ไม่พบผลการค้นหา
ความไม่เป็นธรรมในวงการแพลตฟอร์มสั่งอาหาร มีทั้งฝั่งผู้ขับที่ทำงานโดยปราศจากการคุ้มครองของนายจ้าง ธุรกิจผูกขาดผลักภาระให้ร้านค้า-ปชช. นักวิจัยชี้ รัฐบาลแก้ไขได้ แต่กฎหมายทั้งล้าสมัยและแก้ยากเกินไป

ท่ามกลางกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก พร้อมๆ กับตัวเลขการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น ประชากรไม่น้อยเลือกเอาตัวรอดหันหน้าเข้าสู่การเป็นแรงงานแพลตฟอร์ม อุตสาหกรรมที่เติบโตขึ้นอย่างสวนกระแสในช่วงที่ผ่านมา สอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่พบว่ายอดขายสินค้าออนไลน์ (อีคอมเมิร์ซ) และบริการสั่งอาหารไปยังที่พัก (Food Deliver) ระหว่างวันที่ 22 มี.ค.- 30 เม.ย.2563 เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาปกติราว 8,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นสัดส่วนอีคอมเมิร์ซ 6,800 ล้านบาท และบริการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มอีก 1,200 ล้านบาท 

เมื่อความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น แพลตฟอร์มในฐานะคนกลางจึงจำเป็นต้องจัดหาผู้ส่งอาหารให้เพียงพอกับคำสั่งซื้อเหล่านี้ ประกอบกับประชาชนจำนวนมากที่ขาดรายได้จากอาชีพปกติที่ต้องหยุดชั่วคราวหรืออาจถูกปลด เพราะบริษัทไปต่อไม่ไหว หวังใช้โอกาสนี้ผันตัวเองจากการเป็นแรงงานในระบบหรือแม้แต่ผู้ที่เป็นแรงงานนอกระบบอยู่แล้ว เข้ามาสู่การเป็นแรงงานประเภทใหม่บนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่ภาคเอกชนจำนวนมากออกมาชูว่าเป็นการเปิดโอกาสความเท่าเทียมให้ทุกฝ่ายเข้าถึงงานได้ ทั้งยังเปรียบเสมือนการเป็นเจ้านายตนเอง เพราะความสัมพันธ์ไม่ได้ถูกจัดอยู่ในหมวด 'ลูกจ้าง' แต่เป็น 'หุ้นส่วน' (พาร์ตเนอร์) ที่มีสถานะเท่าเทียมกัน รวมไปถึงโอกาสในการสร้างรายได้มากกว่างานค่าแรงขั้นต่ำไปหลายเท่าตัว


ช่องโหว่กฎหมาย แรงงานแพลตฟอร์มถูกเอาเปรียบ

แม้ไม่ได้ปฏิเสธข้อดีเรื่องการเปิดพื้นที่ให้สังคมเข้าถึงงานได้มากขึ้น แต่ 'อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ' นักวิจัยเรื่องเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชี้ให้เห็นว่าแท้จริงแล้วช่องโหว่ของกฎหมายรวมถึงช่องว่างที่เอกชนเจ้าของแพลตฟอร์มเอาเปรียบทั้งฝั่งผู้บริโภคและฝั่งผู้ขับรวมไปถึงร้านค้าที่เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มของตนเองยังมีอยู่ ขณะที่รัฐบาลรวมไปถึงกลไกในการกำกับดูแลระบบเศรษฐกิจใหม่กลับล้าสมัยเกินไปที่จะตามทันการเอาเปรียบเหล่านี้ ซ้ำร้ายกระบวนการแก้ไขกฎเกณฑ์ก็ใช้เวลามากเกินกว่าที่ควรจะเป็น

สัม Gig Economy
  • ‘อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ’ นักวิจัยเรื่องเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

'อรรคณัฐ' กล่าวกับ 'ทีมข่าววอยซ์ออนไลน์' ในการสัมภาษณ์พิเศษครั้งนี้ตั้งแต่ช่วงต้นว่า แม้รูปแบบการทำงานของผู้ขับรถส่งอาหารจะได้รับการนำเสนอออกไปว่าเป็นช่องทางการหาเงินได้ในมูลค่ามากพอสมควร แต่สิ่งเหล่านั้นก็ต้องแลกมาด้วยความลำบากและเงื่อนไขในการทำงานที่สุดท้ายไม่ได้อนุญาตให้ผู้ขับฯ เป็นนายตัวเองหรือได้เลือกเวลาการทำงานตามที่เคยเข้าใจกันมา

โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากเงื่อนไขที่ว่ารายได้ของแรงงานแพลตฟอร์มเหล่านี้ขึ้นอยู่กับรอบการวิ่งรับส่งอาหาร ฉะนั้นหากออร์เดอร์ใช้เวลานาน ผู้ขับเหล่านี้ก็ต้องมาเร่งรีบย่นระยะเวลาในการขนส่งให้ได้สั้นที่สุดเพื่อเอาเวลาไปทำรอบจนอาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งท้ายที่สุดตัวแพลตฟอร์มก็ไม่ได้มีสวัสดิการคอยดูแลหรือคิดจะรับผิดชอบคนขับรถเหล่านี้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว


ไม่ใช่ลูกจ้าง=ไม่ต้องดูแล เรื่องแฟร์ๆ ?

'อรรคณัฐ' อธิบายภาพกว้างของเศรษฐกิจใหม่นี้ว่า ขณะที่หลายฝ่ายรวมไปถึงภาครัฐชูว่าเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเป็นความหวังใหม่ของประเทศ เป็นการลดภาระในการเข้าสู่การทำงานของประชาชน ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการเข้าถึงอาชีพ แท้จริงแล้วแรงงานกลับต้องแบบต้นทุนในการประกอบอาชีพมูลค่ามหาศาลที่มักถูกสังคมมองข้าม

เริ่มจากต้องมียานพาหนะเป็นของตัวเอง อุปกรณ์รวมไปถึงเครื่องมือหรือชุดยูนิฟอร์มก็ต้องซื้อเองทั้งหมด แต่ต้นทุนที่สำคัญที่สุดอย่างความปลอดภัยและสวัสดิการในการทำงานของแรงงานเหล่านี้กลับกลายเป็นสุญญากาศที่ไม่มีฝ่ายใดเข้าไปดูแล

เดลิเวอรี-lineman-ไลน์แมน-Grab-แกร็บ-Foodpanda-ฟู้ดแพนด้า-ลาลามูฟ-ค้าปลีก

ภาวะไร้ที่พึ่งตรงนี้เกิดขึ้นจากมุมมองการตีความการจ้างงานของกฎหมายไทย นักวิจัยเศรษฐกิจแพลตฟอร์มขยายความปัญหาดังกล่าวว่า คำจำกัดความของแรงงานในปัจจุบันตามกฎหมายแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม หลักๆ คือแรงงานในระบบกับแรงงานนอกระบบซึ่งครอบคลุมผู้ที่ทำงานและมีสัญญาจ้างชั่วคราว

ขณะเดียวกัน เมื่อพยายามตีความเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ที่มีลักษณะการทำงานในประเภทที่เรียกว่า GIG work หรืองานลักษณะที่คนงานบนแพลตฟอร์มส่งอาหารทำ คืองานที่จ้างจบเป็นครั้ง เกิดปัญหาตรงที่ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ว่าจ้างงานกันแน่ ระหว่างผู้สั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์ม หรือตัวแพลตฟอร์มเอง 

"พอมันไม่แน่นอน พอคำจำกัดความตีความไม่ครอบคลุม สภาพการจ้างงานแบบใหม่มันก็ทำให้เกิดคำถามต่อว่า ตกลงใครจะต้องเป็นคนดูแลสภาพการทำงาน สวัสดิการในการทำงานของตัวผู้ขับ”

ในมุมมองทางกฎหมาย การขับรถส่งอาหารถูกจัดเป็นการจ้างงานนอกระบบที่ผู้ขับจำเป็นต้องรับผิดชอบดูแลตัวเองทั้งสิ้น ไล่ไปตั้งแต่ความปลอดภัยในชีวิตการทำงาน ไปจนถึงสภาพการทำงานที่อาจเกิดกรณีขัดแย้งกับลูกค้า หรือแม้แต่ต้องหาที่จอดรถด้วยตนเอง โดยนายจ้างไม่มีข้อผูกพันที่จะต้องไปดูแลสภาพการทำงานและสวัสดิการของแรงงานใดๆ ทั้งสิ้น

ซ้ำร้าย การที่แพลตฟอร์มเหล่านี้เลือกประชาสัมพันธ์งานตนเองออกมาโดยการชูโรงความเป็นพาร์ตเนอร์หรือการเป็นหุ้นส่วนมากกว่าการเป็นลูกจ้าง มิติหนึ่งอาจนับว่าเป็นการหว่านล้อมให้ตัวผู้ที่เข้ามาขับรถส่งอาหารไม่ได้มองว่าตนเองมีสถานะเป็นลูกจ้าง จึงไม่ได้หวังว่าจะได้รับการดูแลเรื่องสวัสดิการในการทำงานหรือตระหนักว่าตนเองมีสิทธิสมควรได้รับการดูแลดีกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งนักวิจัยรายนี้ยอมรับว่าปัจจัยทางจิตวิทยาเหล่านี้เป็นเรื่องที่แพลตฟอร์มรู้ดี แต่ก็ยังหยิบมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการผลักภาระออกไปจากตนเอง

"เขาก็จะมองว่าเขาไม่ได้มีสถานะเป็นลูกจ้างเพราะว่าตัวแพลตฟอร์มเรียกเขาว่า 'พาร์ตเนอร์' ความหมายของพาร์ตเนอร์ก็คือหุ้นส่วนไม่ได้เป็นลูกจ้าง ดังนั้นเขาก็จึงมีความภาคภูมิใจในสถานะการจ้างงานของตัวเอง ไม่ได้เป็นลูกจ้างใคร มันก็จะทำให้เขารู้สึกว่า เขามีอิสระในการที่จะเลือกเวลาในการทำงานเอง ทำมากได้มาก ลักษณะของคำจำกัดความมันก็ไปทำงานกลไกทางจิตวิทยาในลักษณะแบบนี้"


สิทธิแรงงานคือเรื่องสำคัญ (ในต่างประเทศ)

หากมองกรณีศึกษาเปรียบเทียบในต่างประเทศ 'อรรคณัฐ' ชี้ว่า ประเด็นเรื่องสวัสดิภาพแรงงานเป็นสิ่งที่ต่างประเทศให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการจ้างงานแบบใหม่นี้ ที่เมื่อไปดูรูปแบบการจ้างงานอย่างลึกซึ้งจะพบว่าแท้จริงแล้ว การจ้างงานแบบใหม่นี้มีความคาบเกี่ยวกับการเป็นนายจ้างและลูกจ้างในระบบที่แรงงานมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลจากนายจ้าง

ตามความหมายของการจ้างงานนอกระบบ ปกตินายจ้างจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในกระบวนการหรือวิธีการดำเนินงานของผู้รับทำงาน แต่ในกรณีของแพลตฟอร์มส่งอาหาร ตัวแพลตฟอร์มกลับมีอำนาจในการกำหนดขั้นตอนการทำงาน ทั้งยังไม่เคยมีการชี้แจงอย่างตรงไปตรงมาว่ากลไกในการจับคู่คำสั่งซื้อกับตัวผู้ขับเป็นอย่างไร ในบางประเทศจึงจัดว่างานขับรถส่งอาหารแท้จริงแล้วเป็นงานในระบบที่แรงงานต้องได้รับสวัสดิการครบถ้วนเหมือนงานในระบบอื่นๆ 

"ในยุโรป ขบวนการแรงงานค่อนข้างเข้มแข็ง สหภาพแรงงานประเภทอื่นเป็นคนออกมาช่วยผลักดันเรียกร้อง (ความเป็นธรรมให้กับแรงงานแพลตฟอร์ม) ขณะเดียวกันภาครัฐก็ดำเนินการอย่างชัดเจน เช่น ในสหภาพยุโรปมีการศึกษา มีข้อแนะนำในระดับอียู และระดับประเทศก็ดำเนินการอย่างจริงจังคือเข้าไปดูว่ากฎหมายที่ตัวเองมีอยู่สามารถบังคับใช้ได้ไหม ถ้าบังคับใช้ไม่ได้ก็ทำกฎหมายใหม่ขึ้นมาให้มันทันกับสภาพการจ้างงานในปัจจุบัน"

น้ำเสียงอรรคณัฐอ่อนลงเมื่อกลับมามองสถานการณ์ในประเทศไทย พร้อมชี้ว่าตัวเขามีโอกาสได้พูดคุยกับข้าราชการที่ดูแลเรื่องนี้หลายราย และพบว่าบุคลากรเหล่านี้เข้าใจความสำคัญในการแก้ปัญหาที่มีอยู่ แต่ติดเงื่อนไขที่ว่าเครื่องที่ใช้แก้ปัญหาหรือ กฎหมาย ไม่ทันสมัยเพียงพอ อีกทั้งกระบวนการแก้ไขกฎหมายก็ยังกินเวลานานและทำได้ด้วยความยากลำบาก ไม่นับรวมว่าอาจติดปัญหาในทางการเมืองเข้ามาเป็นคอขวดเพิ่มเติม ซึ่งท้ายที่สุดปัญหาทั้งหมดมันไปตกอยู่ที่ว่าประเทศเป็นประชาธิปไตยเพียงพอหรือไม่ในการปรับตัวให้ทันเพื่อแก้ไขกับทุกข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ


"ท้ายที่สุดมันก็ไปสู่เรื่องของความเป็นประชาธิปไตย ทุกข้อถกเถียงในประเทศนี้มันจะไปสู่จุดนั้นหมด"

ปลาใหญ่กินทุกอย่าง!

ในเชิงโครงสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ งานวิจัยชี้ว่าแท้จริงแล้วเศรษฐกิจแพลตฟอร์มโดยทั่วไปมีสามส่วนประกอบคือส่วนอุปสงค์ ส่วนอุปทาน และตัวแพลตฟอร์ม ในอุดมคติ สามส่วนนี้ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียควรจะมีอำนาจในการต่อรองเท่าๆ กัน แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่าตัวแพลตฟอร์มมีอำนาจต่อรองมากกว่าอีกสองกลุ่ม ทั้งๆ ที่ผู้สร้างรายได้ให้กับแพลตฟอร์มก็คือคนสองกลุ่มนี้ โดยแพลตฟอร์มที่แสวงกำไรจะผลักภาระด้านค่าใช้จ่ายให้มาที่ผู้บริโภค เพราะต้องการเข้าไปเก็บส่วนแบ่งจากร้านค้าที่มาขึ้นกับแพลตฟอร์มของตน

นอกจากนี้ปัญหาสำคัญอีกกรณียังเกิดจากเทรนด์ที่เรียกว่า 'Winner takes all' หรือการทำธุรกิจแบบผู้ชนะได้ทุกสิ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดการผูกขาดทางการค้า และสร้างปัญหาโดยตรงกับความไม่เท่าเทียมในผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของระบบนิเวศน์

เศรษฐกิจ-ส่งอาหาร-ฟู้ดเดลิเวอรี่-แกร็บ

'อรรคณัฐ' อธิบายว่า เศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่เข้ามาทำธุรกิจใหม่ๆ โดยมากจะใช้การอุดหนุนราคา บิดเบือนกลไกตลาด ให้ค่าตอบแทนแบบจูงใจเพื่อให้มีคนมาทำงานบนแพลตฟอร์มจำนวนมาก มีการให้ส่วนลดต่างๆ เพื่อจูงใจ พอความสามารถทางการแข่งขันมากขึ้น ใหญ่ขึ้น สามารถที่จะไปซื้อกิจการบริษัทคู่แข่งที่ทำธุรกิจแบบเดียวกันก็ทำให้เกิดการผูกขาด พอผูกขาดได้ก็จะมีอำนาจเหนือผู้บริโภค อาทิ กรณีผู้ให้บริการเรียกรถ แต่เดิมมีสองเจ้าใหญ่ ท้ายที่สุดก็แข่งกันจนก็กลายไปเป็นบริษัทเดียว ผู้บริโภคก็ไม่มีอำนาจในการต่อรอง คนที่เดิมขับงาน ทำงานอยู่บนสองแพลตฟอร์มอาจจะมีอำนาจในการต่อรองบ้างก็คือดูว่าอันไหนมีรายได้มากกว่า แต่พอรวมกันเป็นหนึ่งเดียวแล้ว ก็ไม่มีอำนาจต่อรอง มีแค่ทำหรือไม่ทำ 

'อรรคณัฐ' ยังแจงเพิ่มว่า ในทางเศรษฐศาสตร์ก็มักจะบอกว่าสภาวะดังกล่าวเป็นเรื่องของความสมัครใจ คนที่เข้ามาทำงานเขารู้อยู่แล้วว่าจะต้องเจออะไร ซึ่งตัวผู้วิจัยรายนี้ตอบกลับว่า ความสมัครใจโดยแท้จริงต้องขึ้นอยู่บนการได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน ปราศจากการบิดเบือนและการปิดบังในตอนเริ่มต้น เนื่องจากแต่ละคนที่เลือกเดินเข้าสู่แพลตฟอร์มหมายความว่าเขาเหล่านั้นมีต้นทุนที่ต้องแบกและทางเลือกที่ยอมทิ้งมาแล้วทั้งสิ้น

"บางคนก็มีต้นทุนในการเข้าสู่แพลตฟอร์ม ดังนั้นเขาก็ไม่มีทางเลือก มีทางเลือกอยู่สองทางก็คือ จะทำงานต่อไปบนแพลตฟอร์ม ยอมให้แพลตฟอร์มเอารัดเอาเปรียบ หรือว่าสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ แล้วก็ไปเลือกทำอย่างอื่น"

ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องที่แก้ไขไม่ได้ในสายตาของอรรคณัฐ รัฐบาลสามารถลงมือทำได้ทันทีด้วยอำนาจและทุนทรัพย์ที่มีอยู่แล้ว แต่รัฐบาลกลับเชื่องช้า ปรับตัวไม่ทัน หรือ "อาจจะเลยไปถึงไม่อยากจะปรับตัวด้วยซ้ำ" จึงทำให้ปัญหานี้มันถูกผลักออกมาให้เป็นภาระของผู้บริโภคและคนทำงาน

นักวิจัยรายนี้ชี้ว่าก็ยังมีความหวังอยู่บ้างในฝั่งผู้บริโภคเนื่องจากแพลตฟอร์มเหล่านี้ยังให้น้ำหนักกับเสียงสะท้อนของผู้บริโภคอยู่ ตามที่เห็นได้จากกรณีแพลตฟอร์มสั่งอาหารรายหนึ่งต้องการขึ้นค่าส่วนแบ่งจากร้านค้า ที่สุดท้ายแล้วภาระก็ต้องมาตกอยู่กับฝั่งผู้บริโภคที่ต้องแบกราคาอาหารแพงขึ้น จนออกมาเป็นกระแสความไม่พอใจ และในที่สุดแพลตฟอร์มก็ยกเลิกการขึ้นราคานั้นไป 

"นี่ก็แสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว แพลตฟอร์มเขาดูอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าเขาให้ความสำคัญกับตัวผู้บริโภคมากกว่าทางฝั่งผู้ขับ ถ้าหากว่าเราต้องการที่จะให้ผู้ขับมีสิทธิในเรื่องของการทำงาน สถาพการทำงาน สวัสดิภาพ-สวัสดิการ เราจำเป็นอย่างมากที่จะต้องทำความเข้าใจกับตัวผู้บริโภคว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น มันสะท้อนความไม่มีประสิทธิภาพของรัฐในการบริหารจัดการ สะท้อนความไม่มีจริยธรรมในการประกอบธุรกิจของแพลตฟอร์ม เอาผู้บริโภคเป็นตัวประกัน"



พึ่งรัฐไม่ได้ ก็ทำเอง

เมื่อพึ่งภาครัฐในการจัดการไม่ได้ 'อรรคณัฐ' ในฐานะนักวิจัยกล่าวว่า ตนเองจึงมองหาความเป็นไปได้ในการสร้างแพลตฟอร์มที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายขึ้นมาผ่านโครงการตามสั่ง-ตามสั่ง ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างทีมนักวิจัย ชุมชน และวินมอเตอร์ไซค์ในซอยลาดพร้าว 101 ผ่านแพลตฟอร์มในอุดมคติที่ตนเชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่สร้างโอกาสให้กับคนในชุมชน สร้างโอกาสให้ร้านค้า สร้างโอกาสให้กับวินมอเตอร์ไซค์ สร้างความมั่นคงทางอาชีพโดยที่ไม่เอาเปรียบ ไม่ผลักภาระเรื่องรายจ่ายให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากจนเกินไป 

สัม Gig Economy

แพลตฟอร์มดังกล่าวไม่ได้มีลักษณะแตกต่างจากแพลตฟอร์มสั่งอาหารอื่นๆ ในรูปแบบการใช้งาน แต่หัวใจสำคัญคือแพลตฟอร์มนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้โอกาสกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย โดยตัวแพลตฟอร์มในปัจจุบันไม่ได้คิดส่วนต่างจากร้านค้าแต่อย่างใด และทำหน้าที่เพียงการเป็นตัวการจับคู่ความต้องการของผู้บริโภคเข้ากับร้านค้า โดยมีวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นตัวกลางในการเชื่อมประสานความต้องการดังกล่าว

"ร้านค้ามีธุรกิจของตัวเองอยู่แล้วคือการขายอาหาร วินมอเตอร์ไซค์มีธุรกิจของตัวเองอยู่แล้วก็คือการส่งอาหารแล้วก็ส่งคน แพลตฟอร์มทำหน้าที่ในการจับคู่ ดังนั้นคนที่จะได้ประโยชน์ก็จะมีทั้งสามส่วนเลย คือร้านอาหารมีโอกาสขายอาหารมากขึ้น มอเตอร์ไซค์มีโอกาสทางอาชีพมากขึ้น แล้วก็ผู้บริโภคมีโอกาสในการเข้าถึงอาหารในราคาปกติ"

'อรรคณัฐ' ชี้ว่าสิ่งที่ทำจะถูกส่งมอบให้กับชุมชน ชุมชนในที่นี้ก็หมายถึงผู้บริโภค ร้านค้า แล้วก็มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ให้บริหารจัดการกันเอง ตกลงกันเอง ต่อรองกันเองว่าค่าบริการควรจะมีไหม ถ้ามี ควรจะเป็นเท่าไหร่ ในอุดมคติก็ควรจะสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเพราะนี่ไม่ใช่กิจกรรมที่หวังกำไร สิ่งนี้ก็จะเป็นสิ่งที่แตกต่างจากแพลตฟอร์มที่แสวงกำไรเพราะว่าตรงนี้เป็นช่องทางในการเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ ไม่ใช่เป็นช่องทางในแสวงกำไร เพราะ "เทคโนโลยีไม่ควรเอาใช้ในการแสวงกำไรมากจนเกินไป"

สัม Gig Economy

'อรรคณัฐ' ปิดท้ายว่า สิ่งที่ตนเองกำลังทำเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับคนที่มีอาชีพอยู่แล้ว ให้มีความมั่นคงในอาชีพของตัวเองมากขึ้น และตั้งอยู่บนชุมชนคือชุมชนจะต้องบริหารจัดการกันเองเพราะสิ่งนี้จะอยู่ได้ด้วยความร่วมมือของชุมชน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง;