ไม่พบผลการค้นหา
ประธาน สรท.เรียกร้องแบงก์ชาติเร่งปล่อยซอฟต์โลน-ดูค่าเงินบาท หลังส่งออกไทยติดลบหนักมาแล้วสองเดือน คาดทั้งปีมีสิทธิหดตัวต่ำกว่า 10%

กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดตัวเลขการส่งออกประจำเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา มีมูลค่าในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ 1.64 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นการปรับตัวลดลง 23.17%

ขณะที่มูลค่าในรูปเงินบาทอยู่ที่ 5.2 แสนล้านบาท หรือ คิดเป็นการปรับตัวลดลง 23.06% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 

เมื่อมองตัวเลขครึ่งปีแรก ระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย. ประธาน สรท.รับว่ามีการหดตัวต่ำค่อนข้างมาก ระดับติดลบ 7.09% เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2562 และประเมินว่าทั้งปีส่งออกของไทยอาจติดลบลงไปถึง 10% ในเงื่อนไขว่าต้องมีมูลค่าการส่งออกราว 1.78 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/เดือน หรือประมาณ 5.56 แสนล้านบาท/เดือน

อย่างไรก็ตาม กัณญภัค รับว่าเมื่อย้อนกลับไปดูมูลค่าการส่งออกต่อเดือนที่ผ่านมาตลอดครึ่งแรกของปี เฉลี่ยอยู่ที่ราว 1.89 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/เดือน หรือประมาณ 5.88 แสนล้านบาท/เดือน เท่านั้น สะท้อนความเป็นไปได้สูงที่ตัวเลขการส่งออกจะต่ำลงไปกว่าค่าประมาณในปัจจุบัน

แถลงส่งออก
  • กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)
"จะติดลบมากแค่ไหนไม่กล้าประเมิน" กัณญภัค กล่าว

ปัจจัยกระทบรู้แต่มาตรการแก้ไขอยู่ไหนไม่รู้

ปัจจัยสำคัญที่กระทบภาคการส่งออกไทยมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระดับโลกที่ยังคงพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงเนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยที่ได้รับผลกระทบจากช่วงที่ผ่านมา

มีเพียงแค่สหรัฐฯ และจีนเท่านั้นที่ยังมีสัดส่วนการส่งออกเป็นบวกในระดับ 14.5% และ 12% ตามลำดับ ในทางตรงกันข้าม ตัวเลขการส่งออกจากไทยไปยังสหภาพยุโรป, อาเซียน, ญี่ปุ่น และลาตินอเมริกา ในสัดส่วนติดลบ 22.7%, 38.8%, 21.6% และ 41.8% ตามลำดับ 

เท่านั้นยังไม่พอ ผู้ส่งออกไทยยังเผชิญหน้ากับความเสียเปรียบอย่างต่อเนื่องจากภาวะเงินบาทไทยที่แม้จะอ่อนค่าลงมา แต่ สรท.ย้ำว่า ยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าความคาดหวังของผู้ประกอบการที่ระดับ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งให้ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ

ประธาน สรท.ย้ำว่า ที่ผ่านมา องค์กรมีความพยายามในการยื่นข้อเสนอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยฝั่งผู้ส่งออกมาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่เห็นแนวนโยบายที่ชัดเจน โดยเฉพาะกับฝั่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ สรท.ต้องการให้เข้ามาช่วยดูแลเรื่องค่าเงินบาทเป็นหลัก ประกอบกับการเร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านมาตรการซอฟต์โลน ให้ได้มีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งหวังว่าผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่จะเร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ส่งออกด้วยความรวดเร็ว

โดยในประเด็นดังกล่าว ภาครัฐยังสามารถเข้ามามีส่วนร่วมผ่านการนำบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อโครงการดังงกล่าวให้กับธนาคารพาณิชย์เพื่อสร้างความมั่นใจในการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินเอกชน


ข้าว-ยาง-มัน-น้ำตาล 
AFP-ข้าว-โรงงาน-ส่งออก-ข้าวถุง

ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา สถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยค่อนข้างมีปัญหาหนัก ปริมาณการส่งออกข้าวในเดือน มิ.ย.ติดลบ 25.6% ขณะที่ยางพาราและน้ำตาลทราย ติดหลักเกินครึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ในระดับ 55.6% และ 57.1% ตามลำดับ ก่อนปิดท้ายด้วยผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ติดลบในเดือน มิ.ย.ในระดับ 5.8%

สรท.ยังออกมาแจงความกังวลต่อสถานการณ์ส่งออกทั้งปีในกลุ่มสินค้าเกษตรสำคัญของประเทศ โดยมองว่าตัวเลขการส่งออกข้าวทั้งปีจะติดลบ 14% ขณะที่ยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาจติดลบราว 10% และ 7.8% ตามลำดับ ขณะตัวเลขการส่งออกนำตาลทรายอาจติดลบระหว่าง 10%-7% 

ปัญหาสำคัญของภาคเกษตรไทย ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาภาวะภัยแล้งของภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก ซึ่ง สรท.แนะให้รัฐบาลมีการบริหารจัดการระบบชลประทานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังเร่งให้กระทรวงพาณิชย์ออกมาปรับยกระดับศักยภาพเกษตรกรให้เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันตลาดส่งออกหลักของข้าวไทยอยู่ในประเทศสหรัฐฯ, จีน, ญี่ปุ่น และฮ่องกง ขณะไทยส่งออกยางพาราไป จีน, มาเลเซีย, สหรัฐฯ และญี่ปุ่นเป็นหลัก พร้อมกันนี้ จีน, ญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย และไต้หวันเป็นประเทศผู้นำเข้าสำคัญของมันสำปะหลัง ท้ายที่สุด อินโดนีเซีย,​เวียดนาม, กัมพูชา และเกาหลีใต้ นำเข้าสินค้าน้ำตาลทรายของไทยเป็นสำคัญ