ไม่พบผลการค้นหา
'วันนอร์' แนะ รบ.ดันโครงการขุดคลองไทยให้เกิดการลงทุน-จ้างงานแก้วิกฤตเศรษฐกิจ ยกผลงานสนามบินสุวรรณภูมิแก้วิกฤตปี 40

ในการประชุมสภาฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปราย ว่า งบประมาณนี้ไม่ได้เป็นไปตามความเป็นจริงและปฏิบัติไม่ได้ รัฐบาลใจกล้าอย่างไรที่เอาของปลอมมาให้พิจารณาเสียเวลาทั้งตอนนี้และชั้นกรรมาธิการ ซึ่งรายรับ 2.67 ล้านล้านบาท ที่ตั้งไว้ใกล้เคียงกับปี 2562-2563 แต่ตอนนี้มีวิกฤตโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจแล้วจะเท่ากับเมื่อก่อนได้อย่างไร ตอนนี้ก็เกินครึ่งปีไปแล้วแต่ยังจัดเก็บรายได้ไม่ถึงครึ่ง และเหลืออีกแค่ 4 เดือนเศษ ดังนั้นปี 2563 คาดว่ารัฐจะขาดรายได้ไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท เพราะการท่องเที่ยวก็ลดลงเหลือไม่ถึงครึ่ง การส่งออกก็ลดลง เกิดภาวะถดถอยจีดีพีลดลง รัฐบาลน่าจะแก้ไขตัวเลขรายรับให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงและเป็นไปได้ก่อนเสนอสภา แม้ว่าจะบอกว่าเวลาปรับไม่พอ แต่รัฐบาลต้องใจกล้า ให้แก้ไขงบประมาณนี้ได้ในชั้นกรรมาธิการ 

นายวันมูหะมัดนอร์ ระบุว่า แม้ตนจะไม่เห็นด้วยในการกู้ 623,000 ล้านบาท แต่ถ้าการจัดเก็บรายได้เป็นไปไม่ได้และจำเป็นที่ต้องทำให้งบได้ดุลและเป็นไปได้ ก็ต้องกู้เพิ่ม ไม่ใช่ปลายปีต้องมาอนุมัติเงินกู้เพิ่มอีก แต่ถ้าเป็นแบบนี้แล้วยังไม่ปรับปรุง ก็คงจะรับหลักการและรับร่าง พ.ร.บ.นี้ไว้ไม่ได้ 

แนะขุดคลองไทยที่ภาคใต้ ย้ำไม่ใช่แบ่งแยกดินแดน พลิกฟื้น ศก.

นายวันมูหะมัดนอร์ ระบุว่า ได้ฟังนายกรัฐมนตรีแถลงงบประมาณมีข้อสังเกตุและข้อเสนอแนะคือ การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 5,790 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจและเสริมสร้างรายได้ของประชาชน แต่พออ่านในการจัดทำงบประมาณ แต่ไม่เห็นเหมือนกันหน้าปกที่เขียนไว้ดีมาก ดังนั้นเห็นว่าการแถลงงบประมาณนี้ไว้ใจไม่ได้ ต่อมาคือยุทธศาสตร์ที่เขียนไว้ดูสวยหรู แต่งบประมาณยังเป็นการทำแบบเดิมในภาวะปกติ ตนอยากเสนอการขุดคลองเชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก เรียกว่าคลองไทย ประเทศไทยจะได้ทางขนส่งทางน้ำในระดับนานาชาติ และจะมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละแสนกว่าล้านบาท จากการลงทุน 2 ล้านล้านบาท 6 ปีจะได้ทุนคืน อีกทั้งจะได้การจ้างงาน 3-5 แสนล้านคน ซึ่งจากการประเมินของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติว่าจะมีคนว่างงานเพิ่มถึง 8 ล้านคน ส่วนงบประมาณลงทุนก็สามารถมาจากการลงทุนของภาคเอกชนไทย เอกชนและรัฐบาลต่างประเทศก็ย่อมสนใจในการลงทุนนี้

"ผมอยู่ภาคใต้ จะเห็นว่าไม่ค่อยมีการลงทุน ถ้ามีการทำ EEC ในภาคตะวันออก และทำรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ภาคอีสาน ก็ควรขุดคลองที่ภาคใต้ ปัญหาไม่ใช่เรื่องความมั่นคงในการแบ่งแยกประเทศ ซึ่งไม่จริง ในสภาเองก็มีการตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาเรื่องนี้แล้ว ไม่มีนายทหารคนใดในกรรมาธิการว่าจะเกิดการแบ่งแยกประเทศ แต่ตรงข้ามจะเกิดความมั่นคง ประหยัดน้ำมันในการขนส่ง และการป้องกันประเทศก็จะดีขึ้น ความสนใจในเรื่องการขุดคลองนี้มีมานานแล้ว แต่ติดสนธิสัญญาที่ทำกับประเทศมหาอำนาจมาก่อน แต่ตอนนี้ได้แก้ไขสนธิสัญญาตรงนี้ไปแล้ว

ผมเห็นว่าโครงการพื้นๆ ธรรมดาไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจนี้ได้ ยกตัวอย่าง ปี 2540 ตอนนั้นรัฐบาลก็คิดโครงการใหญ่ สร้างสนามบินสุวรรณภูมิขึ้นมา แต่เปิดมา 10 ปี ตอนนี้ได้ทุนคืนหมดแล้ว" 

ชี้จัดงบฯ ท้องถิ่นร้อยละ 20 และ รบ.กลางต้องใช้เงินน้อย

ยุทธศาสตร์ด้านการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น วันนี้เรามีรัฐบาลกลางใหญ่ แต่มีท้องถิ่นเล็ก ทั้งที่รัฐบาลกลางต้องทำน้อย ใช้งบน้อย แล้วให้ท้องถิ่นบริการจัดการงบประมาณเอง เช่น จากปัญหาโควิดจะเห็นว่าการจัดการท้องถิ่น และ อสม. สามารถแก้ปัญหานี้ได้ แต่ตอนนี้ให้งบประมาณท้องถิ่นน้อยแค่ยี่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์ แล้วยังเอางบประมาณคนชรา นมโรงเรียน ฯลฯ เข้าไปอยู่ในงบท้องถิ่นด้วย ทั้งที่ควรใช้งบของรัฐบาลกลาง ทำให้ท้องถิ่นเล็กๆ ใช้งบประมาณประจำจนหมดโดยไม่ได้พัฒนาอะไร ตนเห็นว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยน รัฐบาลกลางใช้เงินน้อยๆ จะได้โกงน้อยด้วย แล้วให้ชาวบ้านได้เงินไปจัดการเองเยอะๆ

ยุทธศาตร์ด้านการพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม มีงบประมาณ 3,500 กว่าล้านซึ่งน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นค่าจ้างทนายอาสาตามศาล แต่ตนเห็นว่าไม่พัฒนาอะไร ไม่มีการคิดว่าจะพัฒนากฎหมายอะไร หรือปรับกระบวนการให้มีประสิทธิภาพอย่างไร และสิ่งที่สำคัญคือต้องพัฒนาแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน เพราะกฎหมายนี้ยังไม่ยุติธรรม เป็นกฎหมายเพื่อบางพวกบางพรรค หรือเพื่ออะไร ซึ่งนักวิชาการก็เห็นตรงกันว่าต้องแก้ เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่การตั้งเองชงเอง โดยเฉพาะ ส.ว. ที่ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีเป็นคนตั้ง คนในประเทศยังติดใจว่ากฎหมายไทยยุติธรรมและเสมอภาคแล้วหรือ บางพวกทำแล้วไม่ฟ้อง บางพวกทำแล้วติดคุก หรือแม้แต่ผู้พิพากษาเองยังต้องยิงตัวตาย แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ตัวผู้พิพากษาเองก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ตนขอสรุปว่า ต้องทำให้เกิดความเสมอภาคตั้งแต่รัฐธรรมนูญขึ้นมา และหวังว่างบประมาณนี้ต้องได้รับการแก้ไขอย่างน้อยก็ในชั้นกรรมาธิการ

วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประชาชาติ งบประมาณ สภา​ 03-07-63_200703.jpg

'จิตภัสร์' ติงงบฯ ศธ.ยังไม่ตอบโจทย์วิกฤตโควิด-19

ขณะที่ น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ ว่า งบฯ ในส่วนกระทรวงศึกษาธิการ 1.3 แสนล้านบาท ถือว่าอยู่ใน 5 กระทรวงอันดับต้นๆ ที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดในทุกๆ ปี ซึ่งตนสนใจว่าการจัดงบประมาณ ปี 2564 นี้ จะมีงบเตรียมการให้เด็กไทยเข้าสู่สังคมใหม่นี้หรือไม่ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่า พอเข้าไปในดูรายละเอียดในงบฯของกระทรวงศึกษาธิการปี 2564 กลับไม่ได้สะท้อนถึงปัญหาในโลกปัจจุบันที่เกิดขึ้นมากเพียงพอ และไม่สามารถที่จะตอบโจทย์ความต้องการของสังคมทุกวันนี้ได้

น.ส.จิตภัสร์ กล่าวต่อว่า วิกฤตโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบไปถึงภาคเศรษฐกิจ และสังคมทั้งในประเทศ และทั่วโลกอย่างรุนแรง ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนและสังคมมีการเปลี่ยนแปลง หรือ ที่เรียกกันทุกวันนี้ว่า new normal ภาระสำคัญยิ่งของกระทรวงศึกษาธิการ คือ การเตรียมความพร้อม การให้ความรู้แก่ เด็กและเยาวชน รวมทั้งบุคลากรทางการศึกษา ด้วยหลักสูตรการศึกษา ที่ต้องรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก อีกทั้งงบประมาณปี 2564 ตั้งงบฯ สำหรับโครงการเรียนทางไกลผ่านจานดาวเทียมไว้ 235 ล้านบาท หวังจะเห็นงบฯ ส่วนนี้ไปพัฒนาระบบการเรียนทางไกลอย่างจริงจัง

จิตภัสร์ ตั๊น ประชาธิปัตย์  สภา​ 03-07-63_200703.jpg

วอนนายกฯ จัดงบกลางแก้ความเหลื่อมล้ำในการถึงการศึกษา

"ดิฉันดีใจที่เห็นกระทรวงศึกษาตั้งงบประมาณ เพื่อที่จะสร้าง platform ขึ้นมาเองโดยไม่ต้องพึ่งระบบอื่นๆ แต่กลับตั้งงบประมาณไว้เพียง 24 ล้านบาท เท่านั้น ซึ่งน้อยมากและถึงแม้จะตั้งไว้เป็นระบบใหญ่ ประเทศของเรา ก็ยังมีข้อจำกัดอีกมากเช่น การขาดแคลนทางอุปกรณ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ ระบบสัณญาณอินเทอร์เน็ตที่มีไม่ทั่วถึงทุกโรงเรียน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงในการศึกษา” น.ส.จิตภัสร์ กล่าว

น.ส.จิตภัสร์ ยังฝากนายกรัฐมนตรีช่วยจัดสรรงบกลางมาสนับสนุนการเข้าถึงโอกาสการศึกษา เพราะจากการสำรวจเมื่อปี 2561 ครัวเรือนไทย เข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตเพียงร้อยละ 62 แต่ครัวเรือนมีคอมพิวเตอร์เพียงร้อยละ 24 เท่านั้น พร้อมทั้งฝากไปถึง รมว.ศึกษาธิการให้รับรู้ปัญหาการศึกษาด้วย ตนเชื่อมั่นว่ารมว.ศึกษาธิการ ซึ่งมีประสบการณ์ในการจัดการศึกษาระดับโรงเรียนนานาชาติ จะมีแนวคิดที่จะส่งเสริมและสร้างคุณสมบัติของเยาวชน ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์