ไม่พบผลการค้นหา
ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมจิตอาสา ในนามกลุ่มพายเรือเพื่อเจ้าพระยาเก็บขยะกลางแม่น้ำ พบมีขยะไหลลงอ่าวไทยกว่า 2,100 ตันต่อปี ตะลึง จ.พระนครศรีอยุธยามีขยะมากเทียบเท่ากรุงเทพฯ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จับมืออาสาสมัครแต่ละจังหวัดใกล้แม่น้ำสายใหญ่ ร่วมภารกิจ ‘พายเรือเพื่อเจ้าพระยา’ วัตถุประสงค์เพื่อต้องการรณรงค์ให้คนไทยเลิกทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ พร้อมสำรวจสถานการณ์ขยะในแต่ละพื้นที่ ผ่านวิธีการพายเรือคายัคเก็บขยะบริเวณกลางแม่น้ำและริมตลิ่งเป็นระยะทาง ยาวนาน 14 วัน ตั้งแต่ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ จนถึงอ่าวไทย ระยะทางรวม 400 กิโลเมตร 

ภารกิจเริ่มตั้นมาตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค. 2561 และจะสิ้นสุดที่การพายเรือเก็บขยะถึงอ่าวไทยในวันที่ 23 ธันวาคม 2561 วันนี้(18 ธ.ค.) ภารกิจดำเนินไปเกินครึ่งทาง จังหวัดล่าสุดที่คณะพายเรือเพื่อเจ้าพระยาเพิ่งเคลื่อนผ่านคือ จ.พระนครศรีอยุธยา (เมื่อวันที่ 16-17 ธ.ค.) พบแม่น้ำรอบเกาะเมือง มีปริมาณขยะมากกว่าทุกจังหวัดที่ทางคณะผู้จัดพายเรือผ่านมา

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้นำคณะฯ เปิดเผยว่า ขยะในแม่น้ำที่ จ.พระนครศรีอยุธยามีปริมาณใกล้เคียงกรุงเทพฯ เมื่อเทียบปริมาณต่อระยะทาง กล่าวคือ ในระยะทาง 13 กิโลเมตร กลุ่มอาสาสมัครเพียงราว 15 คน สามารถเก็บขยะได้มากถึง 318 กิโลกรัม โดยมีขยะโฟมแทบทุกชนิด และที่พบมากกว่าที่อื่นคือขยะแบบอัดแน่นในถุง โดยมัดปากถุงแล้วทิ้งลงแม่น้ำโดยตรง

“ความที่อยุธยาคงจะมีแม่น้ำหลายสาย จะไปโทษคนอยุธยาก็ยังไม่ได้ เพราะว่าอาจจะเป็นคนที่มาเที่ยวก็ได้”

เรือ เก็บขยะ แม่น้ำ 5129710317.jpg

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ปริญญา ยังบอกอีกว่า ระยะเวลา 8 วันที่ผ่านมา ทางคณะฯ เก็บขยะได้ถึง 1 ตัน หรือเกือบหนึ่งแสนชิ้น ซึ่งนับว่าเป็นปริมาณที่ม��ก เมื่อเทียบกับสถิติแต่ละปีที่มีปริมาณขยะจากเฉพาะ 5 แม่น้ำสายหลัก(เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง บางปะกง บางตะบูน) ไหลลงอ่าวไทยกว่า 2,100 ตัน หรือกว่า 170 ล้านชิ้น และหากนับเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีปริมาณขยะมากที่สุด ก็มีปริมาณมากถึง 1,425 ตันต่อปี เข้าไปแล้ว 

“เราพูดถึงแต่การแยกขยะ แต่การแยกขยะเป็นเรื่องสุดท้ายนะ ความจริงคนไทยจำนวนมากยังทิ้งขยะไม่ลงถังเลย ยังทิ้งลงแม่น้ำ ทิ้งลงข้างถนนอยู่เลย”

แม้ ผศ.ดร.ปริญญา จะเป็นนักกฎหมาย แต่เขากลับเชื่อว่าจิตสำนึกของคนสามารถเปลี่ยนได้โดยวิธีอื่นๆ ที่ไม่ใช่มาตราการเชิงกฎหมาย หากแต่เป็นกิจกรรมเชิงบวกที่สามารถสื่อสารประเด็นทางสังคมอย่างง่าย ซึ่งจากประสบการณ์ เขาเชื่อว่ามันสามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้มากที่สุด

“จริงๆ มาตรา 33 ใน พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มีโทษหนักอยู่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่จะไปคอยไล่จับได้อย่างไร เราสื่อสารกับจิตสำนึกของคนโดยตรงดีกว่า”

อย่างไรก็ตาม ภารกิจ ‘พายเรือเพื่อเจ้าพระยา’ ยังดำเนินต่อไปถึงวันที่ 23 ธ.ค. 2561 หากใครสนใจร่วมกิจกรรม หรือร่วมเป็นอาสาสมัครพายเรือเก็บขยะ ตั้งแต่วันที่ 19-23 ธ.ค.ซึ่งคณะฯ จะพายเรือผ่านจังหวัด ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่เฟสบุ๊ค ‘พายเรือเพื่อเจ้าพระยา’ หรือร่วมลงชื่อแสดงเจตนารมณ์ในแคมเปญหยุดทิ้งขยะลงแม่น้ำ หรือ ‘Don’t River Dump’ สามารถลงชื่อได้ที่ https://www.trashriver.live/  

ภาพ - Thammasat Smart City