ไม่พบผลการค้นหา
'อัตราการตายส่วนเกิน' ไม่เพียงครอบคุลมการตายจากโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยัน แต่ยังครอบคลุมตัวเลขผู้เสียชีวิตที่อาจไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือรายงานที่ถูกต้อง รวมไปถึงการตายจากสาเหตุอื่นแต่เกี่ยวข้องกับวิกฤต

ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตสะสมจากโควิด-19 มากกว่าสี่ล้านราย ในจำนวนนั้นสองพันปลายเกือบสามพันรายมาจากสยามประเทศ ตามข้อมูล ณ วันที่ 13 ก.ค.2564 จากเว็บไซต์ Our World in Data 

แม้ทุกชีวิตที่โลกและครอบครัวผู้เศร้าโศกต้องสูญเสียไปมีคุณค่าในตัวเองอย่างไม่ต้องรอให้นักเศรษฐศาสตร์คำนวณออกมาเป็นตัวเลข (คณะกรรมการความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ต่อผู้บริโภค หรือ CPSC ของสหรัฐฯ ประเมินมูลค่าชีวิตชาวอเมริกันในปี 2561 ไว้ที่ 8.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/คน หรือประมาณ 284 ล้านบาท)

ทว่าการทำความเข้าใจความสูญเสียนั้นในเชิงเปรียบเทียบนับเป็นการส่งเสียงออกไปสู่สังคมเช่นเดียวกันว่าวิกฤตครั้งนี้พรากสิ่งใดจากโลกไปบ้าง ‘อัตราการตายส่วนเกิน’ หรือ excess mortality คือหนึ่งในเครื่องมือทรงประสิทธิภาพในการสื่อสารดังกล่าว

ในมิตินี้ ตัวเลขดังกล่าวจะช่วยสะท้อนให้เห็นภาพว่า ผู้ที่ต้องตายทั้งจากโควิด-19 และพิษเศรษฐกิจมีอยู่จริงและมีในจำนวนเท่าใด

AFP - อินเดีย โควิด แม่น้ำคงคา
  • ภาพการเผาศพท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ในประเทศอินเดีย

การตายที่มากกว่าการประเมิน 

นิยามของ ‘อัตราการตายส่วนเกิน’ ทั้งจากองค์การอนามัยโลก (WHO), เว็บไซต์ Our World in Data ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นโปรเจกต์ของหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรในสหราชอาณาจักรอย่าง Global Change Data Lab หรือแม้กระทั่งหน่วยงานของสหภาพยุโรป ล้วนสอดคล้องกัน

อาจแปลได้โดยง่ายว่าอัตราการตายส่วนเกินคือตัวเลขการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นจากค่าประเมิน 

ยกตัวอย่างเช่น หากจะหาว่าตัวเลขการตายส่วนเกินอันเป็นผลจากวิกฤตโควิด-19 คิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ สามารถคำนวณอย่างง่ายด้วยจากการนำข้อมูลผู้เสียชีวิตในระยะเวลาที่ต้องการพิจารณาเช่น ตลอดทั้งเดือน มิ.ย.2564 เทียบกับตลอดทั้งเดือน มิ.ย.2562 (ก่อนเกิดวิกฤตโรคระบาด)

ทว่าการคำนวณข้างต้นเป็นเพียงการตำนวณอย่างง่ายเท่านั้น การได้ข้อมูลที่มีคุณภาพมากเพียงพอต้องใช้ขั้นตอนการคำนวณที่ซับซ้อนกว่านั้น หรือที่รู้จักกันในชื่อ P-score (ซึ่งผู้เขียนขอไม่อธิบายในบทความนี้)

Screen Shot 2021-07-14 at 1.41.42 PM.png
  • ตัวอย่างสูตรคำนวน P-score

อัตราการตายส่วนเกินในไทย

รวบรัดตัดตอนมาที่อัตราการตายส่วนเกินในไทย ข้อมูลล่าสุดจากคณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่า ในเดือน พ.ค.และ มิ.ย.ที่ผ่านมา ประเทศมีตัวเลขอัตราการตายส่วนเกินถึง 12% และ 17.5% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยตัวเลขการเสียชีวิตตามปกติของทั้งสองเดือนตลอดห้าปีที่ผ่านมา 

ที่น่ากังวลกว่านั้นคือสัดส่วนผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 65-74 ปี และ 85 ปีขึ้นไป มีอัตราการตายส่วนเกินสูงถึง 22% และ 26% ตามลำดับ ในเดือน มิ.ย.2564 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยห้าปี 

ศูนย์ฉีดวัคซีน สถานีกลางบางซื่อ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ
  • ภาพผู้สูงอายุที่กำลังนั่งรอคิวฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ณ ศูนย์ฉีดวัคซีน สถานีกลางบางซื่อ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ

ในบทบรรยายนิยามของอัตราการตายส่วนเกินของ Our World in Data ระบุว่า

  • “อัตราการตายส่วนเกินเป็นเครื่องมือที่ครอบคลุมผลกระทบทั้งหมดของวิกฤตโรคระบาดต่อการเสียชีวิตมากกว่าแค่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 อย่างเดียว ตัวเลขข้างต้นไม่เพียงครอบคุลมการตายจากโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยัน แต่ยังครอบคลุมตัวเลขผู้เสียชีวิตที่อาจไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือรายงานที่ถูกต้อง รวมไปถึงการตายจากสาเหตุอื่นแต่เกี่ยวข้องกับวิกฤตโรคระบาด”

1.8 vs 3 ล้านราย 

รายงานขององค์การอนามัยโลก ณ สิ้นปี 2563 พบตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันทั้งสิ้นราว 1.8 ล้านราย ทว่าตัวเลขอัตราการตายส่วนเกิน ณ สิ้นปีที่ผ่านมากลับสูงถึง อย่างน้อย 3 ล้านราย มากกว่าตัวเลขรายงานเกือบครึ่งหนึ่ง 

ตัวเลขเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญต่อรัฐบาลและองค์การระหว่างประเทศในการประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วน การใช้ข้อมูลที่มีความจำกัดในการสะท้อนข้อเท็จจริงไม่อาจปูทางให้รัฐบาลหรือหน่วยงานใดๆ สามารถถอดบทเรียนหรือวางแผนการรับมือกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ 

ตามการคำนวณจาก The Economist ณ วันที่ 13 ก.ค.2564 เปรูนับเป็นประเทศที่มีสถิติอัตราการตายส่วนเกินสูงที่สุดในโลก ด้วยสัดส่วนอัตราการตายส่วนเกิน 579 ราย ต่อประชากรหนึ่งแสนคน ขณะที่ตัวเลขของไทยคือ 11 ราย ต่อประชากรหนึ่งแสนคน โดยตัวเลขของ The Economist นั้นเป็นการเปรียบเทียบอัตราการตายส่วนเกินตั้งแต่แต่ละประเทศมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ครบ 50 รายเป็นต้นไป