระบบรัฐสภาด้วยการทำลายพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม มีการซื้อตัวนักการเมือง มีการกระทำการให้มีการยุบพรรค ย้ายพรรค ด้วยวิธีการที่ไม่เป็นตามวิธีการประชาธิปไตย ทำให้ระบบรัฐสภาถูกวิพากษ์วิจารณ์ เป็นรอยด่างว่าเป็นเพียงเวทีสำหรับนักการเมืองเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดคือการทำลายการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ฝ่ายค้าน ชลน่าน พิธา เพื่อไทย ก้าวไกล ประชาชาติ เสรีรวมไทย เพื่อชาติ -1DB6-4EA0-B9A6-D2B4DB1EA014.jpeg

6. รัฐบาลคุกคามและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน มุ่งใช้กฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้ผันตัวเองจากหัวหน้า คสช. ซึ่งมาจากการยึดอำนาจมาสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญที่สร้างความได้เปรียบให้ตนเองในการเลือกตั้ง แม้สถานการณ์ของประเทศจะมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย โดยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลไกในระบบกฎหมายของประเทศโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ในส่วนของรัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีเองก็ขาดจิตสำนึกประชาธิปไตย ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นต่างๆ เมื่อมีการแสดงออกทางการเมืองหรือการชุมนุมจึงมักเห็นภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุมอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังมีเจตนาในการบิดเบือนการใช้กฏหมายเกี่ยวกับความมั่นคง มาดำเนินคดีกับประชาชนที่ชุมนุมอย่างสันติ ทำให้เกิดการดำเนินคดีกับประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม จนมีจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่รัฐบาลเองมีปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสารและใช้กลไกของกระทรวงดีอีเอส เพื่อมุ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนบนข้ออ้างของการต่อต้านข่าวปลอม

​7. ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ผู้นำหรือตัวนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ แต่กลับไม่มีความเข้าใจถึงปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ประเทศยากจน ประชาชนเจ็บป่วยโดยถ้วนหน้า เศรษฐกิจของประเทศไทยยุคพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จากเสาหลักของเอเชียกลายเป็นเสาที่หักล้มลงจากบริหารงานของรัฐบาล อุ้มชูคนรวยซึ่งเป็นส่วนน้อยของประชาชนในประเทศ บดขยี้คนจนที่เป็นส่วนมากของประชาชนในประเทศ พาคนไทยเข้าสู่การเสื่อมถอยและสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ ทำลายสถิติการกู้เงิน ทำลายสถิติการขาดดุลงบประมาณ ทำลายสถิติการสร้างคนจน ทำลายสถิติหนี้สาธารณะหนี้ครัวเรือน เกิดปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง

ทำให้ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคการเกษตร หยุดชะงักพร้อมกัน การจัดเก็บรายได้ของรัฐต่ำกว่าประมาณการเกือบทุกปี งบประมาณปี 2565ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์โควิดในปัจจุบัน เป็นงบประมาณที่ผิดที่ ผิดทิศ ผิดทาง และผิดเวลา การใช้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 2 ฉบับ มีปัญหาทั้งในมิติของมาตรการและความล่าช้าในการเบิกจ่าย กลายเป็นการแจกหว่านแหไร้ทิศทาง ไม่สามารถประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติได้ จนทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยเสียหายเป็นอันดับต้นๆของโลก และยังเป็นเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าอันดับท้ายๆของโลก อีกทั้งรัฐบาลยังไร้ทิศทางว่าจะสามารถฟื้นเศรษฐกิจในอนาคตได้อย่างไร

ฝ่ายค้าน พิธา ชลน่าน AD89-820ADB60B7F8.jpeg

​8. ความล้มเหลวด้านการปฏิรูปการศึกษา 7 ปีที่ผ่านมา เด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษา 1.3 ล้านคน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาพุ่งสูง เด็กยากจนถูกปล่อยให้ไร้โอกาส โดยรัฐไร้การเหลียวแล ยิ่งในช่วงโควิด-19 เด็กจบใหม่ไร้อนาคต ไร้ฝัน ไร้งาน คนตกงานกว่า 9 แสนคน การวัดผลคะแนนและการประเมินของเด็กไทยในระดับโลกตกต่ำทุกด้านทั้ง PISA และล่าสุดผลสอบด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษของเด็กไทยปี 2564 ยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน

​9. ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมร้ายแรง จะเห็นได้ว่าปัญหายาเสพติดภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้มีความรุนแรงและแพร่ระบาดไปทั่ว มีการขนส่งยาเสพติดล็อตใหญ่ๆ จำนวนมาก ทั้งขนส่งเข้ามายังประเทศไทยและส่งออกไปยังต่างประเทศจนเป็นข่าวดังไปทั่วโลก ขณะที่ข่าวการจับยาเสพติดมีเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่การดำเนินการสอบสวนกลับไม่สามารถเอาผิดได้ เช่นเดียวกับปัญหาอาชญากรรมที่มีมากขึ้นรายวัน ประชาชนไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

นพ.ชลน่าน ระบุว่า ​ข้างต้นเป็นเพียงบางส่วนของความผิดพลาด ล้มเหลว และส่อทุจริตของรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้านจะทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้นต่อไปทั้งในเรื่องความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ความล้มเหลวในการปฏิรูปประเทศ รวมถึงพฤติกรรมการบริหารประเทศแบบลุแก่อำนาจ เอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง และเนื่องจากระยะเวลานี้น่าจะเป็นช่วงสุดท้ายของรัฐบาลนี้ ใกล้ที่จะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป เราจะจับตาและให้ความสำคัญต่อการเอาเปรียบทางการเมือง ทั้งในทางกฎหมายและการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ เพื่อการสืบทอดอำนาจของตนเองต่อไปอีก

เมื่อถามว่าฝ่ายค้านมีการพูดคุยเรื่องผู้ว่าฯ กทม.หรือไม่ นพ.ชลน่าน ระบุว่า เป็นสิทธิ อิสระขอแต่ละพรรคการเมือง ไม่ได้นำมาหารือกัน เพราะในเรื่องนี้เป็นความสำคัญ ศักยภาพแต่ละพรรคจะทำได้ เรามีเป้าหมายเป็นเอกภาพ ฝ่ายค้านถือว่าการพูดคุยในทำนองนี้จะถูกประณามว่าฮั้วทางการเมือง เพราะเราเคารพสิทธิของประชาชน ถ้าดำเนินการเช่นนั้น อาจถูกกล่าวหาไม่เคารพประชาชน

วางปฏิทิน ก.พ.ปี 65 เปิดสภาอภิปรายทั่วไป ม.152

ส่วนการอภิปรายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ต้องสอบถามคณะรัฐมนตรี เสนอแนะปัญหาให้กับคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติ ในแถลงการณ์ 9 เรื่องเป็นความล้มเหลวเกี่ยวกับเรื่องวิกฤต นำไปสู่การอภิปรายนั้นเป็นวิกฤตที่เป็นปัญหา ส่วนรายละเอียดพรรคฝ่ายค้านก็ปรึกษาหารือกัน ก็จะเลือกประเด็นสำคัญที่จะเสนอแนะ คาดว่าหลังปีใหม่จะหารือร่วมกัน ถ้ายื่นได้ก่อน ม.ค. ปี 2565 การอภิปรายจะเกิดขึ้นหลังเทศกาลตรุษจีนได้ หรือปลายสัปดาห์แรกของเดือน ก.พ. ปี 2565 

ฝ่ายค้าน ชลน่าน เพื่อไทย ก้าวไกล พิธา -BC51-45CE-BB0B-4D7A204CE85E.jpeg

คาดเลือกตั้งไวสุด มี.ค. - ก.ค. 65 เล็งสอย'ประยุทธ์' ห้ามเป็นนายกฯ เกิน 8 ปี

นพ.ชลน่าน มองว่า การเลือกตั้้งเร็วที่สุดอาจหลังเดือน มี.ค. - ก.ค. ปี 2565 เพราะการเร่งรัดการทำรัฐธรรมนูญ บัตรเลือกตั้งสองใบ และจะทำกฎหมายลูกให้เสร็จใน 2 เดือนตามเจตนารมณ์เสียงข้างมาก ทำไมพรรคร่วมรัฐบาลขยันลงพื้นที่ จัดทำตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดอย่างครึกโครม วางตัวผู้สมัครทุกจังหวัด ทำให้จะเกิดการเลือกกตั้งเร็ว และหากไม่ใช่ในช่วง ก.ค. แต่เป็นช่วงเดือน ส.ค. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ ขาดคุณสมบัติเกิน 8 ปีมิได้ ไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ แต่ต้องรอให้ถึง 24 ส.ค. ปี 2565 ก็จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

การแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาฯ เพื่อรองรับการทำประชามติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ หลังข้อบังคับผ่าน เราจะยื่นญัตติให้สภาฯ พิจารณาเป็นญัตติที่รัฐสภาเห็นสมควรให้ทำประชามติ มุ่งเน้นแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม เพื่อถามประชาชนว่าเห็นสมควรจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่

ธีรรัตน์ ภูมิธรรม ชัยเกษม ชลน่าน เพื่อไทย 58-9FB3-C535689F2A3C.jpegพิธา ชัยธวัช ก้าวไกล  B41C69AD5.jpegเสรีพิศุทธ์ ศรัณย์วุฒิ A747933A8D2.jpegศรัณย์วุฒิ พิธา ฝ่ายค้าน F-4C03-8C37-855A98C8DBB6.jpegพิธา เสรีพิศุทธ์ ศรัณย์วุฒิ DB-A530-429B93A9A8EC.jpeg

'พิธา' หวังเลือกตั้ง เลิก 'ประยุทธ์' เป็นผู้นำพายเรือในอ่าง

ด้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า รัฐบาลกำลังพายเรือวนอยู่ในอ่าง ใน 8 ปีที่ผ่านมาเป็น 8 ปีแห่งความสูญเปล่า วงเงิน 25 ล้านล้านบาทในวงเงินงบประมาณไม่สามารถทำให้ประเทศไปไหนได้ ขณะที่พี่น้องชาวนากำลังเสียน้ำตา ราคาข้าวกิโลกรัมละ 5 บาท จีนซื้อเพิ่มข้าว 2 เท่า นำเข้า 25 ล้านตัน แต่ประยุทธ์ไม่สามารถทำให้พี่น้องประชาชนดีขึ้น กรณีสลายกลุ่มผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ก็พายเรือในอ่าง ปีก่อนสัญญาจะมีอีไอเอ แต่ปีนี้ยัดคดี หรือยัดคดี 112 กับเยาวชนคนหนุ่มสาว ทำให้เสถียรภาพทางการเมืองไม่ดี เรื่องภาษาอังกฤษที่ไทยแพ้เวียดนาม มาเลเซีย ส่วนโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนก็ตามตัวคนได้เพียง 40 คนเท่านั้น ปีนี้เป็นปีครบรอบ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ ปี 2565 มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พัทยา และอาจมีการเลือกตั้งใหญ่ด้วย ก็หวังว่าประชาชนจะได้มีอำนาจ เลิกผู้นำพายเรือในอ่าง 

ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า ฝ่ายค้านจะหลอมลวมยุทธศาสตร์อย่างเอกภาพ ค้านแบบสร้างสรรค์ ไม่ใช่ด่า แต่ละสอนมวยรัฐบาลด้วยว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาอย่างไร เราไม่อยากให้รัฐบาลเพิ่มหนี้ แต่เมื่อเพิ่มหนี้ก็ขอให้ลดหนี้ให้กับราษฎรได้หรือไม่