ทีมข่าววอยซ์ทีวี ติดตามการทำงานในพื้นที่ปิดล้อมย่อยของสำนักระบายน้ำ เพื่อหาคำตอบว่ากระสอบทรายช่วยหรือสร้างปัญหาในการระบายน้ำ
ข้อสงสัยถึงหลักการระบายน้ำของกรุงเทพมหานครในพื้นที่ปิดล้อม ที่มีการใช้กระสอบทรายกั้นปิดท่อระบายน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้ามาในพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งค้านกับเหตุผลในการระบายน้ำ
วันนี้ทีมข่าววอยซ์ทีวี ได้ติดตามการทำงานในพื้นที่ปิดล้อมย่อยของสำนักระบายน้ำ เพื่อหาคำตอบว่ากระสอบทรายช่วยหรือสร้างปัญหาในการระบายน้ำ
sub polder หรือ แนวกระสอบทรายที่วางอยู่ในท่อระบาย ข้อสงสัยที่สังคมตั้งคำถามถึงหลักการทำงานของการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยพื้นที่มีการวางแนวกระสอบทราย sub polder จะอยู่ในพื้นที่ปิดล้อมย่อยหรือ polder system ซึ่งเป็นพื้นที่แอ่งกะทะมีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เพราะระดับน้ำคลองสายหลักยกตัวสูงกว่าพื้นดินและปากท่อระบายน้ำที่อยู่ริมพนังกั้นน้ำ เช่น พื้นที่รามคำแหง-ศรีนครินทร์ โดยจะสังเกตได้ว่าพื้นที่ปิดล้อมทั้ง 15 จุดในกรุงเทพมหานครจะมีสถานีสูบน้ำติดตั้งอยู่ทุกที่
ดังนั้น หลักการทำงานของพื้นที่ปิดล้อมย่อย สำนักการระบายน้ำจะปิดท่อระบายน้ำท่อแรกที่เชื่อมกับคลอง โดยมีการตีแผงไม้ 2ด้าน และวางแนวกระสอบทรายปิดปากท่อเพื่อไม่ให้น้ำคลองไหลเข้ามาเติมในพื้นที่ จากนั้นระบายน้ำทั้งน้ำทิ้งและน้ำฝนผ่านระบบท่อระบายน้ำที่เชื่อมต่อกันมายังบ่อสูบน้ำซึ่งมีประตูระบายน้ำควบคุมระดับน้ำภายนอกและภายในให้มีระดับต่างกันประมาณ 80 เซนติเมตร
ส่วนกระสอบทรายที่พบในท่อระบายน้ำศรีนครินทร์ เป็นเทคนิคชั่วคราวในการซ่อมท่อระบายน้ำ เพื่อป้องกันดินและตะกอนไปอุดตันในจุดอื่นของท่อระบายน้ำ
ด้าน รองศาสตราจารย์เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงความคิดเห็นถึงระบบการระบายน้ำในพื้นที่ปิดล้อมของกรุงเทพมหานครว่า เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และชั่วคราว ซึ่งเชื่อว่าระบบท่อระบายน้ำของกรุงเทพใช้ไม่ได้หลายจุด เพราะปัญหาพื้นดินทรุด ทำให้ปากท่อต่ำกว่าระดับน้ำในคลอง ดังนั้นหากฝนตก ต้องมีการคำนวนปริมาณน้ำที่เพิ่มในพื้นที่ และควรเร่งพร่องน้ำในคลองให้สามารถรองรับน้ำฝนได้ ไม่เช่นนั้นก็ต้องใช้กระสอบทรายปิด และใช้วิธีสูบสู้ตลอดไป
ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์เสรี ศุภราทิตย์ ได้เสนอแนะให้ กรุงเทพมหานครรื้อฟื้นระบบการระบายน้ำ และควรมองการแก้ปัญหาในระยะยาว
ส่วนการพร่องน้ำตามแม่น้ำสายหลัก เพื่อให้ระดับน้ำต่ำกว่าปากท่อระบายน้ำ ตามข้อเสนอแนะของรองศาสตราจารย์เสรี ศุภราทิตย์ นั้น ทางสำนักระบายน้ำให้เหตุผลว่า ทำได้ยากเนื่องจาก คลองสายหลักส่วนใหญ่ใช้ในการสัญจร ซึ่งหากมีการพร่องน้ำมากเกินไปก็จะส่งผลให้ต้องหยุดการเดินเรือ และประชาชนอาจจะได้รับผลกระทบ