ไม่พบผลการค้นหา
เพียง 8 เดือนแรกของปี 2564 มูลค่าทางการค้าระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซียสูงถึง 4.33 แสนล้านบาท รัฐบาลของทั้งสองประเทศกำลังวางแผนเปิดพรมแดนฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

CNA รายงานว่า เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซียและไซฟุดดิน อับดุลละห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซียแถลงการณ์ร่วม ณ กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย ยืนยันว่าขณะนี้ทั้งสองประเทศกำลังเริ่มวางแผนการเปิดพรมแดนเพื่อการท่องเที่ยวระหว่างกันอย่างเป็นทางการเพื่อเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียเปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา มูลค่าทางการค้าของอินโดนีเซียและมาเลเซียพุ่งแตะที่ตัวเลข 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 433,420 ล้านบาท นับเป็นมูลค่าที่พุ่งสูงขึ้นกว่า 44% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าทางการค้าร่วมกันอยู่ที่ 9,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 300,060 ล้านบาท


ภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวคือกุญแจสำคัญ

รมว.มาร์ซูดี มองว่าการอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มนักธุรกิจน้อยใหญ่ให้สามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างปลอดภัย จะนำไปสู่การรักษาสภาพของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กำลังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และจะเป็นการช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

"ด้วยเหตุผลดังกล่าว เราจึงบรรลุข้อตกลงที่จะผลักดันโครงการเปิดพรมแดนเพื่อการท่องเที่ยว Travel Corridor Arrangement (TCA) สำหรับนักธุรกิจที่ต้องเดินทางเพื่อติดต่อธุระสำคัญ ซึ่งจะมีการคุยในรายละเอียดระหว่างการมาเยือนของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย" มาร์ซุดีกล่าวพร้อมย้ำว่านี่จะเป็นโครงการที่สอดคล้องและสนับสนุนกรอบการพัฒนาระเบียงการเดินทางของอาเซียน หรือ Travel Corridor Arrangement Framework (ATCAF) ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้

ขณะที่ ไซฟุดดิน อับดุลละห์ ระบุว่า ภายหลังการร่วมกันวางแผน การเริ่มเปิดพรมแดนจะเกิดขึ้นโดยยึดลำดับความสำคัญของกิจกรรมต่างๆ และจะถูกแบ่งเป็นเฟสหนึ่ง เฟสสอง หรือมากกว่านั้นตามลำดับที่ควรจะเป็น ขณะที่การเดินทางของทีมเจ้าหน้าที่ของภาครัฐจะได้รับอนุญาตเป็นอันดับแรก ต่อด้วยการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวตามข้อกำหนด และค่อยๆ เปิดกว้างขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

ใบรับรองการฉีดวัคซีนคือ 'ใบเบิกทาง'

รมว.ต่างประเทศของมาเลเซียเปิดเผยว่า ทั้งสองประเทศได้บรรลุข้อตกลงที่จะทำงานร่วมกัน ในการรับรองใบรับรองการฉีดวัคซีนของพลเมืองเพื่อการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย ผ่านการใช้แอปพลิเคชั่นหลักอย่าง MySejahtera ในมาเลเซีย และ PeduliLindungi ในอินโดนีเซียที่ได้รับการยอมรับจากทั้งสองประเทศ ซึ่ง รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซียย้ำในกรณีนี้ว่า ทั้งสองชาติควรปฏิบัติต่อผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนที่ได้รับการรับรองการใช้งานฉุกเฉินจาก WHO อย่างเท่าเทียม โดยไม่มีการแบ่งแยกยี่ห้อวัคซีน


ความกังวลต่อสถานการณ์ 'ความมั่นคง' ในภูมิภาค

ABC News รายงานว่า สองรัฐมนตรีได้แสดงความเห็นต่อสภาวะทางการเมืองของภูมิภาค โดยเฉพาะการก่อรัฐประหารในเมียนมา โดยมีการย้ำว่าตั้งแต่การประชุมนัดพิเศษของอาเซียนในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ณ กรุงจาการ์ตา อาเซียนยังมองไม่เห็นพัฒนาการที่ชัดเจนในการยุติความรุนแรงของรัฐบาลทหารภายใต้ 'มินอ่องหล่ายน์' ผู้นำคณะรัฐประหารซึ่งตั้งตนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเมียนมาในเดือน ส.ค. 

อีกทั้งยังไม่มีการทำตาม 'สัญญา 5 ประกาศ' ที่ได้ให้ไว้ ณ ที่ประชุมอาเซียน ฉะนั้นจึงเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว ที่อาเซียนจะตัดมินอ่องหล่ายน์ ไม่ให้เข้าร่วมประชุมประชุมสุดยอดผู้นำในวันที่ 26 ต.ค.นี้ และจะทำการเชิญผู้แทนเมียนมาที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมืองเข้าร่วมการประชุมแทน ไม่เพียงเท่านั้น ความร่วมมือทางการทหารระหว่างสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย หรือ AUKUS ที่จะทำให้ออสเตรเลียมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์เป็นครั้งแรก ก็สร้างความกังวลให้ผู้นำอาเซียนไม่น้อย 

แม้ที่ผ่านมารัฐบาลของออสเตรเลียจะยืนยันว่า เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ไม่ใช้เรือดำน้ำที่ติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ก็ตาม โดยสอง รมว.เห็นว่าความร่วมมือของชาติมหาอำนาจในครั้งนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ 'อำนาจอื่น' เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในข้อพิพาททะเลจีนใต้ที่ทวีความตึงเครียดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจทำให้เกิดการแข่งขันครอบครองอาวุธยุทโธปกรณ์ของชาติต่างๆ มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน