ไม่พบผลการค้นหา
อียูเรียกร้องอีกให้ไทยยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่ยอมรับว่าเป็นหัวข้อที่สังคมขัดแย้งกันและคุยกันยากอย่างยิ่ง กระนั้นก็จำเป็นจะต้องคุย ด้านนักสิทธิไทยวางแผนใช้เวลานับสิบปี เพื่อให้ยกเลิกโทษประหาร

การเสวนาเรื่องกระแสสังคมโลกกับการยกเลิกโทษประหารชีวิต: นัยที่มีต่อประเทศไทยที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ต.ค.2561 โดยสหภาพยุโรปเนื่องในโอกาสวันต่อต้านโทษประหาร ทำให้มีการพูดถึงปัญหาการเข้าถึงความยุติธรรมในระบบยุติธรรมไทยซึ่งนักรณรงค์เรื่องสิทธิชี้ว่า ปัญหานี้ทำให้มีโอกาสในอันที่จะมีการลงโทษผิดคน อันเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ในหลายประเทศเชื่อว่าไม่ควรลงโทษด้วยการประหารชีวิตเพราะจะทำให้หมดโอกาสที่จะแก้ไขความผิดพลาดใดๆ

ทูตของสหภาพยุโรปหรืออียูและทูตเสปนต่างเรียกร้องให้ไทยพิจารณายกเลิกการลงโทษด้วยการประหารชีวิตโดยชี้ว่าการยกเลิกโทษนี้เป็นกระแสที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก แต่บรรยากาศของการถกเถียงในสังคมที่เต็มไปด้วยความเผ็ดร้อนที่ผ่านมาทำให้ทั้งสองยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่สังคมไทยจะคุยกันในเรื่องนี้ ทูตอียูและเสปนต่างเห็นว่าการจะยกเลิกโทษประหารต้องได้รับการสนับสนุนจากสาธารณะ ในขณะที่การพูดคุยประเด็นนี้กลับเป็นไปอย่างยากลำบาก  

เปียร์ก้า ตาปิโอลา ทูตอียูประจำประเทศไทยบอกว่าเรื่องของโทษประหารชีวิตนี้เป็นประเด็นที่เรียกความรู้สึกได้มากไม่เฉพาะในหมู่คนไทย แต่ในพื้นที่ที่ยกเลิกโทษประหารไปนานแล้วอย่างประเทศสมาชิกของอียู ทุกวันนี้ก็ยังมีสิ่งที่กระตุ้นให้มีการนำเรื่องนี้ขึ้นมาถกเถียงกันใหม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อการถกเถียงเดินไปถึงจุดที่ว่า โทษประหารเป็นการลงโทษที่ถ้าทำผิดพลาดไปแล้วแก้ไขไม่ได้ จุดนี้มักทำให้ผู้คนส่วนใหญ่เห็นว่าควรจะยกเลิก เขาชี้ว่าที่มีการพูดเรื่องนี้กันอีกครั้งก็เป็นเพราะสังคมโดยรวมเริ่มกลับไปหาทัศนะที่ว่าต้องใช้ระบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน และชีวิตต้องแลกด้วยชีวิต 

แต่ตาปิโอลายืนยันว่าแนวโน้มเวลานี้ประเทศต่างๆขยับตัวไปในทิศทางที่จะลดหรือยกเลิกการลงโทษด้วยการประหารชีวิต ขณะนี้มีประเทศต่างๆ 143 ประเทศที่ยกเลิกไปแล้วทั้งในตัวบทกฎหมายและในทางปฏิบัติ ซึ่งอียูหวังว่าไทยจะดำเนินการอย่างเดียวกัน และว่านานาประเทศแปลกใจมากที่ไทยหันกลับไปใช้การลงโทษด้วยการประหารชีวิตอีกครั้งเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา เขาระบุว่า อียูหวังว่าไทยจะไม่สั่งประหารชีวิตนักโทษอีก และกล่าวว่าอียูพร้อมสนับสนุนตราบใดที่ไทยยืนหยัดในเรื่องนี้

นานาประเทศแปลกใจมากที่ไทยหันกลับไปใช้การลงโทษด้วยการประหารชีวิตอีกครั้งเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้อียูหวังว่าไทยจะไม่สั่งประหารชีวิตนักโทษอีก


ในเรื่องวิธีการยกเลิกนั้น ทูตเสปนประจำประเทศไทยนายเอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย ชี้ว่าไทยสามารถยกเลิกทีละขั้นได้ เขายกตัวอย่างประสบการณ์ของเสปนว่าเป็นการทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากการยกเลิกการประหารในความผิดที่ไม่ใช่อาชญากรรมรุนแรงในปี 2521 จนกระทั่งยกเลิกอย่างสิ้นเชิงในปี 2538 เขาเห็นว่าไทยเองก็สามารถทำได้เช่นนี้ กาลาเบียเห็นด้วยว่า การยกเลิกโทษประหารเป็นเรื่องที่ต้องการการสนับสนุนจากสาธารณะ ในขณะที่การตัดสินใจจะยกเลิกหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เจตนารมย์ทางการเมือง 

ผู้ร่วมวงเสวนาย้ำประเด็นที่ว่า ปัญหาของการใช้โทษประหารชีวิตในปัจจุบันส่วนใหญ่คือมักเกิดขึ้นกับผู้กระทำผิดที่พวกเขาถือว่าไม่ใช่ความผิดที่รุนแรงที่สุด คาเทียร์ คริริชี่ รองผู้แทนระดับภูมิภาค สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชี้ว่า ประเทศในภูมิภาคนี้ยังสนับสนุนให้มีการลงโทษประหารในความผิดเรื่องยาเสพติดซึ่งไม่ใช่ความผิดที่ร้ายแรงที่สุด ขณะที่อีกด้านยังมีข้อมูลบ่งชี้ว่า คนที่ถูกลงโทษประหารมักเป็นคนที่ขาดหรือด้อยโอกาส คนเหล่านี้เมื่อถูกดำเนินคดีมักไม่สามารถว่าจ้างทนายที่มีฝีมือเป็นตัวแทน รวมทั้งไม่เข้าใจในเรื่องข้อต่อสู้ทางกฎหมาย เธอย้ำว่าประเด็นที่สำนักงานจับตาในเวลานี้คือเรื่องการใช้โทษประหารกับความผิดที่ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงที่สุดเช่นในเรื่องยาเสพติดหรือในกรณีของไทยยังมีเรื่องคอรัปชั่นด้วย กับอีกเรื่องที่วิตกคือปัญหาการขาดการให้ข้อมูลต่อสาธารณะในกรณีที่จะมีการประหารชีวิต บางทีครอบครัวไม่รับรู้หรือไม่ก็รู้หลังจากที่มีการลงโทษไปแล้ว

IMG_5993.jpg

ความยากของการรณรงค์ในเรื่องยกเลิกโทษประหารปรากฎให้เห็นในแผนงานของนักรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนของไทย นายโคทม อารียา ที่ปรึกษามูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรมชี้ว่า สังคมไทยกังวลกับเรื่องให้ความเป็นธรรมกับเหยื่ออาชญากรรม ในขณะที่อีกด้านก็เป็นห่วงว่า การลงโทษจำคุกผู้ก่ออาชญากรรมไม่สามารถทำให้พวกเขาสำนึกผิดได้ ดังนั้นเมื่อคนเหล่านั้นพ้นคุกออกมาย่อมมีโอกาสจะก่ออาชญากรรมได้อีก นอกจากนั้นยังมีเรื่องของทัศนะในเรื่องกรรมเวรอีกด้วย ทัศนะเช่นนี้ทำให้คนที่สนับสนุนหรือรณรงค์ให้ยกเลิกโทษประหารเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคม ดังนั้นสิ่งที่ตนและคนอื่นๆจะทำคือรณรงค์ให้มีการยกเลิกทีละขั้น โดยใช้วิธีการนำเสนอร่างกฎหมายก่อนเพื่อให้เป็นสิ่งที่นำการถกเถียงในสังคม คาดว่าภายในห้าปีจะมีการปฏิรูประบบกฎหมายเพื่อให้เลิกใช้โทษประหารชีวิตกับความผิดที่ไม่รุนแรงมาก และภายในเวลาสิบปีอาจจะได้รับการสนับสนุนจากสาธารณะให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกกรณีได้ ตอนนี้การรณรงค์พยายามพุ่งเป้าให้ศาลใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตแทนภายในช่วงสองปีข้างหน้านี้ 

ส่วนพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมให้ข้อมูลว่า ในการประหารชีวิตนายธีรศักดิ์ หลงจิเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมานั้น ครอบครัวรู้ล่วงหน้าประมาณสามชั่วโมงเท่านั้น เขาถูกควบคุมตัวอยู่ไกลและแทบจะไม่ได้เข้าเยี่ยม พรเพ็ญยกรูปธรรมหลายด้านที่แสดงให้เห็นว่า อาจเกิดความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมได้ ปัญหาอย่างหนึ่งคือการต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ตัวเองอาจทำได้ไม่เต็มที่เพราะผู้ถูกกล่าวหาไม่มีศักยภาพพอ เช่นในกรณีคดียาเสพติดการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายมีน้อย ทนายที่ไปช่วยมักเป็นมือใหม่ การต่อสู้ในศาล��ึงมักจะจบลงด้วยเป็นการรับฟังข้อมูลจากเจ้าหน้าที่รัฐเป็นหลัก ขณะที่การทำงานของทนายและอัยการเพื่อร่วมกันแสวงหาข้อเท็จจริงยังไม่เกิดขึ้นจริง

พรเพ็ญยังพูดถึงเรื่องของกระบวนการทำงานในศาลในระยะหลังที่อาจเพิ่มอุปสรรคต่อการเข้าถึงความยุติธรรม เช่นเมื่อ 4 ต.ค.ที่ผ่านมาศาลได้สั่งให้ประหารชีวิตจำเลย 6 คนในคดีความมั่นคงที่ภาคใต้ เรื่องนี้ทางครอบครัวจำเลยสงสัยอย่างมากว่าเหตุใดสิ่งที่พวกเขาให้การไว้ในเรื่องที่จำเลยหลายคนมีบาดแผลและร่องรอยการถูกซ้อมทรมานจึงไม่ปรากฎในบันทึกของศาล นอกจากนั้นในคดีอื่นพบว่าศาลยังรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาจากการบังคับให้รับสารภาพด้วยการซ้อม ซึ่งนั่นสามารถนำไปสู่โทษประหารได้

IMG_5996.jpg

หลังจากที่พรเพ็ญกล่าวถึงเรื่องนี้ ก็ได้มีนายธีรวุฒิ วชิรมงคลพงษ์ รองอธิบดีสำนักงานอัยการ คดีอาญา ซึ่งนั่งรวมอยู่ในกลุ่มผู้ฟังได้ชี้แจงว่า กระบวนการทางกฎหมายของไทยให้ความเป็นธรรมในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่ในขั้นตอนการทำงานของพนักงานสอบสวนเป็นต้นไป หากมีข้อเท็จจริงเรื่องผู้ต้องหาถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม ก็สามารถดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐได้เสมอ การรับสารภาพโดยไม่สมัครใจนั้นศาลไม่รับฟังไม่ได้ “ผมทำหน้าที่มาสามสิบกว่าปีผมยืนยันได้” และถ้าโทษสูงแต่หลักฐานก้ำกึ่งกันศาลจะยกประโยชน์ให้ด้วยการยกฟ้อง เขายืนยันว่าประเทศไทยไม่มีการลงโทษด้วยการประหารชีวิต

แต่ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมคือพรเพ็ญกล่าวด้วยว่า เพราะปัญหาของการทำบันทึกในชั้นศาลที่อาจไม่ครบถ้วนทำให้ขณะนี้มีข้อเสนอในคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมว่า ควรจะสนับสนุนให้มีการลงทุนในระบบบันทึกภาพและเสียงเพื่อช่วยผู้พิพากษาที่ต้องนั่งฟังและบันทึกเอง ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์มากขึ้นเนื่องจากข้อมูลที่ได้จากการซักถามในศาลชั้นต้นจะเป็นข้อมูลที่ทำไปใช้ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์และฏีกาต่อไป ซึ่งในการอุทธรณ์และฎีกาจะไม่มีการสอบพยานเช่นในศาลชั้นต้นอีก พรเพ็ญกล่าวว่า โดยหลักแล้วการดำเนินคดีที่เป็นธรรมควรจะโปร่งใส แต่ที่ผ่านมามีหลายครั้งศาลห้ามจด ไม่ว่าจดเพื่อเป็นการบันทึกข้อมูลเพื่อเตือนความจำ หรือจดเพื่อสื่อสารกับสาธารณะ บทลงโทษในกรณีหมิ่นศาลทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลคดีโดยเฉพาะคดีการเมือง “มันเป็นสถานการณ์ที่น่าสนใจ อยากจะเชิญชวนทุกๆคนให้ไปสังเกตการณ์การพิจารณาคดีด้วยกัน” 

ในกรณีนี้รองอธิบดีอัยการนายธีรวุฒิยืนยันว่า การพิจารณาคดีของศาลไทยทำแบบเปิดเผยต่อหน้าจำเลย หากจะมีการพิจารณาลับต้องขอต่อศาลเป็นกรณีๆไป การจดบันทึกนั้นสามารถทำได้ แต่การถ่ายภาพทำไม่ได้ เขาระบุว่า สำหรับโทษประหารชีวิต แม้ไม่มีการอุทธรณ์แต่คดีต้องเข้าสู่ศาลอุทธรณ์เสมอ 

วงเสวนาจบลงโดยที่ทูตอียูเสนอว่า ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมและการใช้โทษประหารควรมีการถกกันเช่นนี้ต่อไป “แม้จะเป็นเรื่องชวนให้อึดอัด แต่มันก็จำเป็น”