ไม่พบผลการค้นหา
เสวนางานเปิดตัวหนังสือ ‘จากห้องเรียนสู่โลกกว้าง’ เวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์คน 3 รุ่นซึ่งมีแนวทางเป็นของตัวเอง เตรียมรับมืออย่างไรกับชีวิตที่เลือกเส้นทางท้าทาย ขณะที่การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ต้องเผชิญกับคนจากยุคเบบี้บูมเมอร์ซึ่งยังเหลืออีกเยอะในประเทศ

เสวนางานเปิดตัวหนังสือ ‘จากห้องเรียนสู่โลกกว้าง’ เวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์คน 3 รุ่นซึ่งมีแนวทางเป็นของตัวเอง เตรียมรับมืออย่างไรกับชีวิตที่เลือกเส้นทางท้าทาย ขณะที่การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ต้องเผชิญกับคนจากยุคเบบี้บูมเมอร์ซึ่งยังเหลืออีกเยอะในประเทศ

 

3 พ.ย.60 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดเสวนา "หนุ่มสาวกับความท้าทายแห่งยุคสมัย" โดยภาควิชาวารสารสนเทศ เพื่อประกอบการเปิดตัวหนังสือ "จากห้องเรียนสู่โลกกว้าง" รวมผลงานเขียนของนิสิตภาควิชาวารสารสนเทศ โดยมีอาจารย์พรรณพิมล นาคนาวา อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เป็นบรรณาธิการ

 

 

เสวนาจัดที่ห้อง 1001 ชั้น 10 อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมขายหนังสือเป็นครั้งแรก ราคาเล่มละ 179 บาท รายได้เข้าสู่คณะนิเทศศาสตร์เนื่องจากเป็นโครงการของคณะ  

 

 

วิทยากรบนเวทีเสวนาประกอบด้วย วีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์, มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับภาพยนตร์, เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน ดำเนินรายการโดย นิติธร สุรบัณฑิตย์ ผู้ดำเนินรายการข่าว Voice TV ผู้เข้าร่วมรับฟังมีทั้งนิสิตจุฬาฯ และคนทั่วไป  

 


วีรพร กล่าวถึงปัญหาบทบาทของคนยุคเบเบี้บูมเมอร์ในยุคดิจิตอลว่า คนรุ่นเก่าเดี๋ยวก็ตายหมดรุ่นแล้ว แต่ปรากฏว่าพวกเขากลับมีบทบาททำแผนพัฒนา 20 ปี ซึ่งดูเป็นเรื่องบ้า เพราะจริงๆ แล้วในโลกดิจิตอลต้องทำแผนปีต่อปี ไม่สามารถจะทำ 4 ปีเหมือนที่ผ่านมาได้แล้วด้วยซ้ำ ไม่ต้องถึง 20 ปี เพราะการพัฒนาเดินหน้าไปเร็วมาก ไม่มีเหตุผลที่จะอ้างว่าเป็นห่วงเด็กรุ่นใหม่ ห่วงตัวคุณเองดีกว่า จะเป็นปุ๋ยอยู่วันสองวันแล้ว ไม่ compatible กับอะไรสักอย่าง แม้แต่การใช้โทรศัพท์ส่งภาพสวัสดีวันจันทร์ ฯลฯ ก็เหมือนส่งจดหมาย ส่งโปสการ์ด ไม่ได้รู้จักโลกดิจิตอล 

นอกจากนั้น อยากจะบอก ‘เนติวิทย์’ ว่า ต่อให้ระบบจะเละเทะหรือเป็นเผด็จการอย่างในอดีต แต่ในวันนี้ไม่สามารถทำได้อีกแล้ว เพราะตอนที่เรามีเผด็จการ จำนวนประชากร 30 ล้านคน ตอนนี้ 70 ล้านคน มันเป็นไปไม่ได้แล้ว แต่ละอย่างที่คุณหวาดกลัว ถ้าคุณกลัวก็จะเริ่มเหมือนคนแก่รุ่นพี่ กลัวสังคมจะเสื่อม กลัวเด็กจะเป็นเกย์ ถ้าไม่เป็นเกย์ก็เป็น ‘เนติวิทย์’  ถ้าไม่เป็น ‘เนติวิทย์’ ก็เป็นเกย์อะไรอย่างนี้ กังวลไปหมด
 
โลกมันหมุนของมันเอง เพราะประชากรมีเยอะมาก แล้วประชากรที่ไม่ compatible ก็จะตายไปอยู่แล้ว ฉะนั้น ในระบบปิดกั้นทั้งหมด พี่ไม่คิดว่ามันเวิร์ค พี่คิดว่ามันเพียงตอบโจทย์เบบี้บูมเมอร์ซึ่งเหลือเยอะในประเทศ แล้วก็ไม่น่าจะขับเคลื่อนได้ เพราะระบบขับเคลื่อนเป็นระบบใหญ่มาก ถ้าคุณเป็นเฟืองเปื่อยๆ คุณก็ต้องเจ๊งไปเอง 

 

 

เนติวิทย์ กล่าวว่า ขอตอบคำถามพี่แหม่ม(วีรพร นิติประภา) ว่า ผมคิดว่าโจทย์สำคัญสำหรับผม คือทำไมเผด็จการถึงขึ้นมามีอำนาจได้ และมันเป็นเรื่องแปลกมาก เผด็จการชุดนี้มีอำนาจต่อเนื่องยาวนานถึงขนาดนี้ได้ ในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

เราสามารถโพสต์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเยอะแยะไปหมด มีข่าวที่คนดูเป็นล้านก็ทำได้ แต่มันไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตัวระบบได้อย่างแท้จริง และผมก็คิดว่าตรงนี้จะเกิดขึ้นอีก เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้มีความเชื่อว่ารัฐประหารปี 2549 จะเป็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย แต่สุดท้ายมันไม่เป็นแบบนั้น และอาจจะเกิดขึ้นอีก    

 

 

นิติธร ตั้งคำถามกับ ‘เนติวิทย์’ ว่า เมื่อเจอแรงเสียดทานมีปัญหากับคนแก่ จะคุยกับพวกเขาหรือจะรอให้พวกเขาตายไปโดยไม่คุย 

เนติวิทย์ - ก่อนที่คนแก่จะตายหมด ก็คงใช้เวลาพอสมควร เราก็ไม่ได้อยู่ในวัยหนุ่มสาวแล้ว ผมกังวลเรื่องการศึกษา การรับรู้ของคนในประเทศไทยแตกต่างกันมาก และกว่าคนรุ่นเก่าจะหมดไปก็ไม่ทันแล้ว ในขณะที่ทุกคนในประเทศนี้ก็ไม่สามารถไปอยู่ต่างประเทศได้ ไม่สามารถร่ำรวยเหมือนกันทุกคนโดยไม่มีใครเลยที่ยากจน ไม่มีทางเป็นแบบนั้น 

ผมก็เลยคิดว่า เราก็ต้องอยู่ร่วมกันนี่แหละ ตอนนี้ต้องอยู่ร่วมกัน หาทางจัดการประเทศนี้ร่วมกัน ต้องเริ่มทำเลย ไม่ต้องรอให้หมดรุ่น 

เมื่อไม่กี่วันก่อน มีคนหนุ่มสาวไปยื่นหนังสือ อยากให้ บีบีซีทบทวนตัวเองที่ไปสัมภาษณ์ ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ ฉะนั้น คนหนุ่มสาว กับคนสูงวัย ตัวสปิริตจริงๆ มันอาจจะไม่ได้อยู่ตรงอายุ แล้วอีกอย่าง ปัญหาความท้าทายคือ ตอนนี้เกิดฝ่ายขวา หัวอนุรักษ์นิยมที่เป็นคนหนุ่มสาว เกิดขึ้นในโลกนี้เยอะเหมือนกัน ถ้าเราย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การเรียกร้องของคนหนุ่มสาวมันไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีคนหนุ่มสาวขึ้นมา เพียงแต่ประเทศนี้อาจจะมีปัญหาตรงนี้ แต่ปัญหาจริงๆ ของเราคือ อีก  10 ปี ข้างหน้า เราจะอยู่ร่วมกันบนโลกนี้อย่างไร ที่ความรุนแรงเรื่องภูมิอากาศ สีผิว หรือกาครเหยียดชาติพันธุ์ แม้มีอินเตอร์เน็ตแต่ก็มีส่วนสร้างความรุนแรงในระดับหนึ่ง เช่น การเลือกทรัมป์ มาเป็นประธานาธิบดี การใช้อินเตอร์เน็ตก็มีส่วน 

ดังนั้น ปัญหาตอนนี้คือ ผมว่า ยังไงเราก็ต้องกลับมาคุยกัน หาทางออกอย่างสันติร่วมกันให้ได้ 

 

นิติธร - เวลาคุณแตะขนบที่คนอื่นยอมไม่ได้ แต่คุณยังเลือกทำในสิ่งนี้ มันคืออะไร 

เนติวิทย์ - ผมเคยคิดว่ามหาวิทยาลัยไม่น่าจะมีความอดทนอดกลั้นต่ำ นี่คือเคยคิดไว้ ซึ่งคิดผิด(หัวเราะ) เราคิดว่ามหาวิทยาลัยน่าจะเป็นสถานที่ของคนมีวุฒิภาวะ แล้วยิ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ด้วย เราก็คิดว่าจะต้องมีความรู้ความเข้าใจมากกว่าที่อื่นๆ ดังนั้น ผมก็คิดว่าสิ่งที่ผมทำ ไม่น่าจะเป็นปัญหามาก อันนี้สารภาพเลย
 
แต่มันก็ไม่เป็นแบบนั้น ทำให้รู้สึกกลัวเมื่อเกิดเหตุการณ์ถูกปลดออกจากตำแหน่ง ทำให้เราเข้าใจอะไรมากขึ้นเยอะเลย เข้าใจอะไรที่เราไม่เคยเข้าใจมาก่อนว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้ เป็นมหาวิทยาลัยมาเฟียมาก มีความเป็นมาเฟียสูง แล้วทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจเยอะมาก เหมือนเอนไลท์เทน เกิดการตรัสรู้ ถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนของระบบภายในที่เป็นปัญหา อันนี้ก็คือสิ่งที่ผมเจอมา สุดท้ายก็คือความท้าทายของผม
 
โดยรวมผมรู้สึกท้าทายนะกับสิ่งที่ตัวเองทำ เราตัดสินใจพอสมควรก่อนที่เราจะทำ เช่น ตอนเดินออกจากพิธีถวายสัตย์ฯ เราก็ต้องคิดว่าเราอาจต้องเสียอะไรมากขนาดไหนเหมือนกัน แต่เราก็ต้องทำในฐานะที่เราเป็นประธานสภานิสิตที่เข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น ขนบธรรมเนียมตรงนี้ เรารู้สึกว่า มันเป็นสิ่งที่มีปัญหา แล้วจะให้เราไปยืนหน้านิสิตปี 1 ตั้งหลายพันคน แล้วยอมรับสิ่งนี้ต่อไปได้อย่างไร เราต้องทำอะไรบางอย่าง ยังไงเราก็ต้องทำ 

 

 

นิติธร – ทำไมใช้วิธีการแบบนั้น ทำไมไม่รอมชอม ใช้วิธีการช้าลงหน่อย เบาลงหน่อย 

เนติวิทย์ - ผมว่าคนในสังคมช้ากันเยอะแล้ว คือคนในรุ่นผม หลายคนก็เชื่อแบบนั้น คือ ช้าไว้ก่อน ประนีประนอมไว้ แล้วผมก็ไม่เห็นว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย ทุกคนก็ช้ากันหมดเลย
 
ผมมีเพื่อนในองค์กรเยาวชนเยอะแยะ เขาก็มีความคิดที่ดีนะ ประนีประนอมคุย สุดท้ายก็ไม่เห็นมีอะไรเลย ดังนั้น ผมก็เลยเลือกวิธีนี้ ที่จะแตกต่างออกไป แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่มีวิธีที่จะรอมชอมในรูปแบบอื่นๆ นะ เพียงแต่ว่า เราถูกตัดโอกาสซะก่อน 

 

 

วีรพร - ถามคนแก่เถอะค่ะ ทำไมยังเป็นอย่างนี้อยู่ อย่างที่บอกตอนดิฉันอายุเท่าเนติวิทย์ ยังปีนหน้าต่างหนีไปเที่ยวดิสโก้เทคกันค่ะ เราแก่นแก้วกว่านี้ อย่าว่าแต่เรื่องทรงผม เพราะถ้าเขาให้ใส่กระโปรงเลยเข่า เราก็ใส่ถึงตาตุ่ม ถ้าเขาให้ใส่ยาวครึ่งน่อง เราก็ใส่เหนือเข่า คือจริงๆ แล้วเราผ่านเรื่องจิ๊บจ๊อยพวกนี้มานานแล้ว 

แล้วในที่สุดเนติวิทย์ ต้องมาต่อสู้กับคนรุ่นพี่ คนรุ่นที่ปีนหน้าต่างหนีไปเที่ยวดิสโก้เทค แล้วทำไมตอนนี้คนรุ่นนั้นทำกับคนหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่แบบนี้ คงต้องไปหาหมอเพราะไม่ปกติแล้ว 

เรากำลังต่อสู้กับคนรุ่นก่อน คือรุ่นที่เคยฟังเพลงอิมเมจิ้นของจอห์น เลนนอนมา แล้วบ้าหรือป่าววะ? คุณฟังเพลงแบบนั้นมา มีความ  Peaceful  แต่คุณกลับจำกัดสิทธิคนรุ่นใหม่ ให้คนรุ่นใหม่ถามก็ไม่ได้ มองหน้าก็ไม่ได้ คุณเป็นอะไร คุณไม่ได้โตมาแบบนี้ด้วยซ้ำ มันเกิดอะไรขึ้น เหมือนเขาเป็นโรคประสาท ต้องไปหาหมอ 

พี่เติบโตในยุค 70-80 เป็นยุคที่คนหนุ่มสาวความคิดใหม่ๆ ได้รับการต้อนรับ เด็กๆ มีพลัง มีดนตรีใหม่ๆ มีหนังใหม่ๆ มีดิสโก้ มีพังค์ จะเห็นได้ว่ายุคตั้งแต่ 60 ขึ้นมา ถึง 80-90 ทุกอย่างที่แหวกขนบแหวกจารีตจะได้รับการต้อนรับ ซึ่งพี่รู้สึกเสียใจกับพวกคุณ เป็นคนหนุ่มสาวรุ่นที่ต้องต่อสู้กับคนที่เคยฟังเพลงอิมเมจิ้น เคยเป็นพังค์ เคยเผายกทรงมาแล้ว แต่กลับมาเป็นผู้ใหญ่ยามนี้ที่ทุเรศที่สุด แม่งล้าหลังที่สุด 

คนพวกนั้นก็คือคนรุ่นพี่นี่แหละนะ(หัวเราะ) ขณะที่ในยามนั้น โลกหมุนด้วยการตั้งคำถามโลกหมุนด้วยสิ่งใหม่ๆ ฉะนั้น ถ้าจะถามว่าตอนเขียนเรื่องแหวกขนบตอนนั้นคิดอะไรไหม ก็ไม่ได้คิดอะไรมากค่ะ เพราะตอนสาวๆ ก็เป็นพังค์ทาปากสีดำอยู่แล้วก็ไม่ได้รู้สึกอะไร 

ตอนนี้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คำถาม แต่ปัญหาคือ ประเทศนี้มีแต่คำตอบ โดยที่คุณยังไม่ได้ถาม มีคำตอบว่าคุณต้องทำอะไรเยอะไปหมด 

เขาบอกให้เชื่อก็เชื่อตามนั้น เมื่อเราไม่ถาม คุณค่าก็จะถูกกำหนดโดยสิ่งที่ถูกบอก ในประเทศบ้านี้มีคำตอบเยอะมาก ถูกยัดเข้ามา จนตัวเราไม่รู้ว่ามีคุณค่าอะไร ไม่รู้สึกดีกับความสามารถอื่นนอกเหนือจากที่เขาบอก ยกตัวอย่างต้องวิ่งตามพี่ตูน หรือมีนกหวีดเป็นของตัวเอง เพื่อมีคุณค่าบางอย่าง ซึ่งถูกกำหนดมาแล้ว ถ้าไม่สอดคล้อง ก็รู้สึกไร้ค่า อยากตาย ซึมเศร้า
เราไม่เคยรู้ว่าเราเป็นใครมีอะไรดี ไม่รู้คุณค่าของความเป็นมนุษย์ของทั้งตัวเองและคนอื่น   

เราถามคำถามน้อยไปหรือเปล่า สังคมเรามีปัญหาเรื่องมายาคติ เราควรต้องตั้งคำถาม แต่คนรุ่นใหม่ก็ถูกเลี้ยงมาให้เป็นคนเดียวดาย คุณไม่สามารถจะถาม ไม่สามารถจะคุยกับครูบาอาจารย์ กับเพื่อน เพราะมีเรื่องห้ามพูดเยอะ ทันทีที่เลี้ยงคนหนุ่มสาวไม่ให้ถามอะไร ก็จะไม่นำสังคมไปสู่อะไรเลยนอกจากความเดียวดาย คุณจะกลายเป็นคนแก่อายุ 50 ที่โคตรเดียวดาย เป็นการฝ่อของเจนเนอเรชั่นหนึ่ง
 

 

ชูเกียรติ – เคยถูกโจมตีมาเยอะตอนแสดงความคิดเห็นทางการเมือง คือเขียนเกี่ยวกับคนเสื้อแดงที่มาชุมนุมปี 53 ตอนนั้นถูกโจมตีเพราะเราไม่ได้มีความเห็นตรงกับมวลชนในกรุงเทพฯ คือเราแค่บอกว่า การสนุกกับเรื่องคนถูกฆ่ามันไม่ถูกต้องนะ แล้วการที่เขามาชุมนุม เราได้ตั้งคำถามกันบ้างไหมว่าเขามาทำไม มันเกิดอะไรขึ้นกับเขา ลองทบทวนสิ่งเหล่านี้ดู ซึ่งไม่ได้ไปบอกว่าใครผิดใครถูก แต่การเขียนนั้น ก็ทำให้โดนเล่นงาน
 
คือสังคมจะเป็นอย่างนี้ พอตั้งคำถามเราจะถูกแบ่งเฉดสีโดยทันที กลายเป็นคนก็ไม่กล้าตั้งคำถาม เพราะยิ่งเราโต ยิ่งมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมมากเท่าไหร่ ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเรา มันจะเยอะตามไปเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ค่ายที่เขียนโจมตีเราก็มีสื่ออยู่ค่ายเดียวคือค่ายที่สนับสนุนการรัฐประหารอย่างเต็มที่ในเวลานั้น เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างผ่านไปก็พิสูจน์ตัวมันเอง เราก็ไม่ได้จะพังทลายเสียหายไป เราก็ยังอยู่ตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ 

 

 

นิติธร - ไม่บ่อยที่วงการบันเทิงจะกล้าเถียงกล้าโพสต์แสดงความเห็นทางการเมือง 

ชูเกียรติ - ถ้าคุณอยากเป็นที่รักในวงการบันเทิงคุณต้องโง่ แล้วคุณจะเป็นที่รัก คุณอย่าฉลาด ลุกขึ้นมาตั้งคำถามต่อสิ่งใด หรือทบทวนอะไรที่ทำให้คนอื่นคิด เพราะคุณจะกลายเป็นคนไม่น่ารัก ตั้งคำถามกับผู้ใหญ่ ก้าวร้าว ปีนเกลียว 

แล้ววงการบันเทิงเป็นวงการที่อยู่ได้ด้วยคอนเนคชั่น คอนเนคชั่นที่อุปถัมภ์วงการบันเทิงก็มีมาแต่โบราณกาล ส่วนราชการบ้าง การเมืองบ้าง 
 
แม้คุณจะเป็นที่รักของชาวบ้านขนาดไหน คุณก็เห็นอกเห็นใจชาวบ้านมากไม่ได้ ทำได้แค่บริจาคสิ่งของให้เขา แต่ถ้าคุณจะไปบอกว่า ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นสิ คุณพูดอะไรแบบนี้ไม่ได้ 

ส่วนตอนกำกับภาพยนตร์ “รักแห่งสยาม” ความท้าทายตอนนั้น ไม่ใช่เรื่องว่าใครจะพูดยังไงเกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกันเพราะมันคือเรื่องรสนิยม เรื่องธรรมชาติ แต่สิ่งที่ท้าทายคือ ตอนสร้างหนังเรื่องนี้ หาคนสร้างยากมาก โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่าเป็นเรื่องชายรักชาย คนก็รู้สึกว่าไม่อยากจะทำ สุดท้ายมีผู้ใหญ่หลายคนช่วยผลักดัน ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จเกินคาดในตอนนั้น นอกจากตัวเราเองแล้วผู้ใหญ่หลายคนก็ควรได้รับเครดิตไปกับเราเช่นกัน ตอนทำหนังไม่ได้ทำเพื่อเรียกร้องสิทธิอะไร แต่ทำตามสิ่งที่เราเชื่อเราคิดเช่นเดียวกับทุกคน เราไม่ต้องเรียกร้องเพราะถ้าเรียกร้องก็เท่ากับเราคิดว่าเราไม่ปกติ หรือคิดว่าคนอื่นมองว่าเราไม่ปกติ เดิมอาจจะมีคนคิดเหมือนเราอยู่แล้ว เราก็ช่วยไขประตูให้เห็นว่า สิ่งที่เป็นอยู่คือเรื่องปกติ

 

 

ส่วนความคิดของคนรุ่นเก่า มองว่าคนที่เป็นผู้นำทางความคิด เปลี่ยนความคิดได้ยาก แต่คนที่เปลี่ยนความคิดได้ตลอดคือมวลชน เมื่อเขารู้สึกไม่เชื่อในสิ่งที่เขาเห็นและเป็นไป มวลชนก็เปลี่ยนอุดมการณ์เปลี่ยนความคิดได้ เพราะมวลชนส่วนใหญ่ก็ใช้ชีวิตตามฐานปิระมิดสามเหลี่ยมมาสโลว์อยู่แล้ว เขาต่างจากลีดเดอร์ที่อยู่บนสุด ยังไงลีดเดอร์ชีวิตมั่นคงมาก 

เช่นเดียวกัน ถ้าแมสถูกทำให้รู้สึกว่า บัตรคนจนมันเวิร์คขึ้นมาจริงๆ โอกาสที่ ‘บิ๊กตู่’ จะลงเลือกตั้งแล้วชนะก็มี ถ้ามันเวิร์ค 

ขณะเดียวกันถ้ายิ่งลักษณ์ อยู่ต่อไป แล้วปากท้องประชาชนไม่ดีขึ้นมา เธอก็ต้องไปจากตำแหน่งไปในที่สุด นี่คือสิ่งที่มันจะเป็นไปเองด้วยตัวของมัน ดังนั้น แมสคือพลังที่ใหญ่โต
 


ฉะนั้นสิ่งที่เราเรียน(นิเทศศาสตร์) ทำไมสาขาอาชีพเราถึงถูกจับตาโดยรัฐ ก็เพราะว่า เรามีส่วนสำคัญในการใส่ความคิด เปลี่ยนแปลง หรือเสริมสร้างความคิดต่างๆ นานาใส่สมองของประชาชนได้ นี่คือสิ่งที่ผู้หลักผู้ใหญ่กลัวจริงๆ 

สำหรับอนาคตเชื่อว่าสักพักความขัดแย้งต่างๆ อาจจะคลี่คลายเพราะพลวัตทางสังคมจะเป็นตัวกำหนดประเทศนี้ไปเอง ประชาชนจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขา เราในฐานะคนทำงานก็บอกกันทุกเมื่อว่า นอกจากเห็นคุณค่าตัวเองแล้วต้องเห็นคุณค่าคนอื่นที่แชร์ประเทศนี้อยู่ 

 

 

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของวงเสวนามีนิสิตถามว่า ชูเกียรติ ว่า ทำไมประเทศไทยไม่ค่อยมีหนังการเมือง?

ชูเกียรติ - ไม่มีใครให้ตังค์เขาสร้าง และ หนังหรือมหรสพบ้านเราถูกตีเป็นความบันเทิง รวมถึงละครหลังข่าวก็มีฟังก์ชั่นของมัน มีไว้สมาทานศีลธรรมอันดี แต่ตัวร้ายก็ต้องได้รับการลงโทษ ลงทัณฑ์ในที่สุด 

ถ้าพูดถึงหนัง ไม่มีใครสร้างไม่มีใครให้เงินสร้าง เพราะสร้างแล้วเจ๊ง เนื่องจากมันไม่ได้อยู่ในความสนใจของมวลชนทั่วไป พี่ก็มีหนังในใจที่เกี่ยวกับการเมืองที่จะสร้างอยู่ตอนนั้นก็เคยจะสร้างเรื่องคุณพูนศุข พนมยงค์ อีกเรื่องคือประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา แต่เป็นประวัติศาสตร์ฉบับไพร่ แต่พอเป็นหนังพีเรียดมันจะใช้เงินเยอะ 

นอกจากนั้น เคยมีคนจะสร้าง รศ.130 ก็ไม่ได้สร้าง เราก็ตั้งคำถาม พอได้คำตอบแล้วเราก็ไม่ถามอีก(หัวเราะ) เพราะมันเกี่ยวข้องกับคนหลายคนที่ยังมีชีวิตอยู่ และมีเรื่องสุ่มเสี่ยง แต่จริงๆ ถ้าสร้างก็ไม่น่าสุ่มเสี่ยง เพราะคนที่สร้างก็เป็นฝั่งอนุรักษ์นิยมอยู่แล้ว 

 

 

อย่างที่บอกละครมีไว้ให้คำตอบเรื่องรักษาศีลธรรมอันดี แต่ทุกวันนี้ก็เปลี่ยนไป หลังมีทีวีดิจิตอล มีอินเตอร์เน็ต จะเห็นว่าหลังจากภาพยนตร์รักแห่งสยามแล้ว ก็จะมีหนังชายรักชายอีกเยอะ และปัจจุบันก็มีสุดโต่งกว่านั้นอีก 

ส่วนละครก็จะมีแนวคิดหลากหลายนำไปสู่เฉพาะกลุ่มจริงๆ เช่น ปัจจุบันนางเอกเรื่องหลงไฟ ประกอบอาชีพขายตัว สะท้อนว่าโลกเปลี่ยนไป เมื่อก่อนนางเอกต้องเป็นคุณหนูมาจากชนชั้นใหญ่โต ตัวละครทั้งในละครและนิยายสมัยก่อนจะมีเป้าหมายในชีวิตมุ่งสู่การแต่งงานกันหมด ตัวละครผู้หญิงต้องแต่งงาน มันคืออุดมคติของคนยุคนั้น แต่มายาคติอุดมคติของคนก็เปลี่ยนไปนะ ยุคนี้ละครหลายเรื่อง มีนางเอกขายตัว มันคือคำตอบว่า คนยุคนี้ทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ ไม่ว่าตอนจบจะเป็นบ้าตาย หรือเป็นเอดส์ตาย อย่าง ‘ใจเริง’ ก็ตายในกองขยะ ตายสวยๆ ใส่ชุดแดงนอนตาย สะท้อนความคิดของสังคมทำอะไรก็ได้ขอให้ได้สิ่งที่ต้องการขณะยังมีชีวิตอยู่  

 


ด้าน อ.พรรณพิมล นาคนาวา ให้สัมภาษณ์หลังจบการเสวนาว่า ตีพิมพ์หนังสือ "จากห้องเรียนสู่โลกกว้าง" เป็นการรวบรวมงานเขียนของนิสิตเป็นครั้งแรก เพราะสอนทักษะการเขียน ได้อ่านงานเขียนของนิสิตมาหลายสิบปีเห็นว่าเด็กมีมุมมองการบอกเล่าที่เข้าท่า น่าจะทำเป็นบันทึกร่วมสมัยจึงเป็นที่มาหนังสือเล่มนี้ซึ่งเป็นครั้งแรก  

สำหรับงานเสวนา เกณฑ์ในการเลือกวิทยากรจะสอดคล้องกับหนังสือ เพราะกลุ่มเป้าหมายหลักของหนังสือคือคนหนุ่มสาว พูดได้เลยว่าทำงานตรงนี้ก็อยู่กับนิสิต อยู่กับคนหนุ่มสาว จึงมีความมุ่งมั่นส่วนตัวที่อยากจะทำงานกับ young generation เรามีหน้าที่ตั้งคำถามเปิดประเด็น แล้วเราก็จะพบว่าการสร้างบรรยากาศแบบเปิด เราก็จะได้เห็นว่านิสิตมีองค์ความรู้มีประสบการณ์มีคุณค่าอยู่ในตัวของเขาเองที่น่าสนใจ

 
เราในฐานะครู จะสร้างบรรยากาศแบบเปิดอย่างไรให้คุณค่ากับเขา แม้จะเป็นงานในพื้นที่เล็กๆ ของเรา แต่เราก็เห็นการตอบรับของนิสิต ปฏิกิริยาที่เขาค้นพบว่า คิดแบบนี้ได้ด้วยเหรอคะ คิดแบบนี้ได้ด้วยเหรอครับ คือเขาไม่ได้เจอกับบรรยากาศที่มีความคิดที่แปลกแตกต่าง เมื่อเราเปิดเสรีอยากคิดอยากเขียนอะไรคุณเขียน อยากพูดอะไร คุณพูด  

เราจะเห็นว่าเขามีพลังอยากจะก้าวไปข้างหน้า เขาอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลง เมื่อเราทำหนังสือให้เขา 

 

 

สำหรับการเสวนาก็ต้องเอาตัวคนรุ่นใหม่เป็นเป้าหมาย จึงเลือกวิทยากรที่ผ่านชีวิตความเป็นหนุ่มสาว ช่วงวัย ผ่านการท้าทายจากสังคม หรือแม้กระทั่งตัวเขาเองที่เคยท้ามายสังคม ตั้งคำถามใหม่ๆ กับสังคม ให้ความหมายกับคุณค่าอะไรบางอย่าง ตีความหมายใหม่ กับมาตรฐานค่านิยม ก็เลยเลือกคน 3 รุ่น 3 สมัยให้มาพบกัน และอีกอย่าง วิทยากรทั้ง 3 ท่าน ก็จะเป็นคนทำงานในเชิงความคิดออกมาอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ที่สำคัญคือมีความชัดเจนในแนวทางของตัวเอง ก็เลยอยากเชิญมาเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ให้นิสิตได้เอาไปคิดต่อว่า เมื่อเราอยากทำอะไร เรามีความฝัน เราได้เรียนรู้ในทางลัดวันนี้กับคนที่เขาผ่านมาก่อน ได้เจออะไรบ้าง แล้วเขาจัดการกับสิ่งที่เขาต้องเผชิญ อาจจะเป็นในแง่ของอุปสรรคท้าทาย หรือเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุน ซึ่งก่อนที่จะออกไปสู่โลกกว้างอย่างที่ตัวเองตั้งใจไว้ในหนังสือ นิสิตจะได้รับประสบการณ์ตรงนี้ไปใคร่ครวญ 

 

 

ส่วนตัวพอใจกับงานวันนี้ ตั้งใจจะสร้างบรรยากาศแบบนี้ให้เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาอีกเรื่อยๆ เท่าที่เราจะทำได้ 

ปีหน้าก็คาดว่าจะมีหนังสือออกมาแบบนี้อีก และจะจัดงานโดยเชิญวิทยากรมาร่วมงาน พูดคุย โดยเอาคนหนุ่มสาวเป็นตัวตั้ง 

 


 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog