ไม่พบผลการค้นหา
เวทีเสวนาระดมความคิด "ส.ส.ร.ที่คนไทยต้องการ" อัด รธน.ปี 60 เป็นฉบับเลวร้ายที่สุด ชี้ทางออกตั้ง ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทางตรงยกชุด

เวทีระดมความเห็นภายใต้หัวข้อ “ส.ส.ร.แบบไหนที่คนไทยต้องการ” ที่มี พงษ์เทพ เทพกาญจนา อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2539 ณรงค์เดช สรุโฆษิต จากคณะนิติศาสตร์ พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณะบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญพ.ศ.2539 ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล

พนัส กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ถือว่าเป็นฉบับที่เลวร้ายที่สุด ทำให้เกิดการสืบทอดอำนาจ โดยมองว่าถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนแปลงและหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดีกว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับแล้ว ซึ่งมีการตั้ง ส.ส.ร.มาแล้ว 4 ครั้ง ส่วนตัวมองว่าเห็นด้วยกับร่าง ส.ส.ร.ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ให้เลือกตั้งมาทั้งหมด แต่ไม่เห็นด้วยกับร่าง ส.ส.ร.ของพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะเป็นการสรรหาคนของตัวเองเข้ามา อย่างตัวแทนนิสิต-นักศึกษา ในสัดส่วน 50 คน อีกทั้งร่างของรัฐบาล เมื่อร่างเสร็จต้องให้สภาเห็นชอบโดยเสียงเกินกึ่งหนึ่งก่อน หากไม่ถึงกึ่งหนึ่งก็จะให้ทำประชามติ ซึ่งตนเองเห็นด้วยกับร่างฝ่ายค้านคือไม่ต้องการให้ร่างผ่านรัฐสภา เมื่อร่างเสร็จแล้วก็ให้ทำประชามติเลย ประชาชนต้องการแบบไหนก็ลงประชามติ เพราะสภาเสียงข้างมากเป็นของรัฐบาลอยู่แล้วพร้อมเสนอให้ฝ่ายค้านเพิ่มให้คนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมด้วย โดยกำหนดให้อายุ 30-35 ปี หรืออย่างน้อย ให้มีคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ อย่างครึ่ง

พงษ์เทพ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 เป็นฉบับที่โกงมากที่สุด กลไกการตรวจสอบไม่สามารถทำได้ และ ส.ว.เองมาจากกลุ่มบุคคลที่เป็นพรรคพวกเดียวกัน จนทำให้เกิดการยืดโยงไปสู่การสืบทอดอำนาจในที่สุด และรัฐธรรมนูญปี 60 เขียนขึ้นมาเพื่อให้แก้ไขยากที่สุดแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาในช่วงเวลาที่ผ่านมา จะทำให้เกิดการกระตุ้นเพื่อให้เกิดแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 

สำหรับผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ ส.ส.ร.ต้องมีจิตวิญญาณเป็นนักประชาธิปไตย ต้องเปิดกว้างรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย และผู้ที่จะเข้ามาเป็น ส.ส.ร.ควรมาจากประชาชน เป็นผู้เลือกตั้งเข้ามาโดยตรงเท่านั้น และจะทำอย่างไรที่การเลือกตั้ง สสร.จะไม่มีนักการเมืองเข้ามาชี้นำ อีกทั้งควรเพิ่มความหลากหลายของ สสร.ที่มาไม่ได้จำกัดแค่นักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ แต่ควรมีทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ ภาคสังคม ทั้งนี้ เมื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง สสร. ที่ต้องให้ กกต.ชุดปัจจุบันดำเนินการ เราจะมีความเชื่อมั่นได้มากน้อยแค่ไหน จึงเสนอตั้ง กกต.เฉพาะกิจ โดยเลือกจาก กกต.ชุดปัจจุบัน 2 คน และคนนอกอีก 5 คน อย่างไรก็ตามอยากให้นิสิต นักศึกษา ช่วยกันติดตามแก้ไขยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างใกล้ชิด เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ 

ชัยธวัช กล่าวว่า การเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีทั้งหมด 6 ญัตติ โดยพรรคก้าวไกลเห็นด้วยกับร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่มีสาระสำคัญให้มีการตั้ง ส.ส.ร. และยืนยันที่จะสนับสนุนโหวตวาระที่ 1 แต่จะขอสงวนความเห็นในการแก้ไข หมวด 1 หมวด 2 โดยคาดว่า จะเข้าสู่การพิจารณาช่วงวันที่ 24-25 ก.ย. ส่วนอีก 4 ญัตติ ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจและที่มา สว. รวมถึงระบบเลือกตั้งกลับมาเป็นบัตรใบเดียว ต้องลุ้นว่าจะถูกบรรจุเข้าระเบียบวาระเมื่อใด ทั้งนี้ หลายคนกังวล ส.ว. 84 เสียง ที่จะโหวตสนับสนุนด่านแรกหรือไม่นั้น ดังนั้น ต้องพึ่งเสียงประชาชนในการกดดัน 

ชัยธวัช กล่าวว่า หน้าตา ส.ส.ร.ต้องยึดอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นหลัก นั่นคือ ต้องเป็นของประชาชน ดังนั้นประชาชนจะเป็นผู้กำหนดการเมืองของประเทศ โดย ส.ส.ร. ต้องมาจากการเลือกตั้งจากประชาชน แก้ได้ทุกฉบับ ทุกมาตรา และต้องผ่านประชามติ หากเกิดการรัฐประหารก่อนมีรัฐธรรมนูญใหม่ ถือว่าประชาชนจะมีอำนาจเต็มในการใช้รัฐธรรมนูญประชาชน มีสิทธิ์รวมตัวประกาศใช้รัฐธรรมนูญของตัวเอง โดยไม่ยอมให้รัฐประหารมายึดอำนาจประชาชนอีก และมองว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นอุปสรรคในการเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตย 

ชัยธวัช ยังระบุว่า ไม่ใช่ตั้งแค่ตั้งหน้าตั้งตา ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับในฝันเท่านั้น แต่ผลักดันเรื่องอื่นควบคู่ไปด้วย อย่างการปิดสวิตซ์ สว.และการยกเลิก ม. 269 และหากไม่ได้แก้ไขในมาตรานี้ พรรคก้าวไกล จะล่ารายชื่อจากภาคประชาชน เราจึงต้องช่วยกันเอารัฐบาลชุดนี้ออกพร้อมกับ สว. 250 คน ไปเลย