ไม่พบผลการค้นหา
ดัชนีนวัตกรรมโลกปี 2019 เปรียบเทียบข้อมูล 129 ประเทศทั่วโลก พบ 'มาเลเซีย-ไทย' คะแนนติดกลุ่ม 5 อันดับแรกของประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง ส่วน 'เวียดนาม' รั้งที่ 1 กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ พร้อมย้ำอนาคตต้องมุ่งพัฒนา 'นวัตกรรมด้านสุขภาพ'

องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ในสังกัดสหประชาชาติ เผยแพร่ผลคะแนนดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index หรือ GII) ประจำปี 2019 โดยเก็บข้อมูลจาก 129 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก พบว่า 10 ประเทศที่มีคะแนน GII สูงที่สุด ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก สิงคโปร์ เยอรมนี และอิสราเอล

เกณฑ์การประเมินคะแนน GII จะพิจารณาจาก 7 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.สถาบัน (Institution) 2.ทุนมนุษย์และการวิจัย (Human Capital and Research) 3.โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) 4.ระบบตลาด (Market Sophistication) 5.ระบบธุรกิจ (Business Sophistication) 6.ผลผลิตจากองค์ความรู้และเทคโนโลยี (Knowledge and Technology output) และ 7.ผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ (Creation Output) 

ภาพรวมการประเมินศักยภาพด้านนวัตกรรมในปีที่ผ่านมา พบว่าการส่งเสริมและพัฒนาด้านนวัตกรรมในแต่ละประเทศทั่วโลก 'เพิ่มขึ้น' แม้ว่าเศรษฐกิจในหลายประเทศจะอยู่ในภาวะชะลอตัวก็ตาม แต่การลงทุนด้านนวัตกรรมยังแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค โดยศูนย์รวมด้านนวัตกรรมขณะนี้ยังกระจุกตัวอยู่ใน 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และเยอรมนี ขณะที่ปัจจัยเร่งด่วนคือการมุ่งพัฒนาคุณภาพของนวัตกรรม มากกว่าจะมุ่งเน้นที่ปริมา

Top 5 Innovation Index GII.JPG
  • กราฟิกดัชนีนวัตกรรมโลกจาก WIPO

ในส่วนของประเทศไทย ถือว่ามีคะแนนรวม GII ดีขึ้นจากปีที่แล้ว จากที่เคยอยู่ในอันดับ 44 ขึ้นมาเป็น 43 ทั้งยังติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง อันประกอบด้วย จีน มาเลเซีย บัลแกเรีย ไทย และมอนเตเนโกร โดยคะแนน GII ที่เพิ่มขึ้น เพราะมีการพัฒนาศักยภาพนวัตกรรมด้านต่างๆ อย่างโดดเด่น เมื่อเทียบกับจีดีพีและสัดส่วนประชากรราว 69.2 ล้านคน

นอกจากนี้ คะแนน GII ยังระบุด้วยว่า การสนับสนุนงบประมาณเพื่อการวิจัยและการพัฒนาของไทยมีความโดดเด่นมากประเทศหนึ่งของโลก เพราะเป็นปัจจัยที่ไทยได้รับคะแนนสูงสุด โดยปัจจัยด้านสถาบัน คิดเป็นร้อยละ 65.8 ตามด้วยปัจจัยด้านระบบตลาด (ร้อยละ 56.5) แต่ปัจจัยด้านผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ถือว่า 'ต่ำสุด' คือ ร้อยละ 30.0 ขณะที่กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ ถือว่า 'เวียดนาม' มีคะแนน GII มากเป็นอันดับ 1 รองลงมา คือ ยูเครน จอร์เจีย อินเดีย และมองโกเลีย 

ส่วนการส่งเสริมนวัตกรรมที่จะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในวันข้างหน้า ควรมุ่งเน้นที่การพัฒนา 'นวัตกรรมด้านสุขภาพ' โดยอ้างอิงจากการประเมินของบรูโน ลองแวง ผู้บริหารของ Global Indices สถาบัน INSEAD ระบุว่า นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจะจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและความซ้ำซ้อนของระบบสวัสดิการสังคมที่เป็นอยู่ได้ ทั้งยังจะช่วยให้เกิดความหลากหลายด้านมิติเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องมากขึ้น เพราะคนจะเริ่มหันไปใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) หรือปัญญาประดิษฐ์ได้มากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: