ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการ มองการรื้ออาคารศาลฎีกา เป็นการลบประวัติศาสตร์ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยคณะราษฎร

กระแสคัดค้านการรื้ออาคารศาลฎีกาในโลกออนไลน์  ทำให้หลายหน่วยงานต้องออกมาชี้แจง ล่าสุด พบยังคงเดินหน้ารื้ออาคาร ทั้งภายในอาคาร และกระเบื้องมุงหลังคา ด้านอาจารย์ ม.ศิลปากร  มองว่าการรื้ออาคารศาลฎีกา เป็นการลบประวัติศาสตร์ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยคณะราษฎร 

 

จากกระแสในโลกออนไลน์ ผ่านเฟซบุ๊กของนาย "ชาตรี ประกิตนนทการ" อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร  ที่เรียกร้องให้ยุติการรื้ออาคารศาลฎีกา ใกล้บริเวณท้องสนามหลวง เนื่องจากเป็นอาคารโบราณ ที่มีคุณค่าทั้งทางด้านสถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์ พลังจากโลกออนไลน์ทำให้ในที่สุดสื่อกระแสหลักให้ความสนใจ และมีหลายภาคส่วนออกมาชี้แจง

 

ทีมข่าววอยซ์ทีวีลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า ยังมีการรื้ออาคารศาลฎีกาตามแผนงาน โดยมีการนำรถแบล็คโคร และคนงาน เข้าทุบภายในอาคาร พร้อมรื้อกระเบื้องมุงหลังคาออก ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2552

 

ทีมข่าววอยซ์ทีวียังได้พูดคุยกับ นายชาตรี เจ้าของเฟซบุ๊กที่ติดตามกรณีนี้ และเรียกร้อง ให้ยุติการรื้อในทันที และเขายังต้องการให้ศาลเปิด "แบบแปลน" อาคารทั้งหมดที่จะมีการปรับปรุง  เพราะอาคารที่สูงเกิน 16 เมตร จะต้องปฏิบัติตามข้อบัญญัติ กรุงเทพมหานคร  เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างดัดแปลงอาคารบางชนิด หรือบางประเภทภายในพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2542 นอกจากนี้ เขายังมองว่าการรื้ออาคารศาลฎีกา เป็นการลบประวัติศาสตร์ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยคณะราษฎร

 

นอกจากนั้นอาคารกลุ่มศาลฎีกา ที่สร้างในปี 2482 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังสะท้อนให้เห็นหลัก 6  ประการของคณะราษฎร เช่น จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ และมีความเป็นอิสระ ซึ่งมีสัญลักษณ์ คือ เสา 6 ต้น ที่อยู่ด้านหน้าอาคารศาลฎีกา และอาคารกลุ่มนี้ยังบ่งบอกถึงสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เกิดขึ้นจากผลพวงการปฏิวัติอุตสาหกรรม รวมถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ประเทศไทยได้รับ "เอกราชทางการศาล"

 

ก่อนหน้านี้นายสหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปากร ได้ออกมาชี้แจงว่าหลังจากเกิดกระแสในโลกออนไลน์ และสมาคมสถาปนิกสยาม ได้ทำหนังสือมายังกรมศิลปากร ก็ได้มอบให้นายธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี เข้าไปตรวจสอบกรณีดังกล่าว พร้อมให้หลักปฏิบัติว่าห้ามทุบหรือเปลี่ยนแปลงอาคารศาลฎีกา แต่สามารถปรับปรุงภายในและใช้ประโยชน์ได้ หรือหากจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ต้องแจ้งขออนุญาตต่อกรมศิลปากรก่อน เนื่องจากอาคารเหล่านี้ เป็นโบราณสถานของชาติ 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog