ไม่พบผลการค้นหา
นับตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย. 2564 รัฐบาลไทยได้ยกระดับยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 ในหมู่ผู้ใช้แรงงาน ด้วยคำสั่งปิดแคมป์คนงานเกือบทั่วเมืองกรุงและปริมณฑล รวม 13 จังหวัด กว่า 600 แคมป์ ถูกปิดตายห้ามเข้าออก โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารและฝ่ายความมั่นคงควบคุมเฝ้าระวัง

เพียงชั่วข้ามคืน ปรากฎการณ์ 'ผึ้งแตกรัง' กลุ่มแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติได้กระจายตัวหาที่หลบภัยตามภูมิลำเนา เพราะรัฐบาลไม่ได้การันตีเลยว่าพวกเขาจะเอาอะไรยังชีพและเลี้ยงปากท้อง นอกเหนือจากคำว่า 'ขอความร่วมมือ' ที่พวกเขาแบกรับ  


ผึ้งแตกรัง: โควิดอีสาน เมื่อ 'กลุ่มเสี่ยง' ถูกผลักกลับบ้าน

ในสัปดาห์ที่ 1-2 ของเดือนกรกฎาคม ตัวเลขผู้ติดเชื้อแทบทุกจังหวัดเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และมีหลายจังหวัดที่ก้าวสู่หลักร้อยต่อวัน

แม้แนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ แต่สำหรับภาคอีสาน นับเป็นความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตสาธารณสุขในพื้นที่ เนื่องจากทรัพยากรด้านสาธารณสุข ทั้งปริมาณและคุณภาพอยู่ในขั้นต่ำกว่าในเมือง 

ตัวอย่าง 8 จังหวัดที่ 'วอยซ์' สำรวจ ได้แก่ นครราชสีมา อุดรธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี มหาสารคาม บุรีรัมย์

216996985_967923253994619_4691334037561090787_n.jpg
  • อัตราเปรียบเทียบหลังมีคำสั่งปิดแคมป์

ขณะเดียวกันกลุ่มแรงงานพลัดถิ่นต้องตกที่นั่งลำบากอีกครั้ง เมื่อเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ได้เผยแพร่เอกสารฉบับหนึ่งจากกรมการจัดหางาน เรื่องแจ้งยกเลิกโครงการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติด้านสาธารณสุข ที่ส่งไปยังผู้อำนวยการสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 

โดย สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งให้ยกเลิกการสำรวจและคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มแรงงานต่างชาติในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ประจักษ์ให้เห็นถึงเสียงก่นด่าและประณามการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาล

กลายเป็นคำถามทิ่มไปยังรัฐบาล เมื่อการเยียวยาจากภาครัฐยังไม่ทันสะเด็ดน้ำ ขั้นตอนระบบข้าราชการไทยที่ผู้คนยากเข้าถึง หมอกฝุ่นของการเยียวยายังคงล่องหนราวกับสวัสดิการทิพย์

ท่ามกลางเสียงสวดของประชาชน 'กระทรวงแรงงานมีไว้ทำไม' กลุ่มภาคประชาชนที่เข้าไปเยียวยาเพื่อนมนุษย์กันเอง กำเนิดขึ้นในชื่อ 'กลุ่มคนดูแลกันเอง'  

สุชาติ ชมกลิ่น รมต_0.แรงงาน_๒๐๐๘๑๘.jpg
  • สุชาติ ชมกลิ่น

พวกเขาเป็นอาสามัครที่เข้ามาดูแลกลุ่มคนงานที่ถูกทิ้งไว้หลังโลก Bubble and Seal ที่ประสบวิกฤตขาดแคลน อาหาร ยา สิ่งของ ตลอดจนเวชภัณฑ์ ด้วยสำนึกทางชนชั้นแรงงานว่าเป็นฟันเฟืองพัฒนาประเทศ แต่กลับถูกจัดลำดับความสำคัญไว้ท้ายแถว 

แม้ว่ากระทรวงแรงงานจะออกมาตรการเยียวยาเพื่อบรรเทาในภายหลัง ด้วยการออกมาตราจ่ายเงินชดเชยแก่แรงงานของสถานประกอบการที่ถูกปิดแบบ Bubble and Seal ตามคำสั่ง ศบค. 50% ของค่าจ้าง แต่ก็เป็นเฉพาะแรงงานในระบบประกันสังคมเท่านั้น (ไม่รวมแรงงานต่างชาติที่ไม่อยู่ในระบบจำนวนมาก) โดยมุ่งเยียวยาไปที่ 9 ประเภทกิจการ ได้แก่ 

  • กิจการก่อสร้าง 
  • กิจการที่พักแรงบริการด้านอาหาร 
  • กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ 
  • กิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ อาทิ สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน สาขากิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร

จากภาพหลายชีวิตถูกลอยแพ หลากชีวิตต้องถูกตีตราและหวาดระแวงจากคนรอบข้าง ด้วยประการนี้ 'วอยซ์' จึงรวมเสียงของกลุ่มแรงงานไทยและต่างชาติ ผู้เปราะบางที่ต้องเผชิญยถากรรมใต้ฎีการัฐไทย 


เสียงที่ 'รัฐไทย' ไม่ (อยาก) ได้ยินของคนไร้นาม

"ตอนนี้ต้องกักตัว 14 วัน เรื่องเยียวยาและการชดเชย ผมไม่รู้เรื่องเลย เพราะนายจ้างไม่ได้แจ้งอะไร"

ซอ แรงงานชาวเมียนมา เล่าชะตาชีวิตกับ 'วอยซ์' หลังที่ทำงานของเขากลายเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ปัจจุบันเขาเป็นลูกจ้างโรงงานแปรรูปอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี ซึ่งมีแรงงานไทยและต่างชาติรวมกันราว 1,000 คน 

ความเป็นอยู่ของแรงงานต่างชาติจะแยกออกมาอาศัยในแคมป์คนงาน แบ่งเป็น 1 ห้องนอนต่อ 4 คน มีผู้อาศัยอยู่ร่วมกันราว 200 คน บางครอบครัวก็มีเด็กเล็กอาศัยอยู่ด้วย 

206810111_401615384601316_7633157416079011434_n.jpg
  • การลำเลียงสู่การแปรรูปอาหาร

หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เขาเล่าว่า ความเป็นอยู่ไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก แรงงานต่างชาติในโรงงานแปรรูปอาหารยังคงอาศัยร่วมกันในที่พัก กระทั่งระลอกเมษายนที่เริ่มระบาดตามแคมป์คนงานก่อสร้างหลายแห่ง แคมป์ของ 'ซอ' ก็เริ่มมีผู้ติดโควิดเป็นแรงงานเมียนมาเช่นเดียวกัน

เขาบอกอีกว่า ที่ผ่านมานายจ้างกลับปกปิด ไม่เคยแจ้งให้คนงานรับรู้เลยว่า ก่อนหน้านี้โรงงานของเขามีแรงงานคนไทยติดไปแล้ว ทุกคนยังคงทำงานกันโดยไม่รับรู้ว่าจะมีข่าวร้ายมาถึง 

"มีนายจ้างและเจ้าหน้าที่ โทรมาบอกว่าให้พวกเรากักตัวไปก่อน 14 วัน ส่วนคนติดโควิด ตอนนั้นเขาก็ยังอยู่ในแคมป์ แต่อยู่กันคนละห้อง" 

"ตอนที่รู้ข่าว จิตใจคนในแคมป์ย่ำแย่มาก เพราะกังวลกันว่าจะติดเชื้อไหม เราคาดเดากันไปโดยไม่ได้รับการตรวจ บางคนเป็นสามี-ภรรยาก็ต้องมาระแวงว่าอีกฝ่ายมีเชื้อโควิดไหม" ซอ เปลือยความรู้สึกอัดอั้น

ไม่เพียงแต่ความหวาดระแวงในกลุ่มแรงงาน พวกเขายังกลายเป็นคนแปลกหน้าในชุมนุมละแวกใกล้เคียง หลังชาวบ้านเริ่มรู้ข่าวว่ามีผู้ติดเชื้อ ร้านรวงที่เคยจับจ่ายซื้อของก็เริ่มไม่อยากขายให้ 

"คนที่กักตัวอยู่ในแคมป์เวลาไม่มีของกิน พอออกไปซื้อเขาก็ถามว่าทำงานที่ไหน ถ้าตอบว่ามาจากโรงงาน เขาก็จะไม่ขายให้" 

"ทราบมาว่าหลังกักตัวเสร็จจะมีการเปิดโรงงานอีกครั้ง แต่ถ้าไม่มีความปลอดภัย ไม่มีความโปร่งใส ก็ไม่มีใครอยากไปทำงาน" ซอ หวังได้รับการเหลียวแล

สถานการณ์ในแคมป์เริ่มคลายความตึงเครียดเมื่อผู้ป่วยถูกนำตัวออกไปรักษา ขณะที่ซอและเพื่อนแรงงานได้รับการฉีดวัคซีนไปเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา ซอและเพื่อนร่วมชะตากรรมยังคงใช้ชีวิตอยู่ภายในแคมป์ต่อไป

ทว่าการยกระดับมาตรการความปลอดภัยภายในที่พักยังไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลง ทุกคนยังคงใช้ชีวิตเช่นเดียวกับอยู่ในภาวะปกติ ไม่มีการเข้ามาทำความสะอาดหรือพ่นยาฆ่าเชื้อ

ตอนนี้สิ่งที่ซอและเพื่อนแรงงานต้องการ คือ ความชัดเจนจากทางโรงงานกรณีเงินชดเชย เพราะพวกเขาไม่รู้เลยว่าจะเงินที่มีอยู่จะพยุงชีวิตไปได้อีกกี่วัน

"อยู่กันลำบากมาก เงินชดเชยก็ไม่มี บางครอบครัวต้องดิ้นรนด้วยการทำอาหารหรือขนมพื้นเมือง (เมียนมา) ขายกันเองในแคมป์ เพื่อหารายได้ประทังชีวิต"

เขาเล่าอีกว่ากลุ่มแรงงานข้ามชาติ ส่วนใหญ่ไม่ได้มีเงินเก็บเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะต้องโอนเงินไปให้ครอบครัวที่บ้านเกิด หลังจากกักตัวมากว่า 2 สัปดาห์ หลายคนเริ่มไม่เงินหมุนเวียน โดยเฉพาะคนที่มีครอบครัวยิ่งประสบปัญหาหนัก

แม้ว่าจะพยายามสอบถามไปยังนายจ้าง เพื่อทวงถามสิทธิและระยะเวลาการปิดโรงงาน แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน เนื่องจากนายจ้างบอกว่าต้องขึ้นอยู่กับคำสั่งของทางจังหวัด

"ตอนนี้เหมือนถูกลอยแพ ไม่มีการเยียวยาอะไรเลย อยากให้นายจ้างหรือหน่วยงานรัฐเข้ามาดูแลในเรื่องอาหารหรือการชดเชยโดยเร็ว" 


'แรงงานข้ามชาติ' ผู้ผจญโควิดในเมือง 'สวัสดิการทิพย์'

"เคยได้ยินว่าเขาจะมาฉีดวัคซีนให้ แต่ตอนนี้ก็เงียบไปแล้ว"

มินห์อู แรงงานเมียนมาวัย 32 ปี เล่าถึงมิติความเป็นอยู่ในแคมป์คนงานย่านพระราม 3 ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยหลากหลายสัญชาติ รวมกว่า 400 คน

เขาเล่าต่อว่าตอนนี้ถูกจำกัดพื้นที่มากว่า 20 วัน เนื่องจากเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา แคมป์ที่เขาอาศัยอยู่มีผู้ติดเชื้อกว่า 100 ราย ซึ่งเขาคือหนึ่งในนั้น

หลังจากรักษาตัวจนพ้นภาวะติดเชื้อ เขายังใช้ชีวิตต่อไปภายในแคมป์คนงาน เนื่องจากภาครัฐได้ปูพรมเฝ้าระวังความเสี่ยง โดยการ 'ล็อกดาวน์แคมป์คนงาน' ไม่ให้เข้า-ออก หลายแห่ง

แคมป์ ก่อสร้าง แรงงาน 01.jpg
  • แคมป์คนงานก่อสร้างที่ถูกสั่งปิด

เป็นหนึ่งคำถามที่พุ่งไปยังรัฐบาล ว่าหลังจากนี้จะทำอย่างไร เมื่อการนำเข้าวัคซีนเริ่มเดินหน้า แต่ความชัดเจนของนโยบายแรงงานข้ามชาติยังเลือนลางอยู่

"ถ้ารัฐบาลฉีดผมก็อยากให้ฉีดทั้งหมดไม่อยากให้แบ่งแยกว่า คนนี้ไทย คนนี้พม่า คนนี้ลาว" แรงงานผู้พลัดถิ่นบอกสิ่งที่เขาต้องการ


ย่ำเช้าความอับจนและความหวังที่เลื่อนลอย

“ปิดหนึ่งเดือนนี่ตายเลย จะอยู่จะกินยังไงประชาชน ยิ่งหาเช้ากินค่ำยังงี้ ไม่ได้ทำงานก็อดตาย”

สร้อย ดาบจันทร์ แรงงานจากสุรินทร์ ตัดพ้อชีวิตหลังจากไซต์งานประจำที่ก่อสร้างถนนใน จ.ฉะเชิงเทราถูกสั่งปิด 1 เดือน จากมาตรการป้องกันโควิดจากรัฐบาล ในฐานะแรงงานอิสระ

เขาต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อเตรียมตัวออกมายืนรองานที่ตลาดกีบหมู เขตมีนบุรี ที่เสมือนแหล่งรวมพลแรงงานก่อสร้างรายวัน ทั้งชาวไทยและแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้นายจ้างมาคัดสรร

“มีแต่ทำงานวันนี้ได้เงินตอนเย็น ประกันสังคมก็ไม่มี ไม่มีอะไรทั้งนั้น ต้องดิ้นรนเอาเอง”

อีกคำสำทับจาก 'พร คำหล่อ' แรงงานจากอุบลราชธานี เขาเป็นหนึ่งในแรงงานที่ไม่มีประกันสังคมเช่นเดียวกับอีกหลายร้อยที่ออกมายืนรองานด้วยความหวัง ผลพวงของการประกาศห้ามทำการก่อสร้าง ภาพคุ้นชินของความหวังกลับเลือนหาย เมื่อไม่มีรถกระบะของผู้รับเหมาหลายสิบคันมาจอดรับแรงงานเช่นในอดีต

แรงงาน กีบหมู_Voice_Patipat_013.jpg
  • เสบียงยังชีพของผู้ค้าแรงงาน

“ค่าห้องก็มาแล้ว จะต้นเดือนยังไม่มีค่าห้อง ถึงวันที่ 6 ถ้าไม่มีจ่ายเขาก็ไล่ออก” แรงงานจากอุบลราชธานีส่งเสียงบ่นหลังยืนรองานมาตั้งแต่ 6 โมงเช้า พร้อมกับเพื่อนๆ แรงงานผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกันอีกนับร้อยชีวิตบริเวณตลาดกีบหมู

“สงสัยนายจ้างเขาไม่กล้าออกมารับคนวันนี้ กลัวโดนเรื่องโยกย้ายคนงาน” พร ส่งเสียงผิดหวังก่อนเดินกลับไปยังห้องเช่าที่ผุพัง


ชะตาแรงงานเตะฝุ่น-ไร้สิทธิ

ย้อนไปเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2564 'นภสร ทุ่งสุกใส' ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงไตรมาส 1/2564 มีแรงงานที่ต้องออกจากระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33 แล้วกว่า 1 ล้านคน

ขณะที่ก็มีแรงงานบางส่วนที่สามารถกลับเข้ามาในระบบประกันสังคม รวมถึงแรงงานที่ได้รับการจ้างงานใหม่รวมกว่า 700,000 คน ส่วนที่เหลือกลายเป็นแรงงานนอกระบบ อาชีพอิสระ หรือไปอยู่ในภาคเกษตร เป็นต้น

ขณะที่สถานการณ์แรงงานพลัดถิ่น จากสถิติของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) เดือน ส.ค. 2563 แรงงานข้ามชาติทั่วประเทศ ต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคม 1.7 ล้านคน แต่พบว่ามีเพียง 1.05 ล้านคน และคาดว่าแรงงานหายไปจากระบบเกือบ 700,000 คน หรือ 34 % 

แรงงาน กีบหมู_Voice_Patipat_007.jpg
  • กลุ่มแรงงานรหวังรอนายจ้างมาคัดสรร

'อดิสร เกิดมงคล' เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ บอกกับ 'วอยซ์' ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ทุกแคมป์คนงานตอนนี้มีความเสี่ยงเกือบทุกแห่ง โดยเฉพาะแคมป์ขนาดเล็กมักจะถูกมองข้ามในการเข้าไปตรวจตรา อีกทั้งข้อจำกัดด้านสาธารณสุขของภาครัฐ ทำให้ยากต่อการเข้าถึงการรักษา แม้ว่าบางรายจะมีสิทธิประกันสังคม แต่ที่น่าวิตกคือกลุ่มที่ไม่มีสิทธิเข้าถึงอาจจะหลุดรอดออกไปแพร่เชื้อได้ 

ที่ผ่านมา 'อดิสร' เผยว่าแรงงานข้ามชาติ มีผู้เสียชีวิตทุกสัปดาห์ โดยแบ่งเป็น 2 ลักษณะ 1.ได้รับเชื้อแล้วเสียชีวิตระหว่างเข้ารับการรักษา 2.เสียชีวิตระหว่างรอการเข้าถึงการรักษา

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ได้เสนอแนวทาง 4 ประการ ประกอบไปด้วย 

1.รัฐบาลต้องเร่งเปิดจดทะเบียนให้แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารลงทะเบียน เพื่อเข้าถึงการรักษาปิดช่องโหว่การแพร่ระบาด 

2.ในภาวะขาดแคลนเตียงรักษา รัฐต้องมีการเข้าไปสื่อสารและออกมาตรการให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการจัดตั้ง รพ.สนามในแคมป์คนงานอย่างไร

3.เงินชดเชยที่เหมาะสม เพื่อให้กลุ่มแรงงานเชื่อใจได้ว่า แม้พวกเขาถูกกักตัวและไม่มีรายได้รัฐจะดูแลพวกเขาได้ 

4.รัฐบาลต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายเข้าไปแลกเปลี่ยนความเห็น เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม

"ที่ผ่านมาเราก็เสนอโมเดลไปที่กระทรวงแรงงานและสํานักนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากทางภาครัฐ อาจจะขัดกฎระเบียบหรือปัญหาส่วนใดก็ไม่ทราบ มันเลยนำไปสู่การออกนโยบายที่ไม่มีส่วนร่วมจากภาคประชาชนเลย" อดิสร กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งหมดคือภาพสะท้อนยถากรรมชีวิตแรงงานที่ถูกทำให้ล่องหนเหมือน 'ฝุ่น' และแรงฮึดจากภาคประชาชนที่พยายามทวงถามความเป็นมนุษย์ในรัฐที่กำลังติดเชื้อ

พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog