ไม่พบผลการค้นหา
จากความไม่พอใจในคุณภาพทุเรียนราคา 5,000 บาท นำไปสู่การถูกฟ้องร้องจนต้องเสียเงินมากถึง 300,000 บาท

ลูกค้าสาวไม่พอใจอย่างรุนแรง เมื่อทุเรียน 2 ลูก มูลค่า 5,000 บาท ที่เธอสั่งซื้อจาก จ.สุราษฎร์ธานี มีตำหนิเป็นรอยดำ ไม่เนียนสวยงามเหมือนที่คาดหวัง แม้ทางแม่ค้าจะแสดงความเสียใจขอรับผิดชอบสินค้า แต่ก็ไม่ทันใจ เธอตัดสินใจโพสต์ด่า ประจานความผิดพลาดไปตามเพจเฟซบุ๊กยอดนิยม จนสุดท้ายตัวเองถูกฟ้องร้องจากผู้ค้าเป็นเงินสูงถึง 300,000 บาท

เรื่องดังกล่าวถูกเปิดเผยโดย ศรันยา หวังสุขเจริญ หรือ ทนายนิด้า หลังจากทำหน้าที่ทนายความฝ่ายโจทย์ กรณีหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา “สวนคุณปู่ทุเรียนออร์แกนิค” ผู้ค้าทุเรียน ให้ได้รับความเสียหาย โดยคู่กรณีขอเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อขอให้ยุติคดี

ทนายนิด้า เล่าให้ 'วอยซ์ ออนไลน์' ฟังว่า เริ่มแรกของคดีนี้ลูกค้าที่อยู่กรุงเทพฯ สั่งซื้อทุเรียนจาก จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อได้รับสินค้าปรากฎว่า เนื้อทุเรียนมีรอยจุดด่างดำ ทำให้เกิดความไม่พอใจ แม้ทางแม่ค้าจะขอรับผิดชอบด้วยการส่งลูกใหม่ไปให้ ซึ่งต้องใช้เวลาตามรอบการจัดส่ง แต่อีกฝ่ายก็ไม่พอใจ คิดว่าช้าเกินไป สุดท้ายเลยโพสต์ด่าและแท็กไปตามเพจดังที่มีผู้ติดตามหลักแสนคน

หลังโพสต์ออกไปทางร้านก็ได้รับความเสียหาย ยอดสั่งซื้อลดลงเป็นจำนวนมากเลยตัดสินใจฟ้องร้องกลายเป็นคดีความ

“ทางผู้ค้าประเมินว่าตัวเองเสียหายอย่างมาก ทั้งชื่อเสียงและความเชื่อมั่น จึงเรียกค่าเสียหายเป็นเงินสามแสนบาท”

เธอระบุว่า การเรียกค่าเสียหายจากการหมิ่นประมาท คำนวณจากทั้งตัวเงินและชื่อเสียงของผู้เสียหาย ซึ่งถือเป็นคุณค่าในตัวเอง และขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล พูดง่ายๆ ว่าขึ้นอยู่ตัวบุคคลว่ามีความสำคัญและเสียหายมากน้อยขนาดไหน

“เราจะเรียกได้เท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับว่า เป็นการด่าทอ ประจาน โจมตีรุนแรงมากแค่ไหน รวมถึงคนถูกด่าได้รับความเสียหายมากน้อยขนาดไหน” ทนายสาวบอกต่อว่า


“พยายามเตือนมาตลอด อย่าไปด่าให้ใครเกิดความเสียหาย อย่าไปเกรี้ยวกราดให้มาก การนำไปโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดีย ศาลจะมองว่า คุณเจตนาประจานให้เขาได้รับความเสียหาย แนวทางที่ถูกต้อง คือเรียกร้องความธรรมถามหาความรับผิดชอบจากอีกฝ่าย หากไม่ได้ ก็ต้องไปใช้สิทธิตามกฎหมาย โดยแจ้งความเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือฟ้องร้องต่อศาล”



44166140_1855050304602359_3171288991056003072_n.jpg

อีกเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรรู้ก็คือ การนำใบบันทึกประจำวันหรือใบรับแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ไปโพสต์หรือแชร์ เป็นพฤติกรรมที่ทำไม่ได้ เพราะระบบยุติธรรมในประเทศไทยเป็นระบบกล่าวหา หากยังไม่มีการพิสูจน์ว่าอีกฝ่ายกระทำผิดจริง ไม่สามารถไปชี้ถูกผิดหรือประจานเขาได้

“หลายคนไปแจ้งความแล้วชอบเอาใบแจ้งความมาโพสต์ จริงๆ ทำไม่ได้ ส่อผิดกฎหมายเพราะถือเป็นการประจาน” ทนายความสาวเตือน

ทั้งนี้ ตามกฎหมายการโพสต์ข้อความอันเข้าข่ายหมิ่นประมาทนั้น อาจเสี่ยงที่จะเป็นความผิดตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญาใน 3 มาตรา คือ

1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือ ถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

2) ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 “ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียงบันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท”

3) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 “ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหาย แก่ชื่อเสียง หรือ เกียรติคุณ ของบุคคลอื่น ก็ดี หรือ เป็นที่เสียหาย แก่ทางทำมาหาได้ หรือ ทางเจริญของเขา โดยประการอื่น ก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหาย อย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้

ผู้ใด ส่งข่าวสาร อันตนมิได้รู้ว่า เป็นความไม่จริง หากว่า ตนเอง หรือ ผู้รับข่าวสารนั้น มีทางได้เสีย โดยชอบ ในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่า เพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้น หาทำให้ผู้นั้น ต้องรับผิด ใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่”

สรุปการโพสต์ข้อความในอินเทอร์เน็ต หากทำให้คนอื่นเสียหาย ก็เป็นความผิดตามกฎหมายได้ เนื่องจากการหมิ่นประมาทถ้าได้โพสต์หรือกล่าวพาดพิง ถึงใครให้คนอื่นฟัง ก็ถือเป็นการ "ใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม" ถ้าข้อความที่โพสต์ ทำให้ผู้อ่านรู้สึก ไม่ดีกับผู้ที่ถูกกล่าวพาดพิงย่อมเป็นการโพสต์หรือกล่าวที่อาจเข้าข่าย "โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง" ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายได้ และเมื่อได้โพสต์ในอินเทอร์เน็ต ถือเป็นการ "หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา"