ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนาเนื่องใน วันที่ 15 พฤษภาคมนี้เป็นวันต้านการเกณฑ์ทหารสากล เห็นพ้องเสนอแนวทางปฏิรูปทหาร ลดความรุนแรงเพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดงานเสวนา ห้องเรียนสิทธิมนุษยชนออนไลน์ ตอน เกณฑ์ทหารกับสิทธิมนุษยชน: ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในโลก? เนื่องด้วยวันต้านการเกณฑ์ทหารสากล เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารและการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีวิทยากรคือ พริษฐ์ วัชรสินธุ CEO Startdee และอดีตทหารเกณฑ์ พงศธร จันทร์แก้ว อดีตทหารเกณฑ์ ณิชกานต์ หงษ์กาญจนพงษ์ ผู้ช่วยวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และชวนพูดคุยโดย พริม มณีโชติ

ณิชกานต์ หงษ์กาญจนพงษ์ ผู้ช่วยวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เล่าว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ทำวิจัยหัวข้อ "เราก็เป็นแค่ของเล่นเขา" (“We were just toys to them”) ซึ่งเผยแพร่ไปเมื่อปีที่แล้ว ในงานวิจัยพบการละเมิดทางร่างกาย จิตใจ และทางเพศต่อทหารเกณฑ์ในกองทัพไทย ซึ่งทำให้ได้รู้ว่า ผู้ที่เป็นอดีตทหารเกณฑ์และให้ข้อมูลมาทำวิจัยชิ้นนี้ทุกรายนั้นต่างตกอยู่ในความหวาดกลัวทั้งสิ้น เนื่องจากในค่ายทหารนั้น มีการละเมิดสิทธิอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการตรวจสอบ 

"มีหลายกรณีที่ครูฝึกเห็นว่าเราทำตามคำสั่งได้ไม่ดี ก็จะต้องโดนซ่อมในคืนนั้น โดยจะโดนทำร้ายร่างกายเฉพาะจุดใต้ร่มผ้าเพื่อไม่ให้ผู้อื่นมองเห็นบาดแผลหรือรอยช้ำ หรือหากมีรอยฟกช้ำที่ชัดเจน ทหารเกณฑ์นายนั้นจะถูกส่งไปยังห้องพยาบาลเพื่อไม่ให้มีผู้จับได้ บางรายต้องหายไปเป็นสัปดาห์ " ณิชกานต์กล่าว

ส่วนประเด็นเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศที่พบในงานวิจัยเช่นกัน โดยหากนายทหารที่ให้สัมภาษณ์ไม่ได้โดนเองก็ต้องเคยพบเห็นเพื่อนโดนจากครูฝึกหรือนายทหารชั้นสัญญาบัตร เช่น มีกรณีที่ทหารเกณฑ์นอนบนเตียงห้องนอนรวม แล้วโดนครูฝึกลวนลาม หรือโดนข่มขืนด้วยวิธีต่างๆ ทั้งการถูกเรียกไปยังห้องน้ำทุกเช้าแล้วถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย แม้ว่าทหารเกณฑ์เหล่านี้มีภรรยาหรือมีลูกแล้วก็ตาม ตลอดจนการทำ 'รถไฟ' ที่ขณะอาบน้ำรวม ทหารเกณฑ์จะถูกสั่งให้จับอวัยะเพศของเพื่อนข้างๆ แล้วเดินไปมา เป็นกรณีที่เกิดขึ้นบ่อยมากและเกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศ นับเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายในค่ายทหาร


กองทัพ ทหารและความเป็นชาย

พงศธร จันทร์แก้ว อดีตทหารเกณฑ์และปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ กล่าวว่าทุกครั้งที่ต้องฟังหรือสื่อสารประเด็นนี้ก็มักรู้สึกว่าเป็นภาระทางอารมณ์เสมอ เนื่องจากตนเคยไปอยู่ในค่ายทหารและผ่านประสบการณ์การถูกล่วงละเมิด อาการหายใจติดขัดและพูดตะกุกตะกักยังเกิดขึ้นกับตนทุกครั้งที่ต้องสื่อสารเรื่องนี้ 

โดยพงศธรมองว่า ในรั้วทหารนั้นมีแนวคิดเรื่องความเป็นชายและความเป็นทหารอยู่ อะไรที่ผิดไปจากนี้นับเป็นความอ่อนแอและจะถูกกลั่นแกล้ง ทำให้อับอายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทหารเกณฑ์บางส่วนถูกเลือกไปเป็นทหารรับใช้บ้านนายพล โดยอาจจะใช้เส้นสายเข้าไปเพื่อจะได้ไม่ต้องฝึกหนักเท่าคนอื่น ตนก็เคยเป็นทหารรับใช้และยืนยันว่าชีวิตสบายกว่าคนอื่นจริง 

ทหารไทย-กองทัพไทย-ทหารเกณฑ์-กลาโหม

"เราเองเสียเวลาในค่ายทหารหนึ่งปี เป็นหนึ่งปีที่รู้สึกถึงความต้อยต่ำที่สุดในแง่ของคุณค่าในชีวิต และการถูกปฏิบัติที่เป็นมนุษย์น้อยที่สุดตั้งแต่เกิดมา ดังนั้นจึงต้องแก้ไข พ.ร.บ.เกณฑ์ทหารฯ ให้เป็นรูปแบบการสมัครใจ และประการต่อมา ต้องทำให้มั่นใจว่าเมื่อเข้าไปแล้ว ทุกคนจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรีอย่างเป็นมนุษย์และอีกประการหนึ่งคือ กองทัพต้องตรวจสอบได้ โดยผู้ตรวจสอบไม่ควรเป็นทหารด้วยกัน ผู้ที่จะทำหน้าที่นี้คือประชาชนหรือผู้แทนที่มาจากประชาชนโดยตรง"


การเกณฑ์ทหาร งบประมาณและความคุ้มได้ไม่คุ้มเสีย

พริษฐ์ วัชรสินธุ CEO Startdee และอดีตทหารเกณฑ์ กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่เป็นส่วนน้อยมากที่ยังเกณฑ์ทหารอยู่ในช่วงที่ไม่มีสงคราม การยกเลิกการเกณฑ์ทหารไม่ได้แปลว่าจะให้ยกเลิกกองทัพ คือยังมีกองทัพอยู่แต่ประกอบไปด้วยคนที่สมัครใจ เพราะปัจจุบันแม้จะมีคนที่สมัครใจแต่ยังมีอีกหลายคนที่ถูกบังคับเข้าไปอยู่ 

โดยพริษฐ์เล่าถึง การที่กองทัพบอกว่าการเกณฑ์ทหารยังจำเป็นเนื่องจากหากยกเลิกการเกณฑ์ทหารจะไม่มีกำลังพลมากพอ ซึ่งไม่จริง หากคำนวณว่าประเทศกำลังบังคับผู้ชายจำนวนหนึ่งแสนคนหรือ 1 ใน 3 ไปเป็นอาชีพทหารเพียงอาชีพเดียว นับเป็นการไปลดจำนวนคนทำงานในสาขาอาชีพอื่นลง นับเป็นการสูญเสียราคาทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยพริฐเสนอนโยบาย 4 ประเด็น ได้แก่

1.) การแก้กฎหมายเพื่อยกเลิกการบังคับการเกณฑ์ทหาร ทำได้สองวิธีคือแก้พระราชบัญญัติที่ไม่เปลี่ยนแปลงมาหกสิบปีแล้ว กับแก้ที่ตัวรัฐธรรมนูญ

2.) แม้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารไปแล้วก็อาจยังมีการละเมิดสิทธิทหารที่สมัครใจเข้าไป คือการตั้งคณะกรรมการ "คณะผู้ตรวจการกองทัพ" (Military Ombudsman) ที่ประกอบไปด้วย ส.ส. จากฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลที่มาจากประชาชน เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจและงบประมาณของกองทัพ ตลอดจนรับเรื่องร้องเรียนและสืบสวนสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้

3.) การปลูกฝังและให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนทุกคนที่เข้าไปดำรงตำแหน่งในกองทัพ

4.) ปฏิเสธไม่ได้ว่ากองทัพแทรกแซงมายังการเมืองด้วยผ่านการทำรัฐประหาร และต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการล้างมรดกที่กองทัพทิ้งไว้ เราจึงต้องร่วมกันแยกทหารออกจากการเมืองและสร้างระบอบประชาธิปไตยให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน